เพียงก้าวผ่านขอบรั้วเข้าไป เราก็เจอกับอีกโลกหนึ่ง…
เอ้า นี่ไม่ได้เวอร์ เพราะถ้าคุณพอจะคุ้นกับถนนรังสิต-นครนายกอยู่บ้าง คุณน่าจะเห็นภาพความวุ่นวายบนถนน รถที่วิ่งฉิว และฝุ่นควันตลบอบอวล
แต่ในซอย 31 กลับมีสถานที่แสนสงบชื่อว่า Em Space ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของต้นไม้น้อยใหญ่ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ฝน-ศรรวริศา เมฆไพบูลย์ นักแปลและอดีตอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประตูรั้วต้อนรับนักอ่าน (หรือนักกิน นักนอน นักถ่ายรูป) ให้เข้ามาใช้เวลาว่างที่เว้นวรรคจากการเรียนหรือทำงานในบ้านของเธอ
ใช่ คุณอ่านไม่ผิด-ในบ้านของเธอ
EM Space คือห้องสมุด
คล้ายนักอ่านหลายคน ฝนคิดฝันจะเปิดห้องสมุดของตัวเองช่วงหลังเกษียณ แต่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เธอจึงลาออกจากงานประจำแล้วผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ ฝันนั้นเลยเป็นจริงเร็วกว่าที่คิด “พอนั่งทำงานที่บ้าน รู้สึกว่างๆ ประกอบกับช่วงน้ำท่วม เราเห็นหนังสือที่เก็บไว้ราขึ้น มันไม่ได้อยู่ยง ก็เลยตัดสินใจทำเลยก็แล้วกัน”
หลังจากพูดคุยปรึกษากับครอบครัว ห้องนั่งเล่นขนาดย่อมภายในบ้านจึงถูกปรับปรุงเป็นห้องสมุด หนังสือทั้งภาษาไทยและอังกฤษหลักพันเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของฝนเอง และบางส่วนได้รับบริจาคมาจากเพื่อนหรือคนรู้จัก ถูกจัดเรียงไว้บนชั้นแยกตามหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรมคลาสสิคภาษาอังกฤษ Chic lit สมัยใหม่ วรรณกรรมเยาวชนไทย นิยายรักๆ ใคร่ๆ ประเภทที่ถูกนำไปทำเป็นละคร นิยายจีนกำลังภายใน หนังสือรวมเรื่องสั้นหรือบทความ หนังสือท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ หนังสือ non-fiction ประเภทฮาวทู สุขภาพ ธุรกิจ ไปจนถึงหนังสืออ้างอิงและดิกชันนารีต่างๆ เรียกได้ว่ามีหนังสือทุกประเภทสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะชอบอ่านหนังสือแบบไหน (หรือไม่ชอบอ่านเลย อยากพลิกดูรูปเฉยๆ) ที่นี่ก็มีให้เลือกทั้งนั้น แต่แน่นอนว่าก็จะไม่หลากหลายเท่าห้องสมุดใหญ่ๆ
ภายในห้องสมุดติดแอร์เย็นฉ่ำ มีโต๊ะเก้าอี้พร้อมปลั๊กไฟสำหรับคนที่ไปนั่งทำงาน มีโซฟาตัวสั้นให้นั่งพิง มีหมอนใบใหญ่ให้เอนกาย ทั้งยังมีเกมเล็กๆ น้อยๆ ให้เล่น เช่น อูโน่ ตัวต่อบล็อก ซึ่งฝนบอกว่าจะเป็นเด็กหรือเด็กในร่างผู้ใหญ่ก็เล่นได้ทั้งหมด
Em Space คือห้องสมุดที่ไม่ทำธุรกิจ
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร พื้นที่แห่งนี้ก็พร้อมต้อนรับโดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าเลยซักบาท ไม่มีมัดจำกันคุณแอบ ‘ยืม’ หนังสือแบบไม่คืน (แต่จริงๆ ยืมออกไม่ได้นะ นั่งอ่านที่นี่เท่านั้น) ใช้เพียงสัญญาใจล้วนๆ วิธีคิดคล้ายกับ The Reading Room ห้องสมุดศิลปะที่ซอยสีลม 19 ที่เปิดให้เข้าฟรีเช่นกัน
แล้วแบบนี้จะอยู่รอดได้อย่างไร-เราสงสัย
“เราใช้อาหารและเครื่องดื่มช่วย” ฝนตอบ ซึ่งนอกจากสองสิ่งนี้จะหล่อเลี้ยง Em Space แล้ว ยังหล่อเลี้ยงกระเพาะของผู้ที่แวะเวียนเข้ามาด้วย เผื่อว่ามานั่งนานๆ แล้วหิวน้ำหิวข้าว จะได้ไม่ต้องลำบากออกไปข้างนอก “เราอยากให้ที่นี่เป็นมิตรกับคนที่มา ถ้าหิวก็พักกินข้าวก่อนได้ แล้วค่อยกลับมาอ่านหนังสือต่อ”
จานเด็ดที่ฝนและครอบครัวนำเสนอคือ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำเส้นเล็ก อันเป็นเมนูซิกเนเจอร์ประจำตระกูล ส่วนตัวเราว่าดีงาม ตัวน้ำซุปเข้มข้น กลมกล่อม ลูกชิ้นปลาไม่คาว ใส่ต้นหอมเยอะๆ แบบที่เราชอบพอดี นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ เช่น สปาเก็ตตี้ ขนมปังกระเทียม รวมทั้งขนมนมเนยอย่างเค้กอัลมอนด์ เลมอนทาร์ต ซึ่งถ้าอยากกิน เราแนะนำให้ไปบ่ายวันเสาร์ เพราะน้องชายของฝนผู้เก่งกาจในวิชาการทำขนมจะเริ่มอบขนมตอนบ่ายๆ (เราไปเช้าก็พลาดเลย ฮือ)
แต่วันนั้นเราก็ได้ลองขนมไทยๆ อย่างขนมชั้นหน้าตาน่ารัก ตัวเนื้อนุ่ม หวานน้อย ใช้สีธรรมชาติ ปาหัวใจให้เลย อีกอย่างที่เราชิมคือน้ำอัญชันมะนาวเย็นชื่นใจ ซึ่งฝนใจดีให้เราเนียนใช้สิทธิรีฟิล 1 คร้ังที่ปกติต้องแสดงบัตรนักศึกษาเท่านั้น (บัตรเราหมดอายุไปสองปีแล้ว…) ส่วนตัวเลือกเครื่องดื่มอื่นๆ ก็เช่น ชาไทย ชามะนาว โกโก้
Em Space คือห้องสมุดเล็กในป่าใหญ่
สารภาพตามตรง วันที่ไปเยี่ยมเยียน Em Space เราตื่นเต้นกับสวนกว้างใหญ่ราวกับป่าที่โอบล้อมตัวบ้านอยู่ มากกว่าตื่นเต้นกับหนังสือเสียอีก จะทำไงได้ ในเมื่อต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีเหล่านี้ถือเป็นของหรูหราสำหรับคนบ้านไร้สวนอย่างเรา
เราชอบตรงที่โต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งอ่านหนังสือ (หรือนอน กิน ถ่ายรูป) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังลามเลยไปถึงในสวนหน้าบ้าน สวนหลังบ้าน และลานโล่งกลางบ้านด้วย โดยตามมุมต่างๆ จะมีเก้าอี้ ม้านั่ง ม้าหิน เปล เสื่อ ศาลา ตั้งหรือวางอยู่ อยากนั่งอยากนอนที่ไหนก็ทำได้เต็มที่ จะลุกเปลี่ยนกี่ที่ก็ได้ไม่มีใครว่า ความดีงามคือไม้ยืนต้นสูงชะลูดในบริเวณสวนมอบร่มเงาชั้นดีให้เรา ใครที่คิดว่า ‘บ้าหรอ จะไปนั่งเอาต์ดอร์ในประเทศไทยตอนกลางวันแสกๆ เนี่ยนะ’ เราท้าให้ไปลองทำเรื่องบ้าๆ นี้ที่ Em Space เพราะบรรยากาศร่มรื่นมาก แถมยังมีลมโกรกตลอดเวลาด้วย
มุมไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้คือบ้านต้นไม้ริมบ่อน้ำในสวนหลังบ้าน ซึ่งได้น้องสาวของฝนผู้เป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบและดูแลการสร้างให้ เช่นเดียวกับมุมอื่นๆ ในบ้าน ที่เป็นฝีมือการรังสรรค์ของเธอเหมือนกัน ข้อดีคือตอนเช้าถึงช่วงสายๆ ที่แดดยังไม่แรงมาก สามารถเอาเสื่อไปปูข้างบนบ้านต้นไม้ได้เลย ซึ่งฝนบอกว่า คนส่วนใหญ่มักจะไปนอนตากลมจนลืมหนังสือที่หยิบติดมือไปด้วย (ฮา)
Em Space คือห้องสมุดที่ทำเงินไม่มาก แต่ทำกำไรมหาศาล
ตลอดระยะเวลาสี่เดือนกว่าที่เปิดห้องสมุดมา รายได้ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอยู่ไม่น้อย ฝนบอกว่ายังต้องประเมินอยู่เรื่อยๆ ว่าควรไปต่อหรือไม่ แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร นักแปลผู้เป็นป้าของเด็กน้อยสองคนก็เชื่อว่าที่นี่ทำ ‘กำไร’ ได้แล้ว
“หลานๆ เราได้เรียนรู้จากครอบครัวอื่นๆ ที่มาบ้านเรา อย่างตอนแรกๆ มีคนมาเล่นชิงช้าของเขา พอเด็กคนนั้นลงไป น้องก็ปืนขึ้นไปอยู่บนนั้นไม่ลง ไม่อยากให้คนอื่นเล่น เราก็พยายามคุยกับเค้าว่า เราเป็นเจ้าบ้าน สอนคนอื่นเล่นสิ เค้าขึ้นไม่ถูก แกว่งไม่เป็น เค้าก็คิดตาม
“ตอนนี้เค้ากลายเป็นพี่เลี้ยงของทุกคน ใครจะเล่นเค้าก็สาธิตวิธีขึ้น จับให้ แกว่งให้ ของแบบนี้ไม่ได้เป็นเงิน แต่ถ้าคิดแบบสายมนุษยศาสตร์ นี่คือกำไรแล้ว เด็กๆ ได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม”
ด้านอดีตอาจารย์อย่างฝนเองก็ได้กำไรไม่แพ้กัน เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ เธอสอนให้นักศึกษาเขียนสารคดี โดยเริ่มต้นจากการอ่านก่อนเพื่อทำความเข้าใจ ในขั้นตอนนี้เธอจึงได้แบ่งปันหนังสือของตัวเองให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียน
“ในยี่สิบคน มันต้องมีสักคนสองคนที่เจอหนังสือที่กระทบใจ พอเราทำแบบนี้สองปี จึงเห็นว่าการอ่านมันให้อะไรกับคน อาจไม่ถึงขั้นเปลี่ยนชีวิต แต่เค้าจะได้อะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ได้รู้จักหนังสือ genre ใหม่ๆ ที่ไม่เคยอ่านมาก่อน
“เราช่วยให้เค้าเข้าถึงหนังสือ จากนั้นเค้าจะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับเค้า ทีนี้พอเราไม่ได้สอนหนังสือแล้ว เราก็เปิดบ้านเป็นห้องสมุด ขอแค่คุณมาเลือกหนังสืออ่านซักเล่มก็พอแล้ว”
Em Space คือห้องสมุด…และมากกว่านั้น
สำหรับฝน ที่นี่ไม่ใช่แค่ห้องสมุด แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่คนรักการอ่านสามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ แต่ถึงจะไม่ใช่นักอ่าน ที่นี่ก็อ้าแขนต้อนรับไม่แพ้กัน เพราะเธอมองว่าพื้นที่ชานเมืองเช่นนี้ควรมีสเปซทางเลือกอื่นๆ บ้าง จะได้ไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองหรือเข้าห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว
อย่างครั้งหนึ่งที่มีคุณแม่พาเด็กน้อยมาที่ห้องสมุด ตอนแรกเจ้าหนูก็งอแงอยากไปห้าง แต่พอได้วิ่งเล่นกับเพื่อนที่นี่ซักพักก็ติดใจจนขออยู่ต่อ “คือไม่ต้องมาทุกสัปดาห์ก็ได้ แต่อย่างน้อยเค้าก็รู้ว่ามีอีกทางเลือกหนึ่ง มีบ้านต้นไม้ให้ปีน มีของเล่นบ้านๆ ให้เล่น
“เราอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนถอดหัวโขนออกไปทั้งหมด เอาแค่ว่าวันนี้เป็นเวลาพักของเรา เราอยากทำอะไร อยากให้ลูกมาเล่น อยากอ่านอะไร แค่เอาความเป็นตัวเองออกมาใช้พื้นที่นี้ด้วยกัน” ฝนอธิบาย
“ในทางสิ่งพิมพ์ Em Space คือวรรคใหญ่ ถ้าอ่านสำเนียงไทยคือ ‘เอมเสปซ’ ซึ่งมีความหมายดี เอมคือสบายใจ พอใจ พึงใจ อิ่มเอม มาอ่านหนังสือที่ชอบก็เอม ต่อให้ไม่ชอบอ่าน มานอน มากิน ก็เอมเหมือนกัน มาทำอะไรก็ได้ที่เป็นการพักผ่อน ชาร์จแบต ทำให้ตัวเองเอมใจกลับไป แค่นี้ก็พอแล้ว”
และแน่นอนว่า วันนั้นเรากลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจเป็นที่สุด
วันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. เวลา 14.00-16.00 น. ที่ Em Space จัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่าน ถ้าใครว่างก็ชวนไปนะ ในงานจะได้เจอพี่หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักแปล โมน สวัสดิ์ศรี บก.สำนักพิมพ์มติชน ปอ เปรมสำราญ ผู้เขียน Abstract Bar ความจริงเพียวๆ และดำเนินรายการโดยพี่แป๊ด-ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง แห่งร้านหนังสือก็องดิดจ้า
ใครสนใจอยากบริจาคหนังสือ สามารถนำไปให้ได้ที่ Em Space เลย แต่จะกระซิบก่อนว่า ถ้าหนังสือของคุณซ้ำกับที่ห้องสมุดมีอยู่แล้ว (ห้องสมุดจะเก็บหนังสือเล่มหนึ่งไม่เกินสองฉบับ) หรือเป็นหนังสือแบบเรียน คุณฝนจะบริจาคต่อให้กับโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งเพื่อนๆ อาจารย์จากคณะวารสารฯ มธ. จัดค่ายลงพื้นที่เป็นประจำอยู่แล้ว
Em Space 68 รังสิต-นครนายก 31 (ช่วงราวๆ คลองสอง) เข้าซอยไม่ลึก บ้านอยู่ด้านขวามือ มองหาป้ายกลมๆ สีขาวที่มีคำว่า Em Space, a library and more เปิดวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 09.30-18.30 น.