“ที่ผมเข้ามาทำงานในกระทรวงดิจิทัลฯ ภารกิจหลักของผม คือการปกป้องสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” หลายๆ คนถึงกับ ‘เป็นงง’ เมื่อได้ยินประโยคนี้ที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชี้แจงระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา และทำให้ชวนคิดว่า.. จริงๆ ตำแหน่ง รมว. ดิจิทัลนี้ มีหน้าที่สำคัญอย่างไรบ้างในการพัฒนาประเทศ?
ถ้าเรามองในภาพรวมทั้งโลก ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาของประเทศ ยิ่งในยุค COVID-19 ยิ่งทำให้เราเห็นว่าตัวช่วยนี้มีความสำคัญแค่ไหน ทั้งช่วยให้เราแต่ละคนพอจะใช้ชีวิตหลายๆ ด้านต่อไปได้ในช่วงเวลาแบบนี้ รวมถึงภาครัฐและภาคธุรกิจที่ปรับตัวได้ ยังสามารถใช้เพื่อการรับมือกับโรคระบาด ทำให้กิจกรรมหลายๆ อย่างดำเนินต่อไป ทำให้ประเทศไม่หยุดชะงักหรือพังทลายลงได้ด้วย
ด้วยผลลัพธ์ที่ปฏิเสธได้ยาก ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ จึงกลายมาเป็น ‘คะแนน’ สำคัญ ในการวัดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ และไม่ใช่ความสามารถในการผ่านยุคโรคระบาดช่วงปีสองปีนี้เท่านั้น แต่มันหมายถึงการฟื้นตัวและความก้าวหน้าในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า หรืออธิบายง่ายๆ ได้ว่า ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เป็นสิ่งที่บอกว่าประเทศของเรา.. จะตามชาวโลกเขาทันไหม
Digital Riser Report 2021 เป็นรายงานที่ ESCP Business School ศึกษาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของ 140 ประเทศทั่วโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วลองเปรียบเทียบดูในระดับกลุ่มประเทศและระดับภูมิภาคว่า ใครทำได้ดีและใครที่ตกรอบ โดย ESCP ใช้ Indicator หลายๆ ตัวที่สะท้อนระบบนิเวศ (Ecosystem) และกรอบความคิด (Mindset) ด้านดิจิทัลของแต่ละประเทศ จาก Global Competitiveness Report ของ World Economic Forum (WEF) รวมถึงจากรายงานของ World Bank และ International Telecommunication Union มาประมวลผลร่วมและจัดอันดับ โดยเทียบการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี ค.ศ.2018 และปี ค.ศ.2020
ระบบนิเวศ (Ecosystem) › การมีอยู่ของ Venture Capital › ต้นทุนที่ใช้ในการเริ่มธุรกิจ › เวลาที่ใช้ในการเริ่มธุรกิจ › ความสะดวกในการจ้างแรงงานต่างชาติ › ทักษะของแรงงานจบใหม่ |
กรอบความคิด (Mindset) › ทักษะด้านดิจิทัลของประชากร › ทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านในการประกอบธุรกิจ › ความหลากหลายของแรงงาน › เทคโนโลยีในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สาย › แนวคิดของบริษัทในการรับการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจ |
โดยหากดูความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) เฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็น Top Riser ของแต่ละภูมิภาคคือ
- ●East Asia and the Pacific : เวียดนาม
- ●Eurasia : จอร์เจีย
- ●Europe and North America : ลิทัวเนีย
- ●America and the Caribbean : อุรุกวัย
- ●Middle East and North Africa : อียิปต์
- ●South Asia : ศรีลังกา
- ●Sub-Saharan Africa : แกมเบีย
แล้วคุณ รมว. ดิจิทัล รู้ไหมว่า.. ไทยอยู่ตรงไหนในรายงานฉบับนี้?
ในบรรดาเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เราอยู่นี้ เวียดนามมาแรงแซงโค้งจากทั้งหมด 17 ประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลมาจาก ‘National Digital Transformation Program 2025’ หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เวียดนามจะมุ่งพัฒนาสู่ e-Government ภายใน 5 ปี พร้อมแนวทางปฏิบัติและวัดผลที่ชัดเจน รวมถึงตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่าถึง 30% ของ GDP ประเทศภายในปี 2030 นี้ด้วย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ซึ่งได้คะแนนติดลบเหมือนกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค อันเนื่องมาจากว่าไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ ทั้งด้านระบบนิเวศและกรอบความคิดด้านดิจิทัลในช่วง 3 ปีมานี้
ส่วนถ้าดูในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) แคนาดา เป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลมากที่สุดในช่วง 3 ปีนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลมาจาก ‘Innovation and Skills Plan’ ที่รัฐสนับสนุนเงินทุนในนาม Strategic Innovation Fund เพื่อสร้างและรักษาตำแหน่งงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง พร้อมยกระดับการลงทุนกว่า 45 พันล้านเหรียญ รวมถึงสนับสนุนการร่วมทุนมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญ ให้กับ 270 โปรเจกต์ในโครงการ Innovation Superclusters เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งก็ส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศตามมา
ขณะที่ถ้าดูในกลุ่มประเทศ G20 จีนเป็นประเทศที่มาแรงในกลุ่มด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลจากแผนยุทธศาสตร์ ‘Made in China 2025’ มีการสนับสนุนจากรัฐใน 10 ภาคธุรกิจที่จะดันให้เป็นผู้นำโลก รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและหุ่นยนต์ที่ก้าวล้ำเป็นอย่างมากในช่วง 3 ปีนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเน้นย้ำความสำคัญของผู้ประกอบการด้วยว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างแนวคิด Chinese Dream ให้เป็นจริง
นอกจากการเอา Indicator ต่างๆ มาประมวลผลและจัดอันดับแล้ว ESCP ยังวิเคราะห์ 2 ปัจจัยหลักที่บรรดาประเทศผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Riser) มีร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางไว้สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจในประเทศที่ต้องการพัฒนาความสามารถด้านนี้
1) ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ และมีแผนการลงมือปฏิบัติและวัดผลอย่างจริงจัง : อย่างจีนหรือเวียดนามที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ในอิตาลีก็มีการตั้งโครงการ ‘Repubblica Digitale’ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหา Digital Divide ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงพัฒนาทักษะประชากรทั่วประเทศ เพื่อปรับฐานของทั้งประเทศให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ขณะที่ในกัมพูชา ก็มีการลงทุนในโครงการ New Generation School เพื่อสร้างโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ
2) ให้ความสำคัญกับแนวคิดผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) : นอกจากโปรแกรมต่างๆ ของแคนาดาที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ในบราซิล ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ พยายามสร้างโปรแกรมอย่าง InovAtiva Brasil หรือ StartOut Brasil รวมถึงการตั้งคณะกรรมการสนับสนุนสตาร์ทอัพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ หรือในอียิปต์ รัฐบาลก็สนันสนุนให้สร้างศูนย์รวมเทคโนโลยีด้านต่างๆ ถึง 6 แห่ง เพื่อสนับสนุนให้เป็นคอมมูนิตี้ในการลงทุนและสร้างนวัตกรรมของประเทศ ในสเปน ก็มีการตรา พรบ. สตาร์ทอัพ และมีการจัดตั้ง National Entrepreneurship Office เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีความสามารถ ขณะที่อิตาลีก็มี พรบ. เช่นเดียวกัน ที่เปิดนโยบายด้านวีซ่าและให้ประโยชน์ด้านภาษีกับสตาร์ทอัพ
ซึ่งก็คงต้องบอกว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐ–รัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคธุรกิจที่เข้มแข็งเพียงพอ ที่จะดำเนินการ 2 ข้อนี้ให้เป็นจริง มากกว่าแค่ตัวหนังสือที่เขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ หากแต่ผู้มีอำนาจอย่าง รมว.ดิจิทัล จะเข้าใจภารกิจจริงๆ ที่ต้องทำ และลงมือทำงานของตัวเอง
รายงานฉบับนี้ ยังบอกด้วยว่าแม้นี่จะเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงแค่ช่วงระยะเวลา 3 ปี แต่ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากประเทศใดขยับตัวช้าหรือแค่อยู่กับที่ เราก็มุ่งเข้าสู่อันดับล่างหรือคะแนนติดลบได้แล้ว
อ่าน Digital Riser Report 2021 ฉบับเต็มได้ที่ https://digital-competitiveness.eu/digitalriser