พวกเขามักพูดว่า ‘เกณฑ์ทหาร’ คือหน้าที่ของลูกผู้ชายไทย แต่เขาไม่ได้นิยามเพิ่มเติมไปว่า การเป็นทหารพร้อมๆ กับมีสุขภาพจิตที่ดีควรเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะเมื่อพวกเราเผชิญกับปัญหาการกลั่นแกล้งในค่ายฝึกที่กว่าสังคมจะรับรู้ก็มีใครสักคนถูกพรากชีวิตไปแล้ว โดยยังไม่ต้องเข้าร่วมสงครามใดๆเลย
หากแต่เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในใจของคนในเครื่องแบบบางรายที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
กรณี พลทหาร ยุทธภินันท์ บุญเนียม สังกัดมณฑลทหารบก 45 (มทบ.45) ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังเนื่องจากทำผิดวินัย ร่างกายเต็มไปด้วยความบอบช้ำที่เกินศักยภาพมนุษย์จะรับไหว สร้างกลิ่นไม่ค่อยโสภาต่อแวดวงรั้วของชาติ
แม้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกจะออกมายอมรับและเอาผิดวินัยผู้เกี่ยวข้องโดยจะเอาผิดนายทหารที่อยู่ในวงจร “ผมต้องขอโทษสังคมอีกครั้งที่เกิดกรณีดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าติดนิสัยมาตั้งแต่ในสมัยอดีตในเรื่องของการฝึก เนื่องจากการฝึกพลทหารเพื่อไปทำหน้าที่ดูแลในพื้นที่ชายแดน จึงเข้มงวดกวดขัน และมีการฝึกการจัดระเบียบวินัยที่หนักและลงโทษค่อนข้างรุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในเวลาปัจจุบันค่อยๆ คลายตัวลงไปแล้ว และมีกรอบการฝึกที่เหมาะสม แต่ก็ยังมีจุดมืดจุดดำอยู่”
น่าสนใจที่คำกล่าวของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่ระบุว่า ‘จุดดำ’ และ ‘ติดนิสัยมาตั้งแต่อดีต’ ล้วนมีจุดเชื่อมโยงภายใต้ประวัติศาสตร์การกลั่นแกล้งในกองทัพมาช้านาน อิทธิพลของความรุนแรงคืบคลานและกัดกินความเป็นมนุษย์ของพวกเราอย่างไร ทำไมเราไม่ควรยอมรับมัน เมื่อท้ายสุดครอบครัวของทหารจะเป็นผู้รับผลกระทบทั้งหมด
จุดดำ
‘การกลั่นแกล้ง (Bullying)’ อย่างหนักหน่วงในหมู่ทหารด้วยกันเป็นประเด็นดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ นักรบจากอาณาจักรโรมันขึ้นชื่อว่ามีมาตรการที่เข้มงวดต่อทหารชั้นผู้น้อย (และค่อนไปทางทารุณ) เมื่อทหารในหน่วยไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามคำสั่งหรือมีขวัญกำลังใจลดลง ทหารโรมันชั้นสูงจะสั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยจับเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน แต่ละคนจะจับฟางกันคนละเส้น คนที่อับโชคที่สุดจะได้ฟางเส้นที่สั้นในมือ มันคือสัญญาณว่าความซวยกำลังจะอุบัติแล้ว
ทหารที่ได้ฟางเส้นสั้นจะถูกลงโทษทางร่างกาย โดยการทุบตีอย่างรุนแรงจากเพื่อนทหารด้วยกัน ซึ่งมักลงเอยด้วยการซ้อมที่ทารุณจนร่างกายบอบช้ำ โดยธรรมเนียมทหารมักโยนบทลงโทษไปที่ทหารเพียงคนเดียวที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม สร้าง ‘แรงกดดันจากเพื่อน (Peer Pressure)’ บีบให้พวกเขาต้องยอมเสียสละคนใดคนหนึ่งในหน่วย แลกกับการไม่ต้องถูกลงโทษแบบยกเข่ง โดยเชื่อว่าการเสียสละจะมอบระเบียบวินัยและขวัญกำลังใจที่ทหารจะถ่ายโอนความเคียดแค้นไปสู่ศัตรู
แต่ความโหดร้ายของประเพณีหยิบเส้นฟางดันสร้างชื่อให้กับกองทัพโรมันอย่างขจรขจาย ข้าศึกที่รบรากับอาณาจักรโรมันต่างหวาดกลัวถึงวัฒนธรรมอันวิปริตของเหล่าทหารที่ไม่มีท่าทีเกรงกลัวแม้เผชิญความตาย (ที่จริงก็คงกลัวล่ะ แต่แสดงออกมาไม่ได้)
