Your Name กลายเป็นภาพยนตร์สุดเซอร์ไพรส์ของปี ที่เข้าฉายในไทยแล้วสร้างกระแสกับรายได้ไปอย่างเกินคาด (รายได้ Box Office เมื่อวันที่ 24 – 27 พ.ย. 2559 อยู่ที่ราว 42 ล้านบาท) [1]
กระแสจากภาพยนตร์ยังส่งผลให้ฉบับนิยายของเรื่องดังกล่าวขายดีจนโควต้าสั่งจองออนไลน์หมดภายในวันเดียวเท่านั้น แล้วก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี ที่เราได้เห็น CD เพลงประกอบภาพยนตร์ญี่ปุ่นผลิตภายในประเทศไทยและออกวางขายในราคาเป็นมิตรต่อเงินในกระเป๋า และยังส่งผลต่ออีกธุรกิจหนึ่งที่เกาะกระแสภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย นั่นก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยว นั่นล่ะ
ถ้าถามว่าทัวร์มาเกี่ยวยังไงกับการ์ตูนเรื่องนี้ล่ะ ก็บอกได้ว่ามันเกี่ยวกันในระดับใหญ่ทีเดียวเพราะฉากในเรื่อง Your Name นั้นแม้ว่าจะเป็นสถานที่สมมติ แต่ ‘ฉากต้นแบบ’ ของฉากในเรื่องนั้น ล้วนแต่เอามาจากสถานที่ที่มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้บริษัททัวร์หลายๆ แห่งในไทยจึงจัดทัวร์ตามรอยการ์ตูนเรื่องดังกล่าวกัน
และไม่ใช่เพียงแค่บริษัททัวร์ของไทยเท่านั้นที่ตามกระแสของเรื่องนี้ เพราะถ้าว่ากันจริงๆ ทุกครั้งที่มีกระแสอนิเมชั่นเรื่องไหนที่ใช้สถานที่จริงขึ้นมา ก็มักจะมีการทัวร์ตามรอยแทบจะทุกครั้ง และในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ตอบรับกระแสแบบนี้ แต่คนในพื้นที่ ร้านค้า หรือบางครั้งแม้แต่ตัวแทนจากองค์กรท้องถิ่นก็ออกมาช่วยโปรโมตสถานที่ดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ [2]
อย่างเมืองฮิดะ ที่เป็นต้นแบบของเมืองในเรื่อง Your Name ก็ตื่นตัวกับกระแสนี้อย่างดี ตัวอย่างเช่น หอสมุดเมืองฮิดะ ต้นแบบของหอสมุดในเรื่องก็ปรับกฎ ให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพภายในห้องสมุดได้ แล้วมีการแจกกระดาษแฮชแท็ก #หอสมุดเมืองฮิดะ และบอร์ดแปะป้ายชื่อให้กับผู้ที่เคยเดินทางมายังที่แห่งนี้ หรือสถานีรถไฟของเมืองที่ขึ้นป้ายระบุไว้ว่าถ้าต้องการถ่ายรูปให้ได้วิวในลักษณะเดียวกับฉากที่เกิดขึ้นในหนังต้องทำยังไง และร้านเหล้าท้องถิ่นที่ออกสาเกแบบเดียวกับที่ปรากฎในเรื่องมาขายกันจริงๆ จังๆ เป็นอาทิ [3] [4] [5] [6]
ถ้าย้อนไปยุคก่อนหน้านี้ เมืองจิจิบุที่เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ก็ได้รับอานิสงส์จากการ์ตูนเรื่อง ดอกไม้ มิตรภาพ ความทรงจำ (AnoHana) [7] ที่ใช้ฉากจากตัวเมืองจิจิบุในเกือบทุกซีน ทำให้สถานที่ต่างๆ ในเมืองกลายเป็นแลนด์มาร์คเด่นๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเมืองที่เคยร้างนักท่องเที่ยวมาก่อน หรือถ้าย้อนขึ้นไปอีกนิด ศาลเจ้าวาชิโนะมิยะ ในเมืองวาชิมิยะ ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาเพราะการ์ตูนเรื่อง Lucky Star ที่เซ็ตให้บ้านของตัวละครเอกคู่หนึ่งอยู่ในศาลเจ้าทาคาโนะมิยะ แม้จะเป็นแค่สถานที่เล็กๆ เพียงแห่งเดียว แต่ก็ดึงดูดให้เหล่านักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเมืองแห่งนี้มากขึ้น จนถึงขั้นที่การท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นก็เคยยกเมืองนี้ขึ้นมาเป็นจุดหมายท่องเที่ยวสำคัญของประเทศมาแล้ว [8]
แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยแต่ก็เห็นได้ว่า ทั้งคนทั่วไปและกลุ่มคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมโอทาคุต่างก็ยินดีที่จะเดินทางไปยังสถานที่แบบเดียวกับตัวละครเหล่านั้น ซึ่งการกระทำนี้ถูกเรียกกันว่า ‘จาริก’ ตัวอย่างเช่น แฟนกันดั้มต้องเดินทางไปร้าน Gundam Front Tokyo เพื่อสักการะบูชารูปปั้นกันดั้มขนาดสูงเท่าตัวจริง (ทั้งนี้เพิ่งมีข่าวประกาศมาว่าสถานที่แห่งนี้จะปิดทำการในเดือนมีนาคมปีหน้า) และอย่างที่เราเคยลงอัพเดทในข่าวสั้นไปว่า ทางประเทศญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นก่อตั้งหน่วยงาน Japan Anime Tourism Associtation (สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบอนิเมะ) ซึ่งเป็นการรวมพลบุคลากรสำคัญทั้งฝั่งวงการอนิเมชั่นและวงการการท่องเที่ยว ที่มีผลงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกคือการขอความเห็นจากผู้คนทั่วโลกให้ช่วยกำหนด ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 88 แห่ง’ ในเว็บไซต์ http://animetourism88.com/ (เป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางไปยังวัดสำคัญ 88 แห่งทั่วประเทศ) [9] ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
นอกจากอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ฝั่งเกาหลีใต้ก็เคยมีปรากฎการณ์ทัวร์ตามรอยซีรีส์ดังเหมือนกัน [10] สื่อบันเทิงที่มีผลช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเลยไม่ได้หยุดอยู่แค่อนิเมชั่นเท่านั้น
ยิ่งในปัจจุบัน ก็มีองค์กรรัฐบางแห่งที่ติดต่อให้ความร่วมมือกับสื่อบันเทิงไปตั้งแต่แรก เช่นเกม Root Letter ที่เล่าเรื่องการเดินทางตามหาเพื่อนทางจดหมาย ที่หายตัวไปอย่างลึกลับในจังหวัดชิมาเนะ ซึ่งทางจังหวัดชิมาเนะก็ได้ให้ความร่วมมือในด้านข้อมูลสถานที่ให้กับผู้สร้างเกม
การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่หลายคนเคยคิดว่ามันยากที่จะเป็นจริง แต่ดินแดนอาทิตย์อุทัยกำลังจะพลิกให้รายได้จากแนวคิดนั้นทะยานขึ้น แถมช่วงหลังแนวคิดอำนาจอ่อนของเขายังมีอิทธิพลมาถึงนอกประเทศด้วย
อย่างเมืองไทยเราเองก็ถูกนำเสนอในอนิเมชั่น Yuri On Ice ที่แฟนการ์ตูนคนไทยก็เพิ่งทราบว่าในบ้านเรามีนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต และห้างบิ๊กซี สาขาสำโรง ก็คือสนามแข่งระดับนานาชาติของกีฬาชนิดนี้ หรือในเรื่อง Gundam Build Fighters ก็บอกให้เราได้รู้ว่า นักกีฬาทีมชาติเบสบอลของไทยมีอันดับอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีใครเล่นกีฬาชนิดนี้เลย
…พอกลับมามองในบ้านเราที่วัฒนธรรมก็โดดเด่น สถานที่ท่องเที่ยวก็หลากสไตล์แต่การทำสื่อนำเสนอให้คนในประเทศกันเองกลับออกมาในรูปแบบทื่อๆ แข็งๆ พาลให้คิดว่า หรือบ้านเราจะโอเคกับการบอกเล่าอะไรแบบฝืนทนขมใจกันนะ ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Box Office Mojo
[2] Pantip
[3] Izanau
[4] Rocket News 24
[5] Akibatan
[6] PDR Travel
[7] Anime News Network
[8] Japan National Tourism Organization
[9] Gundam Info Thailand
[10] Position Mag