หมู่นี้ไม่ค่อยเห็นเพื่อนใน facebook เลย หรือเราไปทำอะไรให้เขาบล็อกเอาหรือเปล่า? หรือถูก unfriend ไปแล้ว เพราะเราถ่ายเซลฟี่ในฟิตเนสทุกครั้งจนเพื่อนรำคาญ ก็ได้แต่คิดสาละวนต่างๆ นานา จน 2 เดือนถัดมา เขาปรากฏตัวอีกครั้งผ่านสเตตัสสั้นๆ “ไป Detox โลกออนไลน์มา!…กลับเข้ามาดูนิดหน่อย…ไม่ได้เล่นบ่อยแล้วนะ”
น่าแปลกไปกว่านั้นคือ เพื่อนคนนี้ไม่ใช่คนเดียวที่ไปทำ detox แต่คนในเฟรนด์ลิสต์หลายคนกำลัง inactive account จนน่าประหลาดใจ ประชากรเพื่อนเริ่มหายหน้าหายตาไปเรื่อยๆ ราวทหารกรำศึกที่ชินชาต่อความวุ่นวายของโลกออนไลน์ คุณเริ่มหวั่นใจหน่อยๆ ว่า วันหนึ่งอาจไม่สามารถรับรู้การเป็นอยู่ของพวกเขาผ่านหน้าจอ news feed ได้อีกต่อไป
เมื่อผู้คนหนีโลกออนไลน์ เลี่ยงการแตะเทคโนโลยีสื่อสารที่พยายามเรียกร้องความสนใจทุกวินาที เทรนด์การทำ ‘Digital Detox’ จึงกำลังมาแรง หลายคนพูดถึงข้อดีของการละทางโลก (โซเชียล) เพื่อเติมเต็มตัวเองและโฟกัสในสิ่งที่เคยตั้งใจไว้ แต่เหลวทุกครั้งเวลาที่มือถืออยู่ในมือ
เสียง Notification ป่วนจิต
คนส่วนใหญ่คงได้ยินเสียง “ตุ้งๆๆๆๆ” จากระบบเตือนข้อความมากกว่าเสียงโทรเข้า พวกเราส่วนใหญ่ล้วนมีสมาร์ทโฟนติดตัวชนิดที่ว่าหนึบแน่นตลอด 24 ชั่วโมง อยู่ในรถก็ใช้เปิด GPS อาบน้ำก็ยังเปิดเพลง วิ่งก็ยังต้องเปิด App ต้องยอมรับว่ามือถือเป็นตัวกลางมหัศจรรย์ที่ทำได้ทุกอย่างเคียงคู่ไปกับชีวิตของเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็พยายามแนบชิดกับชีวิตของเราจนเกินเลยแบบไม่รู้เวล่ำเวลา
เพราะทุกครั้งที่คุณเช็ค email คุณก็อาจจะเผลอไปกดดูคลิปใหม่ใน YouTube ที่ subscribed ไว้ เผลอไปกดฟังเพลงใหม่ เผลอไปกดดู meme ใน 9GAG เผลอไปกดรับคูปองส่วนลด จนท้ายที่สุดแล้วแค่จุดประสงค์แรกที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย เพียงเช็ค email ก็กลับทำไม่สำเร็จ เพราะสมองของเราเป็นนักเดินเล่นเรื่อยเปื่อย หายเข้ารกเข้าพงได้ง่ายกว่าอะไรดี
งานวิจัยใหม่ๆที่ศึกษาถึงโลกโซเชียลมีเดียชี้ชัดตรงกันว่า ภาวะติดมือถือก็เป็น ‘การเสพติด’ (addiction) ในรูปแบบหนึ่ง สมองของมนุษย์โหยหาสิ่งเร้า 3 ประการหลักๆ คือ “รื่นรมย์ รวดเร็ว เหนือความคาดเดา” ซึ่งโลกโซเชียลออนไลน์สามารถให้สิ่งเร้าทั้ง 3 ประการได้ครบอย่างน่าอัศจรรย์ สมองจึงหลั่งสารที่มอบความรู้สึกดีอย่าง ‘โดปามีน’ (dopamine) ให้เป็นรางวัลทุกครั้งที่จับมือถือมาไถ
ระบบ notification นี้ก็ร้ายกาจอยู่ไม่น้อย ราวกับว่าคุณกำลังเล่นหวย คอยเสี่ยงทายว่า เสียงที่เรียกนั้นคืออะไร เพื่อนมาเมนต์ในรูปไหม มีใครถูกใจคำคมเราหรือเปล่า notification มีคุณลักษณะที่ ‘สุ่ม’ (random) อยู่ไม่น้อย ซึ่งเข้าเกณฑ์ประการที่ 3 ได้แก่ ‘เหนือความคาดเดา’
ความคาดหวังลึกๆ ยิ่งทำให้โดปามีนพุ่งขึ้นกระฉูดแบบคูณ 2 คล้ายกับเล่นเครื่องสล็อตแมชชีน เอาจริงๆ แอพโซเชียลยอดฮิตต่างๆ ถูกออกแบบไว้อย่างจงใจในการใช้ประโยชน์จากระบบสมอง Limbic system ของมนุษย์ที่ค่อนข้างแนบเนียน (แน่นอนว่านักพัฒนาหลายคนคงเป็นหนอนหนังสือประเภท Brain’s reward system ที่เข้าใจกลไกการทำงานของสมองโดยตั้งใจหรือโดยสัณชาตญานก็ตาม) ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Snapchat , Instagram , Line และ Tinder ที่ดึงดูดให้คุณหยิบมือถือขึ้นมาดูบ่อยๆ ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเตือน
ภาวะโหยหาสมาร์ตโฟนบั่นทอนคุณภาพชีวิต
ติดมือถือคงไม่ร้ายกาจ ถ้าเราแค่ติดมันเพียงผิวเผิน แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลต่อคุณภาพชีวิต มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสุขภาวะทางอารมณ์
งานศึกษาของปีค.ศ. 2017 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Psychological Science เผยว่า วัยรุ่นที่ใช้เวลาต่อเนื่องบนมือถือมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปราว 34% มีโอกาสตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ทั้งทำสำเร็จและไม่สำเร็จ) มากกว่าวัยรุ่นที่เล่นมือถือน้อยว่า 3 ชั่วโมง แม้มือถืออาจไม่ได้เป็นผู้ต้องหารายสำคัญอันเป็นสาเหตุให้ใครๆ ฆ่าตัวตาย แต่มันดึงความสนใจเราไปจดจ่อกับ feedback มากกว่าที่เราจะสัมผัสจากตัวเราเอง ผลักดันให้เรารู้สึกวิตกกังวล เครียดเรื้อรัง และอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ จากสาเหตุที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเครียด cortisol อยู่ต่อเนื่อง และไม่ลดต่ำลงกว่า baseline ปกติ
ลองจินตนาการว่า คุณเดินป่าไปเจอเสือ ร่างกายของคุณจะหลั่ง cortisol ให้ร่างกายอยู่ในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้คุณรีบโกยอ้าวโดยเร็วที่สุด เมื่อพ้นภัยแล้วร่างกายจะปรับสมดุล cortisol กลับมาดังเดิม แม้โลกออนไลน์ดูร้ายกาจน้อยกว่าเสือ แต่ความเครียดจากการติดพันทำให้ระดับ cortisol อยู่ในร่างกายนานเกินไป มีผลต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด ฮอร์โมนหลายชนิด และกลไกการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง
คนส่วนใหญ่ที่หนีไปทำ digital detox ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน “โลกออนไลน์ทำให้เราโฟกัสสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตน้อยลงทุกวัน” เกิดความเครียด วิตกกังวล ไม่สามารถทำให้อะไรสำเร็จลุล่วงได้เพราะไม่มีสมาธิ มีงานทดลองว่า หากให้อาสาสมัครนั่งทำงานแล้วมีแอพส่งเสียงขัดจังหวะตลอดเวลา อาสาสมัครจะทำงานได้ช้าลงถึง 400 เท่าจากปกติเลยทีเดียว
พ่อแม่หลายคนจึงเริ่มมีนโยบายให้ลูกๆ อยู่ห่างมือถือ จำกัดเวลาเล่น และให้พวกเขาอยู่กับสื่อที่หยิบจับเชิงกายภาพได้มากขึ้น ซึ่งล้วนได้รับการยืนยันจากบรรดาแพทย์ว่า ‘ควรทำ’ และต้องค่อยเป็นค่อยไป
ความเงียบที่ท้าทาย
ก้าวแรกยากเสมอ! หากมือถือนั้นติดตัวคุณยิ่งกว่าอะไรดี การวางมันลงหรือปิดเครื่องสัก 2-3 ชั่วโมงก็อาจทำให้เรารู้สึกสติแตก คนที่พยายามทำ Digital Detox ต้องต่อสู้กับความอยากที่ฉุดรั้งให้เราต้องหยิบมือถือมาเช็ค เพราะรายละเอียดชีวิตทุกมิติของเราฝากไว้กับมือถือ นัดหมายทุกอย่างถูกบันทึกไว้ ไหนจะลูกค้าที่ถ้าไม่ตอบทันทีก็อาจเสียพวกเขาไป งานที่ทำผูกมัดกับโลกโซเชียล ยิ่ง ‘เป็นไปไม่ได้’ สำหรับหลายๆ คน
ความกลัวที่จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ถูกนิยามไว้ใหม่ให้ทันสมัยว่า ‘Nomophobia’ ที่มาจาก No-Mobile-Phobia (ก็ช่างคิดชื่อเนอะ) คือความกลัวเมื่อไม่มีมือถือติดตัว ซึ่งมีคนสัดส่วน 1 ใน 4 ที่กำลังพัฒนาอาการกลัวนี้ เคยมีงานทดลองในปีค.ศ. 2017 ที่ให้ผลลัพท์ว่า เมื่ออาสาสมัครไม่ได้รับสายเรียกเข้า หัวใจจะเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นโดยทันที เกิดเป็นภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง
แต่ถ้าการทำ Digital Detox ยากขนาดนั้น ทำไมถึงมีคนทำได้?
หัวใจสำคัญคือ ค่อยๆ ปรับและแบ่งเวลาการใช้มือถือที่เป็นสัดส่วน ไม่ถึงกับต้องห่าง Facebook เลยเป็นเดือนๆ อย่างที่คนอื่นทำ หากคุณยังต้องทำมาหากินบน Platform นี้อยู่ เช่น ในช่วงเวลาก่อนนอน 3 ชั่วโมง ปิดการเตือนทุกแอพเพื่อให้ร่างกายเข้าสู่โหมดเตรียมตัวนอน อ่านหนังสือที่ตั้งใจไว้ หรือหากอ่านบน E-Reader ก็ควรปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
ลองปิดการเตือนของแอพที่คุณคิดว่าไม่มีประโยชน์ ค่อยๆ ขยายขอบเขตเวลาที่สามารถทำได้ทีละน้อย โดยคนส่วนใหญ่ที่สามารถทำได้ เนื่องจากพวกเขากำลังซุ่มทำโปรเจกต์อะไรบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องโชว์บอกใครๆใน Facebook รวบรวมความตั้งใจและสมาธิไปยังสิ่งนั้น หลายคนบอกว่าเมื่อทำ Digital Detox แล้ว ช่วยทำให้เขาโฟกัสอะไรได้สำเร็จดีขึ้น ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ช่วยเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา รู้สึกจัดการกับอารมณ์ได้ดี ที่สำคัญไม่รู้สึกถูกบังคับ
“ต่อไปทุกครั้งที่เราหยิบมือถือ คือเราต้องการใช้มัน มือถือไม่ได้สั่งหรือเรียกร้องให้เราหยิบอีกต่อไป”
ถึงเราจะพลาดอะไรไปบ้างในโลกออนไลน์ แต่ชีวิตส่วนตัวของเรายังโลดแล่นอยู่นอกจอได้อย่างอิสระ ถึงจุดหนึ่งทุกคนก็ต้องแลกกันว่า เลือกทางไหนจะคุ้มกว่ากันในระยะยาว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Nomophobia: A Rising Trend in Students