“ทำงานไม่เห็นตรงกับที่เรียนมาเลย” คำพูดคลาสสิกที่เราได้ยินมาหลายยุคหลายสมัย แม้ใครสักคนจะเคยกล่าวว่า ยิ่งเด็กรุ่นหลังลงไปก็ยิ่งเลือกเรียนได้ตรงกับใจมากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงใกล้วันเด็กแบบนี้ The MATTER เลยจับเอาผู้ใหญ่ Gen ปลาย X ต้น Y ที่ทำงานกันมาระยะหนึ่งแต่ดันไม่ได้ตรงกับอะไรที่เรียนมา ว่าพวกเขาเจออะไร และคิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับชีวิตการทำงานในตอนนี้
ธนา เกิดบุญส่ง
จบการศึกษาจาก : คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล
งานปัจจุบัน : พนักงานรัฐวิสาหกิจ
“สิ่งที่เรียนมาเป็นภาษาอังกฤษโดยเน้นด้านพูดคุยกับอ่านเป็นหลัก แต่ก็มีส่วนเขียนอยู่บ้าง เคยฝึกงานกับสายการบินแห่งหนึ่งซึ่งตรงกับสิ่งที่เรียนมามากๆ ก่อนจะย้ายมาทำงานในฝ่ายจัดซื้อในที่ทำงานปัจจุบัน คือมันก็มีดีตรงที่ได้มาลองทำงานในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แต่ก็ต้องมาเรียนรู้อะไรใหม่หมด จนบางครั้งทำให้อารมณ์เสียกับตัวเองได้ เพราะได้ทำงานที่ตัวเองไม่ถนัดบ่อย แถมอาจเสียเวลากับการถามพี่หรือหัวหน้าในแผนกบ่อยๆ เกี่ยวกับงาน พาลจะหมดกำลังใจทำงานเพราะรู้สึกไม่ได้ใช้ความรู้ในสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเลย แต่ตอนหลังก็ดีขึ้น ได้ใช้ความรู้ในด้านที่ตัวเองเรียนมาในงานบางสถานการณ์ใหม่ๆ โดยรวมตอนนี้ชีวิตก็ยังโอเคดีครับ”
คุณแม่ตัวยุ่ง
จบการศึกษาจาก : คณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ด้านงานนำเข้า-ส่งออก
งานปัจจุบัน : พนักงานการตลาด
“ตอนจบมาใหม่ๆ การหางานให้ตรงสายค่อนข้างหายาก และติดขัดเรื่องการเดินทางด้วย จึงพยายามหางานที่เราชอบทำแทน ซึ่งมันดีตรงที่ว่าสิ่งที่เราชอบนั้น เรากระตือรือร้นกับมัน เราเอาใจใส่ที่จะทำ ทำแล้วสนุกก็ทำเต็มที่ แต่ข้อเสียคือตอนนั้นต้องยอมรับว่าเงินเดือนน้อยมากในช่วงแรกๆ แต่เพราะสนุก และชอบก็เลยทำ ซึ่งตั้งแต่จบมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ทำงานด้านนำเข้า-ส่งออก ตามที่ได้เรียนมา แต่ ณ ปัจจุบัน เรื่องคณะที่เรียนจบมานั้นไม่สำคัญเลย เป็นเรื่องของความสามารถและประสบการณ์ล้วนๆ แต่บางส่วนที่เรียนมาก็ได้ใช้บ้างค่ะ คือเรื่องภาษา เพราะบริษัทที่ทำในปัจจุบันเป็นบริษัทต่างชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร จากที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษแล้วต้องมาใช้ทุกวัน ภาษาก็ดีขึ้นเยอะเลย (หัวเราะ) และเป็นโอกาสให้เติบโตด้วยค่ะ”
ชญาณิศา มิเกล์ลี่
จบการศึกษาจาก : คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
สายงานปัจจุบัน : สายการตลาด
“ตอนนี้แป้งก็เอาเทคนิคบางอย่างมาใช้ในงานได้บ้าง อย่างเวลาคุยกับโปรแกรมเมอร์ในบริษัทก็จะสั่งงาน หรือช่วยปรับเว็บปรับงานต่างๆ ได้ง่าย รู้เรื่อง หรือตอนทำงานคนเดียวก็มีเพื่อนที่เก่งๆ คอมไว้ปรึกษา ไม่ก็หาคอนเนคชั่นทางด้านนี้ได้ง่ายหน่อย ข้อดีอีกข้อคือเป็นการเพิ่มความสามารถเพิ่มให้ตัวเองได้หลายด้าน เหมือนข้ามขีดจำกัดตัวเองได้ จริงๆ เรารู้สึกเสียดายเวลาที่เรียนวิศวะนิดหน่อยนะ เพราะไม่ได้เรียนสิ่งที่ชอบ หรือน่าจะส่งเสริมเราได้ตอนทำงาน ถ้าตอนรุ่นเรามีการแนะแนวหรือ Take Course ให้เรารู้ว่าชอบอะไรก่อนเลือกคณะก็คงดี”