ส่วนใหญ่กิจกรรม ‘ฟางมรณะ’ มักนิยมลงโทษเพื่อสร้างระเบียบวินัยให้เข้มงวดขึ้นในหน่วยที่ตั้งค่ายบริเวณตะเข็บชายแดน เพื่อรักษาอาณาเขตและสร้างความหวาดกลัวให้กับข้าศึก โดยทหารที่อยู่ชายแดนมักเป็นตัวอย่างของการเสียสละและสัญลักษณ์ของความอดทนอดกลั้นเหนือมนุษย์ กิจกรรมนี้ยังทรงอิทธิพลอยู่อีกหลายศตวรรษเพื่อควบคุมอำนาจในกองทัพ แยกฝ่ายบังคับบัญชาออกจากฝ่ายผู้น้อย เพื่อให้พวกเขาอยู่ใต้อำนาจไม่กล้ากระด้างกระเดื่อง
โลกที่เปลี่ยนไป ความรุนแรงจึงถูกตั้งคำถาม
เมื่อเข้าสู่ยุคโมเดิร์น สงครามสเกลใหญ่ๆ ลดบทบาทลง หลายๆ ชาติใช้การเกณฑ์ทหารตามความสมัครใจนับตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมา การลงโทษและกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงจึงลดประสิทธิภาพในการข่มขวัญข้าศึกลง มันไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนในครั้งโบราณกาลแล้ว แถมยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจทหารในกองทัพเสียเอง มนุษย์ไม่ได้แสวงหาความกระหายเลือดหรือไร้ความปราณี กองทัพเองก็ต้องมีสภาพเป็น ‘สถาบัน’ ที่ต้องทำงานร่วมกับองคาพยพอื่นๆ และจำเป็นต้องมีรูปลักษณ์ที่น่าเชื้อเชิญต่อพลเมืองด้วยเช่นกัน
ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดในศตวรรษที่ 20 กดดันให้กองทัพของแต่ละประเทศเริ่มคิดเรื่อง Marketing และภาพลักษณ์ เพราะคงไม่มีใครอยากจะเข้าร่วมกับกองทัพที่พร้อมจะกระทืบคุณเมื่อไหร่ก็ได้ กองทัพที่ด่าทอคุณราวไม่ใช่มนุษย์ กองทัพที่พรากลูกชายไปจากครอบครัวและเขาไม่มีวันกลับมาอย่างสมบูรณ์โดยที่ไม่ต้องรอให้สงครามมาเยือน
กองทัพหลายๆ ชาติเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็น ‘การกลั่นแกล้งและความรุนแรงในกองทัพ (Bullying & Violence)’ ซึ่งก็เพิ่งเริ่มมา 30 กว่าปีนี้เอง มันจึงน่าตกใจที่สังคมมนุษย์ยังคงปล่อยปัญหานี้ให้ดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน ละเลยสัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะจิตวิทยามนุษย์ ทหารมิใช่เพียงเครื่องจักรสงคราม แต่ยังคงเป็นมนุษย์อยู่ตลอดเวลาแม้สถานการณ์จะคับขันเพียงไรก็ตาม
แต่โลกเองมักนิยามทหารเป็นสัญญะแห่งความแข็งแกร่ง มีจิตใจหนักแน่นดุจโลหะธาตุ ดังนั้น ทหารที่ดีจะต้องสามารถรับความกดดันที่เกิดขึ้นจากระเบียบวินัยของกองทัพได้ เพราะในสงครามไม่มีพื้นที่สำหรับความอ่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นความเชื่อในกองทัพจะถูกถ่ายทอดในกลุ่มย่อย (Collective) ในแต่ละหน่วย รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยสร้างวัฒนธรรมร่วมอันเป็นที่รู้กันเฉพาะ ซึ่งมีบทลงโทษแตกต่างกันออกไป
กระนั้นเลย กองทัพเองก็ไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากการปรับตัวหากขาดองค์ความรู้และการศึกษาจากนอกรั้วค่าย
กระบวนทัศน์ด้านจิตวิทยาเข้ามาเติมเต็มความวิตกกังวลในระบบทหารที่ไม่สามารถซื้อใจคนรุ่นใหม่ๆ ได้ จึงสร้างมโนทัศน์ใหม่ เรื่อง ‘ความเชื่อใจ (Trust)’ เพื่อมาเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรทหาร เป็นเครื่องยืนยันในความปลอดภัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าความสามารถในการรบพุ่งเลย
ความเชื่อใจจึงเป็นกลยุทธ์หลักที่กองทัพอเมริกันใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่สาธารณชน โดยจะไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งหรือการลงโทษที่ทำร้ายจิตใจและร่างกายอย่างรุนแรง
แต่มันจะหายไปเลยหรือ?
ความรุนแรงและการกลั่นแกล้งไม่ได้หายไปไหน มันเปลี่ยนรูปแบบเป็นพิธีกรรมภายในสังกัดย่อยที่ตรวจสอบยาก เป็นพิธีรับน้อง (ที่เพิ่มมากกว่าการรับน้องตามประเพณีทางการ) เพื่อทดสอบสภาพจิตใจของเด็กใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ความรุนแรงในมิตินี้มักเป็นที่ยอมรับมากกว่า ด้วยจุดประสงค์ในการคัดกรองคนอ่อนแอออกจากหน่วย เหมือนการคัดเมล็ดพืชที่ไม่น่าจะปลูกขึ้น
พวกเขาอาจทำให้ระบบส่วนรวมบกพร่องในหน้าที่โดยเฉพาะสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานกลางสนามรบและทำให้วินัยหย่อนยาน ทหารมักถูกลงโทษอย่างหนักหน่วงและเกินเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลที่ทหารต้องเผชิญความเครียดสูง ถูกกดดันจากภัยรอบข้าง ห่างไกลการสนับสนุนทางด้านปัจจัยจากส่วนกลาง และไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคอยตรวจตราดูความเรียบร้อย
ปัญหาคือแต่ละหน่วยมองมิติการใช้ความรุนแรงอย่างไร และพวกเขาจัดการกับผลกระทบที่ตามมาในรูปแบบไหน ซึ่งมักไม่มีใครกล้าจะออกมายอมรับเพราะการกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงเป็นพิษที่ซ้อนเร้นในกองทัพโดยที่กองทัพเองก็ไม่ค่อยสบายใจนักที่จะพูดถึง เรื่องแดงเป็นพักๆ แต่แล้วก็ไม่ได้แก้ไขจุดดำด่าง
ในกองทัพสหรัฐที่ขึ้นชื่อว่ามีสวัสดิการทหารอย่างดีเลิศและจำเป็นต้องใช้ภาพลักษณ์ที่ดีในการรับสมัครทหารจากฝั่งประชาชนก็ยังมีปัญหาการกลั่นแกล้งฝังรากลึกที่แก้ไม่ตก โดยเหยื่อของความการกลั่นแกล้งในกองทัพมักเป็น ‘ผู้หญิง’ จนสภาคองเกรสในสหรัฐออกกฎหมายในปี 1973 ถึงการป้องกันการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในกองทัพ
แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจนแล้วก็ตาม เหยื่อส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะ กลัวถูกตกเป็นเป้าที่ชัดเจนในการกลั่นแกล้งอีก ถูกมองเป็น ‘ปลาเน่า’ ที่สร้างชื่อเสียๆให้กับหน่วย ทำให้ต้องเผชิญทางเลือกเพียง 2 ทาง คือถ้าไม่ ‘ทนให้ได้’ ก็ ‘ออกไปซะ’ เหยื่อของการกลั่นแกล้งมักถูกให้เชิญออก (หรือถูกอำนาจกดดัน) ให้พ้นตำแหน่งราชการโดยไม่ได้รับการชดเชยใดๆ เลย
เหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งในรั้วกองทัพจึงรู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น หาที่พึ่งไม่ได้ และหมดขวัญกำลังใจไปในที่สุด ปัญหาจึงไม่ได้ถูกรายงานไปยังส่วนกลาง ทำให้กองทัพรับรู้เพียงว่าในแต่ละปีมีกรณีการกลั่นแกล้งขั้นรุนแรงเพียง 1 – 2 ครั้ง เท่านั้น (ซึ่งเหยื่อล้วนตายแล้วทั้งนั้น) แต่ยังมีภูเขาไฟที่พร้อมปะทุจำนวนมาก ด้วยประเพณีแห่งความรุนแรงที่ทำให้หลายคนอยากจะเอาคืนด้วยการส่งต่อไปยังทหารผลัดต่อไป เพราะทุกคนมองว่ามันชอบธรรมมากที่สุด ความรุนแรงคู่กับความแข็งแกร่งฉันใด หากอยากมีอาชีพทหารก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ฉันนั้น
ผู้ที่กลั่นแกล้งคนอื่นโดยตั้งตัวเป็นหัวโจกมักมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งมาก่อนในอดีต โดยที่มักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนกลั่นแกล้งอยู่ เพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นขนบธรรมเนียมหรือวิธีปฏิบัติ หรืออาจเติบโตมาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการปกครอง เมื่อคนเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎระเบียบของกองทัพจึงใช้ความชอบธรรมดังกล่าวเพิ่มพื้นที่การแสดงออกทางความรุนแรงต่อผู้อื่น และหนำซ้ำเลยเถิดไปใช้ความรุนแรงกับครอบครัวของตัวเองอีกด้วย
เหยื่อความรุนแรงจึงต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่สามารถเรียกร้องศักดิ์ศรีของตัวเองได้ จนกระทั่งตัวเองไร้ลมหายใจไปแล้ว ร่างอันบอบช้ำถึงเป็นหลักที่มั่นสุดท้ายที่จะสื่อสารถึงความอยุติธรรมที่โลกไม่ได้รับรู้
พวกเราอยู่ในสังคมที่มองเห็นปัญหาอย่างเป็นองค์รวม วัฒนธรรมของกองทัพก็เช่นกันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
เรามักไม่ยืนข้างความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งทั้งปวง เพราะมนุษย์เองเชื่อว่า แม้นักรบที่กล้าหาญก็ต้องมีหัวใจที่อ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมิใช่หรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Zero tolerance in Army for bullying, hazing
Bullying and hazing among Norwegian army soldiers