พูดถึงการ ‘ทำแท้ง’ คุณนึกถึงอะไร บาปบุญ-คุณโทษ เด็กที่ไม่ได้เกิดมา คุณแม่ใจยักษ์ เด็กใจแตก มีเซ็กซ์ไม่ป้องกัน ฯลฯ
นั่นอาจเป็นภาพจำเก่าๆ เวลาพูดถึงการทำแท้ง ที่คนมักเน้นหนักไปด้านมิติทางศีลธรรม แต่ระยะหลัง มีการมองเรื่องนี้ในมิติที่แตกต่างออกไป ทั้งด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ตั้งครรภ์
ในวันนี้ (20 มกราคม พ.ศ.2564) สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาย (ป.อาญา) มาตรา 301 และมาตรา 305 หรือเรียกภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นการแก้ ป.อาญา เพื่อเปิดทางให้ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก ก็คือกฎหมายที่อนุญาตให้มีการ “ทำแท้งถูกกฎหมาย”
The MATTER ร่วมฟังการประชุมสภาฯ ในวันนี้ด้วย ตลอด 6 ชั่วโมงเต็ม เห็นทัศนะของ ส.ส. จากหลายพรรคการเมืองแล้ว คิดว่าน่าสนใจ จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ทุกๆ คนได้อ่านกัน
หากเรามองว่า ‘พรรคก้าวไกล’ คือตัวแทนความคิดก้าวหน้า … ส่วน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ คือตัวแทนความคิดอนุรักษ์นิยม
แต่เชื่อหรือไม่ว่า จุดยืนของ ส.ส.จากทั้งสองพรรคนี้ (รวมถึงพรรคอื่นๆ ด้วย) ต่อการแก้ไขกฎหมายให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ กลับคิดไปในทางเดียวกัน แตกต่างเพียงรายละเอียดเท่านั้น
มีอะไรน่าสนใจบ้าง เมื่อผู้แทน ‘ราษฎร’ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลุกขึ้นมาพูดถึงการทำแท้งกลางห้องประชุมสภาฯ อันทรงเกียรติ
ที่มา-ที่ไป ของเรื่องนี้
เท้าความก่อนว่า ป.อาญา ทั้ง 2 มาตราที่จะถูกแก้ไข อยู่ในหมวดว่าด้วย ‘ความผิดฐานทำให้แท้งลูก’
โดยมาตรา 301 กำหนดโทษของหญิงที่ทำให้แท้งลูก มีอัตราโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 305 กำหนดข้อยกเว้นความผิดของแพทย์ที่ช่วยทำให้หญิงแท้งลูก จะทำได้เพียง 2 กรณี คือ 1.จำเป็นต้องทำเนื่องจากสุขภาพของหญิง และ 2.การท้องดังกล่าวเกิดจากการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา เช่น ถูกข่มขืน
จุดเริ่มต้นของการแก้ไข ป.อาญา เปิดทางให้มีการยุติการตั้งครรภ์แบบถูกกฎหมาย เกิดจากคำร้องของ พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ อดีต ผอ.โรงพยาบาลกุยบุรี ซึ่งอยู่ในเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (RSA) ถูกตำรวจจับกุมและดำเนินคดี กรณีไปช่วยทำแท้งให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายมาตรานี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 27, 28 และ 77
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ว่า ป.อาญา มาตรา 301 มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญจริง ส่วนมาตรา 305 แม้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่สมควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
คำวินิจฉัยและคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้มีผลบังคับภายใน 360 วัน คือภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
“ไม่ใช่ทำแท้งเสรี”
รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา เกี่ยวกับการทำแท้ง มาให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563 (พร้อมๆ กับร่างของพรรคก้าวไกล) ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบในวาระแรก ‘รับหลักการ’ ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) ขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ตามกลไก โดยมีสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ
หลังการประชุม 6 ครั้ง พร้อมแก้ไขเนื้อหาจากร่างของรัฐบาลเล็กน้อย กมธ.วิสามัญก็ส่งร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา เกี่ยวกับการทำแท้งนี้ กลับมาสู่ที่ประชุมสภาฯ ให้พิจารณาในวาระสอง – ‘พิจารณาแก้ไขรายมาตรา’ และวาระสาม – ‘เห็นชอบให้ประกาศใช้’
สันติลุกขึ้นกล่าวนำเสนอร่างกฎหมายนี้ ก่อนจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้อภิปรายว่า เนื้อหาร่างกฎหมายนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘อายุครรภ์’ มารดาที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด ซึ่งกำหนดไว้ที่ 12 สัปดาห์ โดยรักษาสมดุลระหว่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงและสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์
“ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญานี้ ไม่ใช่การเปิดให้มีการทำแท้งเสรี แต่เป็นการให้ยุติการตั้งครรภ์ได้แบบมีเงื่อนไข และผมขอย้ำในหลักการว่า ไม่มีหญิงคนใดต้องการท้องเพื่อไปทำแท้ง” ประธาน กมธ.วิสามัญกล่าว
จากนั้น ก็เป็นการแสดงความเห็น ทั้งจาก ส.ส.จำนวน 20 คน รวมถึงตัวแทนจากเอ็นจีโอ กฤษฎีกา และแพทย์ ที่เข้าร่วมประชุมสภาฯ ในฐานะตัวแทนของ กมธ.วิสามัญ
อาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ
แม้เนื้อหาสำคัญในร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา ว่าด้วยการทำแท้ง จะอยู่ที่การแก้ไข มาตรา 301 ที่เดิมกำหนดบทลงโทษหญิงที่ทำแท้งต้องถูกจำคุก 3 ปี เปลี่ยนเป็นหากมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด
แต่สำหรับบางคนเห็นว่า อยากให้ยกเลิกมาตรานี้ไปแลย!
กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ในฐานะ กมธ.วิสามัญ ลุกขึ้นมาเสนอว่า มาตรา 301 เป็นมาตราใน ป.อาญาที่ขยี้หัวใจผู้หญิง เพราะเป็นมาตราเดียวที่ใช้คำว่า ‘ผู้หญิง’ แทนที่จะเป็น ‘บุคคล’ แสดงให้เห็นว่า หญิงที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาชีวิตของตัวเอง กลับถูกรัฐมองว่าเป็นอาชญากรรม
“มาตรา 301 เป็นเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ เป็น victimless crime คือผู้หญิงไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้กระทำผิดต่อใครเลย ผู้หญิงแค่จะตัดสินเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง จากการท้องไม่พร้อม ถามว่าคนขายอวัยวะตัวเองผิดไหม ไม่ผิด คนพยายามฆ่าตัวเองแล้วบังเอิญไม่ตาย ผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่ทำไมเมื่อผู้หญิงตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ กฎหมายถึงจะเอาผิดเขา เป็นอาชญากรรม”
กฤตยายังบอกว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยบอกไว้ว่า การยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นบริการสุขภาพประเภทหนึ่ง ปัจจุบัน แม้การยุติการตั้งครรภ์จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ได้ จากประกันสังคมได้ แต่หมอในเมืองไทยหลายคนยังไม่พร้อมจะยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิง หากสังคมเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่าจะมีหมอที่พร้อมจะยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น
รองรับ ‘อุบัติเหตุในชีวิต’
นอกจากแก้ไขมาตรา 301 แล้ว ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา ว่าด้วยการทำแท้ง ยังเสนอให้แก้ไข มาตรา 305 ซึ่งเป็นบทยกเว้นความผิดให้แพทย์ที่ทำแท้ง และยังมีข้อยกเว้นให้กับหญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ด้วย ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง
แต่ ส.ส.บางคนก็เสนอให้เพิ่มเพดานอายุครรภ์มากขึ้นกว่านี้
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล เสนอให้ขยับเพดานหญิงสามารถทำแท้งได้จนถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ด้วยเหตุผล 3 ข้อ
- ผู้หญิงที่อายุครรภ์เกินสามเดือน มีความตั้งใจตั้งครรภ์ การจะยุติการตั้งครรภ์ หลังอายุครรภ์เกินสามเดือน มักเป็นเพราะมี ‘อุบัติเหตุในชีวิต’ ซึ่งตามสถิติมีถึง 20%
- ที่ไม่กำหนดอายุครรภ์เป็นเพดานไว้ เพราะข้อมูลทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา WHO กำหนดไว้ว่า 22 สัปดาห์บวกลบคืออายุครรภ์สูงสุดที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะข้อมูลทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเสมอ
- ความปลอดภัย ให้โอกาสหญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แล้วอยากยุติการตั้งครรภ์มาพบแพทย์ (แทนที่จะไปทำแท้งเถื่อน)
แต่ข้อเสนอเพิ่มเพดานอายุครรภ์ ก็ถูกแย้งจาก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ตัวแทนแพทยสภา ซึ่งมาร่วมประชุมสภาฯ ด้วยในฐานะ กมธ.วิสามัญ ที่ระบุว่า เรื่องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ นอกจากสิทธิของหญิงและเด็ก อย่าลืมสิทธิของแพทย์ด้วย ในการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของหญิง จะต้อง ‘ทำแท้งสมบูรณ์’ ไม่มีการค้างของรกในมดลูก ไม่มีโอกาสตกเลือดตามมา ยิ่งทารกโต ยิ่งมีโอกาสทำแท้งไม่สมบูรณ์มากขึ้น
“คนที่ไม่ใช่แพทย์ บางครั้งท่านไม่ทราบว่า เด็กที่เอาออกมายังขยับตัวอยู่ เราจะทำยังไงต่อดี จะไปอุดจมูกเขาก็ไม่ได้ เราจึงขอกำหนดอายุครรภ์ไว้ 12 สัปดาห์ เด็กยิ่งโตมากขึ้น 22-24 สัปดาห์ ยิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้น” พญ.วิบูลพรรณกล่าว
เทคโนโลยี และความเชื่อ
หลายคนยกเหตุผลทางเทคโนโลยีการแพทย์ มาสนับสนุนการขยับเรื่องอายุครรภ์ให้มากกว่าแค่ 12 สัปดาห์
เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า อยากให้ขยับอายุครรภ์ที่ทำแท้งได้โดยหญิงไม่มีความผิดเป็น 15 สัปดาห์ เพราะปัจจุบันการนับอายุครรภ์ที่แม่นยำยังเป็นไปได้ยาก
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่า ความไม่แม่นยำในการนับอายุครรภ์ยังเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะหญิงที่ท้องแรก กว่าจะรู้ตัวจนไปซื้อที่ตรวจมาตรวจ ก็ต้องทำใจอยู่ระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะมาเจอหมอเพื่อยืนยัน ต้องใช้เวลา ไม่รวมถึงหากสถานพยาบาลอยู่ในที่ห่างไกล ก็มีความยากลำบากกว่าสถานพยาบาลที่อยู่ในที่ๆ มีความพร้อม
“การกำหนดเรื่องอายุครรภ์ไปในกฎหมาย ผมจึงไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่เรื่องทางการแพทย์ยังไม่มีความชัดเจน 100%” นพ.วาโยกล่าว และเสนอให้ยกเลิกเรื่องการกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.ที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ที่หลักความเชื่ออาจแย้งกับการยุติการตั้งครรภ์ ลุกขึ้นอภิปราย
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า หลักความเชื่อในศาสนาอิสลามมีเรื่องสิทธิของทารก จึงอยากให้คงมาตรา 301 ตาม ป.อาญาเดิมไว้ แต่ให้ลดอัตราโทษลงแทน จากจำคุก 3 ปี มาเป็นกรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เป็นจำคุก 6 เดือน กรณีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เป็นจำคุก 1 ปี
ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนนับถือศาสนาคริสต์ มีความเชื่อคล้ายๆ ศาสนาอิสลาม เรื่องพระเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต แต่หากการแก้ไข ป.อาญานี้ มีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของหญิงที่ตั้งครรภ์โดนไม่พร้อม และเรื่องความยุติธรรม เพราะมาตรา 301 เดิม ไปมองผู้หญิงเป็นอาชญากร ทั้งที่จริงๆ กฎหมายอาจจะไม่ยุติธรรมหรือเปล่า
“ผมอยากให้สังคมไทยอยู่ในสังคมที่โอบรับความหลากหลาย ไม่เอากฎเกณฑ์ศาสนาใด ไปใช้กับคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน” ปดิพัทธ์กล่าว
บทสรุปและก้าวต่อไป
ยังมี ส.ส.อีกนับสิบคนลุกขึ้นอภิปราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา เรื่องการทำแท้งนี้ เพียงแต่อาจเห็นแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดบ้าง
ที่สุดแล้ว สภาฯ ก็ลงมติด้วยคะแนน 276 ต่อ 8 เสียง ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม โดยกลไกของระบบนิติบัญญัติไทย ร่างกฎหมายที่ผ่าน ส.ส.แล้ว ยังต้องส่งให้ ส.ว.พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง จึงต้องจับตากันต่อไปว่า ที่สุดแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ของหญิงที่ท้องไม่พร้อมนั้นจะเป็นอย่างไร
นี่คืออีกวันหนึ่ง ที่สภาฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายที่มีความสำคัญกับชีวิตของผู้คน แม้บรรยากาศอาจไม่ดุเดือดเลือดพล่านเหมือนเวลาพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง
แต่ก็เป็นตัวอย่างว่า สภาที่มีตัวแทนจากประชาชนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายความเชื่อ ก็สามารถหาจุดร่วมกันบางอย่างได้ เมื่อมันเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