ความรู้สึกไกลบ้านถูกร่นระยะลงด้วยเส้นทางระยะฮัมบวร์ค-เบอร์ลิน มุ่งหน้าสู่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Berlinale ครั้งที่ 67 สถานีต่อไป ‘Railway Sleepers’ หรือ ‘หมอนรถไฟ’ โดย โบ๊ต – สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์
เสียอย่างเดียวเรานั่งรถบัสเพื่อไปดูเรื่องรถไฟในเบอร์ลิน
เรารู้จักพี่โบ๊ตผ่านเสียงโทรศัพท์ประมาณ 5 ปีก่อนเพื่อหาคำแนะนำในการเรียนต่อ หลังจากนั้นเราไม่ได้ติดต่อกันอีก แต่เราก็ยังติดตามข่าวคราวการเคลื่อนไหวของกันและกันบ้าง ในฐานะที่พี่โบ๊ตเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และในฐานะผู้กำกับที่กำลังทำหนังเกี่ยวกับรถไฟ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ รวมเวลากว่า 8 ปี วันที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘หมอนรถไฟ’ เดินทางมาที่เบอร์ลิน ไม่ต้องคิดอะไรมาก เรารีบจองรถเพื่อมาดู แน่นอนว่าปลายทางมันคงไม่ใช่แค่หนัง แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือสิ่งที่พี่โบ๊ตเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาตลอด 8 ปีบนรถไฟ และเราเชื่อว่า มันคงไม่ได้มีแค่เรื่องรถไฟ
‘Railway Sleepers’ หรือ ‘หมอนรถไฟ’ เป็นภาพยนตร์ที่เราทึกทักเอาเองว่าเป็นสารคดีที่สร้างประสบการณ์ความรู้สึกความละมุนละไมที่สุดเรื่องหนึ่งที่ได้ดูในโรงภาพยนตร์ กล้องหรือพี่โบ๊ตทำหน้าที่สำรวจแต่ไม่ถึงกับตรวจสอบชีวิตของผู้คน แต่ใช้วิธีการการร้อยเรียงเรื่องราวบนรถไฟไทยจากชั้นสามไปจนถึงชั้นหนึ่ง เด็กๆ ไปทัศนศึกษา วัยรุ่นนั่งฟังเพลงจากหูฟังเส้นเดียวกัน พ่อค้าแม่ขายหลอกล่อคุณยายให้ซื้อของเล่นให้ลูกหลาน ภาพทหารและมุสลิม ตู้นอนและความสงบที่มีพ่อยืนกล่อมลูกให้หลับอยู่กลางทางเดิน การเดินทางจากเหนือ อีสาน ไปสู่ใต้ ร้อยเรียงแง่งามของชีวิตไปจนถึงความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้บนหมอนรถไฟที่เคลื่อนที่มากว่า 100 ปี
ภาพเปิดของภาพยนตร์ชวนดึงให้เรานั่งลงเงียบๆ รถไฟค่อยๆ เข้าถ้ำ สายตาค่อยๆ ถูกปรับลดระดับให้ชินกับแสง เรารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่รู้สึกว่า มันเหมือนเรานั่งอยู่บนรถไฟจริงๆ ที่มีคนตรงข้ามคือพี่โบ๊ต เรามองหน้ากันผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตในตอนที่เริ่มคุยกัน ก่อนจะเริ่มต้นบทสนทนาที่ติ๊ต่างว่า เรากำลังเดินทางไปสถานีข้างหน้าด้วยกัน มันคือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องรถไฟ ชีวิต และบ้าน โดยมีสองข้างทางเป็นบ้านของแต่ละคน – อาจจะที่ไทยหรือไม่ใช่ก็ตาม
โรส : เรารู้สึกว่าพี่โบ๊ตมีความจริงใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ มันอาจจะเลยจุดที่จะพูดประเด็นเวลามาแล้ว แต่อย่างน้อย ระยะเวลา 8 ปีมันก็สะท้อนว่าพี่จริงใจไม่ใช่แค่กับคนดูแต่คือกับตัวเองด้วยที่ทำเรื่องนี้ พี่โบ๊ตเบื่อมั้ยกับการที่คนถามเรื่อง เออ ทำหนัง 8 ปีจริงหรอ คือเรารู้สึกว่ามันต้องเป็นความสัมพันธ์บางอย่างที่ไม่ใช่แค่การทำงาน แต่มันเหมือนกับเราคบกับคนคนนึง หรือเพื่อนสักคนตั้งแต่มหาลัยจนถึงตอนนี้ มันต้องเป็นอีกระดับของความสัมพันธ์ มันคงไม่ใช่การทำหนังสามเดือน คือเราไม่ได้หมายความว่า การทำหนังสามเดือนไม่ดี แต่การที่อยู่กับอะไรนานๆ มันก็น่าจะบอกหรือสอนเราได้ประมาณหนึ่ง เลยอยากรู้ว่าพี่โบ๊ตได้เรียนรู้อะไรบ้าง
โบ๊ต : สำหรับเรา 8 ปีมันกลายเป็นความรู้สึกอย่างที่โรสว่า มันไม่ใช่แค่หนังเรื่องหนึ่ง แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันอาจจะมองได้ว่ามันคือ relationship ที่อยู่กับเรามานานมากก็ได้ เค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา ซึ่งเวลาที่เค้าเป็นส่วนหนึ่งของเรา มันก็จะมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีข้อหนึ่งคือ เราก็ชินแล้วก็เข้าใจเค้ามากขึ้น เราเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อนของเค้า เรารู้จักเค้าในทุกๆ แง่มุม แต่ในขณะเดียวกันข้อเสียของมันก็คือ เราก็จะชินกับเค้า (หัวเราะ) พอมันกลายเป็นความชิน ไอ้พวกความตื่นเต้น หรือความรู้สึกสดใหม่ มันหายไป เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
โรส : แล้วมันยังเซอร์ไพรส์พี่โบ๊ตอยู่มั้ย เหมือนคบกันมานาน แล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไรจะเซอร์ไพรส์เราแล้ว แล้วยิ่งสถานการณ์มันอยู่บนรถไฟ เราอาจจะพอสามารถจับทางได้ว่า โอเค เดี๋ยวมันจะมีคนแอคชั่นประมาณนี้นะ
โบ๊ต : มันมีเซอร์ไพรส์ตรงที่ว่าระหว่างที่เราจัดการกับมันไม่เสร็จสักทีเนี่ย เราก็พยายามหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับมัน อย่างเช่นในเชิงประวัติศาสตร์รถไฟ ในช่วงแรกมันเป็นแค่สิ่งที่ผ่านเข้ามาในตัวเราเฉยๆ คือเราไม่ได้สนใจมันอย่างจริงจัง เราคิดไม่ออกว่าเราจะเอามาใช้กับหนังยังไง เวลามันมีหนังสือรถไฟ หรือนิตยสารที่ลงสกู๊ปเกี่ยวกับรถไฟไทย เราก็จะซื้อมาเก็บเยอะมาก แล้วก็อ่านผ่านๆ ไปพอขำๆ พอมาตื่นเต้นก็ช่วงท้ายๆ ที่เรารู้ว่าเรายังหาตอนจบของหนังที่เราชอบไม่ได้ แล้วเราก็คิดว่าจะทำยังไงดี อยู่ดีๆ ก็มาเจอหนังสือพวกนี้แล้วก็เริ่มมีไอเดียขึ้นมาว่าจะทำยังไงกับมัน อันนี้มันตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่มานานแล้ว แล้วไม่เคยเห็นมันในมุมมองนี้มาก่อน เริ่มรู้สึกตกตะกอนแล้วก็รู้สึกว่า เห้ย ถ้ามันเป็นคน ก็เหมือนกับว่าคนๆ นี้ เราเห็นเขามานาน แล้ววันนึงเขาก็โชว์ด้านที่เราไม่เห็นมาก่อน
8 ปีมันกลายเป็นความรู้สึกอย่างที่โรสว่า
มันไม่ใช่แค่หนังเรื่องหนึ่ง แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
โรส : เหมือนได้เห็นอีกมิติหนึ่ง
โบ๊ต : ใช่ สมมติเป็นเพื่อนที่อยู่ดีๆ เราไม่เคยเห็น แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่า เห้ย หรือเราคิดกับเค้าไม่เหมือนเดิม (หัวเราะ) มันก็เลยเริ่มตื่นเต้น เราคิดว่าเราเข้าใจโปรเจกต์ของเรามานานจนกระทั่งเราเริ่ม push ตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะมันเริ่มชิน เราก็พยายามคิดไปเรื่อยๆ จนพอมันมีไอเดียนี้ขึ้นมา มันก็ตื่นเต้นอีกครั้งนึง เลยเริ่มการทำรีเสิร์ชประวัติศาสตร์รถไฟอย่างจริงจัง เริ่มเอาหนังสือที่สะสมมาทั้งหมดมาอ่านอย่างจริงจัง สรุปข้อมูลเหมือนทำปริญญาเอกอย่างนั้นเลย เริ่มหาวิธีใหม่ๆ เหมือนอย่างที่โรสดู ช่วงท้ายหนังมันจะมีความกึ่ง fiction ซึ่งเราเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะเอาสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในหนัง เพราะตอนแรกเรากะจะให้หนังมัน observational แบบเพียวมากๆ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดไว้ตอนแรก ก็เลยมีการเขียนบท มีนักแสดง แล้วก็รู้สึกเหมือนทำหนังสั้นอีกเรื่องนึง เหมือนได้ทำหนังเรื่องใหม่
โรส : ซึ่งเราชอบนะ ชอบตอนที่พี่ถามตัวละครว่ามีแฟนมั้ย คือตอนแรกเราก็พยายามฟังไปเรื่อยๆ อ๋อ คนนี้คือวิศวกรรถไฟ พูดเรื่องสยาม แต่พอมันเริ่มมีคำประหลาดๆ เข้ามา เริ่ม เอ๊ะ นี่คือตัวแทนของประวัติศาสตร์ใช่ไหม ก็เลยโอเค มันคงมาถึงอีกจุดของหนังแล้ว เริ่มดึงเราออกจากหนัง แต่พอพูดเรื่องมีแฟนมั้ย มันดูดเรากลับเข้าไปทันที
เราชอบประเด็นคนคุยกันเรื่องส่วนตัว มันทำให้หนังดูใกล้เรามากขึ้น คือพอเราพูดถึงรถไฟ เอาจริงๆ มันก็มีความถูกผลักออกและดึงเข้าในเวลาเดียวกัน อย่างพูดเรื่องความทรงจำอีกแล้วหรอ นั่งรถไฟอีกแล้วหรอ แต่พอเราดูหนัง สุดท้ายเราก็นึกถึงความทรงจำนั้นจริงๆ เราเคยนั่งไปกับคุณตา หรือนอนในตู้รถไฟ ยิ่งพอมีคำถามส่วนตัว มันยิ่งใกล้ชิดกับเรามากขึ้น พี่คิดยังไงกับการผลักออกและดึงคนดูเข้ามาในเวลาเดียวกัน ตอนแรกมันดูประวัติศาสตร์ พูดถึงสยาม รถไฟเก่าๆ แต่พอถามว่ามีครอบครัวมั้ย มันกลับมาสู่เรื่องพื้นฐานของทุกคนเลย
โบ๊ต : ใช่ โรสพูดถูกจุด พอเข้าสู่โหมดของรถไฟ ประวัติศาสตร์มันก็สามารถทำให้มันแห้งมากๆ ได้ เป็นเหมือนการให้ความรู้เบื่อๆ ก็ได้ แต่พี่ไม่อยากทำแบบนั้น เพราะพี่รู้สึกว่าหนังทั้งเรื่องมันมีเรื่องของคน มันเป็นโมเมนต์เล็กๆ ในชีวิตของอะไรที่มัน intimate พี่อยากจะให้หนังมันมีความรู้สึกแบบนั้นไว้ ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้มันเป็นธรรมชาติ เวลาที่เราไปสัมภาษณ์ เราอยากให้มันเป็นการคุยกันจริงๆ มันก็เลยต้องมีสิ่งที่มันไม่ใช่เรื่องของรถไฟ มันต้องเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องทั่วๆ ไป ชีวิตประจำวันด้วย อีกอย่างหนึ่ง พี่ก็อยากให้หนังมันมีอารมณ์ขัน ไม่อยากให้หนังมันแห้งมาก พี่ก็พยายามคิดว่า ถ้าพี่เกิดเจอคนๆ นี้ในชีวิตจริง พี่จะคุยอะไรกับเขา นึกออกปะ พี่ก็คงถามเรื่องส่วนตัว
เราอยากให้มันเป็นการคุยกันจริงๆ
มันก็เลยต้องมีสิ่งที่มันไม่ใช่เรื่องของรถไฟ
มันต้องเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องทั่วๆ ไป ชีวิตประจำวันด้วย
โรส : มีความหว่อง เหงาๆ เบาๆ เล็กน้อย (หัวเราะ)
โบ๊ต : มันก็ขำๆ เหมือนจีบเขานิดๆ หน่อยๆ เราทำให้ตัวละครมันคือวิศวกรรถไฟจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีเลือดเนื้อเชื้อไข มีชีวิตส่วนตัว เราก็เลยคิดว่าถ้าเราจะสัมภาษณ์เขาจริงๆ มันก็คงไม่ได้มีแค่เรื่องหน้าที่การงานเขา อยากให้มันมีเรื่องส่วนตัวของเขาด้วย แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวของเขามันก็น่าสนใจ เขาก็มีลูกที่เกิดที่สยามเหมือนกันแล้วก็ตาย พี่ก็รู้สึกว่าแม้จะมีเรื่องส่วนตัวแต่มันก็มีเรื่องการเมือง สังคมด้วย มันเป็นยุคที่ฝรั่งเริ่มเข้ามาเมืองไทย มันก็เริ่มมีลูกครึ่ง มีความน่าสนใจทั้งในแง่ personal และ political
โรส : แล้วตู้นอนมีผลมั้ย ถ้าพาคนๆ นี้ไปอยู่ในชั้น3 หรือชั้น 2 มันก็อาจจะไม่ได้ลงเอยด้วยคำถามที่ว่าแบบใกล้ชิดขนาดนี้ ยิ่งพอเป็นเวลากลางคืนสงบๆ มันคือเวลาที่เราได้ใกล้ชิดกับตัวเองและเขามากขึ้น
โบ๊ต : ใช่ มันเป็นห้องส่วนตัว พอมองในแง่หนึ่งแล้วมันก็โรแมนติกมากนะ หนังมันเคลื่อนที่จากที่ส่วนตัวน้อยที่สุด คือรถไฟชั้น 3 แล้วมันก็ค่อยๆ เข้ามาสู่ความส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งฉากที่สุดท้ายมันเหมือนเป็น ultimate ของ private space แล้ว
โรส : คืออีกนิดนึงชั้นก็จะเปลือยตัวชั้นเองแล้วล่ะ
โบ๊ต : ใช่ พอมันเป็นพื้นที่ส่วนตัวปุ๊บ ก็กลายเป็นว่าคุยเรื่องของตัวเอง ของอีกคนนึงเท่านั้นแล้ว อีกแง่หนึ่งคือพี่ต้องการจะเบรคฟอร์มของภาพยนตร์ด้วย ตอนแรกมันเหมือนจะเป็น observational แค่สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น มันเหมือนเราไม่มีตัวตน พอถึงจุดนึง หนังมันกลายเป็นเหมือน talking head กลายๆ มีการสัมภาษณ์เหมือนสารคดีทั่วไป แล้วก็พลิกจากหนังที่เราไม่มีตัวตนเลย กลายเป็นหนังที่มัน personal ขึ้นมามากๆ เราเล่นกับฟอร์มด้วยการเปลี่ยนทุกอย่างให้มันกลับตาลปัตร
โรส : จริงๆ เรารู้สึกว่าเวลาเราไปเที่ยวนั่งรถไฟกับเพื่อนสักคนหนึ่งที่อาจจะไม่ได้สนิทมาก หรือสมัยเด็กที่ไปทัศนศึกษา ตอนเปิดเรื่องมันยังมีความต่างคนต่างอยู่กันอยู่แหละ แต่พอตกกลางคืน มันจะเป็นช่วงเวลาของการเปิดใจ ซึ่งเรารู้สึกว่าฟอร์มของหนังมันประมาณนั้น ตอนกลางคืนมันจะมีความ “เห้ย มึง แต่ก่อนมึงเคยมั้ยวะ” อะไรแบบนี้ มันน่ารักดีนะ เวลานึกถึง
โบ๊ต : เออ มันดึกแล้วด้วยแหละ (หัวเราะ)
พอถึงจุดนึง หนังมันเป็นเหมือน talking head กลายๆ
มีการสัมภาษณ์เหมือนสารคดีทั่วไป
แล้วก็พลิกจากหนังที่เราไม่มีตัวตนเลย กลายเป็นหนังที่มัน personal ขึ้นมา
โรส : เวลาเราดูหนังผู้กำกับที่พูดเรื่องส่วนตัวหรือเล่าเรื่องชีวิตตัวเองผ่านหนัง มันจะมีความหม่นเบาๆ แต่เวลาพี่โบ๊ตพูดหรือตอบคำถามมันจะมีความ positive อยู่ ถึงมันจะผ่านกระบวนการท้อแท้มาเยอะก็ตาม พี่ดูมีกำลังใจในการพูด มันจริงใจ มันก้ำกึ่งแหละระหว่างการมองโลกในแง่ดีมากเกินกับการส่งต่อพลังงานดีๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราได้พลังงานนี้นะ คือในเรื่องหมอนรถไฟมันมีความหม่นแหละ แต่สิ่งที่เราชอบคือ อย่างรถไฟชั้นสามมันก็ไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยการกดทับขนาดนั้น พี่โบ๊ตมองประเด็นนี้ว่ายังไง
โบ๊ต : ไม่ เพราะว่าตอนที่เราเริ่มทำ เราไม่ได้กะว่าจะนำเสนอภาพการรถไฟที่เป็นลบอยู่แล้ว เราเข้าหาโปรเจกต์ด้วยความรู้สึกค่อนข้างบวก เพราะไอเดียแรกของเราคือเป็นบันทึกชีวิตเด็กเล็กบนรถไฟที่ถามคำถามกับพ่อ ว่าถึงหรือยัง เราเข้าไปด้วยความรู้สึกที่เป็นบวกมากๆ แล้วเราก็บันทึกภาพโมเมนต์เล็กๆ แง่งามของชีวิต แต่ด้านลบของรถไฟมันก็ค่อยๆ มาเอง
โรส : เอาจริงๆ มันก็คือความจริงนั่นแหละ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องไปขยี้ให้มันลบขนาดนั้น
โบ๊ต : ใช่ คือมันเหมือนกับว่าระหว่างทางเราก็เก็บความงามมาได้ แต่แง่ลบหรืออะไรที่มันเกิดขึ้นจริงในชีวิต มันก็ติดมากับฟุตเทจด้วย เราก็ปฏิเสธไม่ได้ แล้วพอมันยิ่งเก็บสะสมมาเป็นหนัง มันก็ต้องเห็นความจริงอะไรบางอย่าง มันหนีไม่พ้นจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะปฏิเสธว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ เราก็โอบกอดมันว่ามันมีทั้งด้านงาม และเราก็ต้องยอมรับความจริงอีกด้าน หรือในแง่การรถไฟมันก็มีทั้งแง่มุมที่น่าสนใจแล้วก็น่าเศร้าอยู่ด้วย มันก็เหมือนกับชีวิตอะ เราก็ต้องโอบกอดมันทั้งหมดทั้งในแง่ดีและไม่ดี สุดท้ายเราไม่ได้มองว่าหนังเรา negative เราก็มองว่าหนังมันเป็นความจริง ณ ตอนนี้ที่มันพยายามจะพัฒนาต่อไปแหละ
ระหว่างทางเราก็เก็บความงามมาได้
แต่แง่ลบหรืออะไรที่มันเกิดขึ้นจริงในชีวิต
มันก็ติดมากับฟุตเทจด้วย เราก็ปฏิเสธไม่ได้
โรส : มันจะมีช่วงหนึ่งที่เราอาจจะหายไปหน่อยนึง หลับ (หัวเราะ) แล้วเรากลับมาใหม่ตอนที่ลงใต้อะ คือด้วยภาพมันมีทหาร มีฮิญาบ มันแข็งแรงมาก คือไม่ต้องพูดอะไรเลย เราไม่จำเป็นต้องขยี้ประเด็นอะไรเลย เราสามารถเห็นได้จากภาพ อย่างภาพฮิญาบปลิวมันสวยมาก อยากรู้ว่าพี่โบ๊ตมีวิธีการเลือกภาพยังไงมาใส่ในหนัง คือ มันเป็นฟุตเทจ 8 ปีแน่นอนแหละ มันคงต้องมีคุณสมบัติข้ออื่นที่มันไม่ใช่แค่ภาพสวย คือในเรื่องมันไม่ได้สวยทั้งหมดนะ แต่ซีนนี้มันไม่ใช่แค่ภาพ แต่มันคือคอนเทนต์ จะบอกว่าสวยก็ไม่รู้ว่าเป็นคำที่ถูกมั้ย แต่มันสวย
โบ๊ต : ความสวยก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ส่วนหลัก หนังเองก็ไม่ได้มีเส้นเรื่อง มันเลยขับเคลื่อนด้วยภาพและเสียงจริงๆ คือถ้ามันมีเรื่องที่แข็งแรง ภาพห่วยยังไงคนก็ยังอยากตามเรื่อง ส่วนหนึ่งเราก็เลือกภาพที่คุณภาพดีระดับหนึ่ง แล้วก็มีอะไรน่าสนใจที่จะดึงคนดูได้ แต่ว่าถ้าสวยเกินไปเราก็ตัดทิ้งเหมือนกันนะ คือมันมีหลายชอตที่เราถ่ายไปแล้วมันสวยมากๆ จนเรารู้สึกว่ามันดูเหนือจริง มันดูเหมือนคนทำพยายามจัดวางมากให้มันสวยเหลือเกิน เราจะรู้สึกว่ามันจะกระโดดจากหนังไปนิดนึง ก็จะพยายามหา balance ตรงนี้ว่ามันเป็นความสวยที่เชื่อได้ว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ก็ยังสวยพอที่จะเรียกว่าเป็นความงาม
อยากให้มันเห็นว่าเป็นความงามของชีวิตประจำวันมากกว่า คือมันจะมีบางชอตที่พี่ถ่ายมาแล้วท้องฟ้ามันสวยมาก แล้วมันจะเริ่มดูว่าเป็นภาพวาดละ หรือว่าบางทีมันก็สวย แต่มันไม่มีเนื้อหาอะไร ก็จะรู้สึกว่าไม่ใช้ดีกว่า อยากให้มันเป็นความงามที่ไม่ได้เกิดจากความสวยแง่ภาพอย่างเดียว แต่เป็นความงามที่เรารู้สึกได้ถึงชีวิต อีกอย่างคือเราต้องเลือกฟุตเทจที่มันสื่อถึงความหมายด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องภาพสวย แต่มันเป็นภาพที่สื่อถึงเรื่องการเมืองหรือสังคม
เราต้องเลือกฟุตเทจที่มันสื่อถึงความหมายด้วย
มันไม่ใช่แค่เรื่องภาพสวย แต่เป็นภาพที่สื่อถึงการเมืองหรือสังคม
โรส : พูดถึงการเดินทางไปเทศกาลบ้าง คือเราก็ไม่ได้พยายามจะ stereotype หรอก แต่แค่อยากแชร์ว่า เออพอมาอยู่ยุโรป ยิ่งเราแนะนำว่า I’m from Thailand จ้า มันจะมีแบรนดิ้งบางอย่าง ที่ฝรั่งเค้าจะนึกถึงหนังเรา หรือบางทีเค้าก็คาดหวังความ exotic บางอย่างในหนัง ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความผิดเขาหรอก มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
โบ๊ต : ชัวร์ อย่างเวลาฉายปูซาน ความแปลกหรือความรู้สึกว่าหนังมันประหลาดจะไม่เยอะเท่าตอนไปเบอร์ลิน คือเบอร์ลินนี่ข้างนอกมันหนาวเหน็บขนาดนั้น เข้ามานี่เจอความร้อน เจอรถไฟ คือมันก็จะดู exotic ในตัวของมันเอง คือมันก็มีผล อย่างคนเกาหลีที่ดูที่ปูซาน ถึงแม้เค้าจะไม่เคยขึ้นรถไฟไทยแต่เค้าก็จะเก็ตมากกว่า
โรส : มีบางอย่างแหละ หน้าของป้าๆ ยายๆ มันก็คล้ายๆ กัน
โบ๊ต : ใช่ๆ เพราะฉะนั้นฟีลมันเลยต่างกันมาก ถ้าเทียบความรู้สึกจากเบอร์ลิน มันช่างคอนทราสต์กันเลย แต่ในขณะเดียวกัน ตอนที่ฉายเมืองไทย เราเซอร์ไพรส์ที่สุดเลย เพราะเราไม่คิดว่าคนไทยจะเก็ต เรากลัวว่าคนดูจะไม่เก็ต เพราะมันก็เป็นหนังทดลองประมาณนึง ซึ่งโอเคมันอาจจะมีบ้างที่คนดูหลับ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ไง แต่ปรากฏว่ามันมีคนดูบางคนที่มองข้ามจุดนั้นไปได้ แล้ว appreciate ความคุ้นเคยของเขา กลายเป็นว่าพอเป็นเมืองไทยแล้วมันยิ่งคุ้นเคยหนัก แล้วคนดูก็จะเก็ตเนื้อหา เก็ตมุก เก็ตอะไรที่เราใส่ลงไป
โรส : คนไทยที่ดูเขามี background เป็นไงอะ หรือเป็นคนดูเพียวๆ ที่อยากดูหนัง
โบ๊ต : คนดูทั่วไปเลย เพราะดูจากปฏิกิริยา ดูจากฟีดแบกในอินเตอร์เน็ต คือมันก็จะมีคนที่ไม่ได้เป็นคอหนัง อาจจะแค่ได้ยินว่ามันเป็นเรื่องรถไฟเลยไปดู ปรากฏว่าเขาสามารถเชื่อมโยงกับหนังได้ในแบบที่เราไม่คิดว่ามันจะขนาดนั้น มันกลายเป็นความผูกพันส่วนตัว เขาก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้ เขาเห็นอะไรแบบนี้
ตอนที่ฉายเมืองไทย เราเซอร์ไพรส์ที่สุดเลย
เพราะเราไม่คิดว่าคนไทยจะเก็ต
แต่ปรากฏว่ามันมีคนดูบางคนที่มองข้ามจุดนั้นไปได้
โรส : ซึ่งพี่ดีใจกับสิ่งนี้มากกว่ามั้ย คือปกติเวลาเราทำหนังกลุ่มเล็กๆ คนดูก็คือคนที่ดูหนังเราอยู่แล้ว อาจจะเป็นคนทำหนัง นักวิจารณ์ คือยังไงเขาก็อยากสนับสนุนเราในบางจุด แต่พอมันมีคนอื่นที่นอกวงที่เราทะลุไปหาเขาได้ มันเป็นความรู้สึกที่ดีกว่ารึเปล่า หรือเราก็ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น
