พอจะคุ้นกับคำเหล่านี้แล้วใช่ไหม? ปัญญาประดิษฐ์ (สิ่งต่างๆ) อัจฉริยะ Cloud หรือ Blockchain
เราเริ่มได้ยินอะไรแบบนี้มากขึ้นทุกวันแหละในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้กระหน่ำกันเข้ามาอยู่แทบจะในทุกอย่างของชีวิตเรา และแน่นอนว่าด้วยการลงทุนลงแรงวิจัยพัฒนา ปี 2018 นี้ก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก
ไม่ได้ใช้เวทมนตร์หรือคาถามาพยากรณ์ แต่ในฐานะบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก Gartner ได้ชี้เป้า 10 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี ที่จะสร้างผลกระทบต่อโลกธุรกิจในปี 2018 และอนาคตต่อไป
GROUP 1 : Intelligent
1 ) AI Foundation : ด้วยความสามารถของ AI ที่เริ่มทำอะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น Gartner มองว่าปีนี้ ธุรกิจควรใช้ AI เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจ และพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้มากขึ้น รวมถึงว่าการเข้ามาของ AI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับกิจการได้อย่างชัดเจน โดยแนะนำว่าองค์กรควรลงทุนใน AI เฉพาะทาง (Narrow AI) มากกว่าปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป (General AI) ที่เหมาะกับองค์กรวิจัยมากกว่าองค์กรธุรกิจ
2 ) Intelligent Apps and Analytics : Gartner มองว่าแอปพลิเคชั่นและบริการต่างๆ ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีการใช้งาน AI หรือ Machine Learning อยู่เบื้องหลังมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการว่า จะพัฒนา AI มาช่วยให้การทำงานหรือประสบการณ์ของผู้ใช้ดีขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้ จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Augmented Analytics’ ซึ่งจะเข้ามาช่วยจัดเตรียมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Machine Learning แล้วส่งต่อข้อมูลไปให้คนทำงานหรือนักวิเคราะห์เอาไปใช้ต่อได้
3 ) Intelligent Things : เป็นสิ่งที่พัฒนามาจาก Internet of Things (IoT) กลายเป็นสิ่งของที่ไม่ได้ทำงานตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ตายตัว แต่ตามการเรียนรู้ของ AI เช่น เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ อุปกรณ์การแพทย์อัจฉริยะ หรือหุ่นยนต์ในฟาร์มที่เก็บเกี่ยวพืชผลได้ด้วยตัวเอง Gartner ยังคาดการณ์ว่าจะพัฒนาต่อไปจนมีการทำงานร่วมกันของ Intelligent Things หลายชิ้น
GROUP 2 : Digital
4 ) Digital Twin : อีกเทรนด์ที่ Gartner คาดว่าจะมา คือการทำสำเนาดิจิทัลของวัตถุในโลกจริง โดยเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสินค้าหรือบริการ รวมถึงการเพิ่มมูลค่า แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาและการซ่อมบำรุงได้ Digital Twin จะถูกพัฒนาไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่ IoT ก็ได้ เช่น การสร้างสำเนามนุษย์เพื่อศึกษาข้อมูลทางการแพทย์ หรือสำเนาเมืองเพื่อการวางผังหรือแก้ปัญหาเมือง
5 ) Cloud to the Edge : ตอนนี้เราคุ้นเคยกับ Cloud แล้ว และต่อไปเราจะมี Edge Computing ซึ่งก็คือการขยับการประมวลผลไปใกล้แหล่งข้อมูลและผู้ใช้งานให้มากขึ้น ทำให้ลดความล่าช้าและลด Bandwidth ที่ใช้ให้น้อยลง องค์กรจึงควรเริ่มออกแบบ Infrastructure ให้รองรับ Gartner คาดการณ์ว่าในอนาคต Edge Computing จะผสานรวมกับ Cloud อย่างแนบเนียนยิ่งขึ้น และแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดย Cloud นั้นจะรับบทบาท Service-oriented Model ที่บริหารจัดการและประสานระหว่างระบบต่างๆ ในขณะที่ Edge Computing จะทำงานแบบ Delivery Style ที่ช่วยให้ระบบต่างๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่นั้นทำงานได้ตามที่ Cloud สั่งการ
6 ) Conversational Platforms : วิธีการใช้งานเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลของมนุษย์ในอนาคต จะกลายเป็นว่า แทนที่เราต้องไปพยายามเขียนโค้ดหรือทำตามวิธีใช้เพื่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ ระบบต่างๆ จะรับคำถามหรือคำสั่งจากผู้ใช้งานโดยตรง และแปลงเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานโดยอัตโนมัติ และหากขาด Input ใดๆ ไประบบก็จะทำการถามกลับมายังมนุษย์ได้เอง
7 ) Immersive Experience : เทคโนโลยี Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) จะกลายมาเป็นช่องทางในการแสดงผลข้อมูลและเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้คนรับรู้สิ่งต่างๆ ในโลกของดิจิทัล ปัจจุบันนี้เริ่มมีแอพฯ ที่หลากหลายมาให้เลือกใช้งานนอกเหนือจากแอพฯ เพื่อความบันเทิง และต่อไปเทคโนโลยี AR และ VR เหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่พนักงานสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ รวมถึงว่า MR ก็จะมาเชื่อมโลกที่ผสานระหว่างโลกเสมือนและโลกจริงเข้าด้วยกัน
GROUP 3 : Mesh
8 ) Blockchain : เรารู้จัก Blockchain ในฟังก์ชั่นของการเงินแล้วแหละ แต่ Gartner มองว่ามันจะเริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมธุรกิจอื่นๆ นอกจากภาคการเงินมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคตรงยังไม่ค่อยเสถียรและยังไม่ีการกำกับดูแล
9 ) Event Driven : ในอนาคต Digital Business จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ด้วยการรับข้อมูลจากเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Event Broker, IoT, Cloud, Blockchain, In-memory Data Management และ AI ทำให้การตรวจพบเหตุการณ์ต่างๆ แบบเรียลไทม์ และปรับตัวโต้ตอบตามได้เร็วยิ่งขึ้น
10 ) Continuous Adaptive Risk and Trust : ในด้านของความปลอดภัย ก็จะมีการนำหลักการของ Continuous Adaptive Risk and Trust Assessment (CARTA) มาใช้มากขึ้น เพื่อรับมือและโต้ตอบกับภัยคุยคามและการโจมตีรูปแบบต่างๆ ในแบบเรียลไทม์มากยิ่งขึ้น โดยโครงสร้างด้านความปลอดภัยนั้น จะต้องเอื้อให้เกิดการปรับตัวได้ในทุกๆ สถานการณ์ และเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วตามภาคธุรกิจให้ทัน
Illustration by Namsai Supavong
อ้างอิงจาก gartner.com