เรามักถูกสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คอยช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก รับฟังสิ่งที่พวกเขาระบายอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เผลอๆ คุณเองกลายเป็น ‘ที่ปรึกษาจำเป็น’ ที่ใครมีปัญหาก็แวะเวียนมาขอระบายสักเรื่องสองเรื่อง
แต่การเผชิญหน้ากับปัญหาและต้องหาทางออกทุกๆ วัน ความเห็นอกเห็นใจเองก็มีวันหมด Compassion Fatigue คือ ภาวะเหนื่อยหน่ายต่อการเห็นใจผู้อื่น เพราะเอาเข้าจริงการมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้ใครๆ ก็มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายอยู่เหมือนกัน
พวกเขาอาจจะมองว่าคุณว่ามีทักษะ ‘ผู้ประสานสิบทิศ’ ที่คอยทำให้ทุกอย่างราบรื่นแม้จะวิ่งบนทางลูกรังหรือเป็น ‘พี่อ้อยพี่ฉอด’ ในยามที่เพื่อนๆ มีปัญหาความรัก การเป็นผู้รับฟังปัญหาของคนอื่นๆ และพยายามมีส่วนร่วมกับความรู้สึกเหล่านั้น จนนำไปสู่การแก้ปัญหาในมุมที่แม้แต่เพื่อนก็นึกไม่ออก มักทำให้คุณต้องรับรู้ ‘ปัญหา’ ของคนอื่นๆ มากเสียหน่อย บางครั้งประสบการณ์เลวร้ายของคุณเองก็ถูก ‘เปิดบาดแผล’ จากการรับฟังปัญหาของคนอื่นเช่นกัน
คำถามคือ เมื่อคนที่คอยแก้ปัญหา ดันเจอปัญหาเสียเอง พวกเขาจะหันไปปรึกษาใครได้ ยิ่งอาชีพที่ต้องรับฟังปัญหาอยู่เป็นนิจ อย่าง นักบำบัด จิตแพทย์ ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องท้าทายกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมองในมิติของความเห็นอกเห็นใจเอง มันมีวันเสื่อมคลายหรือไม่ และหากวันหนึ่งเราเหนื่อยเกินกว่าจะเห็นใจ
The Myth of Sisyphus
นักคิดคนสำคัญแห่งยุค อัลแบร์ กามูร์ (Albert Camus) เขียนบทความหนึ่งในชื่อ The Myth of Sisyphus (1942) ว่าด้วยตำนานของ ‘ซิซิฟัส’ (Sisyphus) ราชาผู้ปราดเปรื่องถูกเทพเจ้าลงโทษให้กลิ้งหินก้อนยักษ์ขึ้นไปบนยอดเขาอันสูงลิบ ราชาต้องกลิ้งหินด้วยความลำเข็ญไร้เครื่องทุ่นแรง มีเพียงพละกำลังเท่านั้นที่จะขยับหินได้ แต่เมื่อก้อนหินไปอยู่บนสุด ณ ยอดเขา ซิซิฟัสมีเวลาชื่นชมความสำเร็จตัวเองได้เพียงชั่วครู่เดียว หินเจ้ากรรมก็กลิ้งไหลไปอยู่ที่ตีนเขาใหม่ จนต้องเริ่มวิบากกรรมเช่นนี้อีกครั้ง ไม่มีวันจบสิ้น
บ้างก็ตีความว่า ความพยายามที่ซิซิฟัสทำช่างสูญเปล่า หรือแท้จริงแล้ว ซิซิฟัสมีความสุขที่จะกลิ้งหินต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีเวลาชื่นชมความสำเร็จตัวเองเพียงน้อยนิดก็ตาม
ตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษา’ โดยเนื้อหาก็ไม่ต่างจากชะตากรรมของซิซิฟัส พวกเราดิ้นรนให้คำปรึกษากับคนหน้าเดิมๆ ที่ดูเหมือนพวกเขาจะเจอทางสว่างสู่ยอดเขาในอีกไม่กี่อึดใจ แต่แล้วก็ไปทำอีท่าไหน กลับมาด้วยปัญหาเดิมๆ อีก โดยเฉพาะปัญหาหัวใจแทบไม่ต้องพูดถึง ปากก็บอกว่าจะเลิกแล้วเด็ดขาด (ผู้ให้คำปรึกษาเองก็ออกตัวแรงแซงโค้ง) พริบตาเดียวเพื่อนเจ้ากรรมกลับไปคืนดี ส่วนไอ้เรานี้ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ก็ดันกลายเป็นคนที่ทำให้ความสัมพันธ์เขาต้องร้าวฉานเสียอย่างนั้น อยากออกปากว่า “เหนื่อยแล้ว” เพื่อบอกปัด แต่ก็ดันเห็นใจในความเป็นมนุษย์ด้วยอีก
แต่สำหรับอาชีพจิตแพทย์หรือนักบำบัด พวกเขาไม่สามารถบอกปัดผู้ป่วยได้จากจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับผู้ป่วยจากพฤติกรรมเสพติด (Addiction) เช่น ติดเหล้า ติดสารเสพติด ติดการอดอาหาร ฯลฯ ที่มักมีรูปแบบพฤติกรรมเสพติดซ้ำๆ ด้วยปัญหาเดิมๆ จนความปรารถนาที่จะแก้ปัญหากลับค่อยๆ ลดทอนลง จนเป็นภาวะที่เรียกว่า Compassion fatigue ที่อาจสั่นคลอนประสิทธิภาพการทำงานและอาจทำให้การวินิจฉัยทางคลินิกผิดพลาด แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมีธรรมชาติของนักแก้ปัญหาที่ดี แต่เมื่อต้องรับรู้ปัญหาของผู้คนเป็นพันๆ ราย ต้องมีบ้างที่บางครั้งเรื่องราวของใครคนใดอาจกระทบความรู้สึกหรือ ‘บาดแผล’ ของตนเป็นพิเศษ ผู้ป่วยอาจเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายได้อย่างแจ่มแจ้งเสียจนผู้รับฟังเกิดความขัดแย้งในจิตใจ ไม่อาจสะบัดให้หลุดไปจากหัวได้ จนทำให้ความมีเหตุมีผลถูกบดบังด้วยอคติ และความอ่อนล้าจากความเห็นอกเห็นใจย้อนมาทำร้ายตน
Compassion fatigue อาการของความเหนื่อยอ่อนจากความเห็นใจ
ความเหนื่อยอ่อนจากความเห็นใจหนักหนากว่าภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการทำงานหนัก ที่หากคุณให้เวลาตัวเองสักหน่อยความหมดไฟก็ค่อยๆ ทุเลาลงได้ เพราะตัวมันเองมีความซับซ้อนเชื่อมโยงกับการตัดสินใจด้านคุณธรรมด้วย
นักจิตวิทยา (Pines and Maslach 1978) พบปรากฏการณ์นี้เด่นชัดในกลุ่มอาชีพคนทำงานเพื่อสังคม นักสังคมสงเคราะห์ (Social workers) ที่มักทำงานใกล้ชิดกับปัญหาร้อยแปดของผู้คน ภาวะเหนื่อยอ่อนที่จะเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมักส่งผลกระทบต่ออาชีพ และขัดแย้งกับความปรารถนาที่จะช่วยคนอื่น
คนเหล่านี้ล้วนเป็นแนวหน้ากระโจนสู่ปัญหาที่บางครั้งตัวปัญหาเองยังไม่ตกตะกอนในระดับหนึ่ง แต่มีส่วนร่วมทางอารมณ์พัวพันไปกับผู้คนบ่อยๆ จนกลายเป็นบูมเมอแรงที่กลับมาทำร้ายความรู้สึกตัวเอง
เหมือนว่า ณ จุดหนึ่ง (คล้ายกรณีของซิซิฟัส) ที่เราหวนนึกถึงว่าความพยายามของเรานั้นสูญเปล่า ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ใครได้อย่างยั่งยืน ดั่งเช่นการที่รู้ว่าก้อนหินมันจะกลิ้งกลับลงไปที่ตีนเขาเช่นเดิม และเราเองก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะว่าต้องลงไปเข็นมันขึ้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้ให้คำปรึกษาที่เจนศึกมักรู้จักการปล่อยวางจากเรื่องเมื่อวาน ลุยแก้ปัญหาต่อในวันถัดไป และยอมรับตัวเองว่าเหนื่อยล้าเกินไป
อย่างไรก็ตามอาการ Compassion fatigue มีรูปแบบที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน
- รับฟังปัญหาซ้ำๆ ผ่านการถ่ายทอดด้วย ‘อารมณ์’ จากคนใดคนหนึ่งเป็นเวลานาน
- บางปัญหาสามารถไปกระตุ้นความทรงจำเจ็บปวด (trauma memories) ของผู้ให้คำปรึกษาเอง
- ผู้ให้คำปรึกษารู้สึกอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ฉุนเฉียว หรือแสดงออกในเชิงประชดประชัน โดยที่ไม่รู้ตัว
- หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าของปัญหา ทั้งที่ไม่ได้ผลกระทบโดยตรง
- อารมณ์ถูกกระตุ้นง่ายจากเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย
- มีทัศนคติเชิงลบต่อตัวเองและคนรอบข้าง
- เมินเชยและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา
พลวัตรเหล่านี้มักตามมา หากผู้ให้คำปรึกษาเองไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะ Compassion fatigue การจัดการที่ดีที่สุดคือยอมรับว่า มนุษย์ทุกคนแม้ว่าจะมีจิตใจเข้มแข็งขนาดไหนก็ตาม ล้วนมีความเปราะบางทางอารมณ์หากต้องจัดการกับปัญหาซ้ำซากทุกวัน และแบกรับความคาดหวัง ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง
ความท้าทายเหล่านี้จะยิ่งเกิดขึ้นชัดเจนในสถานพยาบาลหรือสถาบันบำบัด ที่มักถูกคาดหวังสูงจากผู้ใช้บริการ คาดว่าทุกปัญหาของพวกเขาจะถูกแก้อย่างทันที ภาวะความเครียดและเหนื่อยล้าจึงตกไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ประจำสถานบริการนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพวกเขาแสดงออกเชิงลบออกมา อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเป็นมืออาชีพเลยเช่นกัน
ฮิปโปเครติส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีกโบราณ ผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก จึงมักเตือนแพทย์เสมอในทุกยุคทุกสมัยว่า “Heal thyself” (จงรักษาตัวท่านเอง ก่อนรักษาผู้อื่น) แม้ผู้ให้คำปรึกษาจะมีสถานะของวีรบุรุษวีรสตรี แต่ความอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จึงควรเป็นพร มิใช่คำสาป ดังนั้นเมื่อความเมตตาอยู่ในความเหนื่อยล้า การยอมรับว่าตนเองสามารถมีปัญหาได้เช่นกันจึงเป็นกระบวนที่ประนีประนอมต่อตนเอง
แม้ซิซิฟัสจะต้องกลิ้งหินอยู่ทุกวันทุกคืน แต่เขาเองก็เป็นคนที่พิสมัยความงามของการมีชีวิต ผู้ที่มักให้คำปรึกษาแก่คนอื่นล้วนเชื่อว่า ปัญหามีล้วนทางออกเสมอ พวกเขามักทุ่มเทความสามารถเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น (แม้ชีวิตของพวกเขาเองจะลุ่มๆ ดอนๆ บ้างก็ตาม) สายตาที่มองเห็นความงามของความเห็นอกเห็นใจจึงเป็นสิ่งที่สังคมเองต้องการ
แม้คุณจะมีปัญหาเต็มอก แต่การเตือนตัวเองว่า คนที่รับฟังเราอาจมีปัญหาที่ต้องเผชิญเช่นกัน อาจทำให้คุณต้องเรียบเรียงปัญหาออกมาอย่างถี่ถ้วนเสียหน่อยก่อนโยนไปให้คนอื่นแก้
ทุกคนล้วนมีสงครามที่กำลังต่อสู้ในหัวเสมอ จงเป็นกำลังเสริมให้เขาเถิด มิใช่ศัตรูที่แปรพักตร์บนสนามรบ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Camus, A. (1942). The myth of Sisyphus. Retrieved from dbanach.com/sisyphus.htm
Figley, C. R. (1995). Compassion fatigue as secondary traumatic stress disorder: An overview. In C. R. Figley,(Ed.), Compassion fatigue: Coping with secondary traumatic stress disorder in those who treat the traumatized (pp. 1–20). New York, NY: Routledge
Figley, C. R. (2002a). Compassion fatigue: Psychotherapists’ chronic lack of self-care. Journal of
Clinical Psychology, 58(11), 1433–41.