ความทรงจำ (Memories) อาจเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์ ‘เป็นมนุษย์’ ที่เราเฝ้าสงสัยมาเป็นเวลานับพันๆ ปี ความทรงจำนั้นยากเกินที่เราจะทำความเข้าใจหรือไม่ เราเก็บเกี่ยวความทรงจำที่ล้ำค่าพอๆ กับความทรงจำที่โหดร้ายอย่างไร หากจะมีอะไรเล่นตลกกับชีวิตคุณได้อย่างเจ็บแสบที่สุด ‘ความทรงจำ’ คือตัวการสำคัญที่ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความหมาย หรือไม่ ก็อาจพาคุณดิ่งเหว
ก่อนวิทยาศาสตร์จะเข้ามาตอบคำถามเรื่องความทรงจำในภายหลัง มันถูกส่งมาจากนักปรัชญาหลายรุ่นหลายสมัย จากที่เชื่อว่าหัวใจคือจุดศูนย์กลางแห่งความทรงจำ สู่การทำความเข้าใจเซลล์ประสาทในสมอง
เรามาดู Timeline ของการทำความเข้าใจความทรงจำของมนุษย์ ที่ช่างเดินทางมาไกลเสียเหลือเกิน
500 BC อุบัติการณ์ช่วยจำ
หากไม่มีความทรงจำเลย พวกเราคงหลงอยู่ที่ไหนสักแห่ง ความทรงจำนั้นเป็นปริศนาที่มนุษย์ใคร่สงสัย คุณต้องจินตนาการก่อนว่าในอดีต เราไม่มีชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความทรงจำนัก และการหลงลืมก็เป็นเรื่องเจ็บปวด
กวีเอกชาวกรีกนาม Simonides of Ceos พยายามพัฒนากลวิธีในการเพิ่มศักยภาพการจำ ที่เรียกว่า Method of loci เป็นการจดจำข้อมูลโดยการเรียงภาพต่อๆ กัน ที่ช่วยทำให้เราจดจำภาพถัดไปเหมือนการเดินทาง (Journey) ทางความทรงจำ ที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งใกล้ตัว
ต่อมาพัฒนาเป็นวิธีการช่วยจำ Memory Palace ที่มีหลักการไม่ซับซ้อน เมื่อธรรมชาติของมนุษย์นั้นจดจำในสิ่งที่เขาคุ้นเคย เช่น บ้านที่เราอาศัย ห้องแต่ละห้องที่เราใช้ชีวิต เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราอยากจะจดจำร่วมกับสถานที่นั้นๆ
วิธีการนี้ถูกท้าทายมาทุกศตวรรษ และปัจจุบันมันพิสูจน์แล้วว่า ‘เวิร์ค’ แม้แชมป์ความทรงจำโลก Alex Mullen สามารถจดจำค่าพาย (pi) มากถึง 70,000 ตัวเลข ด้วยเทคนิคโบราณนี้ หรือตัวละครในโลกนิยาย Sherlock Holmes ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการไขคดี
300 BC ความทรงจำ อยู่ที่ ‘หัวใจ’
การไขความลับความทรงจำเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของนักปรัชญายุคบุกเบิก Plato เปรียบเปรยความทรงจำของมนุษย์ว่า เสมือนหยอดกรดกัดกร่อนลงไปบนแม่พิมพ์ขี้ผึ้ง และ Aristotle ศิษย์เอกผู้ปราดเปรื่อง เสริมเพิ่มว่าการลืม (Forgetfulness) ของมนุษย์ก็มีธรรมชาติต่างกันในแต่ละช่วงวัย เช่น ในวัยเด็กจำได้ง่าย เหมือนหยดกรดในแม่พิมพ์ขี้ผึ้งที่ยังอ่อนนุ่ม พอแก่ตัวก็จำยากขึ้น เพราะขี้ผึ้งแข็งกลับแข็งกระด้างไปเสียแล้ว
ความทรงจำอยู่ใน ‘หัวใจ’ หาใช่ในสมอง สมองต่างหากที่พยายามหาเหตุมาหยุดยั้งหัวใจที่มักเตลิด
ไอเดียที่ว่าหัวใจนั้นเป็นแหล่งความคิดทั้งปวง ฝังรากฐานยาวนานหลายร้อยปี นักวิทยาศาสตร์ในอดีตหลายคนเคลือบแคลงใจมานานว่า เป็นไปได้ไหมที่มันเป็นอิทธิพลของ ‘สมอง’ (Brain) ควบคุมความคิด แต่เมื่อจะขอผ่าสมองแง้มดูสักหน่อย คริสตจักรดันมีกฎข้อห้ามมิให้ทำการผ่าชันสูตรสมองเพื่อการศึกษาใดๆ จนกระทั่งกฎเกณฑ์ค่อยๆ ผ่อนผันลงในศตวรรษที่ 17
คราวนี้นี่เองที่วิทยาศาสตร์ความทรงจำเปลี่ยนไปตลอดกาล
1900 รุ่งอรุณแห่งประสาทวิทยา
นักปรัชญาชาวเยอรมัน Hermann Ebbinghaus เป็นผู้บุกเบิกวิทยาศาสตร์ความทรงจำสมัยใหม่ ผ่านกระบวนการวิจัยมาตอบคำถามอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เขาไม่ได้สนใจว่าความทรงจำอยู่ตรงไหน แต่สนใจความทรงจำทำงานอย่างไร จึงออกแบบลิสต์คำที่ไร้ความหมายมากถึง 2,000 คำ เช่น คำว่า kaf , nid , pes เพื่อทดลองในอาสาสมัคร
ช่างมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติของเรากลับมีวิธี ‘ลืม’ มากมายไปหมด ตั้งแต่จำแล้วลืมเลย หรือความจำค่อยๆ ลืมอย่างช้าๆ ผ่านเวลา ซึ่ง Hermann Ebbinghaus เป็นผู้นิยามความทรงจำที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ที่ต้องร้อง ‘อ๋อ’ คือ ความทรงจำสัมผัส (Sensory) ความทรงจำระยะสั้น (Short Term Memory) และ ความทรงจำระยะยาว (Long Term Memory) ที่เรายังใช้นิยามนี้กันอยู่ถึงปัจจุบัน
