ร่างกายของเรา ยังเป็นของเราอีกไหม? หากคุณไม่ได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของอวัยวะภายใน ตับไตไส้พุงปอดหัวใจ หรือแม้กระทั่งสมอง มีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าร่างกายนั้นกลวงโบ๋ เป็นเพียงถุงหนังยวบยาบที่ห่อหุ้มอะไรสักอย่าง เดินปลิดปลิวเหมือนซากศพ หรือคิดว่าจำแลงกายเป็นวิญญาณล่องลอยแต่เท้ายังติดดิน คนเหล่านี้ถ้าเห็นจากภายนอกก็ดูเหมือนคนที่มีชีวิตเหมือนปกติ แต่เมื่อไถ่ถามว่า “วันนี้คุณรู้สึกอย่างไร” พวกเขาอาจจะตอบมาว่า “ไร้ชีวิตดั่งซากศพ”
ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นศพ อ้างว่าตายแล้วฟื้นคืนชีพได้ วิตกว่าร่างกายภายในกำลังเน่าเปื่อยผุพัง หมกมุ่นอยู่กับความตายและการสูญสลายของชีวิต เป็นลักษณะอาการทางจิตที่ล้วนเป็นปริศนาลี้ลับของแวดวงจิตวิทยา รู้จักกันในชื่อ ‘Cotard’s syndrome’ หรือมีชื่อเล่นที่เก็ตกันง่ายๆ คือ Walking Corpse Syndrome (โรคศพเดินได้) แม้จะมีคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มีจำนวนน้อยมากๆ แต่ยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีแนวโน้ม เพราะลักษณะของ Cotard’s syndrome จะมีอาการทางจิตที่ทับซ้อนกับโรคอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคที่เกี่ยวกับการกินบกพร่อง เป็นต้น
แม้โรคนี้จะถูกค้นพบมาเป็นร้อยปี แต่ในอดีตยังไม่มีใครตอบได้ถึงสาเหตุที่มาอาการหลงผิดดังกล่าว ซึ่งค่อนข้าง Extreme ทีเดียว เวลาฟังก็ขนลุกซู่ เพราะอดไม่ได้ที่จะนึกถึงพลังเหนือธรรมชาติ คำสาป หรือแม้กระทั่งการสิงสถิตของภูตผี แต่เมื่อมาถึงยุคที่ประสาทวิทยากำลังเบ่งบานผ่านเทคโนโลยีสแกนสมองที่ล้ำหน้า อาการ Cotard’s syndrome อาจเผยความลี้ลับของกลไกสมองมนุษย์ให้ชัดเจนจากเงามืดยิ่งขึ้น การรับรู้โลกหลังความตายนั้นอาจอยู่เพียงใต้กะโหลกเท่านั้นเอง
สมองที่หายไปของเกรแฮม
ย้อนไปเมื่อ 9 ปีก่อน มีชายผู้หนึ่งที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น Cotard’s syndrome แต่ปกปิดชื่อไว้เหลือเพียงนามแฝงว่า เกรแฮม เขารักษาตัวจากอุบัติเหตุรุนแรง แต่รอดชีวิตมาได้ภายใต้การรักษาดูแลของแพทย์ ความเร้นลับเกิดขึ้นเมื่อเขาตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าร่างกายนั้นไม่ได้เป็นของเขาอีกต่อไป ไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนระหว่างหลับใหล เขาได้เดินทางไปสู่ความตายแล้วกลับมาอย่างไร้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นเขารู้สึกว่าอยู่ใน ‘ร่างของคนอื่น’ ราวกับสลับร่างกับใครไม่รู้ เกรแฮมเริ่มพร่ำเพ้อถึงโลกหลังความตาย
แพทย์จึงนำเขาไปตรวจสมองด้วยเทคนิคการถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography (PET)) โดยพบว่าอาการหลงผิดอันพิสดารนี้ มีความเชื่อมโยงกับสมองที่ตอบสนองการตระหนักรู้ (consciousness) ผิดปกติ ไม่สามารถระบุตัวเองในปัจจุบันได้ว่าอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ ณ สมองส่วน Temporoparietal junction (TPJ) ซึ่งอยู่ที่กลีบสมองขมับ (Temporal lobe) และสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) มาผสานกัน จะควบคุมการรับรู้ความสัมพันธ์และตำแหน่งของร่างกาย (Body scheme) สมองส่วนนี้จะคอยอัพเดทร่างกายมวลรวมทั้งหมด ว่าเราอยู่ที่ไหนภายในพื้นที่นั้นๆ ให้คุณลองทดสอบการรับรู้เองก็ได้ว่า เวลาอยู่ในห้องมืดสนิทเพียงคนเดียว ก็ยังพอรู้ได้ว่าตัวเราอยู่ ณ ตำแหน่งไหนในห้อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็น และพอประมาณได้ว่าต้องเดินอีกกี่ก้าวเพื่อไปเปิดไฟ
สมองส่วน TPJ จึงไม่เพียงควบคุมการรับรู้ตำแหน่ง แต่ยังควบคุมการรับรู้บุคลิกภาพและรูปลักษณ์ภายนอกของตัวคุณอีกด้วย โดยไปดึงความทรงจำและก่อรูปร่างเป็นตัวคุณแบบที่คุณเคยเห็น หรือในแบบที่คุณต้องการจะเห็นตัวเอง
กลับไปที่เรื่องของชายชื่อเกรแฮมต่อ เขาสารภาพกับแพทย์หลายครั้งว่า เขา “ต้องการเดินทางไปสู่ปรโลก” ท่องไปในมิติแห่งความตาย เพราะจิตวิญญาณเขาติดค้างอยู่ที่นั่น เกรแฮมจึงพยายามฆ่าตัวหลายครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดเขาพยายามช็อตตัวเองในอ่างอาบน้ำโดยการจุ่มไดร์เป่าลงไป แต่กระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอจะถึงชีวิต
8 เดือนต่อมา เกรแฮมพบกับจิตแพทย์ และบอกว่า “ผมไม่มีสมอง” แม้เขาไม่สามารถอธิบายความรู้สึกอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่เขาเชื่อว่า สมองได้สูญสลายไปแล้วตอนที่พยายามช็อตตัวเองในอ่างอาบน้ำ กระแสไฟฟ้าอาจไม่ทำให้เขาตาย แต่ทำให้สมองถูกทำลายและสูญสลายไป จิตแพทย์พยายามจะรักษาเกรแฮมด้วยการบําบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy (CBT)) แต่ก็ไร้ผลเชิงบวก
จิตแพทย์พยายามสื่อสารให้เห็นว่า ที่คุณนั่งได้ พูดได้ เดินไปเดินมาได้ ก็เพราะการมีอยู่ของสมอง แต่เกรแฮมยังไม่ปักใจเชื่อสักที ยังหลงคิดว่าภายใต้กะโหลกมีเพียงช่องว่างเปล่าๆ เท่านั้น จิตแพทย์ท้องถิ่นวิเคราะห์ว่า เกรแฮมมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองตามมาอีก และเคสนี้อาจอยู่นอกเหนือความสามารถ จึงพยายามติดต่อไปยังจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญ 2 ท่าน คือ อดัม เซเมน (Adam Zeman) จากมหาวิทยาลัย University of Exeter ในอังกฤษ และ สตีเวน ลอเรยส์ (Steven Laureys) จาก University Hospital of Liège ในเบลเยียม
ทั้ง 2 ท่านค่อนข้างคุ้นเคยกับผู้ป่วยที่มีอาการ Cotard’s syndrome มาบ้าง แต่เคสของเกรแฮมออกจะพิเศษพิสดารอยู่มาก เพราะเขามักยืนยันว่าร่างกายนั้นตายไปแล้ว ไม่มีสมองประมวลผล ไม่รู้สึกยินดีปรีดากับสรรพสิ่งใดใดที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่รู้สึกหิวอาหาร ไม่รับรู้รสชาติ จึงไม่มีเหตุผลที่จะกินอาหารต่อ น้ำหนักเขาลดลงอย่างรวดเร็วตามลักษณะของคนที่มีโรคการกินบกพร่อง อาการหนักข้อเรื่อยๆ จนถึงกับไม่พูด เก็บตัวเองเงียบ ไม่สื่อสารใดใดกับทีมวิจัย
ยังไม่มีใครทราบว่า Cotard’s syndrome มีขอบเขตการแสดงออกของโรคนี้อยู่ที่จุดไหน เพราะดูเหมือนผู้ป่วยจะมีภาวะทางจิตอื่นๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรับมือที่รวดเร็วอาจจะช่วยยื้อผู้ป่วยได้เร็วที่สุดคือการรักษาแบบเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Depression)
ทีมวิจัยจึงมีการสแกนสมองของเกรแฮมซ้ำด้วยเทคนิค PET เพื่อเน้นดูกิจกรรมเมตาบอลิซึมในสมอง น่าประหลาดใจที่สมองของเขามีการเผาผลาญพลังงานต่ำมากๆ โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (Frontal regions) และ สมองกลีบขมับ (Parietal lobes) ซึ่งสมองส่วนนี้เอง ที่หากมีกิจกรรมที่ต่ำมากจะทำให้มนุษย์มี ‘สภาพเปื่อยเป็นผัก’ (Vegetative State) กรณีเดียวกับผู้ป่วยโคม่า ที่ไม่รู้สึกตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ยังมีลมหายใจ ซึ่งของเกรแฮมยังไม่ถึงกับเป็นสภาพผักนอนติดเตียง เพราะเขายังทำกิจกรรมหลายอย่างและรู้สึกตัว
สมองส่วนที่มีกิจกรรมเมตาบอลิซึมต่ำของเกรแฮมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงข่ายสำคัญที่เรียกว่า ‘Default mode network’ ซึ่งเป็นโครงข่ายทางประสาทที่ซับซ้อน และเป็นแกนหลักของการตระหนักรู้ของมนุษย์ หรือจะมองจากทฤษฎี Theory of Mind ที่เป็นโครงข่ายซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตสำนึกรู้ตนเองและสำนึกรู้การมีอยู่ของผู้อื่น สามารถหวนคืนความทรงจำในอดีตได้ และสร้างตัวตน (Self) จากความทรงจำที่ประมวลผลเพื่อมาเป็นตัวตนคุณในปัจจุบัน ที่ทำให้เราจดจำตัวเองในแบบที่เราเป็น
ทีมวิจัยตื่นเต้นกับผลสแกน PET ของเกรแฮมมาก เพราะมีความพิเศษที่อยู่ ‘ก่ำกึ่ง’ ระหว่างผู้ป่วยสภาพผักและคนที่รู้สึกตัว ราวกับว่าเกรแฮมถูกรมยาหรือเดินละเมอตลอดมาหลายปี นั่นอาจทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตยังติดค้างในความฝัน ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรจริง หรืออะไรเป็นการรับรู้เหนือจินตนาการ
และการค้นพบเคสของเกรแฮมทำให้ประสาทวิทยาไขปริศนาชิ้นใหญ่ได้อีกก้าวว่า ภาวะเมตาบอลึซึมต่ำและไม่สมดุลของสมอง มีส่วนทำให้มนุษย์มีประสบการณ์รับรู้เหนือธรรมชาติ บิดเบี้ยว และนำไปสู่การตระหนักรู้ตนเองที่บกพร่อง
ข้อค้นพบนี้จึงมาเป็นแนวทางในการรักษาเกรแฮมที่เน้นให้ร่างกายของเขามีเมตาบอลึซึมที่สูงขึ้น ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ที่กระตุ้นกิจกรรมสมองต่อเนื่อง แม้จะยังไม่มีทางรักษาเกรแฮมให้หายขาด (มีรายงานว่า เกรแฮมสามารถพักฟื้นที่บ้านได้ แต่ระหว่างนั้นเขายังชอบไปเดินเล่นที่สุสานใกล้บ้าน และไม่มีกิจกรรมทำร้ายตัวเอง) เกรแฮมดีขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายกลับมาฟื้นฟูและสามารถมีชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้
สมองอันพิลึกพิลั่นของเกรแฮมช่วยให้นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์มีหนทางใหม่ๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่อาจเป็น Cotard’s syndrome คือแทนที่จะเปรียบเทียบสมองของผู้ป่วยกับกิจกรรมสมองของคนปกติ แต่อาจจะเทียบกับสมองคนที่มีสภาพผักหรือคนละเมอเดินที่มักเกี่ยวพันกับระบบเมตาบอลิซึมในสมองที่อาจให้ภาพรวมที่ชัดตรงประเด็นกว่า
โลกแห่งชีวิตและโลกแห่งความตายอาจถูกบรรจุเรียบร้อยแล้วในการตระหนักรู้ของพวกเรา สมองเป็นพื้นที่ลี้ลับไม่แพ้มิติพิศวงที่อยู่ห่างกะโหลกของมนุษย์เพียงไม่กี่เซนติเมตร เรื่องราวแปลกๆ ของมนุษย์หากมองในมิติของประสาทวิทยาคือประสบการณ์ชั้นดีที่จะทำให้เราเข้าใจการตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก