“นี่เปรียบเหมือนงานประชุมสุดยอดผู้นำดาวอส สำหรับวงการสัญจรเลยทีเดียว!” Forbes บรรยายถึงงาน Movin’ On ไว้อย่างนั้น, The MATTER จึงตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อ Michelin เชิญเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองที่เมืองมอนทรีอัล แคนาดา ท่ามกลางบรรยากาศข่าววงการขนส่งในไทยที่ชวนให้รู้สึกไม่สู้ดีนัก
เมืองอัจฉริยะ, ไฮเปอร์ลูป, การสัญจรที่คำนึงถึงความยั่งยืน, เศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจสู่โมเดลใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกายความคิดเหล่านี้ผุดพรายขึ้นมาในทุกเซสชั่นสัมมนาตลอดระยะเวลาสามวันปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สหประชาชาติเคยประเมินว่าในปี 2050 ประชากรมากถึง 70% จะอาศัยในพื้นที่เมือง หากเป็นเช่นนั้น, อนาคตแห่งการสัญจรจะเป็นอย่างไรบ้าง? นี่เป็นบางคำตอบที่เราเก็บเกี่ยวมาได้:
ธุรกิจการขนส่งจะคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้นได้ หากมีแรงจูงใจที่เหมาะสม
ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาก – แต่หากเราคาดหวังจะให้ธุรกิจหันมา “แคร์” ความยั่งยืนจริงๆ แล้วละก็เราอาจต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแรงจูงใจของพวกเขาก่อน
เบอร์แทรนด์ พิคคาร์ด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Solar Impulse และนักบินเครื่องบินพลังแสงอาทิตย์คนแรกที่สามารถบินรอบโลกได้ บอกว่าการต่อสู้กับแรงต้านในเรื่องการเปลี่ยนแนวคิดให้ยั่งยืนมากขึ้นที่ดีที่สุดคือการใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจ
“สำหรับผู้ชมในห้องนี้ ไม่แปลกเลยที่เราจะได้ยินเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนหรือสิ่งแวดล้อมกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่คนจำนวนมากอาจไม่ค่อยได้ยินได้ฟังบทสนทนาเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่ ถ้าพูดตรงๆ ละก็ – พวกเขาอาจไม่ได้แคร์สิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีนักหรอก เขาต้องการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ต้องการใช้วิธีเดิมๆ เท่านั้นเอง” เมื่อเป็นเช่นนั้น พิคคาร์ดจึงเสนอว่าก่อนอื่น เราต้องทำลายความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลเสียต่อธุรกิจเสียก่อน และควรเปลี่ยนมาคิดว่า การเปลี่ยนแปลงนี่แหละที่จะเป็นหนทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ได้กำรี้กำไรและตัวเลขที่ผู้ถือหุ้นต้องการ
การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเพื่อความยั่งยืนที่จะพาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อาจต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือ นิโคลา โบมองต์ ผู้อำนวยการจัดงาน Movin’On และรองประธานอาวุโสฝ่ายการพัฒนาและการสัญจรที่ยั่งยืนของมิชลินเปิดเผยว่า นอกจากโมเดลการขายยางแล้ว ในปัจจุบันที่มิชลิน ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นโมเดลการเช่าใช้ยางในบางธุรกิจเช่นธุรกิจการบิน โดยมิชลินจะทำหน้าที่ตรวจตราและซ่อมบำรุงยางตามเวลาที่เหมาะสมให้กับสายการบินคู่ค้าเพื่อยืดอายุการใช้งานยางออกไป
เมื่อเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ แรงจูงใจก็เปลี่ยนไป จากโมเดลธุรกิจขายยาง ที่อาจทำให้เกิดแรงจูงใจว่า “เราควรทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนยางบ่อยๆ – ดังนั้นเราควรผลิตยางที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่า” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Planned Obsolescence (คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานสั้น หรือมีระยะที่ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนตามวงจรที่กำหนดไว้แน่นอน จะด้วยความไม่ทนทานของผลิตภัณฑ์ หรือด้วยแรงขับทางแฟชั่นก็ตามแต่) เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโมเดลธุรกิจแบบเช่ายาง แรงจูงใจก็จะเปลี่ยนไปเป็น “เราควรผลิตยางที่มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด เพื่อลดต้นทุนของบริษัท”
เราอาจต้องเริ่มใหม่ – ตั้งแต่การสร้างล้อ (Reinventing the Wheels!)
ในภาษาอังกฤษ สำนวนว่า “Reinventing the Wheels” หรือการสร้างล้อใหม่ตั้งแต่ต้นนั้นมักมีความหมายไม่ดีนัก เพราะมันมาพร้อมกับความหมายพ่วงที่ว่า “ไปเปลี่ยนอะไรที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว” ซึ่งเท่ากับการเหนื่อยเปล่า แต่ในงาน Moving’On เรามีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมที่ทำให้เรารู้สึกว่าในบางครั้ง การเริ่มสร้างใหม่, ตั้งแต่ล้อ, ก็เป็นเรื่องจำเป็น
ภาพนี้คือคอนเซปท์ยางในอนาคตของมิชลิน ทางบริษัทประกาศวิสัยทัศน์ว่าในปี 2048 ยางของมิชลินจะผลิตด้วยวัตถุดิบที่ยั่งยืน 80% และยางที่ใช้แล้วจะถูกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด (เปรียบเทียบกับทุกวันนี้ อัตราการรีไซเคิลยางอยู่ที่ 50% – ยางของมิชลินทุกวันนี้ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพเช่นยางธรรมชาติ น้ำมันดอกทานตะวัน ลิโมนีน 26%)
แผนคือในอนาคต ตัวยางจะเป็น airless tire (ยางไร้ลม) โดยวัสดุภายในไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง และผู้ใช้เพียงต้องเสียบริการ “ชาร์จพื้นผิวยาง” ตามเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น
ทางเลือกสู่พาหนะแห่งอนาคต – รถยนต์ไร้คนขับ, ไฮเปอร์ลูป, และรถยนต์บินได้!
เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตเราจะเห็นโหมดการเดินทางอื่นนอกจากแบบที่คุ้นชินไปเลย? ในงาน Movin’On ก็มีการเสนอแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน
ต้องยอมรับว่า ในงานมีการพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับจนกลายเป็นเรื่องดาษดื่นมาก! ทั้งที่เรายังไม่เห็นการใช้บนท้องถนนจริง รถยนต์ไร้คนขับที่พูดถึงและถูกนำมาแสดงในงานจะอยู่ใน Level 3 (จาก 5) ซึ่งหมายถึงการที่รถยนต์จะสามารถควบคุมตนเองได้โดยวัดจากสภาพแวดล้อมรอบคันรถ (โดยใช้เซนเซอร์อย่างเช่นไลดาร์) ในระดับนี้ ผู้ขับที่เป็นมนุษย์ยังต้องสนใจสถานการณ์รอบๆ อยู่ แต่ก็สามารถปล่อยภาระอย่างเช่นการเบรคให้เป็นหน้าที่ของเครื่องจักรได้เมื่อสถานการณ์ปลอดภัย ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าวางแผนจะปล่อยรถยนต์อัตโนมัติในระดับ 3 ในปีนี้ ขณะที่ฟอร์ด (Ford) บอกว่าจะผลิตรถยนต์ที่ข้ามไปยังระดับ 4 เลยโดยให้เหตุผลว่า “การผลิตรถยนต์ที่ยังต้องการให้มนุษย์สนใจและพร้อมเข้ามาควบคุมตลอดเวลาไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค”
นอกจากรถยนต์อัตโนมัติแล้ว ในงาน Movin’On ยังมีการเสนอเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากในช่วงหลังอย่าง Hyperloop ด้วย อนิตา เซนกุปตา รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรของระบบของ Virgin Hyperloop One (ก่อนหน้านี้ เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้กับ NASA) เล่าถึงกระบวนการพัฒนาไฮเปอร์ลูปจากคอนเซปท์จนกลายมาเป็นความจริง
“ที่ผ่านมา การปฏิวัติการสัญจรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่เราก็ไม่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ เป็นเวลานานกว่า 100 ปีเข้าไปแล้ว” นี่คือสิ่งที่ Hyperloop ตั้งใจจะเข้ามาเติมเต็ม
เซนกุปตาอธิบายว่า Hyperloop เป็นการเดินทางที่ ‘พ็อด’ (ตู้โดยสารขนาดย่อม) จะเคลื่อนที่ผ่านหลอดสุญญากาศด้วยความเร็วสูงสุดถึง 620 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ละพ็อดจะสามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 8-12 คน, จากแนวคิดตั้งต้นของอีลอน มัสก์ (ที่เปิดงานวิจัยให้บริษัทต่างๆ สามารถนำไปพัฒนาเอง), ในขณะนี้ บริษัท Virgin Hyperloop One มีอายุ 4 ปีและจ้างงานกว่า 220 อัตรา พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่าในเวลาอีกไม่กี่ปี จะสามารถพัฒนาโหมดการเดินทางใหม่นี้ได้ประสบความสำเร็จ และหลังจากนั้นจะสามารถขยายเส้นทางเพื่อครอบคลุมประชากรอเมริกัน 80% ให้เดินทางถึงกันได้ภายในเวลา 5 ชั่วโมงเท่านั้น!
ส่วน จอน รีมาเนลลี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร AirSpaceX มองแตกต่างออกไป เขามองว่าอนาคตของการเดินทางน่าจะอยู่บนอากาศ โจทย์หลักของเขาคือ: จะทำอย่างไรให้การเดินทางด้วยการบินเข้าถึงผู้โดยสารได้ง่ายและบริการผู้โดยสารจำนวนไม่มากนักได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเครื่องบินแบบเดิมๆ
รีมาเนลลีมองว่าในอีก 20 ปี ประชากร 30-40% จะโดยสารทางอากาศ ทีมของเขาพัฒนา ‘รถยนต์บินได้’ ขนาดเล็กขึ้นมาชื่อว่า Mobi-One ซึ่งสามารถบรรทุกน้ำหนักขนส่งได้ 1,100 ปอนด์ เครื่องบินขนาดเล็กนี้จะเทคออฟและลงจอดในแนวตั้งเหมือนเฮลิคอปเตอร์ แต่จะบินบนท้องฟ้าได้เหมือนเครื่องบินทั่วไป บริษัท AirspaceX เพิ่งเสนอเทคโนโลยีต่อ Uber ในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับบริการ Uber Air (บริการเหมือน Uber แต่นำส่งผู้โดยสารผ่านเครื่องบินขนาดเล็ก) รีมาเนลลีประเมินว่า Mobi-One จะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางจากซานฟรานซิสโกถึงซาน โฮเซ่ได้เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็จะยังไม่ต่างจากการเรียก UberX มากอีกด้วย!
ทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เขาก็อธิบายว่าในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสนามบินมากถึง 20,000 แห่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราการใช้ต่ำมาก (เพราะเที่ยวบิน 99% นั้นจะกระจุกตัวอยู่ในสนามบินอันดับบนสุด 100 อันดับเท่านั้น) หากเราพัฒนา ‘รถยนต์บินได้’ ขนาดเล็กขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนสนามบินเหล่านี้เป็น ‘จุดเชื่อมต่อ’ ระหว่างการเดินทางทางอากาศและทางบกก็น่าจะเป็นเรื่องยอดเยี่ยม
ลองจินตนาการถึงเมืองที่คุณไม่ต้องใช้เวลามากนักบนท้องถนน, เมืองที่อนุญาตให้คุณใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างเสริมประโยชน์กับชีวิตมากกว่าการนั่งแหง็กระหว่างการจราจร, เมืองที่วันหนึ่ง คุณไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดกับคนบนรถไฟฟ้า, เมืองที่เคารพเวลาของคุณ, และเคารพคุณภาพชีวิตของคุณ
บางประกายความคิดจาก Movin’On กำลังชวนให้เราค่อยๆ วาดความฝันนั้นลงบนโลกแห่งวันพรุ่งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.forbes.com/sites/sebastianblanco