“เขาปิดปากเราได้ แต่ไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว” เป็นคำกล่าวของ เพชร–ธนกร ภิระบัน นักกิจกรรมคนแรกที่โดนคดี ม.112 ในขณะที่ยังเป็นเยาวชน จนได้เรียนรู้ว่า การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ต่างกับการต่อสู้อีกหน้าหนึ่ง ที่มีต้นทุนต้องจ่าย โดยเฉพาะในวันที่ยังมีสถานะ ‘เด็ก’
สดๆ ร้อน เมื่อสัปดาห์ก่อน เด็กหญิงอายุ 14 ปี 7 เดือน กลายเป็นคนอายุน้อยที่สุด ที่ถูกออกหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2565 โดยยังไม่ทราบที่มาที่ไป
ทำความเข้าใจก่อนว่า ‘เด็ก’ ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ คือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ ‘การประท้วง’ ก็เป็นเพียงช่องทางหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางสังคมที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย ในวันที่เขายังไม่ได้มีสิทธิออกเสียงผ่านเครื่องมือตามระบบประชาธิปไตยใดๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้รัฐจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเรียนรู้ผ่านการรับฟัง ตามที่เคยให้คำมั่นในเวทีนานาชาติเรื่องการคุ้มครองเด็ก
แล้วในความเป็นจริงทำได้อย่างนั้นไหม? เพราะแม้แต่อดีตข้าหลวงเพื่อสิทธิแห่งสหประชาชาติยังเคยส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อรัฐบาลไทยในประเด็นนี้
The MATTER จึงชวนทุกคนไปดูรายงาน ขอทวงคืนประเทศไทยของพวกเรา สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสันติในประเทศไทย ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2563-2565 และที่สำคัญไม่ได้จำกัดความเพียงการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมของเด็ก ว่าประโยชน์อยู่ที่ใคร?
สถานการณ์การประท้วง
คงต้องยอมรับว่า การเติบโตของขบวนการประท้วงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เมื่อช่วงปี 2563 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยรูปแบบแฟลชม็อบที่ผุดขึ้นในรั้วมหา’ลัย มีส่วนสำคัญให้การขับเคลื่อนในระดับโรงเรียนขยายกว้างขึ้นตามกัน ไม่เพียงในแง่จำนวน แต่ยังรวมถึงประเด็นที่พวกเขากำลังพูดถึง
‘เมื่อก่อนเขาก็โดนกัน!’ ‘ทำไมรับไม่ได้?’ ‘เด็กสมัยนี้’ … กลายเป็นวาทกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ นั่นถึงทำให้หลายการชุมนุม ผู้เข้าร่วมเต็มไปด้วยเครื่องแบบชุดนักเรียน พร้อมข้อเรียกร้องที่แปลกใหม่ จนบ้างถูกตีตราว่า ‘ขบถ’ เต็มขั้น ทั้งที่หากเจาะลึกลงไป ทุกประเด็นเป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต สิทธิในสถานศึกษา ความหลากหลายทางเพศ ไม่เว้นแม้แต่สิทธิของชาติพันธ์ุ
และอย่างที่รู้กันว่า สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้การขับเคลื่อนบางช่วงหยุดชะงัก แต่การดำเนินคดีทางกฎหมายต่อเด็กกลับเฟื่องฟู ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมโรค อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ทำให้เด็กหลายคนกล้าที่จะแสดงความเห็นถึงปัญหาในท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าจะตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม
‘อยากเตือนสติให้นึกถึงวันข้างหน้า…’ เป็นคำพูดของโฆษกประจำสำนักนายก ธนกร วังบุญคงชนะ ที่คล้ายกับเป็นตัวแทนของรัฐ กำลังสะท้อนทัศนคติที่มักใช้รับมือกับเด็ก ด้วยการมองว่าอ่อนต่อโลก และเข้าร่วมชุมนุมโดยขาดวิจารณญาณ ถึงได้เป็นที่มาซึ่งปัญหาหลัก 3 ประการที่ค้นพบในรายงานฉบับที่เรากำลังพูดถึง
1. เจ้าหน้าที่ใช้ครอบครัวและโรงเรียนบีบเด็กให้ยกธงขาว
ด้วยข้อจำกัดความเป็นเด็ก ที่ยังคงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองในเกือบทุกการตัดสินใจ รัฐจึงมักกดดันเด็กผ่านทางครอบครัว ให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่บ่อยครั้งกลยุทธ์เช่นนี้ทอดสะพานไปสู่การใช้ความรุนแรง
อย่างที่เกิดขึ้นกับ สถาปัตย์ เด็กมัธยมปลายคนหนึ่งใน จ.ปัตตานี ที่เคยเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษา และสถาบันการเมือง “ตำรวจ 5-6 นายมาหา บอกว่าไม่ให้ทำกิจกรรมช่วงที่ในหลวงมาปัตตานี พวกเขาขู่ว่า ‘ให้อยู่ห่างๆ ไม่งั้นจะเสียอิสรภาพ’ ”
“เจ้าหน้าที่เคยบันทึกวิดีโอครั้งหนึ่งตอนผมปราศรัยในที่ชุมนุมส่งให้แม่ บอกให้แม่มาบอกให้หยุดทำกิจกรรม หลังจากครอบครัวทราบว่าร่วมขบวนประท้วงเราก็มีปากเสียงกันเยอะขึ้น แล้วพ่อแม่ก็เริ่มทำร้ายร่างกาย ยึดค่าขนมและโทรศัพท์”
สถาปัตย์เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเมื่อครั้งอายุ 17 ปี
อย่างไรก็ตาม เขายังคงพึ่งพาด้านการเงินจากครอบครัว นั่นจึงทำให้ปัจจุบันเขามีส่วนร่วมได้เพียงจำกัดเท่านั้น ต่างจาก ภูมิ เด็กอายุ 16 ปี ที่ต้องออกจากโรงเรียน และเริ่มหาเลี้ยงตัวเอง หลังโดนตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการออกมาร่วมประท้วงช่วงปี 2563 จนทะเลาะกับครอบครัวอย่างรุนแรง
“พ่อแม่ของผมตัดขาดความช่วยเหลือทางการเงินทันทีที่ผมออกจากบ้าน” ภูมิกล่าว
