ในอุตสาหกรรมเนื้อหมู มีการใช้ยาปฏิชีวนะปริมาณมาก และมันกำลังเปลี่ยนเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ที่ทำให้แบคทีเรียรุ่นต่อๆ ไปร้ายกาจกว่า ล้วนมาจากอุตสาหกรรมต้นน้ำทางอาหารที่พวกเราบริโภค
ยีนดื้อยาทรหดกำลังแพร่ระบาดในอุตสาหกรรมเนื้อหมู ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามเตือนถึงผลกระทบดังกล่าว แต่เจ้าของธุรกิจพยายามปกปิดและเมินเฉยผลต่อผลกระทบ ส่วนผู้บริโภคก็ยังตั้งคำถามน้อยมากกับอาหารที่พวกเรากินอยู่ทุกๆวัน
ใครบ้างไม่ชอบเบคอน
ในอเมริกา มีฟาร์มหมูเปิดเป็นธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งการบริโภคเองในประเทศและการส่งออก รสชาติเนื้อหมูดูจะได้รับความนิยมไม่มีวันเสื่อมคลายในสังคมตะวันตก ครอบครัวชาวอเมริกันหันมาบริโภคเนื้อหมูเพิ่มมากขึ้นแทนที่การบริโภคเนื้อวัวจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจ เนื้อหมูมีราคาถูกกว่าหากเทียบกับราคาเนื้อวัว อุปสงค์ในเนื้อหมูจึงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นปัจจัยให้ผู้ทำธุรกิจปศุสัตว์หันมาลงสนามตลาดเนื้อหมูกับเขาบ้าง
ฟาร์มบริษัท TDM ในเมือง Indianapolis เลี้ยงหมูจำนวน 30,000 ตัวต่อปี ถือเป็นบริษัทที่ทำปศุสัตว์รายใหญ่ ทุกๆ เช้าจะมีลูกหมูจำนวน 400 ตัว มาเพิ่มจำนวนสมาชิกที่ค่อนข้างแออัดในโรงเลี้ยงที่เต็มไปด้วยกลิ่นสาบรุนแรง ลูกหมูอายุ 14 วันที่ยังไม่หย่านมดีถูกพรากจากแม่ จับรวมกันแล้วขนส่งในรถบรรทุกมายังโรงเลี้ยงที่เป็นคูหาแคบๆ โรงเรือนแต่ละโรง มีขนาดกว้างเพียง 200 ฟุต สูงไม่เกิน 10 ฟุต เป็นบ้านที่ไม่สู้ดีนักของหมูจำนวน 1,000 ตัวที่ต้องอยู่กันอย่างแออัดเบียดเสียด
พวกมันใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนในการเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมถูกเชือดเพื่อแปรรูปเป็นเนื้อสด สันใน สะโพก เบคอน และไส้กรอกตามความต้องการบริโภคในท้องตลาด การออกแบบพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนจำกัดจำเขี่ย และเต็มไปด้วย ‘ขี้หมู’ หรือมูลสุกรกระจัดกระจายไปทุกที่ตามนิสัยธรรมชาติของหมูที่กินตรงไหนถ่ายตรงนั้น ทุกตารางนิ้วของโรงเรือนเปรอะไปด้วยขี้หมูจำนวนมหาศาล
ถ้าจะอยู่กับขี้หมู ก็ไม่พ้นยาปฏิชีวนะ
‘ขี้หมู’ คือแหล่งพำนักของแบคทีเรียที่ส่วนใหญ่สร้างหายนะให้กับร่างกายของสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ ภูมิต้านทานของหมูลดลงจากระบบดูแลความสะอาดที่ละเลย พวกมันอาศัยในมูลของตัวเองและมูลของเพื่อนคอกข้างๆ ไม่แปลกที่มันจะป่วยเป็นโรคและมีภูมิต้านทานอ่อนแอ เจ้าของฟาร์มจึงไม่สามารถเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)ในการต่อสู้กับโรค หมูในฟาร์มถูกฉีดสารเคมีในปริมาณมาก (มากกว่าคนในการรักษาทางการแพทย์เสียอีก) เพื่อป้องกันโรคติดต่อในสัตว์ และแย่หน่อยที่หลายฟาร์มเห็นว่า ยาปฏิชีวนะ สามารถ ‘ขุน’ หมูให้อ้วนขึ้นได้โดยให้อาหารน้อยลง กลายเป็นแผนอันแยบยลและน่าหวาดกลัวสำหรับผู้บริโภคที่ไม่รู้วิธีบริหารการจัดการในฟาร์ม ไม่มีใครเคยเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นในฟาร์ม และน้อยคนที่จะตั้งคำถามกับมัน
MRSA
สัตว์ในฟาร์ม โดยเฉพาะหมูเป็นแหล่งของจุลชีพอันตราย โดยเฉพาะแบคทีเรียที่นักวิทยาศาสตร์ด้านโรคระบาดกำลังเป็นกังวล ‘สแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเมธิซิลิน’ (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus) หรือ MRSA เป็นสายพันธุ์หนึ่งของแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่สามารถทนหรือดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเมธิซิลินได้ เป็นเชื้อโรคที่มีความสำคัญทางการแพทย์และสัตวแพทย์ เนื่องจากแบคทีเรียมีความสามารถในการแพร่จากสัตว์สู่คนได้ง่าย พบได้บ่อยในคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ม้า สุนัข แมว สุกร โค แกะ กระต่าย ไก่ และนกแก้ว สัตว์โรงเรือนเกือบทุกชนิดติด MRSA ได้หมด ส่วนใหญ่แล้วเชื้อแบคทีเรียติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย หรือวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค อุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ แถมยังแพร่ทางอากาศได้ด้วย
แม้การใช้ยาปฏิชีวนะมันอาจได้ผลในช่วงแรกๆ แต่แบคทีเรียรุ่นต่อๆ ไปสามารถส่งผ่าน ‘ยีนต่อต้าน’ (Resistance Genes) ดื้อยาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ชิ้นส่วน DNA สามารถกระโดดข้ามไปยังแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้กระทั่งในรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถตรวจพบจุลชีพดื้อยาในห้องโดยสารคนขับ กระบะบรรทุก และอากาศรอบๆ รถได้ (นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลว่า ทำไมคุณไม่ควรขับรถเข้าใกล้รถขนหมู หรือขับตามไปต่อเรื่อยๆ โดยเฉพาะรถขนหมูในประเทศไทยที่เปิดโล่งไม่มีการปิดกั้นมิดชิด โดยกฎหมายก็ไม่พยายามเอาผิดฟาร์มที่ไร้ความรับผิดชอบเหล่านี้เลย)
นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ เริ่มกังวลจากความนิยมในการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมูอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พวกเขาเห็นความเชื่อมโยงที่ยาเหล่านั้นถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และความเชื่อมโยงของการแพร่ระบาดโรคจากหมูสู่มนุษย์
มีรายงานว่าในปี 2014 บริษัทยาสามารถขายยาปฏิชีวนะได้กว่า 24 ล้านปอนด์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการผสมอาหารสัตว์ หรือมากกว่า 3 เท่าที่ใช้ในมนุษย์ในเชิงการแพทย์ แต่ตัวแทนบริษัทยาเองมักมี ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ฝีมือดีในการเบี่ยงเบนประเด็นด้านความปลอดภัย และกีดกันเหล่านักวิจัยไม่ให้เข้าถึงฟาร์มโดยตรง
วิทยาศาสตร์ต้องทำงานหนักเมื่อเผชิญกับนักธุรกิจ
“เจ้าของฟาร์ม พอได้ยินว่า นักวิจัยมา ก็แทบจะเอาปืนมายิงเลยทีเดียว”
ผมเคยพูดคุยกับอาจารย์ด้านสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยทางการเกษตรชื่อดังแห่งหนึ่ง แถวกำแพงแสน (ไม่ต้องใบ้ก็ได้ ถ้าจะให้พิกัดละเอียดขนาดนี้) การทำงานกับเกษตรกรในพื้นที่ไม่ใช่ง่ายๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็น Contract Farming ของบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งมักจัดสัตวแพทย์และยาปฏิชีวนะขนานต่างๆ มาพร้อมมือ หากไม่ใช้ตามข้อตกลงจะถือว่าผิดสัญญาในแง่ที่ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง และถูกปรับจนรากเลือด ไม่มีใครหน้าไหนกล้าเสี่ยงแม้ว่าพวกเขาจะรู้ถึงผลกระทบดีก็ตาม ดังนั้นนักวิจัยจึงไม่สามารถเข้าหาเกษตรกรแบบในมาดนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ต้องไปแบบ ‘ลูกหลาน’ ตีสนิทชิดเชื้อ เลี้ยงเบียร์ เลี้ยงเหล้า หรือเติบโตในหมู่บ้านนั้นๆ หากไปหน้าอ่อนๆ ก็มีแต่จะถูกไล่ตะเพิดเอาเท่านั้น (ร้ายหน่อยคือ ลูกซองแฝด)
การเข้าไปคลุกคลีกับฟาร์มปศุสัตว์แบบนอกตำรา ไม่มีสอนในวิชาเรียน ซึ่งนักศึกษาสัตวแพทย์รุ่นใหม่ๆ ยังทำได้ไม่ดีนัก ส่วนใหญ่เบนเข็มไปทำ ‘คลินิกหมา-แมว’ กันหมด เพราะพวกเขารู้ว่าวิชาชีพสัตวแพทย์ในระบบปศุสัตว์ไทย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เหมือนขนมกินได้
แต่ก็มีไม่น้อยที่สัตวแพทย์จะผันตัวไปเป็นเซลล์ให้บริษัทขายยาเสียเอง กลายเป็นใช้ความรู้ในวิชาชีพอย่างผิดจรรยาบรรณ นักเทคนิคการสัตวแพทย์หลายรายไปเป็นเซลส์ขายยาส่งเล้าหมูทั่วไทย หากขยันเดินทางหน่อย อาจทำรายได้ดีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4-5 หมื่นบาทเป็นอย่างต่ำ บางคนอาจบวกราคาเพิ่มหากสามารถขายยายี่ห้อที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือไม่มีใบรับรองก็จะได้รับการ ‘สปอนเซอร์’ เป็นพิเศษ ซึ่งมักขายยา 3 ชนิด คือ ยาที่ใช้ผสมอาหารเป็นลักษณะผง ยารักษาเชื้อไวรัสใส่เป็นขวดแก้วใช้วิธีฉีด และยาประเภทวัคซีนต่างๆ
ยาที่นิยมใช้มากนอกจากกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยังมียาประเภท ‘ฮอร์โมน’ ช่วยเร่งให้หมูเติบโตเร็วเพื่อให้ได้ขนาดตามที่บริษัทกำหนด เนื่องจากฟาร์มหมูขนาดใหญ่จะเป็น ‘คอนแทร็กฟาร์ม’ หรืออยู่ภายใต้ ‘โครงการเกษตรพันธสัญญา’ ที่มีบริษัทใหญ่บังคับให้ซื้อลูกหมู อาหาร ยา และสิ่งอื่นๆ
ยาน่ะ ใครๆ ก็ใช้กัน
ความน่ากลัวอีกประการคือ หากคุณใช้ยาปฏิชีวนะนั้นอันตรายมากหากใช้ซี้ซั้ว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกฝนและใช้มันอย่างผิดๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรร้อยละ 76 ประกอบอาชีพเลี้ยงหมู โคเนื้อ ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ มากกว่าร้อยละ 80 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม และใช้ยาตลอดวงจรการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ ยาปฏิชีวนะที่พบว่ามีการใช้มากที่สุดในการเลี้ยงสัตว์ คือ Oxytetracycline (ร้อยละ 57) ผู้ให้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเองไม่ใช่บุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะเลย ท้ายสุดพวกเขาใช้มันอย่างไม่สมเหตุสมผล และผลเสียมักไม่พ้นมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างพวกเรา
ในปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหมูส่งออกขนาดใหญ่ของยุโรป) พบหมูที่ติดแบคทีเรีย MRSA ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น และแพร่เชื้อไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงและครอบครัว เกิดอาการผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อในปอดและกระแสเลือด ซึ่งมีแนวโน้มจะปนเปื้อนไปยังเนื้อหมูที่แปรรูปแล้ว ภายในปี 2008 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงเข้มงวดเอาจริงกับฟาร์มที่ใช้ยาปฏิชีวนะแบบจับจริงขังจริง ทำให้อัตรามวลรวมการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศลดลงถึง 59 เปอร์เซ็นต์ เนเธอร์แลนด์จึงมีมาตรฐานส่งออกเนื้อหมูที่ดีกว่าสหรัฐอเมริกาในหลายๆ มิติ
กินไส้กรอกครั้งต่อไป อาจคิดให้ลึก
เราไม่ได้กำลังพยายามทำให้คุณตื่นตระหนกกับอาหาร เพราะมันหลีกเลี่ยงยากเหลือเกินในการบริโภค แต่การตั้งข้อสังเกตอย่างตลอดเวลาอาจไม่ใช่เรื่องเหลวไหล
ในปี 2012 คณะนักวิทยาศาสตร์ของ FDA พบว่า เนื้ออกไก่สด 84 เปอร์เซ็นต์ เนื้อบด 69 เปอร์เซ็นต์ และเนื้อหมู 69 เปอร์เซ็นต์ ปนเปื้อนแบคทีเรีย E.Coli ซึ่งในระยะหลังๆ มีคุณสมบัติในการต่อต้านยาปฏิชีวนะขนานสำคัญหลายตัว ล้วนทำให้เราเกิดอาการอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรงหากไม่มีการปรุงสุกอย่างถูกสุขลักษณะ
หลังจากนั้นไม่นาน แบคทีเรียสายพันธุ์ของ E.Coli อีกตัวที่มีชื่อว่า COPs สามารถปะปนไปกับอาหารโดยไม่แสดงอาการใดๆ มันสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างแนบเนียนในลำไส้ ไปทำปฏิกิริยากับ “แบคทีเรียที่ดี” ให้ปั่นป่วนในภายหลัง และทำให้เกิดการติดเชื้อทางท่อปัสสาวะ และส่งผลให้เกิดอาการป่วยรุนแรงตามมา
การติดเชื้อจากซูเปอร์บั๊กแบบนี้มักเป็นการติดเชื้อรุนแรง (ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ร่างกายได้รับและสุขภาพก่อนการติดเชื้อด้วย) ซึ่งระยะฟักตัวของโรค (ระยะติดเชื้อจนถึงเกิดอาการ) จะสำแดงแตกต่างกันยากคาดเดา อาจเป็นภายใน 1 วัน หรืออาจหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ มักต้องใช้เวลารักษายาวนานในโรงพยาบาล เสียค่าดูแลรักษาสูงมาก และผลลัพธ์ยังคงเป็นอัตราเสียชีวิตที่สูงเมื่อได้รับเชื้อในปริมาณมาก หรือเมื่อเป็นบุคคลที่มีสุขภาพอ่อนแอ
แล้วผู้บริโภคทำอย่างไรดี
แม้ความเจ็บปวดจากระบบปศุสัตว์ที่มองข้ามความปลอดภัยของพวกเราในฐานะผู้บริโภคจะทำให้เรากลายเป็นผู้รับผลกระทบคนสุดท้ายในฐานะ Top Predator ในห่วงโซ่อาหาร แต่จริงๆ แล้วธรรมชาติก็กำลังบอบช้ำจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย (มูลสุกรถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยพืช มีรายงานว่ามีแบคทีเรียดื้อยาปะปนอยู่ในดิน และมันสามารถแพร่ไปยังพืชที่ดูดรับสารอาหารได้)
พวกเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งพวกเรามีสิทธิเลือกได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยังไงพวกเราก็ยังต้องการและคาดหวังความโปร่งใสวันยังค่ำ เมื่ออาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ ผู้บริโภคต้องการทราบให้แน่ชัดว่าอาหารของพวกเขามาจากไหน ผลิตอย่างไร และมีอะไรอยู่ในอาหารบ้าง
การเรียกร้องอยู่เสมอๆ ทำให้เราเป็นนักบริโภคที่ดี แต่การกดดันเกษตรกรอย่างไม่ให้ทางเลือกเลย ก็เป็นการจับพวกเขามามัดมือชกกับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท งานวิจัยไทยหลายโครงการเห็นแนวโน้มของปัญหา แล้วพยายามทำให้ ‘บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น’ สำหรับตัวเกษตรกรเอง แม้รัฐจะประกาศห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดในการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเริ่มเกิดปัญหาหมูเจ็บป่วยมากจากการขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นที่จะนำมาทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องหาสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน ‘สมุนไพร’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการวิจัยนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมู เพื่อให้ได้เนื้อหมูที่ปลอดภัย
แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นแนวโน้มที่ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราอยู่กับอุตสาหกรรมยามาตลอดชีวิต
มันอาจถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรถามก่อนกิน
เพราะครั้งต่อไปที่คุณกิน อาจไม่มีโอกาสถามอีกเป็นครั้งที่สอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Methicillin-resistant Staphylococcus aureus in Pigs and Farm Workers on Conventional and Antibiotic in the USA: PLOS ONE, Vol. 8 May 7,2013
Pills for pigs Just say no. Keeve Nachman, March 2016