เช้าวันนี้ยังคงเป็นเช้าเดิมๆ ที่ตื่นมากดปิดนาฬิกาปลุกตามปกติ แม้ไม่ต้องเหลือบดูเวลา ก็รู้ว่าอีก 1 ชั่วโมงจะต้องย้ายร่างออกจากบ้านไปนั่งอยู่ในออฟฟิศ
แม้จะเป็นเช้าเดิมๆ แต่รู้สึกได้ว่ามีบางอย่างที่แปลกไป อาจจะแปลกมาสักพักใหญ่ๆ เพียงแค่ไม่ทันได้สังเกต
นั่นก็คือ ‘ใจ’ ของเราที่ไม่ได้รู้สึกว่าอยากไปทำงานแล้ว
เมื่อเราตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำงานไปทำไม
ยังไม่ทันก้าวเท้าเข้าออฟฟิศ จิตก็วาร์ปไปช่วงหลังเลิกงานแล้ว รู้สึกเนือยๆ เฉื่อยๆ คล้าย AI ที่ถูกป้อนระบบปฏิบัติการให้ทำงานไปวันๆ ไฟแห่งความมุ่งมั่นที่ลุกโชนในวันแรก ถูกสาดจวนจะมอดด้วยคำถามที่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบ—แม้แต่ตัวเราเอง “นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่กันแน่?”
ทุกวินาทีที่นั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม รู้สึกอยากจะชัตดาวน์คอมพิวเตอร์ แล้วเก็บกระเป๋ากลับบ้านมันเสียตอนนี้ แต่ติดที่ว่ากลัวโดนไล่ออก ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลให้เกิดพิษเศรษฐกิจ การเกาะงานที่มีอยู่เอาไว้แน่นๆ เห็นจะเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด
แต่นับวันยิ่งเกาะแน่นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำสิ่งนั้นหล่นหายไป
สิ่งที่เรียกว่า ‘ความหมายในการทำงาน’
ความหมายที่รวมถึงเป้าหมายในอนาคต ความสำคัญของสิ่งตรงหน้า และคุณค่าของตัวเราเอง เชื่อว่าหลายคนมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของการทำงาน จะเรียกว่าเป็นหนึ่งในอาการที่นำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ก็ว่าได้ แม้ไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนสมดุลชีวิตเปลี่ยน แต่การนั่งว่างๆ เปื่อยๆ แบบคนรู้สึก ‘ขาดแรงจูงใจ’ ในการทำงาน หรือเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำอยู่บ่อยๆ ก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่หมดไฟ ไร้เชื้อเพลิงที่จะเดินเครื่องต่อได้เหมือนกัน
อาการหมดไฟที่ว่านี้มีสาเหตุมาจาก ‘ความพึงพอใจในการทำงาน’ (Job Satisfaction) ที่ลดลง นักจิตวิทยาชาวอเมริกา เฟรเดริก เฮอร์ซเบิร์ก (Frederick Herzberg) เคยเสนอเรื่องทฤษฎีสองปัจจัย (Two Fact Theory) เอาไว้ว่า การที่บุคคลจะเจตคติที่ดีต่องาน มีความพึงพอใจในงาน หรืออยากที่จะผลิตผลงานดีๆ ออกมามากขึ้น จำเป็นจะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 อย่าง ได้แก่
- ปัจจัยจูงใจ (Motivation) หรือปัจจัยภายในที่เป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลมีความสุขกับงาน หรืออยากใช้แรงกายแรงใจทุ่มเทให้กับงาน เช่น ความสำเร็จในการทำงาน ความรับผิดชอบ โอกาสก้าวหน้า งานที่ทำมีคุณค่าและน่าสนใจ หรือการได้รับการยกย่อง
- ปัจจัยค้ำจุน (Hygiene) หรือปัจจัยภายนอกที่มาช่วยขจัดไม่ให้เกิดความไม่พึงพอใจในการทำงาน เช่น สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ ความปลอดภัย เงินเดือน นโยบาย หรือความสัมพันธ์กับคนในองค์กร
เมื่อปัจจัยเหล่านี้ลดลงหรือหายไป ไม่ใช่แค่ปัจจัยจูงใจ แต่ปัจจัยค้ำจุนก็มีความสำคัญ มันจึงส่งผลต่อความสุขในการทำงาน และทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับอะไรหลายๆ อย่าง จนวันหนึ่งเราไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงเหมือนกับว่าเรากำลังคลำหาความหมายที่หล่นหายไปท่ามกลางความมืดมิดคนเดียว
ต้นเหตุของคำถามที่เรามองข้ามไป
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมักมีเหตุผลของมันเสมอ เช่นเดียวกับความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า และความเบื่อหน่ายที่เรากำลังเผชิญ แต่บางครั้งสาเหตุของความรู้สึกเหล่านี้มันอาจจะเล็กน้อยจนเรามองข้ามไป และไม่ได้นำมาแก้ไขให้ทันเวลา
เราเรียกมันว่า micro-stress ความเครียดยิบย่อยที่เจอในที่ทำงาน หรือปัจจัยค้ำจุนบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เอาเปรียบ เจ้านายที่เสพติดความเพอร์เฟ็กต์ ออฟฟิศที่คับแคบจนคิดงานไม่ออก อาหารที่แคนทีนไม่ถูกปาก มีวันลาแต่ก็ต้องหอบงานไปทำ เก้าอี้นั่งไม่สบาย กลับบ้านแล้วแต่ยังต้องคุยงาน สารพัดสิ่งที่เราพยายามจะไม่นำมาคิดให้ปวดหัว แต่เมื่อประกอบกันแล้ว มันคือก้อนความไม่สบายใจขนาดใหญ่ที่ไม่อาจละสายตาไปได้เลย
ซึ่งเราอาจจะต้องสาเหตุเหล่านี้ทีละข้อ ดูว่าข้อไหนที่แลจะรบกวนความพึงพอใจในการทำงานที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นมากที่สุด มีข้อไหนบ้างที่เราพอจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง และมีข้อไหนที่ควรจะคุยกับทางบริษัทหรือแผนกบุคคลเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดเจตคติที่ไม่ดีในการเข้าออฟฟิศลง
ทำความเข้าใจกับความหมายที่แท้จริง
จริงๆ แล้วทุกงานมีจุดมุ่งหมายในตัวเอง และนำไปสู่การสะท้อนคุณค่าบางอย่างในตัวบุคคลที่ทำ ซึ่งการรับรู้ถึงจุดมุ่งหมายนั้นจะส่งผลให้เรารู้สึกดีกับงานตรงหน้ามากขึ้น โดยลองลิสต์ดูว่า งานที่เราได้รับมอบหมายให้ทำมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ให้เหตุผลว่างานนี้นำไปสู่ประโยชน์อะไรแก่บริษัท ทำไมเราถึงได้รับมอบหมายงานนี้ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านไหน แล้วทำไมถึงมีแต่เราที่ทำได้ คำตอบเหล่านี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจในการทำงานให้แก่ตัวบุคคลได้ดี
หรือบางครั้งเราอาจลืมไปว่างานที่กำลังทำอยู่ตอบโจทย์อะไรบางอย่างในชีวิต ลองถามตัวเองให้ดีว่าตอนนี้เราแคร์อะไรมากที่สุด เงิน ครอบครัว เพื่อน ชื่อเสียง หรือสมดุลของชีวิต แล้วงานที่ทำมอบสิ่งเหล่านี้ให้เราได้หรือไม่ ยังไงบ้าง นั่นอาจจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของงานที่ทำชัดมากขึ้น
แต่ถ้างานที่กำลังหยิบจับอยู่มีความไม่คล่องมือ จนจับทิศจับทางไม่ถูกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่กันแน่ งั้นเป็นไปได้มั้ยที่เราจะปรับงานนั้นให้เข้ามือตัวเองมากขึ้น นึกสิ่งที่เราชอบทำหรือพอจะทำได้ดี อาจเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากหนังสือที่ชอบอ่าน ภาพยนตร์ที่ชอบดู บทความที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย ผู้คนที่ใช้เวลาด้วยบ่อยๆ หรือความท้าทายบางอย่างที่เรายินดีจะเสียสละเวลาให้
เพราะเมื่อได้ทำในสิ่งที่ถนัดหรือสนใจ
สลับกับงานรูทีนที่น่าเบื่อจำเจบ้าง
ก็น่าจะช่วยเติมเชื้อเพลิงก้นถังที่กำลังจะดับมอดได้ดี
หลายข้อที่เราได้ลิสต์และตั้งคำถามกับตัวเองไป จะเป็นคำตอบว่างานที่ทำอยู่มีความหมายกับเรามากน้อยแค่ไหน และเรายังคงอยู่ในบริษัทนี้ไปเพื่ออะไร แล้วถ้าหากหากมีเวลาพักผ่อน ก็อยากให้ลองลุกไปทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง อาจจะเป็นสิ่งที่สนใจหรืออยากทำมานานแต่ไม่ได้ทำ เพราะบางทีคุณค่าทั้งหมดของชีวิตอาจไม่ได้ยึดติดอยู่กับงานตรงหน้า แต่เป็นการได้ทำกิจกรรมเสริมอื่นๆ หลังเลิกงานมากกว่า และให้งานเป็นเพียงสิ่งที่ตอบโจทย์บางอย่างกับชีวิตก็พอ เช่น สร้างรายได้ สร้างสังคม หรือสร้างชื่อเสียง
แต่ถ้าสุดท้าย ภาพเลือนลางตรงหน้าไม่มีทีท่าจะชัดเจนขึ้นมาเลยสักนิด หรือความกังวลที่มีกลายเป็นเสี้ยนหนามตำติดอยู่ในใจไม่สามารถดึงหลุดออกไปได้ การตัดสินใจ ‘ย้ายงาน’ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำเพื่อตัวเอง
แต่ถึงอย่างนั้น มีหลายครั้งที่เรามักจะกลับมาเสียใจกับผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจภายใต้อารมณ์เชิงลบ อย่างความเครียด ความเบื่อหน่าย และความกดดัน ขอเพียงแค่ออกจากเส้นวงกลมที่ขังเราไว้ในความรู้สึกนี้ก็เพียงพอ แต่พอย้ายหนีไปจริงๆ ทำไมวงกลมเส้นนั้นยังคงตามมาอยู่ดี จึงอยากให้ตั้งสติและนึกถึงเหตุผลของการย้ายให้ดีว่า มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอะไรบ้าง ถ้าย้ายงานไปแล้วจะมีอะไรที่ดีกว่ารออยู่ เช่น เงินเดือนจะสมเหตุสมผลขึ้น เพื่อนร่วมงานจะงี่เง่าน้อยลง ภาระงานจะไม่กินเวลาชีวิตส่วนตัวมากเกินไป หรือจะได้ใช้ทักษะที่เราถนัดจริงๆ
เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นำเราไปเจอสิ่งที่ใกล้เคียงกับ ‘งานที่ทำให้เราอยากตื่นนอนในทุกๆ เช้า’ มากที่สุด
แม้แต่งานที่ดูเพอร์เฟ็กต์ก็ยังมีช่วงเวลาที่นิ่งและน่าเบื่อหน่าย มันจึงอยู่ที่ว่าเราจะสังเกตตัวเองได้ทันเวลา และกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้งหรือเปล่าเท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก