ในยุคที่ข้อมูลมีมูลค่ามหาศาล และ Data Scientist เป็นชื่อที่หอมหวน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ตัดสินใจเปิดสอนวิชา ‘Introduction to Data Science’ เป็นวิชาการศึกษาทั่วไป (GenEd) ในเทอมนี้เป็นเทอมแรก เพื่อให้โอกาสนิสิตจากทุกคณะ ได้ก้าวสู่แวดวงของข้อมูล
The MATTER เชิญ ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ อาจารย์หัวหน้าวิชา มาพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนการสอนในวิชานี้ ในเมื่อมีเด็กจากหลากหลายคณะ จะเรียนจะสอนให้เข้าใจร่วมกันยังไง ทำไมเด็กที่ไม่ได้คิดจะมาสายนี้ถึงควรเรียน แล้วผู้ใหญ่ล่ะ ทำไมถึงควรรู้ รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยี ดราม่า และอนาคตของเราทุกคนที่ข้อมูลจะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน
The MATTER : ทำไมถึงตัดสินใจเปิดวิชาเป็นวิชาการศึกษาทั่วไป (GenEd)
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : จริงๆ ภาควิชา (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) มีการทำงานกับ Big Data มาหลายปีแล้ว หลังๆ เราเริ่มเอา Big Data ไปทำงานกับหลายๆ คณะ อย่างเช่น ทำฐานข้อมูลคำให้คณะอักษรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภาษา หรือทำเรื่องการวิเคราะห์ข่าวลือจากทวิตเตอร์ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ พอเริ่มทำงานร่วมกัน เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งสำคัญในการทำงานกับข้อมูล คือความชำนาญเฉพาะด้าน การเอาไปใช้ประโยชน์ในสาขาต่างๆ โดยเอาเทคโนโลยีไปเสริม
จุฬาฯ เองก็มีคณะหลากหลาย และมีความตั้งใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยให้การศึกษาแบบบูรณาการ ประกอบกับเรามองว่าความรู้ด้าน Data Science มันจะเป็นประโยชน์ได้กับทุกคณะทุกสาขา ไม่ได้อยู่แค่มุมของวิศวะ วิทยาศาสตร์ หรือสถิติ เราก็เลยเปิดเป็นวิชาการศึกษาทั่วไป (GenEd) มีอาจารย์จากหลายคณะมาร่วมกันสอน
The MATTER : วิชานี้สอนอะไรบ้าง
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : เราสอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งข้อมูล (Data Source) สอนเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงโซเชียล (Social Network Analysis) ตามด้วยเรื่องของสถิติ แล้วก็เรื่องของ Data Visualization และ Data Jounalism ว่าจะเล่าเรื่องจากข้อมูลได้อย่างไร แล้วเราก็จับมือกับบริษัทต่างๆ อย่าง Wongnai เอาข้อมูลจริงมาให้เด็กลองใช้ลองทำ เช่น เอามาทำ Recommendation การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ หรือให้เด็กคิดโจทย์เอง แต่ทั้งหมดเป็นข้อมูลจริงๆ เราดึงมาผ่านกระบวนการให้เด็กเอาไปใช้ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเล่นกับข้อมูลจริงๆ มันจะทำให้เกิดความน่าสนใจ
ส่วนลักษณะการสอน เราก็จะเลคเชอร์ประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ให้จับกลุ่มทำกิจกรรม ในกลุ่มก็จะมี 4 คน สัดส่วนเป็นเด็กวิศวะคอมฯ 2 คน เด็กสถิติหรือเศรษฐศาสตร์ 1 คน และอีกคนเป็นสาขาอื่นๆ
