หากชีวิตคนเราไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเลย ก็เปรียบเสมือน ‘ตาบอดคลำช้าง’ ที่คลำไปคลำมาอาจคว้าเอางูเหลือม แต่ก็ดันทึกทักเอาว่าเป็นงวงช้าง นอกจากแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้แล้ว ยังทำให้ชีวิตยุ่งกว่าเก่า
แวดวงวิจัยไม่ได้แพร่หลายในหมู่นักวิชาการเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในกระบวนได้เช่นกัน เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า การวิจัย (Research) เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการหาความรู้ต่างๆ ที่เราไม่รู้และต้องการแสวงหาคำตอบ
ล่าสุดบนเวทีสำคัญระดับประเทศ ‘ผลงานวิจัยเด่น’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2559 โดยเราขอนำเสนอ 7 ผลงานวิจัยฝีมือคนไทยที่โดดเด่น และตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ อย่างปัญหาสิ่งแวดล้อม ปากท้อง โรคภัยใหม่ๆ ไปจนประวัติศาสตร์ชุมชน ที่หลายครั้งล้วนหาคำตอบได้ผ่านงานวิจัย
จะเป็น ‘ประเทศไทย 4.0’ ทั้งที จะไม่พึ่งเครื่องมือวิจัยเลย มันก็ยังไงๆ อยู่นะ
แก้ปัญหา ‘น้ำ’ เมืองไทย ต้องใช้ซูเปอร์ข้อมูล
คนไทยมักตายน้ำตื้นเรื่อง ‘น้ำ’ แม้เชื่อกันว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่เอาเข้าจริงกลับแล้งสาหัส หรือไม่ก็ท่วมจนต้องจับจองหลังคาบ้านแทนห้องนอน พอได้ยินข่าวเรื่องน้ำทีไร หัวใจก็กระสับกระส่าย ประเทศไทยเผชิญปัญหาทรัพยากรน้ำที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น และอาจนำไปสู่ ‘สงครามน้ำ’ ราวหนัง Mad Max ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำมักขาดเอกภาพในเชิงองค์กร กฎหมาย และข้อมูล การบริหารความเสี่ยงปัญหาน้ำครั้งต่อไปจึงต้องแม่นยำกว่า
ทำอะไร
งานวิจัยต้องจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความมั่นคงระดับชุมชนและจังหวัด จากการใช้ข้อมูลระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำที่ละเอียดยิบของแต่ละพื้นที่ โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ทั้ง GPS ระบุพิกัดแหล่งน้ำ ข้อมูลสำรวจปริมาณน้ำ ซึ่งคนในชุมชนเองจะมีส่วนร่วมในการทำข้อมูลทั้งหมด ทีมวิจัยจึงลงไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เกิดการทำกติกาและหาระบบการใช้น้ำร่วมกันในระดับชุมชน-จังหวัด จนสามารถกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และระเบียบจัดการทรัพยากรน้ำ ในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำของชาติได้
การแก้ปัญหาน้ำจึงต้องให้คนที่ต้นน้ำและปลายน้ำทำความเข้าใจกันให้มากที่สุดผ่านข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ การให้คนปรับความเข้าใจกันยากกว่าปรับกระแสน้ำให้ไหลย้อนกลับเสียอีก
งานวิจัย : ศูนย์วิจัยระบบการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อความมั่นคงระดับจังหวัด โดย รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมล็ดมะขามจะทิ้งทำไม? เปลี่ยนเป็น ‘เจลโลส‘ สิ
มะขามหวานของดีต้องเมืองเพชรบูรณ์ เราส่งออกมะขามปีละ 28.29 ล้านตัน (ก็ราว 1,171 ล้านบาทเลย) แต่มนุษย์ก็ดันกินแค่เนื้อมะขามไง เราไม่ได้กิน ‘เมล็ดมะขาม’ จึงกลายเป็นของเหลือทิ้งอย่างน่าเสียดาย มีเมล็ดมะขามเหลือจากการแปรรูปถึง 200 ตันต่อปี ซึ่งปกติเราขายเมล็ดให้กับญี่ปุ่นในกิโลกรัมละ 3 บาท เพราะ ชาวญี่ปุ่นหัวการค้าเอาเมล็ดมะขามไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสี ก็เป็นเงินที่ไม่มากนัก แต่นักวิจัยไทยเชื่อว่า เมล็ดมะขามทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะ
ทำอะไร
เมล็ดมะขามมีคุณสมบัติพิเศษที่เรียกว่า ‘เจลโลส’ (Jellose) เป็นสารประเภทกัม (Gum) ที่ให้ความหนืด เด้งดึ๋งเหมือนเจลลี่ซึ่งทดแทนไขมัน และนำไปดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด ทีมวิจัยจึงพัฒนากระบวนการสกัดและผลิตเจลโลสจากเมล็ดมะขาม ประยุกต์เป็นขนมเยลลี่กินอร่อย ไอศกรีมมะขามเจลาโต ฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อส่งออก ฟิล์มแปะแผลชีวภาพที่ย่อยสลายได้เอง ไปจนเครื่องมะขามสำอางเซรั่ม อาหารเสริมลดน้ำหนัก และอีกเพียบเท่าที่เรานึกออก ที่สำคัญคือ เจลโลสจากมะขามปลอดภัยต่อร่างกาย ทดแทนการนำเข้าวัตถุเจือปนอาหารจากต่างประเทศได้โข
จากเมล็ดมะขามไร้ค่ากิโลกรัมละ 3 บาท เมื่อแปลรูปเป็นเจลโลสแล้วสามารถขายในกิโลกรัมละ 5,000 – 12,000 บาท ซึ่งผลงานนี้ทีมวิจัยจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการผลิตแป้งเมล็ดมะขามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พ่วงรางวัลจากต่างประเทศอีกเพียบ!
ทำเงินจากของที่คนมองข้าม ‘วิจัยได้ ขายจริง’
งานวิจัย : การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งเมล็ดมะขามเพื่อเพิ่มมูลค่า โดย รศ. ดร.วุฒิชัย นาครักษา คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ป่าน่านอยู่ไหน? ดูให้รู้ผ่านดาวเทียม
หลายคนจำภาพภูเขาน่านหัวโล้นกันได้ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่ลืมหูลืมตา หากย้อนไปในช่วง พ.ศ. 2510 รัฐบาลเคยเปิดสัมปทานป่าให้กับธุรกิจเอกชนเข้ามาใช้สอยไม้อย่างเต็มที่ หนำซ้ำยังส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกข้าวโพด จนกลายเป็นพืชไร่เศรษฐกิจของจังหวัดน่านที่ต้องแลกด้วยการถางพื้นที่ป่าในเขตป่าต้นน้ำ ส่งผลให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ป่าน่านจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ป่าหายไปเท่าไหร่ ดวงตาบนฟากฝ้าอาจจะรู้
ทำอะไร
งานวิจัยชุดนี้จึงจัดทำแผนที่และวิเคราะห์ข้อมูลแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้ง 99 ตำบลของน่าน โดยใช้ข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat ขนาดรายละเอียด 25 เมตร ทำให้พวกเราเห็นพื้นที่ป่าน่านแบบย้อนหลังและคาดเดาถึงอนาคตได้ พบว่าน่านกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เฉลี่ย 56,300 ไร่ต่อปีเลยทีเดียว!
ทีมวิจัยยังนำข้อมูลดังกล่าวเผยต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ www.rakpanan.org เมื่อทำข้อมูลเป็นระบบ เข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ร่วมกันระหว่างราชการและประชาชน เพื่อหาทางเลือกปกป้องป่าน่านที่เหลืออยู่ และจะฟื้นฟูป่าที่เสียหายไปแล้วให้กลับมาอย่างไร
เมื่อเห็น ‘ป่า’ กำลังตายต่อหน้าต่อ ผ่านข้อมูลเชิงประจักษ์ ใครจะนิ่งดูดายก็ใจร้ายเต็มที
งานวิจัย : การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการจัดทำแผนชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดน่าน โดย ดร.สายบัว เข็มเพ็ชร นายสำรวย ผลัดผล และ รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
สืบให้ได้ ฉันเป็นใครในอดีต
ภูเก็ตเป็นพื้นที่ ‘ทองคำ‘ ทุกตารางนิ้วมีราคาแพงมหาศาล จนกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ทั่วโลกรู้จัก และมักเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกันหนักหน่วงระหว่างชาวบ้าน ‘หาดราไวย์‘ และนายทุน ปัจจุบันชาวเลบ้านราไวย์ถูกดำเนินคดีฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่กว่า 101 ราย ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อมายืนยันทางกฎหมายได้ ชาวบ้านจึงถูกเอาเปรียบบ่อยครั้งและมักพ่ายแพ้ต่อกลสารพัดพิษจากนายทุนที่พยายามกว้านซื้อที่ดินเพื่อเปลี่ยนเป็นรีสอร์ทหรู
ทำอะไร
วิจัยชุดนี้มีความพิเศษอยู่ที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยเองเลย (โดยมีทีมนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง) ด้วยการย้อนทบทวนประวัติศาสตร์ของตัวเอง และการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดภูเก็ตถึง 5 กลุ่ม พบว่าในพื้นที่นี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ มอแกน และอูรักลาโว้ย เป็นชุมชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกว่า 200 ปี และที่สำคัญ มีหลักฐานการเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชุมชนชาวเลราไวย์ในปี พ.ศ. 2502 ก่อนเอกชนออกเอกสารสิทธิเสียอีก
งานวิจัยชุดนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันสิทธิของชาวเลในการต่อสู้ทางคดีแพ่งกับนายทุน จนกลายเป็นกรณีศึกษาเรื่องระบบยุติธรรมไทยและคนชาติพันธุ์ที่กำลังสูญเสียสิทธิของตัวเองไปเรื่อยๆ
งานวิจัยก็ถูกงัดมาใช้เป็นไม้ตายได้เช่นกัน และที่สำคัญ ‘ชาวบ้านวิจัยเอง’
งานวิจัย : สืบค้นประวัติการตั้งถิ่นฐานและวิถีวัฒนธรรม เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ชาวเล บ้านราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดย นายสนิท แซ่ชั่ว
ค้นหายีนใหม่ ที่ก่อ ‘โรคหายาก’ ในมนุษย์
ธรรมชาติเองก็มีความร้ายกาจอยู่สักหน่อย เมื่อโรคในมนุษย์นั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยมีปัจจัยภายในถึงระดับ ‘ยีน’ ที่ถูกส่งต่อมาจากพ่อแม่ แต่ช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านอณูพันธุศาสตร์ได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ทำให้การศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับโรคในมนุษย์ทำได้ง่าย แม่นยำ และมีราคาที่พอเอื้อมถึง
แต่มีโรคจำพวกหนึ่งที่มักโดนเมิน คือ โรคหายาก (Rare Diseases) เป็นกลุ่มโรคที่พบได้น้อยกว่า 1 ใน 2,000 คน แต่โรคหายากก็ดันมีจำนวนมากเสียเหลือเกิน ถึงร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
ทำอะไร
ทีมวิจัยต้องค้นหาผู้ป่วยด้วยโรคหายากจากทั่วประเทศ จากโรงพยาบาล 33 แห่ง เก็บประวัติ เก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย ผิวหนัง นำมาสกัดหาสารพันธุกรรมทั้ง DNA และ RNA เพื่อนำไปวิเคราะห์หาความ ‘กลายพันธุ์’ ซึ่งในงานวิจัยพบ ยีนก่อโรค X-linked Osteogenesis Imperfecta และยีนที่ทำให้เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาหลายชนิด นอกจากนั้นพบการกลายพันธุ์ชนิดใหม่ถึง 20 โรค
ยิ่งเรามีความรู้เรื่องอณูชีววิทยาเพิ่มขึ้น ก็ทำให้วินิจฉัยก่อนคลอดเป็นไปได้อย่างแม่นยำ เช่น หากครอบครัวที่มีประวัติว่าเป็นโรค LAD3 หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องมาแต่กำเนิด แล้วกังวลว่าลูกที่ออกมาจะมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคนี้ด้วยหรือไม่ ก็สามารถบอกแนวโน้มได้แม่นยำขึ้น ตลอดจนสามารถรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอย่างจำเพาะเจาะจง
งานวิจัยชุดนี้ค่อนข้างมีชื่อเสียงมาก ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติถึง 26 เล่ม ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงทางคลินิกอีกด้วย
งานวิจัย : ยีนก่อโรคในมนุษย์ การค้นหายีนใหม่และการศึกษาหน้าที่ โดย ศ. นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
‘สุนทรียะ’ ข้ามผ่านโลกของความมืด
การศึกษามักกีดกัน ‘นักเรียนตาบอด‘ ออกจากสารบบแห่งศิลปะ โดยเชื่อว่าหากปราศทักษะการมองเห็นแล้ว การเรียนศิลปะก็มิใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากครูผู้สอนมักใช้สื่อการสอนประเภทเดียวกันกับเด็กที่มองเห็น นักเรียนตาบอดจึงเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยไปโดยปริยาย และที่ผ่านมาก็ไม่มีการปรับปรุงแผนการสอนศิลปะที่ครอบคลุมอย่างจริงๆ จังๆ
การสอนศิลปะส่วนมากจึงมักเป็นการบรรยายทฤษฎีเพื่อให้นักเรียนตาบอด ‘จดจำ’ พอทุกอย่างเข้าถึงยากและคนสอนก็ถอดใจ นักเรียนตาบอดจึงหันหลังให้กับศิลปะอย่างน่าเสียดาย
ทำอะไร
งานวิจัยออกแบบสื่อเรียนรู้ศิลปะขึ้นมาใหม่ เน้นผลิตง่ายไม่ซับซ้อน ได้แก่ หุ่นปูนปลาสเตอร์ลอยตัว หุ่นนูนต่ำ หุ่นกระดาษพับงานสถาปัตยกรรม กระดาษสุนทรียะ โปรแกรมวาดภาพโดยใช้เสียง โดยครูประจำชั้น นักเรียนตาบอด และนักเรียนปกติ สามารถช่วยทำสื่อการสอนนี้ร่วมกันได้ โดยไม่สร้างความรู้สึกแปลกแยก ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ซึ่งเป็นการสอนแบบ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ (Peer Assist) ที่ทุกคนเรียนรู้ศิลปะอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แยกชั้นเรียนศิลปะของนักเรียนระดับมัธยมปลายอีกต่อไป กลายเป็นแผนการเรียนรู้ต้นแบบตามหลักสูตรแกนกลางวิชาศิลปะของ สพฐ. ที่เริ่มปรับใช้แล้วในหลายโรงเรียน
งานวิจัย : การออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) สำหรับนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดย ผศ. ดร.สัญชัย สันติเวส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)