ถ้าอยากจะอยู่ต่อต้อง ‘ปรับตัว’ แต่พฤติกรรมของมนุษย์อย่างเราๆ ทำให้สัตว์ต้องปรับตัวมากแค่ไหน?
ทุกสิ่งมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของ ‘วิวัฒนาการ’ (evolution) ทั้งสิ้น เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในแต่ละรุ่น เพื่อให้รุ่นต่อไปสามารถดำรงชีวิตรอดต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งจะเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะวิวัฒนาการที่เกิดจากภาวะบังคับขัดขืน มักนำไปสู่เรื่องน่าเศร้าและปัญหารุงรังที่จะมานั่งกล่าวโทษใครก็ไม่ได้
Life will find a way
มนุษย์สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ เร่งให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้องปรับตัวเร็วขึ้น จากที่เคยปรับตัวภายใน 10 รุ่น อาจถูกเร่งให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 2-3 รุ่นเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘human-induced evolution’ หรือวิวัฒนาการที่มนุษย์มีส่วนร่วม
เรามาดูกันว่า สิ่งมีชีวิตภายใต้การนำของคุณในฐานะ Homo sapiens เปลี่ยนแปลงพวกมันไปอย่างไรบ้าง
1. มีนกปีกสั้นลง เพื่อหลบเลี่ยงการจราจร
ยิ่งโลกมีการจราจรหนาแน่นขึ้นเท่าไหร่ นกก็ยิ่งต้องการความคล่องตัวเพื่อบินฉวัดเฉวียนมากเท่านั้น พวกมันไม่ค่อยอยากถูกคุณขับรถชนบ่อยๆ หรอก กรณีนี้เกิดขึ้นชัดเจนกับ นก ‘cliff Swallow’ เป็นนกในตระกูลนกนางแอ่น (swallow) พวกมันมีวิวัฒนาการของปีกที่ ‘เล็กลง’ ตามปัจจัยความหนาแน่นของจราจรในเมืองหลวง
งานวิจัยปี 2012 ศึกษาลักษณะทางกายภาพของปีกนกนางแอ่น โดยเก็บข้อมูลนานถึง 30 ปี พบว่า นกนางแอ่นรุ่นหลังๆ ซึ่งทำรังใกล้ๆ ถนนมอเตอร์เวย์ที่มีรถวิ่งหนาแน่น มีแนวโน้มของวิวัฒนาการของปีกที่หดสั้นลงราว 5 มิลลิเมตร โดยนักวิจัยให้ความเห็นว่า นกมีวิวัฒนาการปีกจากความกดดันของสภาพแวดล้อม ทำให้พวกมันต้องปรับแต่ง aerodynamic ของปีกเพิ่มมากขึ้น เน้นบินเร็ว มากกว่าบินนาน เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะเข้ากับรถยนต์มนุษย์ที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาสังคมเมืองด้วยเทคโนโลยี สัตว์เองก็ต้องเร่งพัฒนาตามเช่นกัน มิเช่นนั้นชีวิตจะเสียเปรียบ
2. แซลมอนรีบเดินทาง ก่อนแหล่งน้ำจะอุ่น
ในอาณาจักรสัตว์ดูเหมือนพวกมันจะมีระบบพยากรณ์อากาศอันแม่นยำคอยเตือนอยู่เสมอ (และอาจดีกว่าของมนุษย์) เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่สู้ดี พวกมันก็พร้อมที่จะออกเดินทาง ‘ก่อน’ ที่ชีวิตจะยุ่งยากไปกว่านี้
นักวิจัยศึกษา ปลาแซลมอน (ได้ยินคำว่า แซลมอน ก็อย่าเพิ่งหิวดิ!) ในแถบอลาสก้าพวกเขาพบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลในบริเวณนั้นอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับแซลมอนเพราะพวกมันจะต้องวางไข่ในแม่น้ำที่เย็นจัด ความกดดันนี้ทำให้ปลาแซลมอนรุ่นหลังเพียง 2 เจเนอเรชั่น เรียนรู้ที่จะอพยพเร็วกว่าช่วงฤดูกาลปกติ เพื่อไปหาแม่น้ำที่หนาวเย็นจำเป็นต่อการวางไข่
ปลาแซลมอนต้องก้าว (หรือว่าย) ให้เร็วกว่า climate change อีกหนึ่งจังหวะเสมอ แต่อย่านิ่งนอนใจไป คุณไม่มีทางอร่อยกับแซลมอนได้ตลอดปีหรอก เพราะในอนาคตพวกมันอาจไม่อยู่ที่เดิมแล้วก็ได้
3. ช้างงาสั้นลง เพราะไม่อยากถูกล่า
ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่ที่สุด แต่ขนาดตัวอันมโหฬารกลับไม่ได้ปกป้องมันจากมนุษย์นักล่างาช้างเลย (poachers) แม้กฎหมายห้ามล่างาช้างจะบังคับใช้มานานกว่า 100 ปี แต่จำนวนช้างกลับลดลงเรื่อยๆ จากฝีมือพรานผู้หื่นกระหาย
งา (tusks) ของมันเป็นสาเหตุหนึ่งของการถูกล่า เมื่อไม่มีงา โอกาสรอดก็น่าจะมากขึ้น ซึ่งในช้างมีการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการงอกของงา โดยในปี 1969 พบว่าช้างในประเทศแซมเบียราว 10.5% มีการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำให้มัน ‘ไม่มีงา’ หรือหดสั้นลง ทำให้ช้างเหล่านี้รอดจากถูกล่าและส่งต่อการกลายพันธุ์นี้ไปสู่ช้างรุ่นต่อๆ ไป เมื่อนำข้อมูลการกลายพันธุ์ของช้างไม่มีงา เทียบกับอัตราการล่างาช้างที่มากขึ้น 38.2% ก็ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า
‘ช้างปรับตัว เพื่อไม่ให้ถูกล่า’
4. หนูที่ไม่กลัว ‘ยาเบื่อหนู’
ยาเบื่อหนูที่แพร่หลายที่สุดมีชื่อว่า warfarin (วาฟาริน) ถูกค้นพบในปี 1920 เป็นสารที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือดในมนุษย์ แต่สามารถนำมาดัดแปลงให้เป็นยาเบื่อหนูได้เช่นกัน ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อกำจัดหนูให้ออกไปจากบ้านเรือน แต่พวกเราใช้วาฟารินไปได้อีกไม่นานหรอก เมื่อหนูโลกใหม่สามารถต้านทานวาฟารินที่เคยร้ายกาจในอดีต สารตัวนี้กลับไร้พิษสงไปเสียอย่างนั้น แถมเจ้าหนูยังกินเล่นโชว์อีกแน่ะ
หนูสายพันธุ์เยอรมันและแอลจีเรีย เมื่อมาเจอกัน พวกมันก็ถ่ายทอดยีนต้านทานวาฟารินในรุ่นลูกรุ่นหลานที่เรียกว่า ‘point mutation’ ทำให้สารเคมีในวาฟารินไม่สามารถมีอิทธิพลต่อระบบโลหิตของหนู เท่ากับว่าคุณจะกำจัดพวกมันได้ยากขึ้น
อย่างที่ใครๆ รู้กัน ‘หนูจะไม่ยอมกินยาเบื่อตายซ้ำสอง’ เจ้าเจอร์รี่ตัวจิ๋วเป็นยอดนักแก้ปัญหา พวกมันแก้ในระดับสารรหัสพันธุกรรมได้เลยทีเดียว
5. กิ้งก่าโดนย้ายบ้าน ก็เปลี่ยนอาหารให้ถูกปากซะเลย
เมื่อ ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของโลก ขึ้นเหยียบเกาะกาลาปากอส เขาก็พบว่าเกาะอันห่างไกลนี้ เปรียบเสมือน ‘แหล่งเพาะ’ ทางวิวัฒนาการสำคัญที่ไม่มีแห่งไหนบนโลกเสมอเหมือน สัตว์ต่างมีวิถีดำรงชีวิตเฉพาะตัว พวกมันปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยิ่งยวด
ในปี 1971 นักวิทยาศาสตร์นำกิ้งก่ากำแพงอิตาเลียน (Italian wall lizard, Podarcis sicula) จำนวน 5 คู่ไปปล่อยบนเกาะแห่งหนึ่งในเขตประเทศโครเอเชีย จากนั้น 30 ปีให้หลังพวกเขาไปสำรวจพวกมันอีกครั้ง ปรากฏว่าจากกิ้งก่าที่เคยกินแมลงเป็นอาหารหลัก (insect-eaters) ได้มีวิวัฒนาการเป็นการกินพืชอย่างน่าอัศจรรย์ภายในไม่กี่รุ่น เมื่อนำพวกมันมาตรวจละเอียดก็พบว่า กระเพาะกิ้งก่ามีส่วนในการย่อยสลายพืชโดยการหมักบ่ม กรามหนาใหญ่ขึ้นสำหรับบดเคี้ยวพืช
เมื่ออาหารเปลี่ยน กิ้งก่าก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีกินอย่างแยบยล กิ้งก่าไม่เปลี่ยนแค่สี แต่ยังเปลี่ยนอาหารให้ถูกปากพวกมันด้วย
6. ตัวเรือดบนที่นอน มี ‘เกราะ’ หนาขึ้น
นอนแล้วคันยุบๆ ยิบๆ อาจเป็นการทักทายของ ‘เรือด’ (bed bug) เจ้าแมลงสุดแยบคาบที่ออกมากินอาหารบนเรือนร่างในยามผู้คนหลับใหล มนุษย์พยายามกำจัดพวกมันด้วยยาฆ่าแมลงมาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเราพยายามจำกัดมันมากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนมันจะแข็งแกร่งขึ้นทุกๆ วัน
ตัวเรือดรุ่นใหม่ๆ มีความต้านทานต่อยาฆ่าแมลง โดยพวกมันพัฒนาเกราะภายนอก (exoskeletons) ให้มีความหนาขึ้น และเพิ่มกลไกการป้องกันระบบประสาทจากยาฆ่าแมลงทั้งปวง