โบ๊ต : คือเราก็ไม่ได้คาดหวังเลย เพราะเราก็ไม่ได้มั่นใจว่าหนังเรามันจะสามารถเข้าถึงคนดูหมู่มากได้ แต่พอมาฉายในประเทศไทยที่เวิล์ดฟิล์ม เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันมีศักยภาพมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลย เราไม่เคยมองในแง่นั้นว่าพอคนไทยมาดูแล้วเขาจะผูกพันในเชิงส่วนตัว แล้วมันกลายเป็นหนังที่ใกล้ชิดกับคนดูมากขนาดนั้น เรามักจะคิดว่ารูปแบบของหนังมันจะผลักคนดูออก แต่กลายเป็นว่าเขากลับรับได้ แล้วเขาเข้าใจ แล้วมันมีสิ่งอื่นที่ทำให้ใกล้ชิดกับเขา เราไม่เคยคิดถึงตรงนั้นเลย มันเซอร์ไพรส์เรามากๆ แล้วเราดีใจมากๆ ที่หนังมันไปถึงคนดูหมู่มากได้
โรส : ซึ่งพี่โบ๊ตมองว่ามันเป็นกรอบของคนทำหนังกลุ่มเล็กเหมือนกันมั้ย บางทีเรามักจะคิดว่าเราคงทำไม่ได้ถึงขั้นนั้นหรอก แต่พอถึงจุดๆ นึง มันก็ไม่ใช่นี่หว่า บางทีมันก็ติดอยู่กับกรอบหรือมายาคติบางอย่างของเราเองเหมือนกัน ในขณะที่เราคิดว่า เราทำหนังแมสไม่ได้ หนังแมสคืออีกกลุ่มนึง บางทีเราเองที่กันเขาออกไป แล้วก็ติดอยู่ในกรอบตัวเองมากไป
โบ๊ต : จริงอย่างที่โรสว่า คือพี่ติดกับไปมากกว่านั้นอีก คือเพราะพี่ติดกับไอเดียที่ว่า 8 ปีก่อนอะ คนไทยอาจจะรับหนังแบบนี้ไม่ได้ แต่พี่ก็ลืมคิดไปเลยว่า 8 ปีต่อมา คนเขาอาจจะเริ่มเปิดแล้ว
โรส : จริงๆ แล้วเรามีอินเทอร์เน็ต มีทุกอย่างนะ
โบ๊ต : ใช่ มันมีกลุ่มคนดูหนังในเมืองไทยที่ชินกับหนังแบบนี้ 8 ปีมันก็ได้ทั้งสร้างและพัฒนากลุ่มคนดูใหม่ๆ หรือคนดูทั่วไปเองก็เริ่มเปิดหนังที่มันทดลองมากขึ้น พี่จะมี mindset ที่ติดอยู่กับ 8 ปีที่แล้วว่าหนังแบบนี้มันคงหลุดมากเกินไป แต่เอาเข้าจริง มันก็กลายเป็นหนังที่ดูได้ง่ายๆ แล้วเหมือนกัน
โรส : แล้วที่เบอร์ลินเป็นไง เขาเซอร์ไพรส์มั้ย หรือจริงๆ เขาเองก็มองหาความแปลกอะไรอยู่แล้วหรือเปล่า
โบ๊ต : คือเรารู้สึกว่าที่เบอร์ลินคนดูชินกับหนังแบบนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะคนดูที่อยู่สาย Forum พี่จำได้ว่า 3-4 ปีก่อน พี่มาเทศกาลนี้ แล้วพี่ก็ไปดูหนังสั้นของพี่จักรวาล มีหนังมาฉายใน Forum expanded จำได้ว่าคนเข้าคิวกันยาวมากเพื่อมาดูหนังสั้นเรื่องนี้ พี่ก็เซอร์ไพรส์ว่าหนังสั้นจากเมืองไทย คนดูเองบางทีก็ไม่รู้จักผู้กำกับด้วยซ้ำ แต่ก็มาต่อคิวกันดู
เรารู้สึกว่าวัฒนธรรมแบบไหนวะที่มันสร้างคนแบบนี้ สั่งสมสิ่งแบบนี้ขึ้นมาได้ พี่ก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่า อ๋อ เทศกาล Berlinale มันก็หกสิบกว่าปีแล้ว เขาสร้างกันมานาน พี่ก็ลองคิดถึงเมืองไทยว่าคนที่จะมาดูหนังทดลอง มันก็จะเป็นหนุ่มสาววัยรุ่น เราก็ไม่ได้เห็นว่ามีคนแก่ๆ มาดูเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันพอมองกลับไปที่เบอร์ลิน เมื่อหกสิบปีก่อน คนพวกนี้ที่มาดูเขาก็เป็นหนุ่มสาว นึกออกปะ เขาค่อยๆ โตขึ้นมา เขาก็เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ แต่เขาก็ยังมาดู เพราะฉะนั้นอีก 40 ปีต่อมา คนดูในเมืองไทยก็จะโตเป็นคนแก่ ก็จะมาดูหนังแบบนี้เหมือนกัน มันก็คงต้องใช้เวลาในการสร้างวัฒนธรรม สร้างคน
โรส : มันก็ยังมีความหวังอยู่นั่นแหละ คือเราชอบเบอร์ลินตรงที่มันเป็นที่ที่คอนเสิร์ตหรือหนัง มันไม่ได้เฉพาะกลุ่มแค่คนรักหนัง มีคนแก่ มีครอบครัวมาดู แล้วเทศกาลในยุโรปมันก็จะมีโหมดเด็ก มีโหมดทำอาหาร มีโหมดที่มันไม่ใช่แค่เนิร์ดหนังมาดู
โบ๊ต : น่ารักมากเลย อย่างโปรแกรมชื่อ ‘Generation’ ที่ฉายหนังสำหรับเด็กหรือวัยรุ่น ก็มีให้วัยรุ่นโหวตหนังซึ่งมันดีมากเลย หรือมีรอบนึง มีผู้หญิงนั่งรถเข็นมาดู เขานั่งแถวหน้าสุด แล้วอย่างตอน Q&A เขาก็ขอพูด พี่ก็เดาว่าเขามีความพิการบางอย่างในการพูด เขาจะพูดไม่ชัดนิดนึง พยายามในการเปล่งคำพูดออกมามากๆ เขาบอกว่าเขาเคยไปเมืองไทย แล้วหนังมันพาเขาไปในที่ที่เขาคิดถึง อยากไปเที่ยวเมืองไทยอีก แล้วตอนนั้นพี่จะร้องไห้ พี่รู้สึกว่า เอาเข้าจริง มันเป็นโมเมนต์ที่มีค่ากับคนทำหนังมากๆ
โรส : ถามเรื่องส่วนตัวบ้าง ปกติพอเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เราเป็นนักเรียนหนัง เป็นนักเรียนไทยตัวเล็กๆ ในอเมริกาหรือต่างประเทศ เราบอกตัวเองว่าจะไม่ทำงานเรื่องส่วนตัวหรอก แต่สุดท้ายประเด็นที่ทำกลายเป็นเรื่องไกลบ้านทุกที พี่โบ๊ตมองว่ายังไง ทำไมสุดท้ายเราถึงกลับไปทำเรื่องใกล้ตัว ทั้งๆ ที่ระยะทางมันไกลขนาดนี้
โบ๊ต : เพราะเราอยู่เมืองนอก แต่เราไม่เข้าใจเมืองนอก คือหมายถึงว่า การไปถ่ายที่เมืองไทย เราไปถ่ายอะไร เราก็ยังเก็ตว่าเราจะสื่ออะไรในสังคมนั้น ในสภาพแวดล้อมนั้น นึกออกปะ แต่พอเราไปอยู่เมืองนอกปุ๊บ เรารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจมันมากพอที่เราจะไปถ่าย แล้วสื่อสารเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งสำหรับพี่ก็จะรู้สึกประดักประเดิดนิดนึงในการถ่ายอะไรที่พี่ไม่เข้าใจ แล้วพี่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงให้หนังมันลึกหรือน่าสนใจได้
สุดท้ายวิธีที่ง่ายที่สุด คือการกลับมาหาตัวเอง เพราะเราไม่เข้าใจข้างนอก เราก็ค้นหาตัวเองแล้วกัน แล้วเวลาไปเรียนเมืองนอกมันก็เป็นช่วงของการ reflect ตัวเองด้วยแหละ เราอยู่เมืองไทยมันก็อาจจะมีอย่างอื่นมา distract มีเพื่อน มีครอบครัว แต่พออยู่เมืองนอก มันมีเวลาที่จะคิดเรื่องชีวิต เรื่องอนาคต แม้กระทั่งเรื่องพ่อแม่ก็ตาม อยู่กับเขามาตั้งนาน แต่พอวันนึงเรามาอยู่คนเดียว เราก็เริ่มคิด เริ่มมองเขาอีกแบบนึง เราโตขึ้น เราเริ่มคิดว่าเขาเป็นมนุษย์มากขึ้น คิดเรื่องความสัมพันธ์มากขึ้น สุดท้ายมันเลยหนีไม่พ้นที่เราจะทำอะไรสักอย่างที่มันเริ่มจากตัวเอง เพราะเราคงเข้าใจตัวเองมากกว่าสิ่งที่เราเห็นข้างนอก
สุดท้ายวิธีที่ง่ายที่สุด คือการกลับมาหาตัวเอง
เพราะเราไม่เข้าใจข้างนอก เราก็ค้นหาตัวเองแล้วกัน
โรส : แล้วเอาจริงๆ บ้านสำหรับพี่โบ๊ตคืออะไร คือเรารู้สึกว่าพอดูหนังหมอนรถไฟ มองความสัมพันธ์เรื่อง ‘บ้าน’ จากตัวเองเข้าไปที่พี่โบ๊ต มันคือสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ คือด้วยความที่เราโยกตัวเองไปอยู่อีกที่มานานเหมือนกัน แต่เรื่องในหนังมันก็อยู่ที่ไทย ในขณะเดียวกันเราก็มาเทศกาลที่ต่างประเทศ เราก็มาเจอคนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็เลยอยากรู้ว่าบ้านสำหรับพี่โบ๊ตมันคือสิ่งที่เคลื่อนไหวได้มั้ย หรือโยกย้ายได้หรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วมันคือคนกันแน่
โบ๊ต : ก่อนที่เราจะพูดว่ามันโยกย้ายได้มั้ย เรามองว่าเราไปเรียนนานๆ แล้วกลับมา เรามองประเทศไทยในมุมมองคนนอกมากขึ้น จำได้เลยว่าตอนไปเรียน แล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน รู้สึกว่าซอยบ้านตัวเองทำไมมัน exotic ขนาดนี้วะ คืองงมาก ผ่านทุกวันมาสามสิบปี แต่พอไปอยู่เมืองนอกแค่สองปีกลับมามันแปลกขึ้น ทำไมอะไรๆ มันก็ดูแปลกตา ซึ่งเราเองก็ไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้มาก่อน แล้วก็รู้สึกตั้งคำถามว่าทำไมตรงนี้มีต้นไม้ ทำไมคนมันใช้รถแบบนี้วะ คือทุกอย่างมันแปลกตาไปหมด แล้วก็แน่นอนพออยู่ไปสักพักมันก็เริ่มชิน แต่เรายังจำโมเมนต์ของความรู้สึกของการเป็นคนนอกแล้วเข้ามาได้อยู่ แล้วเราคิดว่าความรู้สึกนี้มันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ นะ เราจะ snap ตัวเอง แล้วมองมันในฐานะคนนอกนิดนึง ไม่ 100% แต่มันเป็นแบบนั้น
อย่างตอนถ่ายหมอนรถไฟ มันก็มีความรู้สึกแบบนั้น คือจะมีโหมดของความคุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกันเราเองก็เป็นคนนอก เป็นสองโหมดที่สลับไปสลับมา แต่ถ้าถามว่า sense ของบ้าน มันเป็นยังไง เราก็รู้สึกว่าเมืองไทยเป็นบ้านอยู่ดีนะ แต่ในขณะเดียวกันตอนที่เราไปเรียนที่ CALARTS ที่อเมริกา เราก็เจอเพื่อนที่เราสนิทมากๆ จริงๆ เจออาจารย์ เจอสภาพแวดล้อมในโรงเรียน เรารู้สึกว่าเรามีความสุขมากๆ กับการอยู่ที่นี่ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ได้เจอเพื่อนที่มีความคิดแบบเดียวกัน ทำหนังในแบบที่เราชอบ อาจารย์ที่สนับสนุน เราจะรู้สึกว่า เออ เหมือนมันเป็นบ้านอีกหลังนึงก็ได้ พอเรากลับมาเมืองไทย เราไม่ได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนแบบ 6-7 ปี เรายังรู้สึกคิดถึงตลอดเวลา เราก็ยังรู้สึกว่าเพื่อนสนิทที่สุดของเราแก๊งนึงอยู่ที่อเมริกาตลอด รู้สึกโหยหาเขาตลอดเวลา รู้สึกว่ามีเพื่อนหลายคนที่สนิทมากกว่าตอนอยู่เมืองไทย คิดถึง ก็แปลกนะ เพราะเราก็ไม่คิดว่าชาตินี้เราจะมีความผูกพันกับคนต่างชาติแบบนั้น จะเรียกว่ามันเป็นบ้านก็ได้นะ แต่ก็เสียดายเพราะเราอยู่ไม่นาน เราก็อยู่แค่สามปี
อีก 40 ปี คนดูในเมืองไทยก็จะโตเป็นคนแก่
ก็จะมาดูหนังแบบนี้เหมือนกัน มันก็คงต้องใช้เวลา
โรส : คือเราไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหานะ แต่รู้สึกว่า สมมติเราอยู่ที่นี่สักพักแล้วกลับไปไทย มันคือบ้านเราแหละ มีครอบครัว แต่มันเหมือนเป็นฟีลมาพักร้อนอะ แต่พอเรากลับมาเยอรมัน เราก็รู้สึกว่าเออ หรือนี่มันคือความจริงกว่าวะ เราต้องทำงานหาเงินเพื่อไปเรียน แต่อีกโหมดนึงก็จะแบบ เอ๊ะ หรือจริงๆ ความจริงของเรามันอยู่ที่ไทยวะ เพราะยังไงเราก็กลับไปอยู่ ต้องกลับไปปรับตัว ไม่รู้ว่าที่ไหนกันแน่ พี่โบ๊ตเคยมีความสับสนมั้ย ว่าตัวเองอยากกลับหรือไม่อยากกลับ
โบ๊ต : ตอนพี่อยู่ พี่คิดว่าพี่กลับแน่นอน คือพี่ทำงานกับพี่เจ้ยแล้วก่อนไปเรียน รู้สึกว่ายังอยากทำงานกับพี่เจ้ยอยู่ แล้วตอนที่พี่อยู่เมืองนอก ดูสภาพแวดล้อมแล้วพี่ก็นึกไม่ออกว่าพี่จะทำหนังกับพื้นที่นั้นยังไง แล้วก็รู้สึกว่าถ้าเราอยากจะทำหนังต่อไป มันก็หนีไม่พ้นว่าเราจะต้องกลับมาทำที่เมืองไทย เพราะเราเองก็เข้าใจพื้นที่มากที่สุด ก็เลยมีความคิดอยู่เรื่อยๆ ว่ายังไงก็ต้องกลับ ถ้ายังอยากทำหนังอยู่ เพราะหนังที่พี่ทำตอนอยู่ที่ CALARTS มันก็จะประหลาดมาก ทดลองมาก ส่วนตัวมาก เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นหนังอีกแบบ แต่ที่เมืองไทยมันมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ ผู้คน และสังคมเยอะมาก แต่ที่นู่นมันเหมือนก้อนทดลองอะไรบางอย่างที่มันประหลาด ซึ่งก็ดีแหละ แต่พี่แค่นึกไม่ออกว่าพี่จะทำยังไงต่อไป ถ้าโปรเจคต์มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วอีกอย่างพี่ก็เป็นลูกคนเดียวด้วย
โรส : ชีวิตเรามันก็มีหลายเรื่องอะเนอะ เราก็คงไม่ได้มีด้านฝันอย่างเดียว
โบ๊ต : ใช่ มันก็มีแง่ practical อะไรด้วยที่เราต้องทำ แต่เพื่อนสนิทพี่เป็นคนเกาหลี เขาแต่งงานกัน เขาก็อยู่อเมริกากัน ยกตัวอย่างว่ามันก็มีหลายคนที่ไปตั้งรกรากที่นั่นเลย พี่คิดว่ายังไงสำหรับตัวเองก็ต้องกลับมาเมืองไทย
หนังที่ทำที่นู่นมันเหมือนก้อนทดลองอะไรบางอย่างที่มันประหลาด
ซึ่งก็ดีแหละ แต่พี่แค่นึกไม่ออกว่าพี่จะทำยังไงต่อไป
โรส : เราชอบตอนที่พี่โบ๊ตเล่าเรื่องแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ ที่พี่เห็นภาพเด็กบนรถไฟที่ถามพ่อว่า เมื่อไหร่จะถึง ถึงหรือยัง พอมองกลับมาที่ตัวพี่เอง ตอนนี้มันเริ่มปลายทางของหนังละ พี่โบ๊ตมองว่าตัวเองได้ตอบคำถามเด็กคนนั้นหรือยังว่า เราถึงแล้วหรือยัง
โบ๊ต : คำถามนี้มันไปไกลได้ลึกมาก
โรส : ในฐานะคนทำหนังด้วยก็ได้
โบ๊ต : คือถ้าเกิดเอาแบบระดับหนึ่ง ต้องตอบว่าถึงแล้ว เพราะอย่างน้อย หนังก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเกิดเอาระดับลึกคือมันก็ไม่มีทางถึงอะ เรารู้สึกว่าสุดท้ายคือมันก็เป็นคำถามในเชิงปรัชญา คือถ้าเราจะมองว่าชีวิตคือการเดินทาง มันยังเดินทางไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีทางถึงอะ ก็เลยต้องตอบว่ายังไม่ถึง หรืออาจจะเรียกว่ามันถึงแค่สถานีแรก แต่มันก็ยังมีสถานีอื่นๆ อีก ถ้าเรายังอยากเดินทางต่อ มันก็ยังไปได้อีกไกล
โรส : ตอนนี้มีโปรเจกต์ใหม่ยังคะ
โบ๊ต : ยังไม่มีอะไรชัดเจนเลยครับ อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล ยังไม่ฟันธงว่าจะทำอันไหน
โรส : แต่สุดท้ายก็ทำหนังต่อแหละ
โบ๊ต : ก็น่าจะนะ จริงๆ ตัวเองไม่ได้เป็นคนมีไอเดียรอเยอะ คิดมาตลอดว่าตัวเองเหมาะกับการทำหนังหรือเปล่านะ เพราะบางคนเค้าจะมีไอเดียนู่นนี่ เค้าจะบอกว่าคนทำหนังคือคนที่มีเรื่องอยากจะเล่าเยอะ นึกออกปะ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เราไม่ได้เป็นคนมีเรื่องอยากจะเล่าเยอะ ก็เลยเกิดคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นคนทำหนังหรือเปล่านะ แต่พอถามว่าอยากทำอะไร เราก็อยากทำหนังอยู่ดี มันก็ยังเป็น passion มากกว่าอย่างอื่น มันก็คงต้องทำไป ตราบใดที่ยังอยากทำอยู่
อาจจะเรียกว่ามันถึงแค่สถานีแรก แต่มันก็ยังมีสถานีอื่นๆ อีก
ถ้าเรายังอยากเดินทางต่อ มันก็ยังไปได้อีกไกล
โรส : พี่รู้สึกเหงามั้ยเวลาทำหนัง อย่างหมอนรถไฟมันก็ได้เจอคนแหละ แต่สุดท้ายเราเองก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใครขนาดนั้น มันก็เหมือนวนอยู่กับตัวเอง
โบ๊ต : อืม ไม่เชิงเหงา แต่มันเป็นคำถามที่เราถามตัวเองเหมือนกัน ถ้าไปออกกอง มันก็จะมีทีมงาน แต่หนังที่เราเลือกทำมันเหมือนนักเขียนอะ อยู่กับตัวเอง คือมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแหละ ข้อดีคือมันไม่ต้องใช้งบเยอะ มันมีเวลาไม่จำกัด แต่ข้อเสียคือ มันก็จะขาดสังคมนิดนึง ไม่เชิงเหงา แต่เป็นข้อที่คำนึงกับตัวเองตลอดเวลา ว่าเราควรเอาตัวเองเข้าไปหาคนอื่นมากกว่านี้ ถ้าอยากได้ทีมงานก็ต้องมีเงินจ้างเขา มันก็ต้องมีสิ่งที่แลกมา เสียไป แต่เป็นสิ่งที่คิดอยู่เสมอว่า มันเป็นข้อจำกัดนะ ไอ้การทำอะไรหมกมุ่นอยู่คนเดียว
โรส : สุดท้ายแล้ว ซีนคลีเช่เลย คือตอนนี้คนทำหนังรุ่นใหม่ก็มากมายเนอะ อะไรคือสิ่งที่พี่เรียนรู้มาตลอดในชีวิตการทำหนัง ณ เวลานี้สิ่งที่เราเรียนรู้มากที่สุดและอยากส่งต่อคือเรื่องอะไร
โบ๊ต : จริงๆ แล้วมีสิ่งที่อยากจะพูดสองเรื่อง เราใช้เวลานานมาก แล้วมันก็มีการสงสัยว่า เอ๊ะ มันจะจบมั้ย หรือมันจะเสร็จหรือเปล่า จบแล้วมันยังไงต่อไป มันก็จะมีคำถามอยู่ตลอดเวลา แล้วมันคุ้มมั้ยกับสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด สิ่งที่เรียนรู้คือ มันบอกไม่ได้เลย มันมีคำพูดอันนึงประมาณว่า god’s delay is not god’s denial.