เราตั้งคำถามปลายเปิด แล้วให้เด็กคิดว่าจะเอาข้อมูลมาตอบคำถามนี้ได้ยังไง เพื่อหวังให้เห็นถึงลักษณะของข้อมูลและความสำคัญในการใช้ข้อมูล อย่างครั้งแรกนี่เป็นสถิติการแข่งขันบอลโลก เราให้ทั้งข้อมูลตั้งต้นและข้อมูลที่ประมวลผลพร้อมใช้งานต่อ แล้วเราก็ตั้งคำถามเช่น ใครเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลโลก ทีมไหนเป็นทีมที่เครื่องร้อนช้า (ครึ่งแรกผลงานสู้ครึ่งหลังไม่ได้) หรือจริงไหมที่เขาบอกกันว่า 5 นาทีแรกกับ 5 นาทีสุดท้ายจะเป็นช่วงที่เสียประตูกันบ่อย มันก็มีข้อมูลมากพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ แต่การตอบต้องให้เหตุผลโดยมีข้อมูลมาสนับสนุนด้วย
เราสอนให้เด็กเข้าใจเทคโนโลยีก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ต้องสอนวิธีคิด วิธีนำมาใช้ให้เขาด้วย เพราะทักษะหนึ่งที่สำคัญในอนาคตคือ ความอยากรู้ในเชิงของข้อมูล (Data Curiosity) ซึ่งพอให้เขาได้เล่นและเห็นพลังของมัน เราก็หวังว่าเขาจะรู้สึกชอบและสนุกในการหยิบเอาข้อมูลมาตอบคำถามต่างๆ
The MATTER : ด้วยความที่เป็นการเรียนการสอนแบบข้ามคณะ ข้ามสาขา มีความท้าทายอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียนบ้างไหม
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : เปิดมาคลาสแรกก็ได้เรื่องเลย เพราะเด็กมีพื้นฐานและมุมมองที่แตกต่างกันมาก วิชาข้ามสาขาเป็นอะไรที่ปราบเซียน ทั้งกับเด็กและอาจารย์ เพราะพออยู่ต่างคณะกัน มันมีเส้นแบ่งบางอย่างที่ทำให้การทำงานมันยากขึ้น เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกองค์กร ซึ่งก็ต้องหาทางทำงานร่วมกันให้ได้
แต่มันก็ดีตรงที่เด็กเองก็ได้เรียนรู้จากเพื่อน สอนให้เขาเป็น Active Learner ส่วนอาจารย์เองก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ และการที่เปิดวิชาเป็น S/U (ประเมินแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน แบบไม่มีเกรด) ก็ทำให้อาจารย์สามารถทดลองได้ว่าจะป้อนอะไรให้เด็กได้บ้าง เด็กรับได้ถึงจุดไหน ส่วนเด็กเองก็มาเรียนเพราะสนใจจริงๆ
คลาสที่ผ่านมา เราลองให้เด็กประเมินการสอน เขาก็บอกว่าสนุก แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือเด็กที่ไม่ได้อยู่ในสายเทคโนโลยี เขาแสดงให้เห็นถึงความกังวลในเรื่องช่องว่างขององค์ความรู้ ว่าเขาไม่มีทักษะบางอย่าง ซึ่งก็ดีในแง่ที่ทำให้เขาตระหนักในเรื่องนี้ ส่วนอาจารย์เองก็ต้องเอามาคิดว่าจะทำยังไงให้ทุกคนเรียนรู้ได้ ตอนนี้จริงๆ ก็เหมือนทดลองทำงานไปด้วยกัน เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งอาจารย์และเด็ก หวังว่าต่อไปในระยะยาว เราจะสอนแบบเฉพาะสาขาได้ อย่างเช่น Data Science for Humanity หรือ Data Science for Social Sceince
The MATTER : สำหรับเด็กที่ไม่ได้คิดจะประกอบวิชาชีพด้านนี้ อะไรคือความน่าสนใจที่จะลงเรียนวิชานี้
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : คุณคงไม่ได้เป็น Data Scientist ทุกคน แต่อย่างน้อยคุณเห็นคุณค่าของการใช้ข้อมูลในการทำงาน ในการตัดสินใจ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต สมมติคุณมีคนสองคนที่มีความรู้และความสามารถใกล้เคียงกันหมด แต่มีคนหนึ่งที่มีทักษะในการพลิกแพลงข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ผมมองว่ามันก็เป็นความได้เปรียบที่สำคัญอย่างหนึ่ง อีกอย่างคือ คุณได้ฝึกฝนและเรียนรู้จากคนต่างสาขา มันเป็นอะไรที่บวกอยู่แล้ว หนึ่งบวกหนึ่งมันมากกว่าสองได้
จริงๆ แล้ว วิชานี้เราแค่พยายามให้ Data Literacy กับเด็ก โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนมากกว่า
The MATTER : คิดว่าสังคมเราตอนนี้มี Data Literacy มากน้อยแค่ไหน
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : ต้องแยกเป็นสาขา สำหรับคนที่เขาใช้งานข้อมูลอยู่แล้ว เขาก็จะมีทักษะด้านนี้ แต่คนที่ไม่คุ้นเคยกับมัน อาจจะต้องมาดูว่าจะทำยังไง เราเคยอยู่ในยุคสมัยที่เข้าถึงข้อมูลยาก แต่เดี๋ยวนี้มันง่ายขึ้น มีช่องทางมากขึ้น และเอามันมาใช้ประโยชน์ได้
ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจเรายังมีความรู้สึกอยู่เยอะ ดูได้จากในโซเชียลที่มีการโวยวายและดราม่าต่างๆ ดราม่าบางทีก็เกิดจากการที่คุณขาดข้อมูลและคุณก็ใช้ความเชื่อหรือความรู้สึกของตัวเองมาเป็นตัวตัดสินเรื่องต่างๆ รวมไปถึงอคติที่คุณมี แต่จะมีสักกี่คนที่ลงไปคุ้ยลึกๆ
The MATTER : แปลว่าถ้าคนใช้ข้อมูลแล้วดราม่าจะหมดไปรึเปล่า
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : ไม่นะ (หัวเราะ) อีกหน่อยผมเชื่อว่าคนจะดราม่าบนข้อมูลด้วยซ้ำ ทีนี้ปัญหาต่อไปคือถ้าคุณมีข้อมูลที่ไม่ละเอียดพอ หรือมี Data Literacy ที่ไม่ดีพอ คราวนี้ยิ่งน่ากลัวหนักกว่าเดิม เพราะคนที่มีความสามารถ เขาก็บิดข้อมูลเพื่อสนับสนุนตัวเขาได้ง่ายมาก เพราะข้อมูลเข้าถึงได้ง่าย และถ้าเรามีความฉลาดในเรื่องข้อมูลไม่มากพอ เราก็จะตกเป็นเครื่องมือของคนเหล่านั้น
อีกหน่อยต้องมีทั้ง Media Literacy คืออย่าเชื่อคนง่ายหรือแชร์อย่างมีความรับผิดชอบ และ Data Literacy คือคุณต้องทันคนถ้าเขาเอาตรรกะที่ดูน่าเชื่อถือมาแอบอ้าง รวมไปถึงเวลาที่จะอธิบายหรือโต้แย้งอะไร คุณก็ต้องมีพื้นฐานของข้อมูลเช่นเดียวกัน
ผมมองว่าประเทศที่ก้าวหน้าไปไกล ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาคิดอะไรบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานของข้อมูล มันมีพื้นฐานในการโต้แย้ง ถ้าคนสองคนโต้แย้งด้วยอารมณ์ แปลว่าคนสองคนนั้นไม่ได้คุยอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน และจะไม่มีวันหาข้อสรุปได้ แต่ถ้าคุณยืนอยู่บนฐานเดียวกัน ใช้ข้อมูลคุยกัน ถึงจุดหนึ่งมันจะมีข้อสรุป
The MATTER : สังคมไทยจะไปถึงจุดที่ยืนอยู่บนฐานเดียวกันได้ไหม
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : ก็หวังว่านะ อันนี้ Data Scientist ก็อาจจะตอบไม่ได้ แต่ก็มีความหวัง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การที่เด็กสมัยนี้เป็นโตมาในโลกดิจิทัล (Digital Native) โตมากับการเข้าถึงข้อมูล เขาเลยไม่ใช่คนที่เชื่อเพราะคนพูด แต่เชื่อเพราะเขาเห็นข้อมูล เขามีครู Google มีครูวิกี้ (Wikipedia) มีครู Youtube นั่นหมายความว่า เด็กรุ่นใหม่เขาโตมากับการเรียนรู้ด้วยตัวเองและข้อมูลอยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือสอนให้เขาคัดกรอง เลือกใช้ และนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้อง นี่คือสิ่งจำเป็นมาก
The MATTER : แล้วการที่ข้อมูลเปิดเผยออกมาเยอะๆ มันหมายถึงว่า ความเป็นส่วนตัวของเราลดลงด้วยรึเปล่า
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : คุณคิดว่าตอนนี้เรามีความเป็นส่วนตัวหรอ? (หัวเราะ) ผมคิดว่าเราต้องยอมรับโดยสภาพว่าตอนนี้ความเป็นส่วนตัวของเรามันลดลง ตัวอย่างเช่น คุณหลบข้อมูลคุณจากเฟซบุ๊กไม่ได้ เฟซบุ๊กน่าจะรู้จักคุณดีกว่าคนในบ้านเดียวกันด้วยซ้ำ รู้ว่าเรานอนกี่โมง ตื่นกี่โมง หรือคุยกับใครบ้าง อย่างระบบหรือแอพฯ ต่างๆ ที่ให้เราใช้กันฟรีๆ เราก็แลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวของเราทั้งนั้นแหละ
ผมว่ามันสำคัญมากกว่าตรงที่เราจะสอนคนยังไงให้เข้าใจและรักษาความเป็นส่วนตัวของตัวเอง เราเพียงต้องหาวิธีจัดการกับมันให้ได้ ต้องรู้ว่าลิมิตมันอยู่ตรงไหน เพราะเราสวนกระแสเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เราต้องรู้เท่าทัน รู้ว่าอะไรที่เปิดออกไปแล้วมันจะเป็นอันตราย ความเป็นส่วนตัวยังไงก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรักษาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการนำไปใช้
แต่ถ้ามองด้านการนำไปใช้ ผมว่าปัญหาอย่างหนึ่งคือเทคโนโลยีตอนนี้มันไปเร็วมาก จนกระทั่งกฎระเบียบต่างๆ มันเริ่มตามไม่ทัน แล้วมันทำให้เราเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะติดกฎระเบียบบางอย่างที่มันยังไม่พัฒนามารองรับ
The MATTER : อีก 5-10 ปี การใช้ข้อมูลของคนไทยจะเป็นยังไง
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ : ผมบอกเด็กเสมอว่า ยุคนี้กำลังเปลี่ยนเร็วมาก การแข่งขันจะรุนแรงมากในเรื่องของข้อมูล ผู้แพ้ผู้ชนะจะไม่ได้ถูกตัดสินด้วยขนาดอีกต่อไป แต่จะตัดสินด้วยความสามารถในการใช้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนการที่บริษัทหนึ่งจะล้มหายตายจากไปต้องใช้เวลานาน แต่พออินเทอร์เน็ตเข้ามา มีเรื่องของข้อมูลเข้ามายิ่งเห็นชัด Microsoft ที่เคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งก็มีอำนาจน้อยลง เพราะมีบริษัทอย่าง Google หรือเฟซบุ๊กที่ใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากกว่า ต่อให้คุณเป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหน คุณก็เพลี่ยงพล้ำได้และล้มได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยนะ เพราะงั้นสมรภูมิใหม่นี่เหนื่อย และการแข่งขันก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในด้านของผู้บริโภคก็จะเห็นอะไรใหม่ๆ เยอะ ส่วนหนึ่งคือต้องการสร้างสินค้าใหม่ๆ อีกส่วนก็คือต้องการข้อมูลจากผู้บริโภค เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็น Data Service ที่เกิดขึ้นต่อไป
ผมว่าเราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เราเห็นวงจรที่วิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ ของข้อมูล ที่สำคัญคือมันเป็นการเคลื่อนที่ไปพร้อมกันทั้งโลก ถึงคุณอยู่เฉยๆ คุณก็จะถูกผลักไปข้างหน้าอยู่ดี
Photos by Watcharapol Saisongkhroh
อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ ‘Data for Future’
หากอยากทำอาชีพที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษ คุณมีนัดที่ Data Café
https://thematter.co/pulse/datacafe/30854
‘เปิด ใช้ แชร์’ เปลี่ยนข้อมูลไม่ให้เป็นแค่ข้อมูลด้วย Data Visualization กับ Boonmee Lab
https://thematter.co/byte/boonmeelab/31396
เรากำลังก้าวสู่โลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และข้อมูล คุยกับ ดร. ต้า Data Scientist ของเมืองไทย
https://thematter.co/byte/dataforfuture/33082
ให้ BIG DATA ช่วยแก้ปัญหาแท็กซี่ กับ GIS Lab (SIIT)
https://thematter.co/byte/gis-lab/33767