น่าสนใจที่ตัวเรือดก็มักดูดเลือด (hematophagous) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วๆ ไป แต่ตัวเรือดที่ดูดจากมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการที่น่าตื่นตาที่สุด เพราะเราไปท้าทายพวกมันอยู่ตลอดเวลาจนเรือดพัฒนาโครงสร้างที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอด และในที่สุดการปราบเจ้าเรือดตัวจิ๋วก็อาจยากพอๆ กับขับไล่รัฐบาลทหารออกจากรัฐสภา
7. บ้านเป็นพิษ ‘ปลาคิลลี่ฟิช’ ทนสารเคมีได้ 8,000 เท่า
พฤติกรรมของมนุษย์กำลังผลักดันให้สัตว์ไม่มีทางเลือก จนมันต้องกลายพันธุ์ตัวเองให้รู้แล้วรู้รอด
นักวิจัยพบปลาสายพันธุ์พิเศษที่หากินใกล้บริเวณริมชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา จากการปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำ ทำให้พวกมันมีวิวัฒนาการให้ต้านทานสารเคมีกว่า 8,000 เท่า เมื่อเทียบกับปลาทั่วๆ ไป
ปลาตัวจิ๋วๆ แต่ทนทายาด ‘ปลาคิลลี่ฟิช’ (killifish) ที่อาศัยในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ต้องอยู่ในน่านน้ำที่เต็มไปด้วยมลภาวะจากแหล่งอุตสาหกรรมของ ‘อ่าวนวร์ก’ (Newark bay) แต่นักวิจัยพบว่า พวกมัน ‘กลายพันธุ์’ (mutation) ให้ทนต่อสารเคมีในน้ำได้สูงกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ ปลาคิลลี่ฟิชเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักเลี้ยงปลาตู้จากสีสันที่สวยงาม ในขณะเดียวกัน มันยังเป็นสายพันธุ์ที่บ่งชี้ถึงระดับมลภาวะทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
จากการที่ต้องทนอยู่ในน่านน้ำที่เต็มไปด้วย ไดออกซิน โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCB) และสารโลหะหนักต่างๆ หากเป็นปลาสายพันธุ์อื่นๆ คงว่ายน้ำหงายท้องไปแล้ว แต่ปลาคิลลี่ฟิชสามารถทนต่อสารเคมีอันตรายได้มากกว่าปกติถึง 8,000 เท่า
การกลายพันธุ์ที่ว่า ทำให้ปลาพัฒนายีนพิเศษปิดกั้นเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากสารเคมี แม้พวกมันจะดิ้นรนอยู่ได้ แต่ในมุมมองนักพิษวิทยานั้น ‘มันไม่ใช่ข่าวดีเลย’
“สัตว์สปีชีส์อื่นๆ ไม่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ได้ เพราะพวกมันขาดคุณสมบัติทางกายภาพที่ความต่างทางพันธุกรรม แต่ปลาคิลลี่โดดเด่นกว่า ทำให้พวกมันมีพัฒนาที่รวดเร็ว”
แต่การกลายพันธุ์ก็อาจส่งผลกระทบในแง่ลบแก่พวกมันได้ เมื่อพวกมันพยายามปรับตัวตามปริมาณสารเคมี โดยไม่ละทิ้งถิ่นที่อยู่เดิม ปลาคิลลี่ฟิชอาจลดทักษะในการสืบพันธุ์ มีพฤติกรรมการหากินเปลี่ยนไป และอาจสูญเสียความหลากหลายในพันธุกรรมท้ายที่สุด
และเป็นไปได้ว่า ปลาคิลลี่ฟิชจะสะสมสารโลหะหนักปริมาณมากในร่างกาย จนทำลายห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นภัยต่อปลาอื่นๆ และนกน้ำที่กินพวกมัน
เรากำลังผลักดันให้สิ่งมีชีวิตต้อง ‘กลายพันธุ์’ จากปัญหาที่เราสร้างขึ้นทุกๆ วัน แม้พวกมันจะพยายามจัดการตัวเองดีแค่ไหนก็ตาม
ในทุกความทนทาน ล้วนมีความเปราะบางเสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Mutant Rats Resist Warfarin
The biochemistry of warfarin resistance in the rat.
The genomic landscape of rapid repeated evolutionary adaptation to toxic pollution in wild fish
Massive Resistance: Bed Bugs’ Genetic Armor Shields Them from Pesticides
African elephants are being born without tusks due to poaching