เทศกาลแจกรางวัลของภาพยนตร์ประจำปีกำลังกลับมา และรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่คนรู้จักมากที่สุดอย่าง อะคาเดมีอวอร์ด หรือรางวัลออสการ์ จากทางสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา (Academy of Motion Picture Arts and Sciences) ก็เพิ่งประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลของปีนี้ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งคราวนี้รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ลบล้างคำติติง #OscarsSoWhite ได้อย่างดี
ถึงไฟดราม่า #OscarsSoWhite จะเบาบางลงไปมากแล้ว ก็ยังเหลือประเด็นชวนคนถกกันอย่างหนึ่งอยู่เสมอก็คือเรื่องที่ว่า ทำไมหนัง นักแสดง หรือทีมงานของภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้เข้าชิงรางวัล เรื่องนี้ถ้าจะพูดแบบกว้างๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องรสนิยมของคณะกรรมการของแต่ละรางวัลที่ไม่ตรงกัน รวมถึงแนวทางของค่ายหนังแต่ละค่ายในการส่งเข้าชิงรางวัลแต่ละเจ้าก็จะแตกต่างกันไป เพราะงั้นมันไม่น่าแปลกเท่าไหร่ที่จะมีคนมาบ่นประเด็นนี้
เว้นเสียแต่รางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมในปีนี้ ที่มีเสียงถกเถียงปนก่นด่าว่า ทำไมภาพยนตร์อย่าง The Boss Baby ถึงได้เข้าชิงในสาขานี้ ตัดทิ้งภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ อย่าง The LEGO Batman Movie หรือ A Silent Voice ออกจากรายชื่อ แถมความไม่ OK ของการได้เข้าชิงของหนังเรื่องนี้ทำให้นักข่าวสายบันเทิงของอเมริกาหลายๆ สำนักผันตัวมาเป็นคนชุมพร อำเภอท่าแซะ ด้วยการออกความเห็นอย่าง “ยกเลิกออสการ์ไปเถอะ” ไม่ก็ “ไม่มีใครคาดหวังว่าเจ้าเด็กทารกนั่นจะได้เข้าชิงหรอกนะ” หรือไม่ก็ “จิตแพทย์ที่รักคะ ฉันรู้สึกแปลกๆ ที่ The Boss Baby ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์จังเลยค่ะ”
The MATTER ขอรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟังกันต่อว่าทำไมรางวัลออสการ์สาขานี้ถึงมีปัญหานัก โดยเฉพาะในปีที่รางวัลออสการ์แก้ไขปัญหาของตัวเองไปได้หลายข้อแล้วแท้ๆ
ปัญหาจากกรรมการผู้โหวตคะแนนของออสการ์
พอดีนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของออสการ์สาขานี้ที่มีดราม่า ย้อนกลับไปในการแจกรางวัลออสการ์ของปี 2015 ก็มีดราม่ามาก่อนแล้ว ตรงที่ The Lego Movie ถูกคณะกรรมการตัดออกจากการเข้าชิงสาขาอนิเมชั่นเพราะมีช่วงท้ายๆ ของเรื่องที่มีคนแสดงจริงปรากฎตัวเข้ามาแจมด้วย หรือถ้าคุณไปคุยกับแฟนอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นก็จะมีคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมงานการ์ตูนจากญี่ปุ่นถึงไปไม่ถึงฝันอีกเลยหลังจาก Spirited Away ของทาง Studio Ghibli คว้ารางวัลนี้ในปี 2002
เรื่องนี้น่าจะบอกได้ว่ารสนิยมของคณะกรรมการมีผลอย่างมากครับ ด้วยเว็บไซต์ Cartoon Brew ติดตามรายงานเรื่องนี้มาหลายปี เพราะว่าเดิมทีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงของฝั่งรางวัลออสการ์นั้นมีเพียงคณะกรรมการกลุ่มเล็กๆ โดยไม่มีบุคลากรที่ชำนาญการหรือเข้าใจงานอนิเมชั่นมาร่วมโหวต
ปัญหานี้ก็คล้ายๆ กับเรื่อง #OscarsSoWhite ที่ทางสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์แก้ปัญหาด้วยการเปิดให้สมาชิกทั่วไปของทางสถาบันสามารถได้รับเลือกมาเป็นคณะกรรมการลงคะแนนโหวต จากเดิมที่่จะมีเพียงสมาชิกจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่มีโอกาสได้โหวต แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นสำหรับสาขาอนิเมชั่น ทั้งๆ ที่สาขาอื่นมีความหลากหลายมากขึ้น
แต่ก็มีอีกระบบหนึ่งที่ทาง Cartoon Brew ฟันธงว่าเป็นปัญหาอยู่ก็คือ ระบบลงคะแนนเสียงแบบพิเศษ (Preferential Balloting System) ที่สมาชิกผู้ได้สิทธิลงคะแนนเสียงคัดเลือกรายชื่อสุดท้ายจะถูกกำหนดคิวให้ไปดูหนังจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะต้องเลือกรายชื่ออนิเมชั่นเพิ่มเติมอีก 4 เรื่อง และนั่นก็กลายเป็นปัญหาเพราะผู้ที่ได้เป็นคณะกรรมการแล้วไม่ได้ดูหนังอนิเมชั่นเลยสักเรื่อง ก็จะยัดๆ ชื่ออนิเมชั่นที่พวกเขาเห็นโฆษณามาเยอะๆ หรือเป็นเรื่องที่ลูกๆ หลานๆ รู้จัก แล้วเอามาใส่ลงไปในรายชื่อที่น่าจะได้เข้าชิงแทน (และปัญหาการใส่ชื่อแบบนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนระบบการลงคะแนนมาแล้วครั้งหนึ่ง)
เพราะงั้น… ไม่แปลกนักที่เราจะได้เห็นอนิเมชั่นที่คะแนนรีวิวแย่มากๆ นักวิจารณ์ก็ไม่โอเค รายได้ก็ไม่ได้เวอร์วังอะไรทะลุเข้ามาชิงออสการ์ได้อย่าง The Boss Baby
ปัญหาจากผู้จัดจำหน่ายอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น
“ทำไม your name. ถึงไม่ได้เข้าชิงออสการ์?” เป็นคำถามที่ทั้งได้ยินและได้อ่านเจอบ่อยๆ ในฝั่งสังคมคนชอบอนิเมชั่นทางญี่ปุ่น ในทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียนเองมองว่าหนังเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีโอกาสไปไกลจนได้รางวัล แต่ก็ไม่น่าถูกลืมถึงระดับที่จะไม่มีโอกาสได้ติดห้าเรื่องสุดท้าย
ส่วนนี้ Justin Sevakis ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Anime News Network และถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานวนเวียนกับสื่อมวลชนสายบันเทิงหลายๆ เจ้า เคยออกความเห็นไว้เกี่ยวกับการที่อนิเมชั่นญี่ปุ่นไปไม่ไกลมากในเวทีออสการ์ว่า ไม่ใช่ปัญหาของคณะกรรมการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในอเมริกาอีก ที่มีผลทำให้อนิเมชั่นจากญี่ปุ่น รวมถึงอนิเมชั่นจากชาติอื่นๆ ไม่มีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลออสการ์
Justin เคยตอบคำถามไว้ในเว็บไซต์ Anime News Network เป็นบทความขนาดยาวว่า อย่างไรเสียอนิเมชันจากญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ ก็ยังถือว่าเป็น ‘หนังอินดี้’ สำหรับคนดูในอเมริกาอยู่ดี ด้วยเนื้อหาหลายอย่างที่ยังมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมจนคนอเมริกาอาจจะไม่เข้าใจ การที่ตัวแทนนำเข้าอนิเมชั่นในอเมริกาจะคาดหวังว่า คนดูส่วนมาก โดยเฉพาะกรรมการที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงโหวตออสการ์จะมาดูหนังการ์ตูนจากชาติอื่นในโรงหนังนั้นเป็นโอกาสที่ดูจะยากเย็นไปหน่อย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ค่ายหนังควรจะทำก็คือการส่งแผ่น Blu-ray หรือ DVD ของหนังที่พวกเขาส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ไปให้กับคณะกรรมการหรือเหล่าเซเลบที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงหนังเท่าไหร่ แต่มีโอกาสอวยหนังแบบปากต่อปากให้เพื่อนในวงการฟังอีกที ซึ่งในอเมริกาก็จะมีบริษัท GKids ที่ถือว่าชำนาญการล็อบบี้หาคะแนนโหวต จนทำให้อนิเมชั่นที่พวกเขานำเข้ามาฉายในอเมริกาได้เข้าชิงออสการ์บ่อยครั้ง อย่างอนิเมชั่นเรื่อง The Breadwinner ที่เข้าชิงออสการ์ปีนี้ ก็ถูกนำเข้ามาจัดจำหน่ายด้วยฝีมือของบริษัทนี้
แต่บริษัทหนังขนาดเล็กเจ้าอื่นๆ อาจจะไม่เจนสนามแข่งมากพอที่จะผลักดันหนังเข้าชิงรางวัล อย่าง บริษัท Funimation ผู้นำเอาหนังเรื่อง your name. ไปฉายในแดนมะกันกลับเปิดตัวหนังอนิเมชันเรื่องดัง ด้วยการฉายในเมืองลอสแอนเจลิสเป็นเวลาเจ็ดวันแบบเงียบๆ ในโรงภาพยนตร์ไม่เกิน 5 แห่ง เพื่อให้เข้าตามกรอบกติกาส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ก่อนที่จะฉายทั่วอเมริกาในปีถัดมา …คือพี่โปรโมตก็น่าจะเอาให้กรรมการเห็นด้วยสิครับ!
นอกจากการล็อบบี้กับเรื่องที่อนิเมชันญี่ปุ่นไม่ใช่หนังอินดี้แล้ว ก็ขอย้อนกลับไปเล่าในช่วงที่ Spirited Away ที่เคยได้รางวัลออสการ์กันเล็กน้อย ในตอนนั้นอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ทาง Disney เป็นผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าฉาย โดยมี John Lasseter ผู้กำกับคนดังของทาง Pixar เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดทำหนังเรื่องดังกล่าว แม้ว่าหนังจะฉายแบบจำกัดประมาณ 150 โรงทั่วประเทศ และสเกลการโปรโมตของหนังอาจจะไม่เท่าหนังขนาดเล็กเรื่องอื่นๆ ของ Disney เอง (ด้วยเหตุผลที่ว่าทาง Disney ได้ลิขสิทธิ์แค่การฉายหนังในโรง ไม่มีสินค้าอื่นมาด้วย) ถึงอย่างนั้นผลงานของ Hayao Miyazaki ก็ได้ออกโฆษณาทางรายการบันเทิงของอเมริกาอยู่หลายรายการ และงานก็เตะตากลุ่มคณะกรรมการออสการ์จนได้รับรางวัลกลับมา แล้วได้รับการฉายในวงกว้างก็ในตอนนั้นนั่นเอง
ก็พอจะพูดได้ว่า หนังที่ดีจริงๆ ถ้าไปไม่ถึงคนดูที่คู่ควร รางวัลก็จะมาไม่ถึงมือเช่นกัน
คณะกรรมการจัดงานรางวัลออสการ์ไม่ใส่ใจอนิเมชั่น?
เรื่องนี้ก็ไม่จริงเสียทีเดียวครับ ตามที่เราพูดถึงในหัวข้อด้านบนว่า ทางสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา ก็พยายามออกกฎกติกาใหม่เพื่อให้ผู้ลงคะแนนเสียงมีจำนวนมากขึ้น มีการเปิดให้บุคลากรที่ทำงานอนิเมชั่นมีส่วนในการคัดเลือกหรือลงคะแนน ดราม่าของ The LEGO Batman Movie ก็ทำให้มีการขยับกติกาบางอย่างเพื่อให้หนังอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคการสร้างหลายอย่างในเรื่องเดียกันไม่โดนเขี่ยออกจากการคัดเลือกอีก
ปัญหาที่ติดขัดจริงๆ ณ จุดๆ นี้ คงจะเป็นเรื่องทัศนคติส่วนตัวของเหล่าสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา ผู้มีสิทธิ์คัดเลือกหนังเสียมากกว่าที่อาจจะยังมองว่า ‘การ์ตูนก็แค่งานสำหรับเด็ก’ อีกทั้งเป็นภาพสะท้อนเล็กๆ ว่ายังมีภาวะดูถูกงานที่ไม่ใช่ผลงานของอเมริกาอีกด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้หนทางสิ้นความหวังอะไรแบบนั้น อย่างน้อยที่สุดในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นภาพยนตร์อนิเมชั่นจากต่างประเทศมาเข้าชิงออสการ์สาขาอนิเมชั่นอยู่บ่อยๆ หรือถ้ามองแค่รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมของปีนี้ เรื่องอื่นๆ ก็ยังถือว่าเป็นงานที่มีศักยภาพมากพอ อย่าง Loving Vincent ที่มีความดีงามในการสร้างชีวิตให้ภาพสีน้ำมันของศิลปินชื่อดัง, The Breadwinner ที่เล่าเรื่องยากเข็ญในการใช้ชีวิตของเด็กหญิงในอัฟกานิสถานยุคที่ตาลีบันรุ่งเรือง, Ferdinand อาจจะดูไม่ค่อยมีอะไร แต่ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ นี่คือหนังรีเมคผลงานคลาสสิกของปี 1938 ซึ่งคนวัย 30 ปีขึ้นไปหลายคนอาจจะคุ้นเคย และ Coco นั้น สื่อทุกเจ้าเชื่อว่าจะได้รางวัลออสการ์ไปแน่ๆ ด้วยคุณภาพของเนื้อเรื่องและภาพที่สวยงาม
แม้กติกาของปีนี้อาจจะให้บริษัททุนหนาโฆษณาเยอะๆ ได้เปรียบกว่าในการเข้าชิง แต่ Dave Jesteadt ประธานของทางบริษัท GKids ที่เรากล่าวถึงเมื่อก่อนหน้านี้ก็ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ VOX อย่างมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป “ถ้าการเปิดกระบวนการคัดเลือกหนังเข้าชิงรายชื่อสุดท้าย ช่วยเปิดหูเปิดตาให้กับผู้ลงคะแนนเสียงจนทำให้พวกเขาเห็นถึงความเป็นไปได้ที่แท้จริงของสื่ออย่าง อนิเมชั่น และทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้น ว่าจะได้พบเจออะไรจากหนังแนวนี้ในภายภาคนี้ นั่นก็คงเป็นผลลัพธ์ที่ดี ไม่ใช่เฉพาะกับพวกเราเท่านั้น แต่เป็นเรื่องดีสำหรับคนทั้งอุตสาหกรรม”
โลกอนิเมชั่นนั้นพร้อมจะถ่ายทอดจินตนาการและความงดงามของเรื่องราวอยู่เสมอ รอเพียงให้ใครหลายคนที่ยังไม่คุ้นเคยหันมาเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชั่นที่มาจากชาติใดก็ตามที
อ้างอิงข้อมูลจาก