ถ้าคุณเป็นเหมือนผม คุณคงประสบปัญหานี้ :
คุณอ่าน อ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน คุณดู ดู ดู แล้วก็ดู คุณทึ่งไปกับสิ่งที่นักเขียนคนโปรดคิด คุณสนุกไปกับการค้นพบใหม่ๆ แต่ – แต่ไหง ในตอนที่จะใช้ ทำไมสิ่งที่เติมๆ เข้าไป มันดูเหมือนจะไม่เข้าสมองเลย คุณพยายามนึกเท่าไร ก็นึกไม่ออก ว่าเรื่องที่เคยอ่านนั้นบอกเล่าเรื่องราวของอะไร “หนังสือเล่มนั้นเขียนเรื่องอะไรนะ” – กระทั่งจะพูดชื่อคอนเซปท์กว้างๆ ออกมา คุณก็นึกไม่ออก มันติดอยู่ที่ริมฝีปาก จนต้องกลับไปค้นนั่นแหละ ถึงจะนึกออก! แล้วแบบนี้จะอ่านไปทำไม!
คุณไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ – ผมเองก็ประสบปัญหา “อ่านแล้วลืม” “ดูแล้วไม่จำ” เรื้อรังเช่นกัน ผมอยากโทษ (โทษอีกแล้ว!) ว่านี่เป็นความผิดของอินเทอร์เนตและเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องจำอะไรอีกต่อไป เราไม่จำเป็นต้องรู้เบอร์โทรศัพท์กระทั่งเบอร์ของแม่หรือแฟน เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าวันมาฆบูชาวันที่เท่าไหร่ เพราะแค่กูเกิ้ล – ก็เจอ!
ฝากสมองไว้ข้างนอก
พวกเราไม่ใช่พวกเดียวที่ประสบปัญหานี้ – ในปี 2007 นักประสาทวิทยาชื่อ Ian Robertson สำรวจคน 3,000 คน เขาพบว่าคนวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน (personal info) ได้น้อยกว่าคนสูงอายุ เช่น เมื่อ Robertson ถามว่า จำวันเกิดคนในครอบครัวได้ไหม คนอายุเกิน 50 มากถึง 87% จำได้ ในขณะที่คนอายุต่ำกว่า 30 น้อยกว่า 40% เท่านั้นที่จำได้ และเมื่อถามว่าจำเบอร์โทรศัพท์ตัวเองได้ไหม คนวัยหนุ่มสาวมากถึงหนึ่งในสามต้องหยิบมือถือตัวเองขึ้นมาดู! (เออ อันนี้ผมยังดีกว่า – อย่างน้อยก็ยังจำเบอร์โทรตัวเองได้แฮะ!)
ถ้าเข้าถึงอินเทอร์เนตได้ เราจะฉล้าดฉลาด รู้ไปหมดเสียทุกสิ่ง สามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ แต่เมื่อตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เนตเมื่อไหร่ – อื้อหือ คำถามง่ายๆ บางทียังตอบไม่ได้เลย
มีรายงานปี 2009 บอกว่า สายตาของชาวอเมริกันพาดผ่านตัวหนังสือมากกว่า 100,000 คำต่อวัน (โฆษณา, แมสเสจ, ฯลฯ) ในขณะที่มีอีกรายงานเสนอว่าเราคลิกอ่านบทความโดยเฉลี่ย 285 คอนเทนต์ต่อวัน
แต่เราได้อ่านไหม – และถ้าอ่าน เราจำได้ไหม
ยังมีรายงานด้วยว่าการดูซีรีส์แบบหามรุ่งหามค่ำติดกันหลายๆ ตอนนั้นทำให้เรื่องราวที่เราได้ดูมาสูญสลายไปได้ง่ายกว่าการค่อยๆ ดูทีละตอน ตอนละสัปดาห์ด้วย
นั่นคือ เรากำลังอยู่ในยุคที่เสพ เสพแต่ไม่ย่อยหรือเปล่า?
