เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมญี่ปุ่นมีนิยายประเภทอำพรางคดีเยอะเหลือเกิน ซึ่งก็รวมไปถึงมังงะแนวสืบสวนสอบสวนคดีปริศนา ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ดูเหมือนชาวญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ชอบคดีปริศนาเหล่านี้เหลือเกิน ซึ่งก็เป็นผลดีต่อแฟนงานแนวนี้ในบ้านเราอีกด้วย เพราะได้อ่านได้เสพกันมาเสมอ บางทีประเทศที่จัดว่าสงบสุข อัตราอาชญากรรมต่ำ อาวุธร้ายเช่นปืนเป็นของแปลกปลอมในสังคม อาจจะทำให้คนสนใจเรี่องราวคดีความต่างๆ เพราะมันเป็นแฟนตาซีไกลตัวนั่นเอง
แต่กับคดีความที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว แม้ญี่ปุ่นจะมีคดีฆาตกรรมแปลกๆ พิลึก หรือคดีที่น่ากลัวอย่างคดีแกงกะหรี่วาคายามะที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว แต่มีคดีหนึ่งที่เป็นคดีดังของสังคมญี่ปุ่น ถูกนำมาทำเป็นสื่อบันเทิงหลายต่อหลายครั้ง และจุดที่ทำให้คดีนี้น่าสนใจมากๆ คือ แม้เวลาจะผ่านไปถึง 50 ปี แต่ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ซึ่งก็ลอยนวลไปได้พร้อมกับเงินที่ปล้น และที่สำคัญคือ ไม่มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว จะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบก็ว่าได้ เพียงแต่ว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
คดีที่ว่าคือ ‘คดีปล้นเงิน 300 ล้านเยน’
วันที่ 10 ธันวาคม ปี ค.ศ.1968 พนักงานของธนาคาร Nippon Trust Bank (ปัจจุบันกลายมาเป็นธนาคาร Mitsubishi UFJ) สาขา Kokubunji ในพื้นที่ทางตะวันตกของโตเกียว เดินทางในรถเก๋ง พร้อมกับเงินจำนวนเกือบ 300 ล้านเยน ในกล่องนิรภัยที่กระโปรงหลังท้ายรถ เพื่อนำไปส่งที่โรงงานบริษัท Toshiba สาขา Fuchuu เพื่อเป็นโบนัสปลายปีสำหรับพนักงานในโรงงาน
สภาพสังคมญี่ปุ่นในตอนนั้นคือกำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างมากหลังจากแพ้สงคราม มันคือ 4 ปีหลังโอลิมปิกที่โตเกียวเท่านั้นเอง แต่ในขณะเดียวกัน เพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้สังคมญี่ปุ่นต้องเจอกับปัญหาสังคมต่างๆ รวมถึงความปลอดภัยในเมืองใหญ่ที่ในยุคนั้นไม่ได้ปลอดภัยเหมือนยุคนี้เท่าไหร่นัก
การขนเงินขนาดนั้นด้วยรถเก๋งธรรมดา ถ้ามองจากมาตรฐานยุคนี้ก็ดูเสี่ยงมาก แต่ในยุคนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในวันนั้น พนักงานของธนาคารที่ร่วมขนเงินไปในรถ ต่างรู้สึกเกร็งกว่าปกติ เพราะว่า ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ได้มีจดหมายข่มขู่ผู้จัดการสาขาของธนาคารว่า ถ้าไม่เอาเงิน 300 ล้านเยนมาให้ในที่ที่กำหนด จะทำการระเบิดบ้านของผู้จัดการธนาคาร ซึ่งผู้จัดการก็ได้ติดต่อตำรวจ และได้มีการไปเฝ้าในสถานที่ตามที่นัด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีบ้านใครระเบิด แต่มันก็ยังคงเป็นความกลัวที่ติดอยู่ในหัวของพนักงานธนาคาร ไม่แปลกที่ทุกคนในรถจะเกร็งกันเป็นพิเศษ
และเมื่อรถผ่านทัณฑสถาน Fuchuu ก็มีรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งตัดหน้ารถของธนาคาร และสั่งให้จอด และเหตุการณ์หลังจากนั้นก็ปิดฉากลงด้วยเวลาเพียง 3 นาที
คนขับมอเตอร์ไซค์แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายตรวจ และได้รับรายงานมาว่า บ้านของผู้จัดการระเบิด และคนร้ายตั้งใจจะระเบิดรถขนเงินด้วย ขอให้ทุกคนออกจากรถเพื่อตรวจสอบ และระหว่างที่สายตรวจกำลังเช็คใต้ท้องรถ ก็มีควันพุ่งออกมาจากใต้ท้องรถ สายตรวจจึงรีบตะโกนแจ้งเตือน และพนักงานธนาคารก็วิ่งไปหลบที่มุมธนาคารเพื่อความปลอดภัย
แต่กลับไม่มีเสียงระเบิด…!?
เมื่อพนักงานธนาคารย้อนกลับมา ก็พบว่า ทั้งสายตรวจ และรถเก๋งที่ขับมาได้หายไปพร้อมกัน ทีแรกพนักงานก็คิดว่าสายตรวจคนนั้นกล้ามากที่เสี่ยงเพื่อความปลอดภัยของคนอื่น แต่เมื่อเห็นพลุไฟที่กำลังปล่อยควันออกมาอยู่ตรงนั้น และเข้าไปดูรถสายตรวจชัดๆ และพบว่ามันไม่เหมือนอย่างรถมอเตอร์ไซค์ของตำรวจควรเป็น เท่านั้นล่ะครับ
พอดึงสติกลับมาได้ ก็รู้ตัวว่า โดนเล่นงานเข้าแล้ว จึงรีบโทรศัพท์กลับไปเช็คที่ธนาคาร ก็ได้ความว่า ไม่มีระเบิดอะไรทั้งสิ้น พวกเขาโดนหลอกเข้าไปเต็มๆ โดยอาศัยความกลัวและประหม่าที่เกิดจากการขู่จะระเบิดบ้านผู้จัดการเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า และตอนนี้ เงิน 300 ล้านเยนกำลังวิ่งห่างจากพวกเขาไปเรื่อยๆ
แม้จะแจ้งตำรวจให้ช่วยสกัดจับ แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการประท้วงของนักศึกษาในบริเวณนั้นหลายที่ ทำให้กำลังตำรวจมีน้อยกว่าที่ควรเป็น แม้จะพยายามเร่งมือในการสกัดคนร้ายแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คนร้ายใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการจัดการปล้นเงินจำนวนมาก ชนิดที่ถ้าเทียบกับค่าเงินปัจจุบันก็มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเยนเลยทีเดียว โดยไม่ต้องใช้แรง หรือทำให้ใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย
แม้ตำรวจจะพยายามไล่ตามตัวคนร้าย และพบกับหลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุ รวมถึงพบรถของธนาคารพร้อมกล่องเงินที่ว่างเปล่า แต่กลับกลายเป็นว่า หลักฐานจำนวนมากที่พบนั้น คือการวางยาเพื่อให้ตำรวจสับสน จนสุดท้ายแล้ว คนร้ายก็ลอยนวลไปได้สบายๆ พร้อมกับเงินเกือบ 300 ล้านเยน
แม้จะทำการปูพรมสืบสวนแค่ไหน ทางการก็ไม่สามารถตามจับคนร้ายได้ ไม่แม้แต่เข้าใกล้ แม้จะพยายามปล่อยภาพสเก็ตช์คนร้ายจากการให้ปากคำของพยาน แต่ก็ไม่มีได้ช่วยให้ตามจับอะไรใครได้คืบหน้าไปไหน
สุดท้ายแล้ว แม้จะเป็นคดีดังที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนญี่ปุ่น ทำให้ทั้งธนาคารและตำรวจต้องเสียหน้า แต่เพราะว่าไม่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ อายุความของคดีจึงมีเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น ทำให้หลังปี ค.ศ.1975 เป็นต้นมา แม้คนร้ายจะเดินออกมาแถลงข่าวว่า เป็นคนปล้น ทางการก็ไม่มีอำนาจอะไรไปจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้
ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เล่ามา ทำให้หลายต่อหลายคนเรียกคดีนี้ว่า เป็นอาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบ ตามที่เรามักจะได้อ่านตามนิยายรหัสคดีทั้งหลาย ซึ่งถ้ามีนักสืบชื่อดังโผล่มาในที่เกิดเหตุ ก็อาจจะมีการไขคดีแบบเท่ๆ เพียงแต่ว่า นี่คือความจริง ไม่ใช่นิยาย คนร้ายเลยได้ลอยตัวสบายๆ ไป
เพราะความสมบูรณ์แบบของคดีนี้ล่ะครับ ที่ทำให้มีการผลิตเป็นสื่อบันเทิง นิยาย ละคร ภาพยนตร์ ออกมาเรื่อยๆ บางทีก็มีเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การตีความต่างๆ สารพัดสารพัน เรียกได้ว่าไม่น่าจะมีคนญี่ปุ่นคนไหนไม่เคยได้ยินเรื่องราวของคดีนี้ก็คงพอได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคืออาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบจริงหรือ
แล้วไม่มีใครเป็นผู้ต้องสงสัยเลยรึเปล่า?
พูดถึงเรื่องผู้ต้องสงสัยก่อน จริงๆ แล้ว คดีนี้มีผู้ต้องสงสัยสำคัญหนึ่งคน คือ เยาวชน S ที่ต้องเรียกอย่างนี้เพราะว่าเขาเพิ่งอายุ 19 ปี ตอนเกิดคดี และที่สำคัญคือ เขาเป็นลูกชายของตำรวจสายตรวจ แต่มีประวัติอยู่ในแก็งลักเล็กขโมยน้อยในบริเวณนั้น จึงถูกจับตามอง เพราะสามารถเข้าถึงรายละเอียดต่างๆ ของการปฏิบัติงานของตำรวจได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่า คืนก่อนเกิดเหตุเขาไปดื่มเหล้าที่ชินจุกุจนเมามาย ขนาดไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถลงมือปล้นในวันถัดมาได้ รวมไปถึงลายมือ และหมู่เลือดของเขาก็ไม่ตรงกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และปัญหาใหญ่คือ 5 วันหลังเกิดเหตุ เมื่อตำรวจพยายามไปสอบสวนเขา เขากลับฆ่าตัวตายด้วยการดื่มไซยาไนด์ กลายเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ว่าเขาเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ และเวลายกคดีนี้ขึ้นมา เยาวชน S ก็มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งเสมอ
จากความชวนสับสนของคดีนี้ ทำให้มันกลายเป็นการสืบสวนครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ด้วยการระดมกำลังตำรวจจำนวนแสนกว่านาย ไล่สืบสวนอย่างเต็มที่ แม้จะดูเป็นการใช้งบประมาณสูงจนไม่น่าจะคุ้ม แต่สิ่งสำคัญคือการพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา แต่กลายเป็นว่าก็ส่งผลในมุมกลับ เมื่อมีคนขับแท็กซี่ถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย เพราะเขามีหน้าตาคล้ายกับภาพสเก็ตช์คนร้าย ทำให้สื่อพุ่งเป้าไปที่ตัวเขา และตำรวจก็อาศัยความผิดในคดีเล็กๆ น้อยๆ อื่นเพื่อจับกุมเขามาสอบสวน แต่เขาก็เคลียร์ตัวเองได้เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าเขาอยู่ที่ไหนในตอนเกิดเหตุ แต่กลายเป็นว่าครอบครัวเขาก็ต้องล้มละลายเพราะคนมองว่าเขาผิดไปแล้ว และนี่ก็เป็นการใช้อำนาจตำรวจโดยมิชอบ กลายเป็นคดีใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคดี และคนขับแท็กซี่คนดังกล่าวก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายในช่วงปี ค.ศ.2008 อาจจะพูดได้ว่า ถ้าไม่มีการจับกุมครั้งนั้น ชีวิตเขาก็คงไม่เป็นเช่นนี้
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้มีคนเผยตัวว่าเป็นคนก่อคดี โดยเขียนลงในเว็บบอร์ดแต่งนิยาย ว่าเป็นเพื่อนของ S และ S ไม่กล้าพอทำให้ตัดสินใจก่อคดีร่วมกับแฟนสาวของ S ที่เขาเองก็ชอบพอกันอยู่แล้ว และมีการใส่รายละเอียดบางส่วนที่เชื่อว่าคนทั่วไปไม่น่าทราบ แต่สุดท้ายก็ถูกมองว่าเป็นเพียงการแต่งนิยายเอาสนุกเฉยๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็หาซื้อนิยายเรื่องนี้ได้ทั่วไป
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ คนร้ายคดีนี้หนีรอดไปได้ ก็เพราะการทำงานของตำรวจเองด้วย เช่นภาพสเก็ตช์คนร้ายที่แจกจ่ายออกไปมากมาย สุดท้ายพยานก็ยอมรับว่าไม่ได้เห็นหน้าชัดมากนัก รวมไปถึงการโอนฝ่ายที่รับผิดชอบคดีจากแผนกที่ 3 ที่ปกติรับผิดชอบคดีแบบนี้ แต่เพราะเป็นคดีดัง จึงถูกโอนงานมาที่แผนกที่ 1 ที่รับผิดชอบคดีฆาตกรรม แต่ก็ขาดความรู้ในแง่จิตวิทยาของอาชญากรที่ก่อคดีปล้นจี้ และการสืบสวนสอบสวนก็ดำเนินไปอย่างหนักมากจนมีตำรวจตัดสินใจฆ่าตัวตาย
เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ก็มีนักเขียนที่วิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วคดีนี้ไม่ได้เป็นอาชญากรรมสมบูรณ์แบบอะไร แต่เป็นเพราะโชคเสียมากกว่า แม้จะมีการเตรียมพร้อมอย่างดีหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็มีความเสี่ยงอย่างมาก ตั้งแต่การขี่มอเตอร์ไซค์ไปปาดหน้ารถของธนาคารให้หยุด ซึ่งถ้าโดนชนเข้าไป คดีก็คงจบแต่แรกไปแล้ว และนอกจากนี้ก็ยังมีผู้เห็นเหตุการณ์อีกจำนวนไม่น้อย ทำให้ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจปล้นเพราะการขู่เอาเงินก่อนหน้านั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันอดีตตำรวจก็มองว่า แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็วางแผนละเอียดเป็นอย่างดี และต้องรู้ข้อมูลวงในของตำรวจอีกด้วย
ไม่ว่าอย่างไร คดีปล้น 300 ล้านเยน ก็ยังคงเป็นคดีที่เป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ และไม่มีใครประกาศตัวว่าเป็นคนทำ แม้จะหมดอายุความไปแล้ว ทำให้มันน่าสนใจอยู่เสมอ และเป็นคดียอดนิยมของสื่อบันเทิง และมักจะเป็นจะถูกกล่าวถึงในฐานะจุดอ้างอิงของอาชญากรรมสมบูรณ์แบบ และเชื่อได้ว่า มันคงจะเป็นคดีที่อยู่คู่สังคมญี่ปุ่นอีกนานเท่านาน จนกว่าจะมีการไขปริศนานี้ได้นั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://unseenjapan.com/300-million-yen-heist-japan/
https://en.wikipedia.org/wiki/300_million_yen_robbery
https://gendai.ismedia.jp/articles/-/50531