- ความทรงจำทางความรู้สึก (Sensory) คือ ความทรงจำแรกเริ่มที่แล่นสู่สมองเพียงเสี้ยววินาที ตั้งแต่ความรู้สึกผิวสัมผัส อุณหภูมิ รสชาติ แม้เราจะพยายามจำ แต่กลับลืมอย่างรวดเร็ว
- ความทรงจำระยะสั้น (Short Term Memory) โดยปกติเมื่อเราพูดกับใครจบประโยค ก็มักจำได้เพียงชั่วครู่ 15 ถึง 30 วินาที การท่องบ่อยๆ ช่วยให้สมองจัดระเบียบไปสู่ความทรงจำระยะยาวได้เช่นกัน (Long Term Memory)
1990s สู่การสร้าง ‘ความทรงจำเท็จ’
เมื่อเข้าสู่ยุคที่มีทฤษฎีใหม่มากมาย เราได้เห็นด้านที่อ่อนไหวของความทรงจำมากมากขึ้น Elizabeth Loftus และทีมวิจัยของเธอศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำเท็จ (False Memories) เธอตั้งสมมติฐานว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นไม่มีความแน่นอนและสามารถบิดเบือนได้ โดยกลวิธีการฝังความทรงจำเท็จที่เปลี่ยนรายละเอียดในความทรงจำที่เราเคยสัมผัสไปแล้ว หรือแม้กระทั่งปลูกฝังความทรงจำที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
อิทธิพลของความทรงจำเหนี่ยวนำความเชื่อผู้คนได้ว่าพวกเขาเคยทำอะไรมาก่อน ซึ่ง False Memories เป็นปัจจัยต่อความคิด อารมณ์ การแสดงออกทางร่างกาย หากเอาไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์จะช่วยลดความทรงจำที่เป็นบาดแผลจิตใจ (Traumatic memories) ในเหยื่อที่เห็นการฆาตกรรมหมู่ หรือผู้ที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกาย การสามารถบิดเบือนความทรงจำที่เลวร้ายบ้าง อาจทำให้พวกเขาอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น
แต่เราแยกแยะความทรงจำเท็จออกจากความทรงจำจริงได้หรือไม่? งานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการฝังความทรงจำเท็จ ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ ซึ่งแน่อยู่แล้วว่าความทรงจำของเราอาจเป็นส่วนผสมของเรื่องลวงที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงและตัวเราพยายามบังคับให้เชื่อ
2000 – Now
ความผลิบานของเทคโนโลยีสร้างภาพประสาทและสมอง (Neuroimaging) ทำให้งานวิจัยของแวดวงประสาทวิทยาคึกคัก กลายเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีคนรุ่นใหม่สนใจเรียนต่อมากที่สุดแขนงหนึ่ง เราสามารถชี้พิกัดได้แล้วว่าความทรงจำอยู่ ณ ส่วนไหนในสมอง ซึ่งบรรพบุรุษของเราเฝ้าตั้งคำถามมาอย่างยาวนาน
สมองส่วน Hippocampus รับบทบาทในสำคัญในการเป็น ‘กาวเชื่อม’ ความทรงจำเข้าไว้ด้วยกันให้เหนียวแน่นขึ้น เมื่อพวกเราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็จะมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในส่วนนี้อย่างคึกคัก ซึ่งเป็นส่วนที่ตัดสินใจว่า ข้อมูลชุดไหนมีความสำคัญพอที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำระยะยาว
จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถสังเกตพฤติกรรมทางประสาทในสมองขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิต ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย MIT นำโดย Takashi Kitamura ใช้เทคนิคที่ชื่อว่า Optogenetics หรือการใช้แสงเพื่อควบคุมเซลล์ประสาท ด้วยวิธียิงลำแสงที่แม่นยำไปยังเซลล์ความจำเพื่อทำการ ‘เปิด/ปิด’ ความทรงจำที่ทำสำเร็จแล้วในหนูทดลอง โดยสามารถลบความทรงจำหนูได้ ยืนยัน ทฤษฎีพื้นฐานว่าส่วนต่างๆ ของสมองนั้นทำงานร่วมกันเพื่อดึงเอาความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเองออกมา
มีแนวโน้มว่า เราสามารถนำ Optogenetics มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการหาสาเหตุของโรคเกี่ยวกับความทรงจำบกพร่องอย่าง อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) ในอนาคตอันใกล้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Optogenetics : Controlling the Brain with Light
Hermann Ebbinghaus – a pioneer of memory research
Memory Palaces and the Method of Loci
An ancient memorization strategy might cause lasting changes to the brain
Falsifying memories