ปรากฏการณ์ที่เราลืมอะไร เพราะเรารู้ว่าเราจะหามันได้ทีหลังนี้มากันในหลายชื่อ บางคนเรียกมันว่า Extended Mind บางคนเรียกว่า Outboard Brain หรือ Transactive Memory, นักจิตวิทยาสามรายบอกว่าหากเรารู้ว่าจะหาข้อมูลนั้นๆ ได้อีกทีที่ไหนละก็ เราจะจดจำสิ่งนั้นได้น้อยลง แต่ข้อดีก็คือ เราจะจดจำได้ดีขึ้นว่า เราต้องไปหาสิ่งนั้นที่ไหน” (นั่นคือ เราจะรู้ที่อยู่ของข้อมูล แต่เราจะไม่รู้ตัวข้อมูลเองนั่นเอง
บล็อกเกอร์บางคนใช้การเขียนบล็อกเป็น “สมองข้างนอก” หรือ Outboard Brain ของพวกเขา พวกเขารู้ว่าตัวเองไม่มีทางจำเรื่องทั้งหมดได้หรอก จึงใช้การเขียนบล็อกเพื่อบันทึกประสบการณ์หรือความรู้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต Cory Doctorow บรรณาธิการแห่ง Boingboing เขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า “ผมสามารถค้นหาข้อมูลเรื่องที่ต้องการได้เพียงคีย์บางคำลงไปในช่องค้นหา […] มันเป็นดังระบบจัดการความรู้ส่วนตัวของผม ที่มีผู้อ่านมาช่วยเสริมเติมแต่งหรือเน้นข้อความให้ด้วย […] ถ้าผมไม่มีบล็อก ก็คงเทียบได้กับภาวะสมองเสื่อม ความรู้ที่เคยสั่งสมมานานก็จะหายวับไปกับตา เหมือนกับที่ระบบ TiVo (นี่แสดงว่าเขียนไว้นานจริงๆ ยังมี TiVo อยู่เลย!) ทำให้ผมไม่ต้องดูรายการน่าเบื่อ บล็อกก็ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องจดจำรายละเอียดทุกขณะของชีวิตเหมือนกัน มันจะคอยเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้ให้ผมในบริบทที่เหมาะสม”
ในโลกที่ข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้ว มันอาจไม่ได้อยู่ในหัวสมองเราก็ได้ และการที่เราไม่มีข้อมูลอยู่ในหัวสมอง แต่เรารู้ว่าจะหามันได้ที่ไหนตลอดเวลา ก็อาจทำให้เราเก็บเกี่ยว metaknowledge ได้มากขึ้น แต่ก็มีผู้วิจารณ์เหมือนกัน (ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นด้วย) ว่าการที่เราแค่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นคืออะไร ไม่ได้จดจำไว้ในหัว ก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะทำให้ความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลของเราลดลง ซึ่งอาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลงตามไปด้วย (ไหม)

XKCD
เช่น – หากคุณไม่รู้ว่าวันเกิดแม่คุณเป็นวันที่เท่าไหร่ และคุณไม่รู้ว่าวันแห่งแมวเป็นวันที่เท่าไหร่ แต่คุณแค่รู้ว่า “จะหามันได้ที่ไหน” สมมติว่าทั้งสองวันเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์เหมือนกัน คุณก็จะไม่มีทางเชื่อมโยงได้ว่า วันเกิดแม่คุณเป็นวันแห่งแมวด้วย ในขณะที่หากคุณรู้ คุณก็จะเชื่อมโยงความรู้ทั้งสองนี้เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างง่ายดาย
มีผู้สนับสนุนการเรียนรู้แบบ “ท่องจำ” เหมือนกันด้วยว่า หากคุณท่องอะไรอย่างหนึ่งไปเรื่อยๆ จนมันฝังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณแล้วละก็ คุณจะดึงความรู้นั้นออกมาได้ง่ายดาย คล้ายกับการฝึก Muscle Memory เลยทีเดียว
ศิลปะแห่งการจำ
เมื่อพูดถึงการลืม – การจำแล้ว ผมก็นึกถึงหนังสือเล่มที่ได้เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วขึ้นมา หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Moonwalking with Einstein (เห็นไหม ผมยังจำได้นะ!) เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของ Joshua Foer ตีพิมพ์ในปี 2011 Joshua เขาสนใจในเรื่องความจำ และการแข่งขันจำระดับชาติ (U.S. Memory Championship) มากๆ จนขอเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของงานแข่งขันครั้งนี้ด้วย ด้วยการฝึกฝนให้ตัวเองจำได้แม่นยำ (ในงานนี้จะประกอบด้วยการจำสิ่งต่างๆ เช่นการจำลำดับไพ่ในกอง หรือจำตัวเลขหลายหลัก) ผ่านเทคนิคเครื่องมือ mnemonic, ผ่านระบบ Major (ระบบทดตัวเลขเป็นเสียง ทำให้จำลำดับเลขได้ง่ายขึ้น) และระบบ PAO (Person-Action-Object ระบบทดข้อมูลที่ไม่มีความหมายให้เป็น คน กริยา สิ่งของ เช่นจำว่า 151633 คือไอน์สไตน์ยกไม้เท้า คือจำแยกว่า 15=ไอน์สไตน์ 16=ยก 33=ไม้เท้า แต่ละตัวเลขจะมีคน กริยา สิ่งของ ที่สอดคล้องกันเป็นของตนเอง วิธีคือต้องท่องตารางให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นจะจดจำชุดตัวเลขได้ง่ายขึ้นมาก)
ปรากฏว่า ฝึกไปฝึกมา ด้วยการโค้ชของ Ed Cooke (ซึ่งเป็น Grand Master of Memory และเป็นผู้ก่อตั้งแอพ Memrise ด้วย) Foer ก็ได้เป็นแชมป์การจำแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2006 เขาเดินทางไปแข่ง World Memory Championship ในลอนดอน และได้อันดับสิบสามของโลก
จากนักข่าวที่สนใจเรื่องความจำเฉยๆ ฝึกไปฝึกมา ได้เป็นแชมป์โลกเฉยเลย! หนังสือเล่มนี้สนุกมากนะครับ แนะนำ (มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ชื่อ “มหัศจรรย์แห่งการจำ” โดยสนพ. PostBook)
หากอยากดูการแข่งขันการจำ ในส่วนจำไพ่ (คนนี้จำทั้งสำรับได้ภายใน 21.90 วินาที) ลองดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=sbinQ6GdOVk น่าทึ่งมาก
วิธีการจำอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ Method of Loci (Loci แปลว่า Place หรือสถานที่) ซึ่งบางคนอาจรู้จักกันในชื่อ Memory Palace และเคยเห็นการจำแบบนี้จากซีรีส์อย่าง Sherlock มันคือวิธีการจำที่เราจะ ‘ฝาก’ ความจำไว้ในสถานที่ที่เราคุ้นเคย เช่น หากเราคุ้นกับแผนผังบ้านของเรา เราอาจจะจินตนาการไว้ในหัวว่าเราจะวางสิ่งของที่ต้องซื้อไว้ตามจุดต่างๆ ในบ้าน วางกระดาษทิชชูไว้ตรงทางเข้า วางถุงขยะไว้ตรงบันได ฯลฯ เป็นต้น แล้วเวลาที่เราต้องการนึก เราก็เพียงจินตนาการย้อนว่าในหัว เราเคยวางอะไรไว้ในบ้านบ้างนั่นเอง วิธีการนี้สามารถใช้ผสมผสานกับวิธีอื่นได้ด้วย เช่น เมื่อสมมติผสมผสานกับวิธี PAO เราก็เพียงวาง “คนกิริยาสิ่งของ” ไว้ตามจุดต่างๆ ในบ้านนั่นเอง (เช่น วางไอน์สไตน์ยกไม้เท้าไว้หน้าบ้าน)
แต่นั่นก็เป็นวิธีฝึกความจำที่อาจเหมาะสมสำหรับการแข่งขันมากกว่า – แล้วกับการจำเรื่องทั่วไป อย่างเช่น หากเราพยายามจะจดจำหนังสือที่เราอ่านมา ให้นึกออกได้อย่างสะดวกง่ายดายในภายหลังล่ะ จะทำอย่างไร
ผมคิดว่าในเรื่องนี้ เราอาจยก “เส้นโค้งการลืมของ Ebbinghaus” ขึ้นมาพูดถึงได้
