สัปดาห์นี้ ครบรอบ 72 ปี เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ในญี่ปุ่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจากความรุนแรงของนิวเคลียร์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่อาจสูงถึง 200,000 คน และสร้างความสะเทือนให้ญี่ปุ่นจนถึงกับพ่ายแพ้สงครามในครั้งนี้
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เราได้เห็นถึงแสนยานุภาพที่ร้ายแรงของระเบิดปรมาณูอย่างแท้จริง แต่ผ่านมาแล้วกว่า 7 ทศวรรษแล้ว หลายชาตินั้นยังมีการครอบครองและพัฒนาอาวุธชนิดนี้อยู่ โดย Business Insider ประเมินว่า ตอนนี้ทั่วโลกเรายังมีอาวุธนิวเคลียร์กันอยู่ถึง 14,955 ลูก ประเทศไหนยังมีอาวุธนิวเคลียร์บ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ พัฒนากันไปแค่ไหน The MATTER ขออาสาพา พาไปเปิดดูคลังขีปนาอาวุธนี้กัน
รัสเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก โดยจากข้อมูลของหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ (US Defense Intelligence Agency) มีรายงานว่าตอนนี้รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ครองถึง 7,000 ลูก โดยมีที่ติดตั้งและพร้อมใช้งานได้ถึง 1,900 ลูก ส่วนอีกกว่า 2,390 ลูกที่มีอยู่นั้นมีทั้งอยู่ในคลังอาวุธ และ 2,700 ลูกที่เตรียมรอการรื้อถอน นอกจากนี้ รัสเซียมีการทดสอบระบบการจัดส่งอาวุธนิวเคลียร์ขนาดยักษ์เป็นเวลาหลายเดือนซึ่งสามารถบรรทุกจรวดขนาดหนัก 10 หัว ที่อาจจะมีพลังแรงสามารถทำลายล้างฝรั่งเศสได้เลย
สหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจ เพื่อเสริมความยิ่งใหญ่ของชาติ ย่อมไม่พลาดครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย โดยสหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่ทดลองอาวุธนี้สำเร็จในปี 1945 และในตอนนี้เองก็ได้ถือครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นอันดับสองอยู่ที่ 6,800 ลูก ซึ่งมีนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ 1,800 ลูก และที่อยู่ในคลังอาวุธอีกกว่า 2,200 ลูกด้วย โดยล่าสุดหลังสถานการณ์ที่ดุเดือดจากการขู่ยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ออกมาโต้ตอบออกมาว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯในตอนนี้ ‘ทรงอานุภาพที่สุดเท่าที่เคยมีมา’ พร้อมยังส่งคำเตือนที่เป็นไฟและเพลิงแค้นยกระดับท่าทีของกองทัพสหรัฐฯ ขึ้นมีอีกด้วย
ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นอีกสองชาติในฝั่งยุโรปที่มีการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งแม้จะมีการพัฒนาขีปนาวุธนี้ แต่ทั้งสองประเทศยังร่วมอยู่ในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์กับอีก 5 ประเทศอย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน โดยฝรั่งเศสมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคลังอาวุธทั้งหมด 300 ลูก โดยถือเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ฝรั่งเศสเองก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการพัฒนาอาวุธเคมีและชีวภาพนิวเคลียร์ ส่วนทางอังกฤษเองนั้น ถือครองอาวุธนิวเคลียร์อยู่ที่ 215 ลูก และยังมีสนธิสัญญาข้อตกลงป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ ที่เซ็นร่วมกันตั้งแต่ปี 1958 ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาร่วมกัน
ปากีสถาน อินเดีย และอิสราเอล เป็นอีกสามชาติที่ครอบครองอาวุธนี้ โดยปากีสถานและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศคู่อริที่มีชายแดนติดกันนั้นมักจะมีการถ่วงดุลทางการทหารระหว่างกัน โดยปากีสถานนั้นถือครองอาวุธชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 130-140 ลูก ทั้งปากีสถานเองยังมักได้รับความช่วยเหลือจากจีน ในการพัฒนาอาวุธชนิดนี้เพื่อแข่งกับอินเดีย ส่วนทางฝั่งอินเดียเองนั้น แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงขนาดและจำนวนอาวุธที่มีอย่างเป็นทางการ แต่มีการคาดการณ์ว่าอินเดียมีอาวุธอยู่ในคลังอยู่ที่ 110-120 ลูก ทั้งยังมีอาวุธนิวเคลียร์ในทั้งรูปแบบเคมีและชีวภาพ
อิสราเอล เป็นประเทศที่ไม่เคยออกแถลงการณ์เป็นทางการยอมรับหรือปฏิเสธการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ถึงอย่างนั้น ทางการสหรัฐฯก็เชื่อว่า ประเทศนี้มีอาวุธสะสมอยู่ในคลังทั้งหมด 80 ลูก และยังมีระบบอาวุธที่หลากหลาย ทั้งยุทธวิธีอาวุธนิวเคลียร์ และระเบิดนิวตรอน
มาทางฝั่งเอเชียตะวันออก ที่ตอนนี้กำลังร้อนระอุและเป็นสนามทดลองขีปนาวุธอยู่บ่อยๆ ก็มีประเทศอย่างจีน และเกาหลีเหนือที่ครอบครองอาวุธนี้อยู่ ด้วยทั้งสองประเทศไม่ได้มีการเปิดเผยขั้นตอนและจำนวนอาวุธในคลังอย่างชัดเจน ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ตอนนี้มีอาวุธที่ติดตั้งพร้อมยิงอยู่จำนวนเท่าไหร่ แต่ทางสหรัฐฯ ก็คาดการณ์ว่าจีนนั้นมีอาวุธอยู่ในคลัง 270 ลูก และเกาหลีเหนือมีอยู่ 60 ลูก ซึ่งในปีนี้มีท่าทีที่ดุเดือดและแนวโน้มพัฒนาขีปนาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งล่าสุดยังมีการอ้างว่าสามารถยิงนิวเคลียร์ไปไกลถึงสหรัฐฯ และยังขู่ยิงเกาะกวมในเร็วๆ นี้ด้วย
.
แม้ในปัจจุบันจำนวนการครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์ของทั่วโลกจะมีจำนวนลดลง รัสเซียและสหรัฐฯ เองก็มีความพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งอดีตปธน. บารัก โอบามาเองยังกล่าวเรียกร้อง “โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์” ระหว่างการเยือนเมืองฮิโรชิมาในปีที่ผ่านมาด้วย แต่ถึงอย่างนั้น เกือบทุกประเทศที่ถือครองอาวุธนี้เอง ก็ต่างมีท่าทีและความต้องการที่จะติดตั้งและพัฒนาระบบอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ดังนั้นถึงแม้จำนวนจะลดน้อยลง แต่ศักยภาพพลังทำลายล้างของมันกลับถูกพัฒนาให้มีความรุงแรงมากขึ้น
อ้างอิง
http://www.businessinsider.com/
http://nationalinterest.org/
http://www.newsweek.com/
http://www.independent.co.uk/
https://www.armscontrol.org/