ลองจินตนาการว่าวันหนึ่งเราไปตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรค แต่กลับพบว่า ดีเอ็นเอในเลือดนั้นไม่ใช่ของเราเพียงคนเดียว แต่มีของเพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน หรือคนแปลกหน้าที่อยู่ถัดไปอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งไม่เคยพบกันมาก่อนปะปนอยู่ด้วย! เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ น่ะเหรอ?
หรืออาจจะไม่ต้องจินตนาการแล้วก็ได้ เพราะเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริงกับผู้ป่วยโรคลูคีเมียคนหนึ่ง ที่เคยเข้ารับการบริจาคไขกระดูก ซึ่งเป็นเหตุให้ร่างกายของเขาได้รับดีเอ็นเอของใครบางคนมาโดยไม่รู้ตัว
เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ลงใน New York Times โดย คริส ลอง (Chris Long) ชายคนหนึ่งในเมืองรีโน รัฐเวเนดา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ดีเอ็นเอในเลือดของเขาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็คือการ ‘ถูกแทนที่’ ด้วยดีเอ็นเอของคนคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อน
หลังจากที่ คริส ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเมื่อ 4 ปีก่อนเพื่อช่วยผลิตเม็ดเลือดให้กับร่างกาย เขาก็ได้รับการตรวจเลือดอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งที่น่าตกใจก็คือ แม้ขนอกและผมยังมีดีเอ็นเอของเขาอยู่ แต่ในเลือดบริเวณเยื่อบุแก้ม ลิ้น และริมฝีปากของเขา กลับพบดีเอ็นเอของคนอื่น แม้กระทั่งในน้ำอสุจิด้วยก็ตาม ซึ่งภายหลังก็ทราบว่าดีเอ็นเอนั้นเป็นของชายชาวเยอรมันที่เป็น ‘ผู้ให้บริจาค’ ไขกระดูกแก่เขา
“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก กับการที่จู่ๆ ตัวเราก็หายไป แล้วกลับมีคนอื่นมาแทนที่” คริส ลอง กล่าว
หากสงสัยว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง มีคำอธิบายง่ายๆ นั่นก็คือ เซลล์เลือดที่อ่อนแอจะถูกแทนที่ด้วยเซลล์เลือดที่แข็งแรงกว่า นั่นคือสิ่งที่เซลล์เลือดของคริส ลอง ได้รับจากผู้ให้บริจาคของเขานั่นเอง ทำให้ดีเอ็นเอของเขาที่อยู่ข้างในถูกแทนที่ไปด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วแพทย์หลายคนไม่อยากรู้ว่าดีเอ็นเอของผู้ให้บริจาคจะไปอยู่ที่ไหนของร่างกายผู้ป่วยบ้าง เพราะมันแทบจะไม่ได้ส่งผลร้ายต่อร่างกาย หรือเปลี่ยนตัวบุคคลนั้นๆ เลย
แอนดริว เรซวานี (Andrew Rezvani) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของแผนกผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายเลือดและไขกระดูก ประจำศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้อธิบายว่า ดีเอ็นเอที่ปรากฏไม่ได้ทำให้สมองหรือบุคลิกภาพของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แต่กลับกัน ในทางนิติเวช ดีเอ็นเอถือเป็นหลักฐานสำคัญในการบ่งชี้ตัวเหยื่อและผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมได้
เหตุการณ์นี้ทำให้ คริส ลอง กลายเป็นบุคคลที่มีดีเอ็นเอสองชุดในร่างกาย คล้ายๆ กับ ‘คิเมียร่า’ สัตว์ในเทพปกรณัมกรีกที่ประกอบไปด้วยสิงโต (หัวถึงหน้าอก) แพะ (ลำตัว) และมังกร (บั้นท้าย) แม้นักนิติวิทยาศาสตร์และแพทย์จะทราบมานานแล้วว่าบนโลกนี้มีกระบวนการทางการแพทย์ที่ทำให้คนกลายเป็นคิเมียร่าได้ แต่ดีเอ็นเอผู้ให้บริจาคที่ไปปรากฏในร่างกายของผู้รับบริจาค ยังไม่เคยถูกนำมาศึกษาหรือใช้ในความผิดทางอาญา เพราะถึงแม้ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยนับหมื่นรายที่เข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษาโรคมะเร็งในเลือด รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับเลือดอื่นๆ อย่างลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคโลหิตจางรูปเคียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำความผิดในคดีอาชญากรรมเลยสักคดีเดียว
แต่ถึงแม้จะไม่มีใครตั้งใจก่อเหตุอาชญากรรมด้วยการนำดีเอ็นเอคนอื่นไปใช้ แต่เหตุการณ์นี้ก็เคยทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนเกิดความเข้าใจผิดมาแล้วหลายครั้ง ในปีค.ศ. 2004 มีเจ้าหน้าที่สืบสวนในรัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา อัพโหลดข้อมูลดีเอ็นเอที่สกัดได้จากน้ำอสุจิไปยังฐานข้อมูลทางอาญา พบว่าดีเอ็นเอนั้นตรงกับผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือ ชายคนนั้นติดคุกอยู่แล้วในขณะที่เกิดเรื่อง และมาทราบภายหลังก็คือเขาได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาก่อน ซึ่งทำให้น้องชายเขาที่เป็นผู้ให้บริจาคไขกระดูกแก่เขาถูกตัดสินคดีในที่สุด
ต่อมา อบิรามิ ชิดัมบารัม (Abirami Chidambaram) ที่เป็นผู้นำเสนอคดีในอลาสก้า เล่าว่า ขณะที่เธอทำงานให้กับห้องปฏิบัติการตรวจจับอาชญากรรม มีเหตุการณ์อีกมากมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนต่างก็หัวหมุน เช่น ครั้งหนึ่งที่ตำรวจสงสัยเหยื่อคดีข่มขืน ที่เจ้าตัวอ้างว่ามีผู้กระทำเพียงคนเดียว แต่จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอกลับพบว่ามีดีเอ็นเอของคนสองคน ในที่สุดตำรวจก็พิจารณาว่าข้อมูลดีเอ็นเอที่สองนั้นมาจากผู้บริจาคไขกระดูกให้กับเธอนั่นเอง
นอกจากนี้ มีอีกสถานการณ์ที่คล้ายกัน โดยนักวิชาการด้านการวิจัย ยองบิน ออม (Yongbin Eom) เผยขณะเยี่ยมชมศูนย์บ่งชี้ตัวบุคคลของมหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัสว่าในปีค.ศ. 2008 เขาเคยพยายามระบุตัวเหยื่อในคดีอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งผลเลือดแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หญิง แต่ร่างกายดูเหมือนจะเป็นเพศชายมากกว่า ซึ่งในที่สุดก็ได้รับการยืนยันจากดีเอ็นเอในไตที่มีดีเอ็นเอระบุเพศชายและเพศหญิงอยู่ แล้วก็พบว่าเหยื่อในอุบัติเหตุได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากลูกสาวของเขา
แม้จะยังไม่มีการนำวิธีนี้ไปใช้ในทางที่ผิด แต่ในอนาคตก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายวงการสืบสวนสอบสวนและแผนกวินิจฉัยโรคพอสมควร เพราะเมื่อดีเอ็นเอของคนคนหนึ่งสามารถโลดแล่นอยู่ในร่างกายของอีกคนหนึ่งได้ แล้วแบบนี้การพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ด้วยดีเอ็นเอจะยังคงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือได้อยู่อีกหรือไม่?
อ้างอิงข้อมูลจาก