นาย อ. ไฟลุก
จบการศึกษาจาก : คณะวิทยาศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
สายงานปัจจุบัน : งานด้านอีเว้นท์เกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่น
“ที่เรียนมาก็เป็นสาขาเกี่ยวกับวิจัยทางด้านอาหาร ค้นคว้าวิธียืดอายุ การเก็บรักษา ค้นคว้าผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบใหม่ๆ ค้นหาสารพิษหรือสิ่งเจอปนที่มากับอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวข้อมูลทางโภชนาการของอาหาร การดูแลสุขลักษณะภายในโรงงาน ส่วนที่ทำงานปัจจุบันมาจากช่วงก่อนหน้าก็เป็นคนชอบวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่นอยู่แล้ว ตอนได้งานที่แรกก็เก็บประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนได้มีโอกาสพบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ให้เคารพนับถือและเลื่อมใสมากๆ เข้า หลังจากได้รู้จักและร่วมงานกับผู้ใหญ่ท่านนั้นมาได้สักระยะนึง ก็ตัดสินใจลาออกจากงานที่บริษัทเก่ามาทำงานกับทางผู้ใหญ่ท่านนั้น และก็เลยกลายมาเป็นงานที่ทำอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในสายตาหลายคนอาจจะมองว่าการที่ทำงานไม่ตรงสายที่จบมานี้มันดูเหมือนเสียเวลาที่เรียนไป แต่ส่วนตัวผมแล้วผมไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้นเท่าไหร่ เพราะเราก็ยังได้เอาทักษะที่ได้จากตอนเรียนมาปรับใช้กับการทำงานจริงได้อยู่ อย่างการตั้งคำถาม การรวบรวมข้อมูล จำแนกแยกแยะข้อมูล จดบันทึกข้อมูล ประมวลผล ค้นหาคำตอบ อะไรพวกนี้ปรับใช้ในการทำงานได้ ตอนนี้ชีวิตก็เรียกได้ว่ามีความสุขดีครับ เพราะได้ทำงานกับสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบอยู่แล้วด้วย เลยทำให้ทุกวันเหมือนกับการเข้าแล็บทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อค้นหาคำตอบของสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่ตอนนี้ว่าจะออกมาเป็นยังไง และผลที่ได้มันจะพาเราไปหาอะไรต่อไป”
พิจักษณ์ โสมดี
จบการศึกษาจาก : ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์, ปริญญาโท MBA
สายงานปัจจุบัน : Web Content
“เราอยู่ในโลกที่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็มีแต่ตายครับ ถ้าเราหางานที่ตรงกับที่เคยเรียนมาไม่ได้ หรือทักษะฝีมือจริงๆยังก้าวไปไม่ถึงจุดที่ใครอยากจะจ้างเราทำงานในสาขาที่จบมา สุดท้ายธรรมชาติก็จะบังคับให้เราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับโลก หาทางปรับสกิลใหม่ ทัศนคติใหม่ และไปหาโอกาสใหม่ๆ ทำครับ”
พ. เย็นใจ
จบการศึกษาจาก : คณะอักษรศาตร์
สายงานปัจจุบัน : ธุรการ
“ผมจับพลัดจับผลูมาได้งานในองค์กรสัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ปัญหาแรกเลยที่ผมเจอในองค์กรนี้เลยคือกำแพงภาษา คือตอนเข้ามาแรกๆ นี่ลำบากมากครับ นายของผมนี่พูดอังกฤษไม่ได้เลยครับ ความที่ผมไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเนี่ย ทำให้บางทีก็เครียดครับ ไม่รู้ว่าล่ามที่เราขอให้เขาเข้าไปช่วยแปลให้เราเนี่ย สามารถเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน ข้อเสียข้อที่สองน่าจะเป็นเรื่องความแปลกแยกกับคนอื่นในที่ทำงานครับ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนครูสอนภาษาอังกฤษที่ถูกจับมาสอนภาษาญี่ปุ่นครับ คือเหมือนกับว่าเราเรียนจบออกมาแล้ว เราไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาในการทำงานเลยสักอย่าง ต้องเริ่มเรียนรู้งานทั้งหมดใหม่จากศูนย์เลยครับ ทำให้ระยะแรกๆ ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ
ซึ่งถ้าหากเรียนมาตรงสาย เราอาจจะรู้ว่าเราจะเจออะไรในการทำงานบ้าง เราต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอะไรบ้าง แต่การที่เราไม่ได้ทำงานตรงสายกับที่เราเรียนมา ทำให้เราได้เจออะไรใหม่ๆ ครับ ได้เจอกับกลุ่มคนใหม่ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มที่เราเจอตอนเรียน เหมือนกับเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิตครับ แล้วเราก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอด นำมาประยุกต์กับวิถีชีวิตการทำงานของเราเพื่อพัฒนาตัวเราเองได้ดียิ่งขึ้นครับ นี่ยังไม่นับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับมาจากการศึกษางานที่เราต้องทำโดยการเริ่มจากศูนย์ด้วยครับ”
ไกรวิน วัฒนะรัตน์
จบการศึกษาจาก : – ปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์ ออกแบบสื่อสาร
– MBA / Business School / James Cook University
– Master of Conflict and Disputed Resolution / Law School James Cook University
สายงานปัจจุบัน : Lecturer : Cyber Business มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ไม่มีทางที่เราจะเรียนจบแล้วทำงานตรงกับสายที่เรียนอยู่แล้วครับ งานวิจัยของต่างประเทศล่าสุดบอกว่าเด็กในอนาคตจะมีโอกาสได้เลือกงานอย่างน้อย 10 งานก่อนอายุ 35 ปี แล้ว 7 ใน 10 งานนั้น จะเป็นงานที่อาจจะยังไม่เคยมีมาก่อนบนโลกนี้ ในอนาคต Soft Skill และ การปรับตัวจะยิ่งสำคัญมากขึ้น อาจจะเท่าๆ Hard Skill เลยด้วยซ้ำ ผมว่าเราควรเลิกมองได้แล้วว่าทำงานไม่ตรงกับที่เรียน มีข้อดีข้อเสียยังไง ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ผมว่าที่เราควรมองมากกว่าคือ เราจะเตรียมนักศึกษาให้เขารับมือกับเรื่องพวกนี้ได้ยังไง ในเมื่อคณะ หรือ ปริญญา อาจจะเป็นข้อจำกัดว่า ‘เฮ้ย เรียนมาจบทำงานไม่ตรงสาย’ ถ้าเราไม่มีปริญญา ไม่มีคณะ อีกต่อไป ให้นักเรียนนักศึกษาเลือกเรียน Skill ที่เขาคิดว่าถนัด และ น่าจะมีโอกาสนำไปใช้งาน มันเป็นอีกเรื่องนึงเลยนะ ไม่ใช่ทำงานไม่ตรงสาย และ เป็นการ Define ระบบการศึกษาและสิ่งที่นิสิตนักศึกษาใหม่ก็ต้องการด้วย เอาจริงๆ เรามีคนได้วุฒิปริญญาตรีเราเยอะเกินไป เราควรควรมี คนที่จบสายงานวิชาชีพที่แข็งแรงกว่านี้ เราเสียพ่อครัว หรือ เกษตนกรที่ดี เพื่อพยายามให้เขาเป็นนักบัญชีที่ได้ดี ซึ่งเขาเป็นไม่ได้”