โรส : คือประมาณว่ามันก็คงมีเวลาของมันอยู่นั่นแหละ
โบ๊ต : ใช่ ทุกอย่างมันมีเวลาของมัน ณ ตอนนี้อาจจะเหมือนว่ามันไม่นำไปสู่อะไร หรือว่าดูแล้วไม่มีอนาคต แต่การดีเลย์ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ มันอาจจะแค่ยังไม่ถึงเวลาของมัน บางคนอาจจะทำหนังแบบ ปุ๊บ เสร็จ หรือว่าเขามีเงื่อนไขในชีวิตที่มันเอื้อให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่พี่ก็รู้ว่าพี่ค่อนข้างมีโอกาสกว่าหลายๆ คน ในขณะเดียวกันคนเรามันก็มีเงื่อนไขชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอย่าไปกังวลกับตรงนี้มาก เราอาจจะไปอย่างช้าๆ เราก็ยังเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าไปเร่งรัดตัวเองมากนัก ว่าอะไรมันต้องเกิดขึ้นตอนไหน
อีกสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ก็คือระหว่าง 8 ปี บางทีเราก็ถามตัวเองว่าเราทำไปเพื่ออะไรวะ เพื่อสนองอีโก้ตัวเองให้มันเสร็จหรอ หรือทำไมฉันจะต้องไปแจกโปสการ์ดตามเทศกาล มันเสียเวลา ทำเพื่ออะไร แล้วคำตอบอะไรก็ตามก็ไม่สามารถผลักดันเราได้เท่าคำตอบนี้ คือ เราจำได้ว่าทำไมเราถึงอยากดูหนัง มีหนังบางเรื่องที่มันดูแล้ว inspire เรามากๆ หนังพวกนี้บางทีมันก็เป็นหนังเล็กๆ แต่มันก็สื่อสารกับเราได้ในแบบที่มันลึกซึ้งมาก แล้วเราก็เชื่อว่าหนังทุกเรื่องมันมีผู้ชมของมัน มันอาจจะไม่ได้มีผู้ชมที่เยอะ แต่มันก็มีคนที่เขารอและต้องการหนังเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องเอาหนังเรื่องนี้ไปให้ถึงเขา ไม่งั้นเขาก็จะไม่ได้ดู
อีกอย่างเรารู้สึกว่ามันก็คงดีถ้าหนังเล็กๆ ของเราเนี่ยมันสามารถไปถึงคนดูที่เขาอยากดูหนังเรื่องนี้ได้ มันอาจจะหายาก อาจจะต้องซอกซอนอยู่ตามมุมไหนของโลก แต่ถ้าหนังของเรามันสามารถไป inspire บางอย่างของเขาได้ เราก็รู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้ทำมันขึ้นมา
แล้วเราก็คิดมาตลอดว่าหนังที่เราทำมันก็ทดลอง เราก็รู้สึกว่าวงการหนังไทยมันก็ยังมีพื้นที่ตรงนี้อีกเยอะ แล้วทุกๆ วันที่เราไปถ่ายมันเหมือนเรากำลังก่ออิฐก้อนเล็กๆ แล้วค่อยๆ ประกอบร่างอะไรขึ้นมา ถ้ามองในแง่ภาพกว้างคือ เรารู้สึกเรากำลังค่อยๆ ก่ออิฐเล็กๆ ให้วงการหนังไทยให้มันมีพื้นที่ตรงนี้กระเถิบขึ้นไปอีก พี่เจ้ยเขาก็ทำเรื่องนี้อย่างหนักอยู่แล้วใช่ปะ เขาปูทางใหม่ พี่ผู้กำกับอินดี้คนอื่นๆ ก็กรุยทางใหม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าเราเองก็เป็นส่วนเล็กๆ ที่จะสร้างตรงนี้ขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนรุ่นใหม่ด้วย ทำให้รุ่นน้องได้เห็นความเป็นไปได้ว่ามันทำได้ เอาจริงๆ หนังเราน้องๆ ก็ทำได้ ใครๆ ก็ทำได้ ในแง่เงินมันไม่ได้ใช้เยอะ มันอาจจะต้องใช้เวลา แต่มันไม่ได้เกินความสามารถ เรารู้สึกว่าหนังมันอาจจะ inspire คนที่อยากทำหนังตรงนี้ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้อีกเยอะ เราว่าสิ่งนี้มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันเราที่อยากทำให้มันเสร็จ
แล้วโรสเป็นไงบ้าง เล่าเรื่องชีวิตให้พี่ฟังบ้าง…
เราคุยต่อกันไปจนน่าจะเขียนได้อีกบทสัมภาษณ์หนึ่ง แต่ความตลกคือเราเองกลับเป็นคนถูกสัมภาษณ์เสียเอง ในขณะที่ ‘หมอนรถไฟ’ ยังคงเดินทางต่อไปตามเทศกาล พี่โบ๊ตเองก็ยังเดินทางต่อไปในฐานะคนทำหนัง มันเพิ่งผ่านสถานีแรกไปเท่านั้นอย่างที่พี่โบ๊ตบอก มองกลับมาถึงตัวเองมันอาจจะขึ้นอยู่กับเราว่าจะกำหนดปลายทางไปลงที่ไหน แต่ท้ายที่สุด มันก็คงมีสถานีปลายทางสักที่แหละที่เราจะได้ลง
อาจจะใกล้หรือไกล ก็คงต้องลองนั่งต่อไปอีกสักระยะ