ลอร์ดแอคตัน พูดประโยคระบือลือโลกเอาไว้ว่า Power tends to corrupt และดังนั้น Absolute power จึง corrupts absolutely แปลเป็นไทยอีกทีก็คือ อำนาจมักจะฉ้อฉล และดังนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จก็จะฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จไปด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พอมี ‘อำนาจ’ ก็มักจะกระทำการอะไรเลวร้ายบางอย่าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำ
ความคิดของลอร์ดแอคตันจะเป็นจริงหรือเปล่า เคยมีการทดลองเอาไว้มากมายหลายอย่าง แต่การทดลองที่น่าจะโด่งดังที่สุด และยังเป็นที่ร่ำเรียนกันอยู่ในด้านจิตวิทยา น่าจะเป็นการทดลองชื่อ Stanford Prison Experiment ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1971
ที่จริงในเบื้องต้น การทดลองนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรนักกับคำพูดของลอร์ดแอคตันหรอกนะครับ เพราะมันคือการทดลองเพื่อดู ‘ปฏิกิริยา’ โดยเฉพาะปฏิกิริยาทางจิต ของคนที่เป็นนักโทษและผู้คุม โดยไปโฟกัสอยู่ที่การต่อสู้ต่อรองกันระหว่างนักโทษและผู้คุมเรือนจำมากกว่า แต่ผลลัพธ์ของการทดลองนี้กลับไปสอดคล้องกับความคิดของลอร์ดแอคตันเข้าให้น่ะสิครับ
การทดลองนี้เริ่มต้นด้วยการรับสมัครอาสาสมัครเข้ามาจำนวนหนึ่ง เป็นอาสาสมัครนักศึกษาอยู่ในวัยฉกรรจ์ สุขภาพดี มีการทดสอบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อให้ได้คนที่มีจิตใจมั่นคงร่างกายแข็งแรงจำนวน 24 คน
คนเหล่านี้รับรู้ว่าตัวเองจะต้องมาอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานสองสัปดาห์ (โดยได้ค่าจ้างวันละ 15 เหรียญ ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าไม่น้อย) โดยจะจับฉลาก (หรือโยนเหรียญ) แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นนักโทษ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้คุม แล้วให้ทุกคนไปอยู่ในเรือนจำจำลอง คือไม่ใช่เรือนจำจริงๆนะครับ เป็นฉากที่สร้างขึ้นมาทั้งหมด โดยที่ทุกคนก็รู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นฉากและเป็นสถานการณ์จำลอง
แต่ถึงจะจำลอง เหล่าคนที่ต้องเป็นนักโทษก็ต้องเผชิญสภาวะเหมือนกับเป็นนักโทษจริง เช่น ต้องถูกจับแก้ผ้าตรวจ อาบน้ำรวม มีสภาวะในห้องขังเหมือนนักโทษจริงทุกอย่าง โดยมีการออกแบบการทดลองให้ dis- หรือ de- (คือลดทอน) สามอย่าง คือ disorientation คือทำให้มึนๆ งงๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าตัวเองอยู่ที่ไหน depersonalization (คือลดความเป็นบุคคลลง ไม่ทำให้ใครมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันมากนัก เช่นใส่ชุดนักโทษเหมือนๆ กัน) และสุดท้ายคือ deindividuation (คือลดความเป็นปัจเจกในการคิด ทำ พูด ลงไป)
ในส่วนของผู้คุมก็มีสถานภาพผู้คุมจริงๆ เช่น เครื่องแต่งกายก็จะดูดีกว่า ดูมีอำนาจแบบชุดข้าราชการ แถมยังมีมอบอำนาจทางกายภาพให้ในรูปของไม้กระบองด้วย แม้จะมีการแยกมาบรีฟว่าห้ามทำร้ายร่างกายกันจริงๆ แต่ก็สามารถข่มขู่หรือแสดง ‘อำนาจ’ ได้ในบางระดับ
ที่น่าสนใจก็คือ แค่ราว 24 ชั่วโมง พบว่าคนที่เป็นนักโทษจะแสดงอาการ ‘จำยอม’ (submission) คือยอมลงให้กับผู้คุม และในเวลาเดียวกัน ผู้คุมก็จะกลายไปมีสภาพ ‘ผยอง’ ขึ้นมาทันที คือใช้อำนาจ บริหารอำนาจ และเริ่ม ‘ทำร้าย’ (abuse) นักโทษในรูปแบบต่างๆที่ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย เช่น การทำให้อับอายหรือการใช้วิธีทางจิตวิทยาต่างๆ
เชื่อไหมครับ ว่าการทดลองที่คิดว่าจะยาวนานราวสองสัปดาห์นั้น พอผ่านไปได้แค่หกวันก็ต้องหยุด เพราะสภาพของ ‘การใช้อำนาจ’ และ ‘การสยบยอมต่ออำนาจ’ มันรุนแรงร้ายกาจเกินทน ทั้งที่คนทั้งหมดนั่นก็เป็น ‘คนดีๆ’ ที่มีลักษณะต่างๆ เหมือนๆ กันมาตั้งแต่ต้นนั่นแหละ!
การทดลองนี้อาจทำให้ลอร์ดแอคตันยิ้มร่า แล้วบอกว่า-เห็นมั้ย, บอกแล้วไงว่าถ้าคนเราเริ่มมีอำนาจขึ้นมาเมื่อไหร่ละก็ มันจะต้องผยอง ต้องพยายามใช้อำนาจนั้น ต้องแสดงอำนาจออกมา ต้องฉ้อฉล
แนวคิดแบบลอร์ดแอคตันทำให้หลายคนคิดว่า ถ้าไม่อยากให้คนฉ้อฉลคอร์รัปชั่น ก็ต้องเอา ‘คนดี’ ไปเป็นผู้นำ (หรือเป็น ‘ผู้คุม’) คือเป็นคนที่มีอำนาจปกครองคนอื่น ถึงจะทำให้สังคมนั้นๆ เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นมาได้ โดย ‘คนดี’ ที่ว่านี้ ต้องดีเหนือกว่าคนอื่นๆ มาตั้งแต่ต้นด้วยนะครับ ไม่ใช่อยู่ในระดับเฉลี่ยพอๆ กันเหมือนการทดลองของสแตนฟอร์ด เพราะในที่สุดก็จะแปะเอี้ยเกิดการยกกลุ่มหนึ่งขึ้น กดอีกกลุ่มหนึ่งลงตามโครงสร้างอำนาจ
แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กรีกโบราณคิดกันมามากแล้ว เรียกว่าคอนเซ็ปต์ Philosopher King ที่คนที่จะเป็นผู้ปกครองต้อง ‘ฝึกหนัก’ เป็นเวลาหลายสิบปีให้กลายเป็นอภิมนุษย์ แล้วถึงจะขึ้นมาปกครองสังคมได้ แต่กระนั้น ก็ยังมีคนสงสัยอยู่ดีนะครับ ว่าถ้า ‘เอาอำนาจให้คนดี’ ไปบริหาร คนดีเหล่านั้นจะสามารถใช้ ‘อัตลักษณ์ทางศีลธรรม’ (Moral Identity) ของตัวเองในการทำ ‘สิ่งที่ถูกต้อง’ ได้มากกว่าคนอื่นจริงหรือ
ก็เลยเกิดอีกการทดลองหนึ่งขึ้นมา เป็นการทดลองของ Katherine A. DeCelles แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต
เธอรับสมัครอาสาสมัครมาสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน อีกกลุ่มเป็นนักศึกษา แล้วคิดวิธีวัด ‘อัตลักษณ์ทางศีลธรรม’ ของคนสองกลุ่มนี้ขึ้นมา เช่นให้ทำแบบสอบถามถึงเรื่องต่างๆ ที่ต้องใช้ศีลธรรมในการตัดสินใจ แล้วจากนั้นให้บางส่วนเขียนความเรียงถึงเรื่องที่ตัวเองรู้สึกว่ามีอำนาจ อีกกลุ่มเขียนความเรียงทั่วไปธรรมดา
หัวใจของการทดลองนี้อยู่ตรงที่หลังจากทำทั้งหมดนั่นแล้ว จะให้แต่ละคนมาเลือกหยิบแต้ม ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ 500 แต้ม โดยสามารถเลือกหยิบได้ตั้งแต่ 0-10 แต้ม ใครยิ่งมีแต้มมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสได้เงินรางวัลมากเท่านั้น แต่ข้อแม้ก็คือทุกคนต้องได้แต้มด้วย แล้วแต้มมีอยู่จำกัด ถ้าคนแรกๆ เลือกหยิบมากเกินไป ก็เป็นไปได้ว่าแต้มจะหมดก่อนจำนวนคน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีใครได้อะไรเลย
ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจมากนะครับ เพราะเขาบอกว่าคนที่เขียนความเรียงแบบทั่วไปธรรมดา ไม่ว่าจะมีคะแนนศีลธรรมสูงแค่ไหน ก็จะเลือกหยิบ 6.5 แต้ม พอๆ กัน แต่ในคนที่เพิ่งเขียนความเรียงแสดงอำนาจ (แล้วตัวเองเลยรู้สึกถึงอำนาจในตัว) แล้วเป็นคนที่มีคะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมต่ำ จะเลือกหยิบเฉลี่ย 7.5 แต้ม ในขณะที่ต่อให้เป็นคนที่เขียนความเรียงแสดงอำนาจเหมือนกัน แต่มีอัตลักษณ์ทางศีลธรรมสูง จะเลือกหยิบเฉลี่ยแค่ 5.5 แต้ม
DeCelles สรุปผลการทดลองของเธอว่า เอาเข้าจริงแล้ว ตัว ‘อำนาจ’ เองไม่ได้ฉ้อฉลอะไร แต่การมีอำนาจมันไปขับเน้นแนวโน้มทางศีลธรรมที่มีอยู่เดิมในตัวมากกว่า ทำให้มีการแสดงออกที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็น ‘คนดี’ อยู่แล้ว ต่อให้มีอำนาจก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องฉ้อฉลเสมอไป แต่ถ้าเป็นคนที่มีคะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมต่ำ เมื่อได้อำนาจก็มีแนวโน้มจะฉ้อฉลมากกว่า
มีอีกการทดลองหนึ่ง คราวนี้เป็นของ Andy Yap แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาจัดการให้คนสองกลุ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาวะที่ ‘ทรงอำนาจ’ กับ ‘ไร้อำนาจ’ (ซึ่งก็มีเทคนิควิธีการบางอย่างที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้) แล้วให้คนสองกลุ่มนี้มาทายความสูงและน้ำหนักของคนอื่น ทั้งคนที่เป็นคนจริงๆ กับคนที่อยู่ในภาพถ่าย
Yap บอกว่า การรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจกับไม่มีอำนาจนั้น มันจะไปมีอิทธิพลกับวิธีมองคน ไม่ใช่แค่การมองเสื้อผ้าหน้าผมหรือ ‘รู้สึก’ เอาว่าคนอื่นเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่รวมไปถึงลักษณะทางกายภาพด้วย เขาบอกว่า เวลาคนเรารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ เราจะเห็นว่าคนอื่น ‘เล็กกว่า’ แบบ ‘ตัวเล็ก’ ลงไปจริงๆ ด้วย
และผลการทดลองของ Yap ก็เป็นเช่นนั้น คือคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ-จะ ‘ตัดสิน’ ว่าคนอื่นตัวเตี้ยมากกว่าความเป็นจริง
Yap ยังบอกด้วยว่า มีสถิติบอกว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งซีอีโอนั้น เฉลี่ยแล้วจะตัวสูงกว่าคนเฉลี่ยของคนโดยทั่วไป แล้วถ้าเอารายได้มาจับคู่กับความสูง เขาพบด้วยว่าคนที่มีความสูงมากกว่าค่าเฉลี่ย จะมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยถึง 789 เหรียญ ต่อปีต่อความสูงทุกๆ 1 นิ้ว ที่เกิดค่าเฉลี่ยไป (แต่แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีข้อยกเว้นของมันอยู่ เช่นว่า นโปเลียนเป็นคนที่ไม่ได้ตัวสูงอะไรมากนัก เป็นต้น)
ไม่ใช่แค่ความสูงเท่านั้นที่เกี่ยวพันกับอำนาจ ยังมีการทดลองอื่นๆ อีกที่บอกว่า ‘ความกว้าง’ ก็เกี่ยวพันกับอำนาจด้วยเหมือนกัน นั่นคือแค่นั่งโพสท่าแบบถ่างขา การนั่งทำงานบนโต๊ะที่มีขนาดใหญ่ หรือการขับรถที่มีเบาะที่นั่งใหญ่ (รวมไปถึงรถคันโตกว่า) จะทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองมี ‘อำนาจ’ มากกว่าคนอื่นๆ ด้วย เขาเรียกท่านั่งพวกนี้ว่าเป็น Expansive Posture หรือท่าทางในแบบขยายกว้าง แล้วเมื่อนำการ ‘แผ่อำนาจ’ (ทางร่างกาย) แบบนี้ไปจับคู่กับการ ‘คอร์รัปชั่น’ เขาพบว่าคนที่มีลักษณะ ‘ทรงอำนาจ’ เหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะคอร์รัปชั่นมากกว่าด้วย
ในเรื่องนี้ นักวิจัยอำนาจ (มีงานนี้จริงๆ นะครับ เรียกว่า power researcher) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค อย่าง Joe Magee บอกว่าอำนาจเองไม่ใช่ตัวที่คอร์รัปหรือฉ้อฉลหรอก แต่อำนาจคือตัว ‘ปลดล็อก’ เป็นตัวการไป ‘ปลดปล่อย’ การฉ้อฉล เพราะอำนาจทำให้คนคนนั้นสามารถปลดปล่อย ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ออกมาได้
อย่างไรก็ตาม การปลดปล่อยตัวตนที่ว่าไม่ได้หมายความถึงการฉ้อฉลเสมอไป บางครั้งก็เป็นแค่มุมมองที่แตกต่างแต่ส่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง
เขาบอกว่า ถ้าคนเรามีอำนาจ มักจะเกิดอาการที่เรียกว่า ‘เห็นตัวเองเป็นใหญ่’ (Self-Oriented) แทนที่จะเห็นคนอื่นสำคัญ (Other-Oriented)
มีการทดลองง่ายๆ ในเรื่องนี้ คือโน้มนำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ อีกกลุ่มไม่มีอำนาจ แล้วให้คนสองกลุ่มนี้เขียนตัวอักษร e ที่หน้าผากตัวเอง ตัวอักษรนี้จะเขียนแบบไหนก็ได้ คือเขียนให้ตัวเองรู้สึกว่าถูกต้อง (แต่เวลาคนอื่นอ่านจะมองกลับด้าน) หรือเขียนให้คนอื่นอ่านออกก็ได้ พบว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจจะเขียน e แบบที่คนอื่นต้องอ่านกลับข้างมากถึง 2-3 เท่าของคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ข้อสรุปของการทดลองนี้ก็คือคนที่มีอำนาจจะมีวิธีคิดแบบ Self-Oriented มากกว่า แล้วยังมีอีกการทดลองหนึ่ง (ซึ่งตลกดี) บอกว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ จะมีแนวโน้มปิดพัดลมที่ส่งเสียงดังน่ารำคาญในห้อง แต่คนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ จะไม่ทำอย่างนั้น มีคนวิเคราะห์ว่า คนที่มีอำนาจจะไม่ค่อยตระหนักถึง ‘ข้อจำกัด’ ต่างๆ แล้วก็ทำสิ่งต่างๆ ไปเลยอย่างรวดเร็ว (ซึ่งในอีกนัยหนึ่งก็คือโดยไม่ไตร่ตรองใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน) และส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจความเสี่ยง เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ คนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจสูง จะตรวจพบระดับเทสโทสเทอโรนซึ่งเป็น Dominant Hormone หรือฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากควบคุมอยู่สูง แต่มีฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดต่ำ นั่นแปลว่า คนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ ไปเพียงเพราะคิดว่าตัวเองมีอำนาจจึงไม่มีวันถูกลงโทษเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะคนเหล่านี้ ‘รู้สึก’ อยู่ลึกๆ ภายในเลยว่า มันคือ ‘สิทธิอำนาจ’ ของตัวเองที่จะทำได้ (entitled to do) เป็นความรู้สึกถึงระดับที่ไปกำหนดระดับของฮอร์โมนในร่างกายกันเลยทีเดียว (โดยต้องโน้ตไว้ด้วยว่า ยังมีการถกเถียงกันว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นแค่สิ่งที่สัมพันธ์กันเท่านั้น)
ทีนี้ถ้าเอาการทดลองทั้งหมดมาดูแล้วย้อนกลับไปหาการทดลองของคุณ DeCelles ที่บอกว่าถ้าเป็นคนที่ได้คะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรม (Moral Identity) สูง (หรือเป็น ‘คนดี’) แนวโน้มที่จะคอร์รัปชั่นหรือฉ้อฉลในสถานการณ์หนึ่งๆ จะต่ำกว่าคนที่ได้คะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมต่ำกว่า (หรือเป็นคนไม่ดี) ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยนะครับ ว่าทำไมบ่อยครั้งเหลือเกิน (โดยเฉพาะในสังคมไทย) เราจึงพบว่าสิ่งมีชีวิตที่เคยถูกเรียกว่า ‘คนดี’ นั้น พอมีอำนาจมากเข้า ก็จะเหลิงหลงไปกับอะไรบางอย่าง แล้วที่สุดก็คอร์รัปหรือฉ้อฉลเสมอสิน่า
หรือเอาเข้าจริง คนที่เราเห็นว่าเป็น ‘คนดี’ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ‘คนดี’ ในความหมายของการมี ‘คะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรม’ สูง-มาตั้งแต่ต้นกันแน่!
เป็นไปได้ไหมว่า ‘คนดี’ เหล่านี้อาจเพียงแต่ไม่เคยได้อยู่ในสถานะที่มีอำนาจ จึงไม่สามารถแสดงตัวตนแท้จริงออกมาได้ ต้องอยู่ในสภาวะ ‘จำยอม’ (Submissive) ต่อ Norm บางอย่างของสังคม (เหมือนนักโทษในเรือนจำตามการทดลองแรกของสแตนฟอร์ดนั่นแหละครับ) ตลอดมา Norm นี้กดข่มคนจนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถคิดว่าตัวเองมีอำนาจอะไรได้มากมายนัก แม้กระทั่งอำนาจที่จะยืนยันความคิดความเชื่อของตัวเอง
เป็นไปได้ไหมว่า สังคมแบบนี้ เป็นสังคมที่ไม่มีศักยภาพมากพอจะผลิต ‘คน’ ที่มีคะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมสูงออกมาได้อย่างแท้จริง เพราะมันคือสังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างตั้งแต่ต้นให้คนได้สำรวจความเป็นไปได้ที่หลากหลายมากพอจะค้นพบว่าตัวเองเป็นใคร และดังนั้นแล้วจึงไม่มีโอกาสสร้างหลักศีลธรรมของตัวเองขึ้นมาได้ ต้องจำนนต่อหลักศีลธรรมหรือ Norm แบบเดียว เป็น Norm ที่ตัวเองก็ไม่ได้เชื่อถืออะไรนักหนา เพียงแต่ต้องยึดไว้เพียงเพื่อให้คนท่ีร่วม Norm เดียวกันเห็นว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ เท่านั้น
เพราะการสมาทาน (Conform) ต่อ Norm คือการแสดงให้เห็นถึงความหัวอ่อน อ่อนน้อม เชื่อฟัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของ ‘เด็กดี’ หรือ ‘คนดี’ ประเภทที่มี ‘รางวัลความประพฤติ’ มอบให้ตอนปลายปี ในขณะที่คนที่มีความคิดความเชื่อของตัวเอง ไม่สมาทาน Norm มักถูกมองว่าหัวแข็ง ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
ความ ‘ดี’ ในแบบที่สังคมไทยเป็น จึงอาจเป็นคนละเรื่องกับ ‘คะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรม’ ของ DeCelles ก็ได้
เมื่อเป็นอย่างนี้ เวลาเราเห็น ‘คนดี’ มีอำนาจแล้วฉ้อฉลจนเสียคนในภายหลัง (แทบทุกรายไป) เราจึงมักเชื่อลอร์ดแอคตันว่าอำนาจนั้นฉ้อฉล ทั้งที่เอาเข้าจริง ยังมีกลไกอื่นเชื่อมโยงอยู่ตรงกลางด้วย และต้นเหตุอาจไม่ใช่แค่การมีอำนาจเท่านั้น แต่เป็นเพราะไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คนดี’ หรือ ‘อำนาจของคนดี’ อยู่จริงต่างหาก เพราะสังคมนี้อาจมีศักยภาพที่จะผลิตได้เพียง ‘ความไร้อำนาจของราษฎร’ เท่านั้น แต่ไม่มีความสามารถที่จะผลิต ‘ราษฎรดี’ ที่มีอำนาจในตัวมากพอจะยืนยันความคิดความเชื่อที่หลากหลายของตัวเอง (ที่อาจขัดกับ Norm) ได้ด้วย
ภาวะแบบนี้เปิดช่องให้เกิดการโกงความโกงเพื่อประกาศความดี หรือโกงความโกงเพื่อนำความดีขึ้นเถลิงอำนาจ อันเป็นสัญญาณบอกเราอย่างชัดเจนว่า-ได้เกิดความสับสนบางอย่างขึ้นที่นี่, ในระดับลึก
มันคือความสับสนระหว่าง ‘คนดี’ กับการมีอัตลักษณ์ทางศีลธรรมที่ดี
สังคมที่สับสน ‘คนดี’ กับคนที่มีคะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมสูง ที่สุดมักลงเอยได้ ‘ความฉ้อฉลของคนดี’ มาเป็นผลลัพธ์บั้นปลายเสมอ