ในปี 1885 Hermann Ebbinghaus ทดลองว่าเขาจะจดจำสิ่งต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปได้มากน้อยแค่ไหน เขาพบว่าการจดจำน่าจะดำเนินตามเส้นโค้งแบบ Exponential เราจะจดจำได้ลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป นอกเสียจากว่าเราทบทวนมันเรื่อยๆ หรือมีวิธีการจดจำที่ดี (เช่น ใช้เทคนิคการจดจำต่างๆ)
การทดลองของ Ebbinghaus ถูกทำซ้ำโดย Japp M.J. Murre และ Joeri Dros ในปี 2015 นักวิจัยให้คน (น่าเสียดาย, ที่ศึกษาจากคนคนเดียวเท่านั้น) เรียนรู้ข้อมูล (สุ่มๆ เป็นคำไม่มีความหมาย) แล้วเรียนรู้ใหม่ (relearn) หลังจากเรียนรู้สำเร็จ ในช่วงเวลา 20 นาที 1 ชั่วโมง 9 ชั่วโมง 1 วัน 2 วันและ 31 วันหลังจากนั้น รวมระยะเวลาเรียนรู้ทั้งหมด 70 ชั่วโมง พวกเขาพบผลการทดลองคล้ายกับที่ Ebbinghaus เสนอไว้มากกว่า 100 ปีก่อนหน้า โดยมีจุดต่างเพียงแค่ตรงจุดระยะเวลา 1 วัน ที่ผู้ร่วมทดลองมีความทรงจำกระเตื้องขึ้น (พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะการนอนหลับ) [มีผู้โต้แย้ง Ebbinghaus บ้างว่าจริงๆ แล้วกราฟความทรงจำไม่น่าจะเป็นรูปส่วนโค้งเช่นนั้น โดยน่าจะขึ้นกับเหตุการณ์ที่จดจำว่าสำคัญกับผู้จำมากน้อยแค่ไหนต่างหาก]
ไม่นานมานี้ Telegraph เสนอวิธีการจดจำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีขึ้น 7 ข้อ ดังนี้
- ใช้ Memory Palace (อย่างที่อธิบายไปแล้ว)
- ทบทวนซ้ำๆ เรื่อยๆ (ลองทบทวนตามช่วงเวลาที่ Dros เสนอไว้ในการทดลองก็ได้)
- เชื่อมโยง เช่น ถ้าจะจำว่าต้องซื้อไข่ ก็ให้จำเป็นเรื่องราว ว่า เพิ่งทำไข่เจียวไปเมื่อสองวันก่อน
- ใช้ตัวย่อ
- ใช้คำคล้องจอง (เช่น ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่)
- ใช้เพลงเช่น เพลงตารางธาตุ
- ใช้สามัญสำนึก เช่น วางของที่คิดว่าจะลืมไว้ตรงที่เราเห็นแน่ๆ
ทั้งหมดนี้อาจทำให้คุณจำอะไรที่อ่านได้มากขึ้น แต่ผมคิดว่าส่วนสำคัญก็คือการสรุปสิ่งที่อ่านมาให้ง่าย จนเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างไม่ติดขัดนี่แหละ ที่จะทำให้เราจำอะไรได้อย่างแท้จริง (ซึ่งจริงๆ ก็คือวิธีของไฟน์แมน นั่นเอง)
อ้างอิง / ที่มา
หนังสือ Moonwalking with Einstein
ในปี 2007 นักประสาทวิทยาชื่อ Ian Robertson สำรวจคน 3,000 คน
https://www.wired.com/2007/09/st-thompson-3/
นักจิตวิทยาสามราย…
Cory Doctorow เขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า
http://archive.oreilly.com/pub/a/javascript/2002/01/01/cory.html
มีผู้สนับสนุนการเรียนรู้แบบ “ท่องจำ”
https://www.edutopia.org/rote-learning-benefits
อ่านเพิ่ม: Google effects on memory: cognitive consequences of having information at our fingertips.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21764755
Binge Reading Disorder
https://themorningnews.org/article/binge-reading-disorder
ยังมีรายงานด้วยว่าการดูซีรีส์แบบหามรุ่งหามค่ำติดกันหลายๆ ตอนนั้น
http://firstmonday.org/ojs/index.php/fm/article/view/7729/6532
การทดลองของ Ebbinghaus ถูกทำซ้ำโดย Japp M.J. Murre และ Joeri Dros ในปี 2015
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4492928/
Telegraph เสนอ…
http://www.telegraph.co.uk/men/thinking-man/how-to-improve-your-memory-never-forget-anything/