คอปเตอร์ไม้ไผ่ ประตูไปที่ไหนก็ได้ ฯลฯ แม้การเดินทางในโลกปัจจุบันอาจจะ (ยัง) ไม่ได้ล้ำขนาดของวิเศษของโดราเอม่อน-แมวหุ่นยนต์ที่มาจากโลกอนาคต แต่เทคโนโลยีในการพาคนหรือสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ก็ก้าวหน้าไปจากอดีตมหาศาล
แถมยังเป็นการก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยหลักคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) เป็นพื้นฐาน
และนี่คือก็คือเทรนด์ ‘การเดินทางในอนาคต’ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นจริงในเวลาอันใกล้ ที่เราได้สัมผัสจากงาน Movin’On Summit 2019 งานประชุมที่นำความก้าวหน้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการสัญจรมาอวดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ฝันหวาน และเรา The MATTER-ในฐานะสื่อมวลชนผู้โชคดีได้ไปร่วมงานด้วย ก็นำมาถ่ายทอดต่อให้ผู้อ่านได้ฝันหวานไปพร้อมๆ กัน
ในโลกที่การเดินทางด้วยยานพาหนะที่ใช้พลังงานจาก ‘น้ำมัน’ ใกล้มาถึงจุดสิ้นสุด เราจะเคลื่อนตัวไปทำธุระ ไปทำงาน ไปท่องเที่ยว ไปค้นหาตัวเอง ไปพบปะครอบครัว หรือกระทั่งไปเจอกับคนที่เรารักได้เราอย่างไร
เชิญติดตาม
[ งาน Movin’On ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน ที่สตูดิโอถ่ายภาพยนตร์ Grandé Studios ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ]
Hyperloop
คำๆ นี้น่าจะคุ้นหูหลายคนขึ้นในระยะหลัง เมื่อพูดถึงการเดินทางใน ‘โลกอนาคต’ กล่าวโดยสรุป Hyperloop ก็คือการขนส่งที่ใช้กระสวย (pod) ส่งไปตามท่อที่มีแรงกดอากาศต่ำจนใกล้สุญญากาศเพื่อให้แรงเสียดทานมีน้อย จนสามารถทำความเร็วได้สูงมากๆ
ในงาน Movin’On 2019 มีเอกชน 2 เจ้านำเทคโนโลยีนี้มานำเสนอ เจ้าแรกคือ Hyper Poland จากโปแลนด์ ที่อ้างว่าสามารถดัดแปลงรางรถไฟธรรมดาให้กลายเป็นรางสำหรับไฮเปอร์ลูปได้โดยไม่ต้องทำท่อ ซึ่งสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง (แต่หากสร้างท่อจะวิ่งได้เร็วสูงสุดถึง 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
อีกเจ้าคือ TranPod จากแคนาดา ที่พรรคอนาคตใหม่เคยจ้างมาศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างไฮเปอร์ลูปของไทย ที่พบว่าถ้าเกิดขึ้นได้จริง ไม่เพียงจะมีราคาในการก่อสร้างถูกกว่า ยังวิ่งได้เร็วกว่า โดยคาดว่าจะวิ่งจาก กทม.ไปเชียงใหม่ภายใน 52 นาทีเท่านั้น
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีบริการไฮเปอร์ลูปในเชิงพาณิชย์ แต่หลายๆ ชาติก็เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ และมีบริษัทเอกชนเปิดขึ้นมาเพื่อศึกษาและเตรียมให้บริการในการก่อสร้างไฮเปอร์ลูปนับสิบบริษัท
ยางไร้ลม
ว่ากันว่า นี่คือนวัตกรรมที่จะช่วยเปลี่ยนวงการยานยนต์ไปตลอดกาล !
บริษัทยางระดับโลก Michelin พบว่าในแต่ละปี มียางมากกว่า 200 ล้านเส้น หรือ 20% ของที่ถูกใช้งานทั้งหมด ถูกทิ้งก่อนเวลาอันควรเพราะปัญหาการแตกรั่ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ GM ในการคิดค้นยางไร้ลม (airless tire) ขึ้น โดยปีก่อนยังเป็นเพียงพิมพ์เขียวเท่านั้น แต่มาปีนี้มียางต้นแบบออกมาแล้ว ให้ชื่อว่า UPTIS ซึ่งย่อมาจาก Unique Puncture-proof Tire System และเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Movin’On 2019 นี่เอง
แล้วยางไร้ลมมันดีอย่างไร? ไม่เพียงไม่แตกรั่ว ลดปัญหาขยะยางรถยนต์ ยังทำให้ผู้ขับขี่ปลอดภัย โดยสามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติเพิ่มดอกยางได้ตลอดเวลา
ปัจจุบันยางไร้ลมถูกนำไปทดลองใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า Chevrolet Bolt EV และคาดว่าจะวางจำหน่ายเป็นการทั่วไป ภายในปี ค.ศ. 2024 หรืออีกห้าปีข้างหน้าเท่านั้น
แท็กซี่บินได้
หนึ่งในปัญหาที่เมืองใหญ่ต้องเผชิญคือ ‘รถติด’ ยิ่งมีคำทำนายจากสหประชาชาติว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากร 70% จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองด้วยแล้ว ยิ่งชวนให้หลายคนวิตก
วิธีแก้ปัญหา ก็ถ้าบนถนนมันติดแหงกไปไหนไม่ได้ แล้วทำไมจะไม่เหาะขึ้นไปบนฟ้าล่ะ! นี่คือไอเดียที่หลายฝ่ายหยิบมานำเสนอ เช่น บริษัท Ascendance Flight Technologies จากฝรั่งเศส ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของ Airbus ที่คิดค้นยานพาหนะกึ่งเครื่องบินกึ่งเฮลิคอปเตอร์ให้เป็น flying taxi ที่สามารถบินขึ้นลงในแนวดิ่งได้ (ในพรีเซนเตชั่นของบริษัทนี้มีภาพการจราจรใน กทม.ด้วย ถือเป็นอีกสิ่งขึ้นชื่อของบ้านเราที่คนทั่วโลกรู้จัก) บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 3 คน รวมนักบิน
อีกเจ้าที่มาโชว์ตัวในงาน Movin’On 2019 คือ Leap Aeronautics สตาร์ทอัพจากอินเดีย ที่นำเสนอ flying taxi ที่บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 5 คน
ลองจินตนาการถึงชีวิตหลังเลิกงานย่านลาดพร้าว รัชดาภิเษก หรือสุขุมวิท แล้วมีแท็กซี่บินได้มารับไปส่งกลับบ้าน ชีวิตจะดีขึ้นแค่ไหนกันนะ
ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจน
เมื่อเทรนด์การอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักในการพัฒนายานพาหนะยุคใหม่ เน้น Zero Emission หรือปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ ไม่มี CO2 แต่ในขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีราคาเกินเอื้อมถึง และสถานีชาร์ตไฟยังมีไม่พอกับการใช้ในชีวิตประจำวัน
อีกด้านหนึ่งก็มีผู้พัฒนายานยนต์ ‘พลังงานไฮโดรเจน’ ซึ่งใช้ปฏิกิริยาเคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนในการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าไปขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และปล่อยออกมาเพียงไอน้ำเท่านั้น
ในงาน Movin’On 2019 นอกจาก Toyota จะนำรถยนต์พลังงานน้ำ อย่าง Mirai สีน้ำเงินสวยสด มาจัดแสดงไว้กลางงาน ก็ยังมีผู้ผลิตเครื่องยนต์พลังงานน้ำที่สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทุกประเภทอย่าง Symbio จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของมิชลิน มาให้ข้อมูลความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนด้วย ซึ่งในปัจจุบัน เครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้ ใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงแค่ 3-5 นาที ก็ทำให้รถวิ่งได้สูงสุด 600 กิโลเมตรแล้ว (ใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงน้อยกว่าและวิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า)
รถบรรทุกไร้คนขับ
‘รถยนต์ไร้คนขับ’ อาจเป็นสิ่งที่พูดกันเกร่ออยู่นิดหน่อย แต่เทรนด์ที่น่าสนใจก็คือการใช้รถยนต์ไร้คนขับมาใช้ในการขนส่งสิ่งของด้วย ไม่ใช่เพียงขนคนเพียงอย่างเดียว
ลองจินตนาการถึงรถบรรทุกที่สามารถวิ่งส่งของได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องหยุดพัก น่าจะช่วยพัฒนาระบบลอจิสติกส์ให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลง
หลายบริษัทนำต้นแบบรถบรรทุกไร้คนขับมาแสดงในงาน Movin’On 2019 เช่น บริษัท Einride จากสวีเดน ที่นำเสนอรถบรรทุกที่ติดเรดาร์และไลดาร์รอบคันจนมั่นใจว่าจะช่วยให้การขันขี่เป็นไปอย่างปลอดภัย บรรทุกของได้สูงสุดถึง 26 ตัน ใช้พลังงานไฟฟ้าวิ่งได้ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์ต 1 ครั้ง หรือบริษัท Westwell จากจีน ที่นำเสนอรถบรรทุกอัตโนมัติที่ใช้ AI ช่วยในการขนส่งของภายในท่าเรือ โดยไม่ต้องใช้คนงานเลยแม้แต่คนเดียว
โลกอนาคตกำลังเคลื่อนมาหาเราแล้ว