17 มี.ค.นี้ ก็จะได้เลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ตื่นเต้นจัง แต่หลายๆ คนก็บอกว่า ยังไม่มั่นใจวิธีการเลือกตั้งเลย ต้องกายังไง ต้องเอาอะไรไปบ้าง และห้ามทำอะไรในคูหา?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราเลยทำ infographic ให้คำตอบทุกข้อสงสัยอย่างง่ายๆ จะเซฟไว้แชร์ลงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือจะส่งต่อๆ กันในไลน์ก็ไม่ห้ามกัน และยิ่งแชร์กันเยอะๆ ยิ่งดี คนทั่วไปจะได้เข้าใจวิธีการเลือกตั้งกันมากขึ้น
1.) เช็กก่อนว่าไปลงคะแนนที่ไหน
การเลือกตั้งล่วงหน้าจะต่างจากวันจริง เพราะจุดที่ให้ลงคะแนนเป็น ‘หน่วยเลือกตั้งกลาง’ ไม่ใช่ ‘หน่วยเลือกตั้งแถวบ้าน’ จึงต้องเช็คก่อนว่า สถานที่ๆ เราจะได้ไปลงคะแนนมันอยู่ตรงไหนกันแน่
ซึ่งความจริงตอนลงทะเบียนก็น่าจะได้เลือกกันไปแล้ว แต่ถ้าใครลืม หรือจำได้ลางๆ เข้าไปเช็กให้ชัวร์ๆ จะได้ไปไม่เสียเที่ยว ได้ที่แอพฯ ของ กกต. Smart Vote หรือเว็บไซต์ https://election.bora.dopa.go.th/Election/cervote/
2.) พกบัตรแค่ใบเดียวไปแสดงตัว
หลายคนสงสัยว่า ต้องพกเอกสารอะไรไปบ้างในการเลือกตั้งล่วงหน้า ทะเบียนบ้านด้วยไหม? คือคำตอบไม่จำเป็น เอกสารที่ใช้แสดงตัวก่อนลงทะเบียน มีแค่ ‘บัตรประชาชน’ ใบเดียวก็พอ (กระทั่งบัตรประชาชนหมดอายุก็ยังใช้ได้) หรือถ้าใครไม่มี สามารถใช้บัตรที่ราชการออกให้ซึ่งมีรูปถ่ายและเลขบัตรประชาชน เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต บัตรข้าราชการ ฯลฯ เป็นต้น
3.) คูหาเปิด 08.00 – 17.00 น.
คูหาสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า จะมีเวลาเปิด-ปิด เหมือนกับวันเลือกตั้งจริงทุกประการ นั่นคือเปิดแปดโมงเช้าและปิดห้าโมงเย็น หรือพูดง่ายๆ คือปิดช้ากว่าในอดีต 2 ชั่วโมง
แต่ต้องย้ำอีกทีว่า คนที่จะได้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า มีเฉพาะคนที่ได้ลงทะเบียนมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้ลงทะเบียนไม่มีสิทธิ และหากคนที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิในวันที่ 17 มี.ค. จะไปใช้สิทธิในวันที่ 24 มี.ค.ก็ไม่ได้นะ
4.) เลือกผู้สมัคร ตามทะเบียนบ้าน
เป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัยว่า เวลาไปกาเลือกผู้สมัคร ต้องกาเลือกคนที่อยู่ในเขตที่เราไปลงคะแนน หรือเลือกคนที่อยู่ในเขตที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้านกันแน่ – คำตอบก็คือ ให้กาเลือกผู้สมัคร ‘ตามทะเบียนบ้าน’
ถ้าใครจำไม่ได้ว่าผู้สมัครมีใครบ้าง เช็กได้จากแอพฯ ของ กกต. Smart Vote หรือจากเว็บไซต์ที่สื่อหลายๆ สำนักทำเอาไว้ เช่น https://elect.in.th/candidates/
5.) บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ กาครั้งเดียว
ครั้งนี้บัตรเลือกตั้งจะเหลือเพียง 1 ใบ จากในอดีตมี 2 ใบ
ในบัตรเลือกตั้งให้กาแค่ครั้งเดียวนะ เพราะมีหลายคนสับสนที่คนไปรณรงค์ว่า บัตรใบเดียวกาเลือกได้ 3 อย่าง คือ ส.ส. พรรค และนายกฯ ความจริงแล้วหมายถึงคะแนน 1 เดียวของเรา จะถูกส่งไปคำนวนหา 3 อย่างนั้นด้วยระบบที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA – แต่จำไว้ว่า ‘ให้กาครั้งเดียว’
6.) สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด
ไม่ว่าจะเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งวันจริง สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดมีความผิดนะ เช่น ‘ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง’ ‘ห้ามถ่ายรูปบัตรที่กาแล้ว’
อีกอย่างที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อยากแนะนำให้เลี่ยงๆ ทำ คือโพสต์รูปนิ้วโป้งที่เปื้อนหมึกสีน้ำเงิน (ซึ่งแสดงว่าเราได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว) ซึ่งเห็นลายนิ้วมือชัดๆ ลงโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นไปได้ว่ามิจฉาชีพอาจนำลายนิ้วมือนั้นไปทำอะไรบางอย่าง
7.) กาแล้ว บัตรไปไหน?
บัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มี.ค. จะยังไม่ถูกเปิดนับทันที แต่จะถูกส่งไปตามเขตเลือกตั้งของแต่ละคน และเปิดนับทีเดียวหลังปิดหีบในวันเลือกตั้งจริง 24 มี.ค. สำหรับคนที่กังวลว่า บัตรจะถูกเปลี่ยนหรือเปล่านะ หรือจะถูกนำไปนับจริงไหม ทาง กกต.ยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่าง “สุจริต เที่ยงธรรม” ตามสโลแกนขององค์กร
แต่ถ้าใครยังไม่ไว้วางใจ หลังห้าโมงเย็นไปติดตามการนับคะแนนเลือกตั้งกันได้ โดยครั้งนี้จะนับกันที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วก็เอามารวมๆ กันเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าไม่เกินสี่ทุ่มของคืนวันที่ 24 มี.ค. ก็น่าจะพอทราบผลคร่าวๆ แล้วว่า พรรคใดได้ ส.ส.กี่คน
ที่สำคัญกว่าเรื่องใดๆ คือ ออกไปเลือกตั้งกัน อย่าให้อนาคตของบ้านเมืองอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม