ถ้าทุกๆ เช้าของคุณเริ่มต้นด้วยสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่มีชื่อว่า ‘คาเฟอีน’ (caffeine) คุณรู้จักมันดีแค่ไหน? มีคนบนโลกถึง 90% ที่ติดคาเฟอีนในรูปแบบของกาแฟทุกเช้า แต่เทรนด์ ‘คลั่งคาเฟอีน’ กำลังคืบคลานไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งรูปแบบเม็ด ขนม เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งผงละเอียด เมื่อกระแสคลั่งคาเฟอีนอาจสร้างผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพคุณยังเต็มไปด้วยพื้นที่ปริศนา นักวิทยาศาสตร์จึงยิ่งต้องทำงานแข่งกับเวลา
1. เด็กๆ อเมริกันติดคาเฟอีนมากถึง 73% พวกเขายอมรับว่าส่วนใหญ่มาในรูปแบบของน้ำอัดลม จากงานวิจัยในวารสาร Pediatrics ปี 2014 ของมหาวิทยาลัย Yale พบความเชื่อมโยงถึง เด็กในชั้นประถมศึกษาที่ติดคาเฟอีนมีความเสี่ยง 66% ที่จะมีอาการไฮเปอร์ (Hyperactivity) หรือภาวะอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และไขว้เขวง่าย
2. ผู้ใหญ่ที่ติดคาแฟอีนงอมแงม หากขาดจะมีอาการ Withdrawal Symptoms หรืออาการขาดยา ซึ่งถูกเพิ่มเข้าไปในสารบบของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ที่มีรูปแบบคล้ายอาการขาดสารเสพติด นำไปสู่ภาวะวิตกกังวลได้ เมื่อไม่ได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่เคยชิน
3. ความป๊อปของคาเฟอีน ทำให้มีการขาย ‘คาเฟอีนบริสุทธิ์ชนิดผง’ กันเกร่อใน eBay โดยปี 2014 FDA ได้ออกมาประกาศเตือนให้ผู้คนระวังการใช้คาเฟอีนในระดับ overdoses และพยายามหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนบริสุทธิ์ แต่กฎหมายควบคุมยังคลุมเครือ
4. คาเฟอีนบริสุทธิ์ชนิดผง 1 ช้อนชาเทียบเท่ากับกาแฟ 25 แก้ว
5. ปริมาณการผสมคาเฟอีนที่เหมาะสมยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทางองค์กรด้านการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคกาเฟอีนเกินกว่าวันละ 250 มิลลิกรัม แต่เมื่อคุณผสมคาเฟอีนปริมาณนี้อัดในยา 1 เม็ดถือเป็น ‘ยาทางแพทย์’ แต่ถ้าแบ่งผสมในเครื่องดื่ม 6 แก้วถือเป็น ‘สารปรุงแต่งอาหาร’
6. คาเฟอีนไม่จัดเป็นอาหาร จึงไม่จำเป็นสำหรับร่างกาย
7. คาเฟอีนถูกดูดซึมในลำไส้เล็กภายใน 45 นาทีหลังบริโภค เมื่อดูดซึมจะเข้าสู่กระแสเลือด โดยมีปริมาณสูงสุดอยู่ในเลือดที่ประมาณ 1 ชั่วโมงหลังบริโภค ต่อจากนั้นร่างกายจะกำจัดทั้งหมดออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่
8. งานวิจัยของกองทัพสหรัฐ ได้ผสมคาเฟอีนในอาหารเพื่อให้ทหารตื่นตัวอยู่เสมอขณะปฏิบัติการในประเทศอัฟกานิสถาน โดยมีความพยายามใหม่ๆ ที่จะผสมคาเฟอีนร่วมกับสารให้พลังงานสูง และมีแนวโน้มที่จะดัดแปลงเพื่อจำหน่ายสำหรับคนทั่วไปในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Energy Drinks and Youth Self-Reported Hyperactivity/Inattention Symptoms
Trends in caffeine intake among U.S. children and adolescents.
pediatrics.aappublications.org