ไม่เพียงแรงกดดันจากครอบครัว แต่โรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลยุทธ์นี้สำเร็จ อย่างเรื่องของแซนด์ ที่คุณครูส่งมอบข้อมูลส่วนตัวของเธอ และคนในครอบครัว ให้กับเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้รับความยินยอม และอีกหลายกรณีที่เด็กถูกตัดโอกาส เพียงเพราะส่งเสียงต่อกฎระเบียบของโรงเรียน
2. ไม่มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน
ในเมื่อกฎหมายระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก ดังนั้นหน้าที่สำคัญมากกว่าการเก็บกวาดภายหลัง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกาย และจิตใจ แต่ในความเป็นจริงจากการติดตามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กลับพบความกังวลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี 2564 ที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือการสูญเสียวาฤทธิ์ สมน้อย วัยอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณลำคอจนเสียชีวิตหลังรักษาตัวอยู่พักใหญ่ ซึ่งจนถึงตอนนี้การพิจารณาคดีของผู้กระทำผิดก็ยังไม่เริ่มต้น ขณะที่ขั้นตอนการควบคุมตัวเด็กในหลายครั้งก็มีสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน
“หลังจากที่ผมถูกยิง ผมพยายามจะวิ่งหนีแต่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาดัก เขาจับผมไว้และกดให้ลงไปที่พื้น ผมจำได้ว่าเขาเตะและใช้อะไรก็ไม่รู้ที่แข็งเหมือนกระบอง หรือด้ามปืนมาทุบตีผม เขาค้นตัวแล้วเอาสายเคเบิ้ลมามัดไว้ และก็เตะผมต่อ”
นี่เป็นคำบอกเล่าของ สายน้ำ ซึ่งมีอายุ 17 ปีในขณะนั้น ถึงช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวขณะชุมนุมหน้ากองพันทหารราบที่หนึ่ง ทั้งที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชน มีข้อห้ามไม่ให้ใช้เครื่องพันธนาการไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่มีความจำเป็น อีกทั้งต้องแจ้งเหตุผลการจับกุม ซึ่งเห็นชัดว่าการเข้าจับกุมสายน้ำไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ บันทึกไว้ว่า ช่วงปี 2563-2565 มีการจับกุมเด็กโดยไม่แสดงหมายจับจากศาล 51 ครั้ง และมีการจับกุม 7 ครั้งที่ออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัว โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่เคยถูกจับกุมประท้วงมีอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น
อย่างที่เล่าว่าไม่เพียงร่างกาย แต่ความปลอดภัยทางใจก็เป็นประเด็นที่ต้องคำนึง อย่างกรณีของโป๊ยเซียน นักกิจกรรมที่อายุ 14 ปีในตอนนั้น ถูกตำรวจเชิญไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ขณะเดินทางกลับจากพื้นที่ชุมนุมพร้อมเพื่อน ซึ่งนับเป็นการคุมขังโดยพลการ จนท้ายสุดเธอตัดสินใจเข้ากระบวนการพิเศษที่ยุติคดีความทางอาญา แม้คดีจะสิ้นสุดแต่บาดแผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงชัดเจน
“ตอนที่เขาแจ้งว่าหนูโดนคดี โลกของหนูเหมือนแตกสลาย ตอนนั้นหนูร้องไห้และเสียศูนย์ไปหลายเดือน หนูเอาแต่โทษตัวเองว่าเป็นเพราะเข้าร่วมชุมนุมประท้วง…หนูรู้สึกว่าความฝันในอนาคตของหนูดับสลายไปแล้ว และหนูคงไม่อาจจะกลับมาเป็นคนเดิม ก่อนหน้าที่จะเจออะไรแบบนั้นได้ ”
3. ถูกดำเนินคดีระหว่างชุมนุม
“หนูแค่ออกมายืนยันถึงสิทธิของตัวเอง พื้นที่ที่เราอยู่มาก่อน เรามีสิทธิที่จะกลับคืนไป แต่คุณดำเนินคคีกับเด็กคนหนึ่งฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เด็กคนหนึ่งที่ไม่มีงานทำ เด็กคนหนึ่งที่ต้องหยุดเรียน เพื่อกลับมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง”
จันทร์ ต้นน้ำเพชร นักกิจกรรมชนเผาพื้นเมืองปกาเกอะญอ จากหมู่บ้านบางกลอย วัย 17 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กที่เรียกร้องเพื่อคนในบ้านเกิด ให้ได้รับสิทธิในที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของบรรพบุรุษ แต่กลับต้องถูกดำเนินคดี
“หนูอยากมีชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นที่ไปโรงเรียน ที่ได้เรียนหนังสือ แต่ตอนนี้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน”
ใครจะเชื่อว่าการเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมและรับหน้าที่คล้ายล่ามให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เพราะมีเพียงไม่กี่คนที่พูดภาษาไทยได้ในวันนั้น จะทำให้จันทร์ต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรม และในตอนนี้ก็ยังอยู่ในชั้นไต่ส่วน
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า มีเด็กอย่างน้อย 283 ราย ใน 210 คดี ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง หรือเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ระหว่าง 1 มกราคม 2563- 3 ตุลาคม 2565 ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ เด็ก 241 รายถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เพิ่งยกเลิกไปแล้ว
กระบวนการยุติธรรมของเด็ก ที่ใครได้ประโยชน์?
“คุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันไหม?” คือคำถามที่เพชร ธนกร ต้องเจอระหว่างการพูดคุยกับนักจิตวิทยาตามขั้นตอน ซึ่งแม้เขาจะเปิดตัวว่าเป็นนักกิจกรรมที่มีความหลากหลายทางเพศมาตลอด แต่ก็อดสงสัยและเลี่ยงความรู้สึกว่ากำลัง ‘ถูกตัดสิน’ ไปได้ยาก
สำหรับบ้านเรานั้นหากเด็กต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ก็จะเข้าได้รับการปฏิบัติตามวิถีพิจารณาความที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ เพื่อการฟื้นฟู เปลี่ยนพฤติกรรม และกลับคืนสู่สังคม โดยต้องยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ
แต่จากการบันทึกการพูดคุยของแอมเนสตี้ มีเด็ก 12 ราย ที่เล่าถึงขั้นตอนเสาะประวัติที่ไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนเรื่องเพศ ก้าวก่าย และไม่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กรู้สึกคับข้องใจที่จะเข้าสู่การดำเนินคดีทางอาญา
“นักจิตวิทยายังติดต่อกับหนูทางไลน์เป็นประจำ บางครั้งเขายังบั่นทอนกำลังใจ ไม่ให้หนูเข้าร่วมประท้วงอีกในอนาคต หรือไม่ก็พูดให้หนูยอมรับสารภาพ และเข้ากระบวนการพิเศษที่เบี่ยงเบนคดี”
นอกจากนี้เด็กๆ ยังเล่าถึงการขาดผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระในห้องพิจารณาคดี โดยเฉพาะเด็กที่โดนคดีอาญาร้ายแรง อย่างคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดียุยงปลุกปั่น เป็นต้น ซึ่งศาลมักยกเหตุผลของการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็กในการพิจารณาคดีทางลับ แต่นั่นกลับทำให้เด็กบางส่วนตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการ
และดูเหมือนความเชื่อใจยิ่งลดลงไปใหญ่ เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบคุ้มครองเด็กเอง อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกตั้งคำถามว่า ใช้อำนาจกดทับมากกว่าคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกและชุมนุมประท้วงอย่างสงบหรือไม่?
สืบเนื่องจากกรณีนักกิจกรรมหญิง 3 คน ถูกกลุ่มตำรวจหญิงอุ้มออกจากร้านอาหารย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะมีกำหนดการที่ราชวงศ์จะเสด็จผ่าน โดยเจ้าหน้าที่ พม.ก็ร่วมในปฏิบัติการครั้งนั้น โดยมีการคุมตัวราว 5 ชั่วโมงก่อนจะปล่อยโดยไม่ตั้งข้อหาใดๆ
โดย พม.ได้ชี้แจงในกรณีนี้ว่า เจ้าหน้าที่ทำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ที่จะป้องปราม ‘เด็กที่เสี่ยง’ ต่อการกระทำผิด โดยไม่ได้มีเกณฑ์ชัดเจนว่าแบบไหนเข้าข่ายเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่ทำตามคำแนะนำของตำรวจ
หากหลายคนมองเห็นความเปราะบางที่มีอยู่ตามวัย แต่ยังเชื่อในศักยภาพของการเติบโต คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการฟังด้วยความเต็มใจ อย่างที่เด็กที่เคยร่วมประท้วงคนหนึ่งได้แสดงความเห็นในรายงานว่า ‘เลิกเพิกเฉยต่อเรา เพียงเพราะเราเป็นเด็ก เราไว้ใจรัฐบาลไม่ได้ จนกว่าจะเริ่มรับฟังพวกเรา’