จำนวนยอดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาทะยานขึ้นอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดวันนี้ (16 มี.ค.) นับเป็นวันแรกที่จะเริ่มนำแนวทาง UCEP PLUS มาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19
เมื่อผลตรวจ ATK ขึ้นสองขีด หรือพบว่าติดเชื้อ เราควรทำอย่างไรได้บ้าง แล้วแนวทาง UCEP PLUS ส่งผลอย่างไรกับการรักษาในตอนนี้กับประชาชน The MATTER มาอธิบายให้ฟังในบทความนี้
UCEP PLUS คืออะไร
โครงการช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน หรือ UCEP คือ โครงการที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีอาการวิกฤต และถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะเวลาอันสั้นอาจทำให้มีผลต่อชีวิตได้ ยกตัวอย่าง เส้นเลือดในสมองแตก หรือโรคหัวใจ ซึ่งหากผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์นี้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใดก็ตาม โรงพยาบาลนั้นต้องรับตัวผู้ป่วยเข้ารักษาก่อนให้พ้นระยะวิกฤต และหลังจากนั้นให้เรียกเก็บเงินจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็คือ สปสช.
และเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 65 นี้เป็นวันแรกที่เกณฑ์นี้ครอบคลุมถึงผู้ป่วย COVID-19 ภายใต้เกณฑ์ที่ปรับใหม่ในชื่อ UCEP PLUS ซึ่งก็มีความหมายตามที่กล่าวข้างต้นคือ ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตจากโรคร้ายแรง รวมถึงจาก COVID-19 สามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ฟรี
UCEP PLUS ส่งผลอย่างไรต่อการรักษา COVID-19
ในกรณีของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 การเข้าร่วมกับระบบ UCEP PLUS จะส่งผลดีในเรื่องของการรักษา กล่าวคือ หนึ่ง ผู้ป่วยที่มีอาการในระดับสีเหลือและสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และสอง ในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้น และต้องย้ายสถานที่รักษาตัว สามารถส่งผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาลในเครือข่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ถ้าผู้ป่วยหรือญาติต้องการให้รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
กรณีผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีตามสิทธิประกันสังคม/ บัตรทอง/ ข้าราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากประสงค์จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญากับประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองของผู้ป่วยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
ขั้นตอนการรักษาอย่างไร
ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สำหรับผู้ที่ตรวจ ATK แล้วมีผลขึ้นสองขีด หรือพบว่าติดเชื้อไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกแล้ว สามารถดำเนินตามขั้นตอนดังนี้ได้เลย
ลำดับแรก เมื่อตรวจพบว่าได้รับเชื้อไวรัสเข้ามาในร่างกายสามารถดำเนินได้ 2 แนวทางเพื่อประเมินอาการและเข้าสู่ระบบการรักษา
- ประการแรกคือ ลงทะเบียนระยะไกล
- ใน กทม. โทรหาสายด่วนของเขตที่อาศัยอยู่ก่อน สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงก์นี้ (ลิงก์อยู่ในเว็บไซต์) หรือแอดไลน์ไอดี @BKKCOVID19CONNECT
- ในต่างจังหวัด โทรหาสายด่วนประจำอำเภอหรือจังหวัด หรือโทรหาสถานพยาบาลในพื้นที่
- สำหรับทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด
- โทรศัพท์หาสายด่วน สปสช. 1330 ต่อ 14
- ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นไลน์ผ่านไลน์ไอดี @nhso
- แสกนคิวอาร์โค๊ดในเว็บไซต์ สปสช. หรือลงทะเบียนใน https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI
- ประการที่สอง เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคม/ บัตรทอง/ ข้าราชการอยู่ และถ้าหากอยู่นอกพื้นที่สามารถเข้าโรงพยาบาลปฐมภูมิในเครือข่ายได้ อาทิ สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว จะมีการจำแนกผู้ป่วยออกเป็นสามสี เขียว, เหลือง และแดงเช่นเดิม โดยจะมีลักษณะอาการและแนวทางการรักษาแตกต่างกัน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียว หรือมีอาการ ดังต่อไปนี้
- มีไข้ 37.5 องศาหรือมากกว่า
- ไม่รับรส ไม่รับกลิ่น
- มีอาการไอ มีน้ำมูก และเจ็บคอ
- ตาแดง มีผื่น และถ่ายเหลว
ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่การรักษาได้ใน 2 ระบบคือ
- รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation)
- รักษาตัวในชุมชน (Community Isolation)
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะดำเนินตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” กล่าวคือ สถานพยาบาลจะดูแลแบบทางไกล มีบุคลากรสาธารณสุขโทรมาตรวจเช็คอาการครั้งเดียวภายใน 48 ชั่วโมง ได้รับยาทั้งหมด 3 ตัว ประกอบด้วย ยาฟ้าทะลายโจร, ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยกลุ่มนี้จะไม่ได้รับอาหารและอุปกรณ์ประเมินเพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์วัดออกซิเจนที่นิ้วมือ
ในกรณีที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการหนักขึ้น จะมีการประสานต่อเพื่อหาเตียงในโรงพยาบาลต่อไป
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลือง หรือมีอาการ ดังต่อไปนี้
- อาการเกี่ยวกับการหายใจ เหนื่อย, แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ
- ขับถ่ายเหลว 3 ครั้ง/ วัน ขึ้นไป
- เด็กเล็กซึม หรือทานนมน้อย
- กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป/ กลุ่มมีโรคประจำตัวเสี่ยง หรือ 608/ สตรีตั้งครรภ์/ มีโรคเรื้อรัง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเข้าข่ายของแนวทาง UCEP PLUS กล่าวคือ สามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ และจะได้รับการดูแลแบบผู้ป่วยใน มีแพทย์ดูแลใกล้ชิด โดยรัฐบาลยืนยันว่ายังคงเป็นรักษาที่ฟรี และหากอาการรุนแรง สามารถส่งต่อรักษา ICU ไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถ้าญาติหรือตัวผู้ป่วยต้องการจะรักษาในโรงพยาบาลนอกเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสีแดง หรือมีอาการ ดังต่อไปนี้
- ระบบหายใจมีปัญหารุนแรง เช่น ปอดบวม หรือปอดอักเสบรุนแรง
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา หรือหายใจเจ็บหน้าอก
- ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว
- ไข้สูงต่อเนื่อง, หายใจเร็ว, ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเข้าข่ายของแนวทาง UCEP PLUS เช่นกัน สามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ และจะได้รับการดูแลแบบผู้ป่วย ICU และมีเครื่องช่วยหายใจ โดยรัฐบาลยืนยันว่ายังคงเป็นรักษาที่ฟรี
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับสีเหลือ ถ้าญาติหรือตัวผู้ป่วยต้องการจะรักษาในโรงพยาบาลนอกเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
รวมช่องทางการติดต่อ
สำหรับผู้ที่ต้องการติดต่อหาเตียง หรือประสานความร่วมมือสามารถติดต่อได้ตามเบอร์ดังต่อไปนี้
สำหรับผู้ป่วยสีเขียว
- สปสช.: 1330 ต่อ 14 (สำหรับหาเตียง), หรือแอดไลน์ @nhso (สำหรับลงทะเบียน)
- ประกันสังคม: 1506
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ: 1426
สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง
- สปสช.: 1330 ต่อ 14 (สำหรับหาเตียง)
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ: 1426
- กรมการแพทย์: 1668
- โรงพยาบาลใกล้บ้าน
- สอบถามสิทธิ UCEP PLUS: 02-872-1669
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
- สปสช.: 1330 ต่อ 14 (สำหรับหาเตียง)
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ: 1426
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ: 1669
- โรงพยาบาลใกล้บ้าน
- สอบถามสิทธิ UCEP PLUS: 02-872-1669