สังคมไทยถูกครอบงำด้วยประโยคว่า ‘รังนก = ธุรกิจสีเลือด’ มาช้านาน แต่ในปัจจุบันทัศนคติโลกได้เปลี่ยนไปแค่ไหนแล้ว ปริศนารังนกแม้ยากที่จะไข แต่ควรถึงเวลาฉายแสงผ่านงานวิจัยที่ศึกษาร่วม 8 ปี
ลองหลับตาแล้วนึกถึง ‘ธุรกิจรังนก’ ในความทรงจำ หรือที่เคยได้ยินจากคนรุ่นแล้วๆ มา คุณอาจนึกถึงภาพหมู่เกาะลี้ลับทางใต้ หุบเขาสลับซับซ้อน ความดิบชื้นมืดมิด และที่ขาดไม่ได้คือ ‘อำนาจ’ ด้วยความที่รังนกถูกมองเป็นทรัพยากรแห่งความรุนแรง (violent resources) ยิ่งหายากเท่าไหร่ ราคาจะยิ่งสูง และความโลภของมนุษย์ก็เป็นดินประสิวพร้อมปะทุไปสู่ความรุนแรง
หากย้อนไปราวกว่า 30 ปี อาจมีข่าวการแย่งชิงสัมปทานรังนกที่เต็มไปด้วยการลอบสังหาร ลักลอบขโมยรังนก ฆ่าเจ้าของสัมปทาน ธุรกิจรังนกไทยจึงมีภาพจำติดตาดั่ง ‘ธุรกิจสีเลือด’ ที่ต้องตาต่อตาฟันต่อฟัน เอาให้ถึงตาย
แต่แสงสว่างที่นานๆ จะมาพาดผ่านมาเป็นผลงานวิจัยที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลนานถึง 8 ปี โดยนักวิจัยอิสระสายมานุษยวิทยา ‘เกษม จันทร์ดำ’ และทีมวิจัยในชุด “ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภายใต้การสนับสนุนจากฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เป็นครั้งสำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพว่า ธุรกิจรังนกในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว
1. เราทำธุรกิจรังนกมานานกว่า 500 ปี
“ชาวจีนอยู่ที่ไหน รังนกต้องอยู่ข้างๆ” ชาติพันธุ์จีนกับการบริโภครังนกเป็นของคู่กัน กว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้ในโลกมีชาวจีนเป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ ความผูกพันระหว่างชาวจีนกับรังนกอาจมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 1,200 ปี แต่จากหลักฐานลายลักษณ์อักษร เรื่องเล่า และโบราณคดีท้องถิ่นพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรรังนกหลักของโลก) ได้มีการเก็บใช้รังนกจากแหล่งธรรมชาติเป็นอาหารและยาคู่กับชาติพันธุ์จีนมาไม่น้อยกว่า 500 ปี
รังนกเป็นอาหารพิเศษของคนรวยและกษัตริย์ ผู้คนเชื่อว่ากินรังนกแล้วจะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย มีใบหน้าอ่อนกว่าวัย ฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว แม้ไม่ได้ถูกระบุเป็นยารักษาอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ปัจจุบันความนิยมก็ไม่มีท่าทีเสื่อมคลายลง และอัตราการบริโภคก็เพิ่มขึ้นทุกๆ ปีโดยชาวจีนรุ่นใหม่
2. ‘นกนางแอ่น’ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ทั้งคุณและโทษ
กลุ่มชาติพันธุ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมีความเชื่อที่เชื่อมโยงกับชีวิตนกนางแอ่น โดยรวมแล้วไปในทิศทางเดียวกัน คือ ‘นกนางแอ่นเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์’ ชาวเวียดนามเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ ตัวแทนของของความซื่อสัตย์และภักดี รักเดียวใจเดียวต่อคนรัก
ชาวอินโดนีเซียเชื่อว่านกนางแอ่นเป็นทรัพย์สมบัติของ ‘เทพีนีโรโรคีดุล’ ชาวมุสลิมเชื่อว่านกนางแอ่นจะมาทำรังในบ้านไหนขึ้นอยู่กับประสงค์ของอัลลอฮ์ ส่วนชาวมาเลเซียเชื่อว่ารังนกเป็นของขวัญจากบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นกนางแอ่นจะเลือกมาทำรังเฉพาะในบ้านของผู้ที่ได้รับพรจากอัลลอฮ์เท่านั้น
ชาวใต้ในอดีตส่วนหนึ่งเชื่อว่านกนางแอ่นเป็นวิหกกินลม ได้อาหารบำรุงกำลังจากอากาศ น้ำลายที่ใช้ในการสร้างรังจึงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ชาวไทย-มาเลย์มุสลิมล้วนมองชีวิตของนกนางแอ่นเป็นสัตว์ที่ต้องเคารพยำเกรง มีพลานุภาพเฉกเช่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. จารีตการเก็บรังนกและผู้หญิงที่ห้ามเข้า
ชีวิตเก็บรังนกเป็นอาชีพที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่งยวด แน่นอนที่มนุษย์จะมีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเพื่ออธิบายในสิ่งที่หาคำตอบไม่ได้—โดยยึดถือความเชื่อของวัฒนธรรมการนับถือผี (animism) ดังนั้นก่อนหรือหลังเก็บรังนก กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในถ้ำรังนกมีข้อห้ามมากมาย มีกฎในการประพฤติตน และมีรูปแบบการใช้ภาษาเฉพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่อันเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำถ้ำ เป็นขวัญกำลังใจให้การเก็บรังนกปลอดภัยต่อชีวิตตนเองและครอบครัว
บางประเทศจะมีเรื่องราวของผู้หญิงในฐานะวีรสตรีต่อสู้ปกป้องแย่งชิงเกาะรังนกเช่นในประเทศเวียดนาม หรือการมี ‘เทพีนกนางแอ่น’ ในประเทศอินโดนีเซีย
แต่บางกลุ่มสังคมที่มีวาทกรรมสังคมเพศชายเป็นใหญ่ จะห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในถ้ำรังนกเป็นอันขาด ด้วยเหตุผลของความอันตราย ผู้หญิงจะทำให้พื้นที่ไม่มงคล เพราะประจำเดือนทำให้สกปรก ผีที่สถิตในถ้ำจะไม่ชอบ ยกเว้นในประเทศฟิลิปปินส์ที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าถ้ำได้
ความเชื่อนี้ค่อยๆ คลายลง เมื่อธุรกิจรังนกเปลี่ยนเป็น ‘ตึกรังนก’ ที่ผู้หญิงสามารถเก็บรังนกได้เหมือนผู้ชาย คนงานที่ทำเกี่ยวกับรังนกล้วนเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่
4. ‘รังนกถ้ำ’ กับอำนาจ
รังนกถ้ำเป็นทรัพยากรตัวกลางที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในรัฐ และแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีการผูกขาดในการจัดการและเข้าถึง มีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มักมีการเหลื่อมล้ำกันอยู่เสมอ รวมถึงพยายามควบคุมศูนย์กลางอำนาจ ปิดกั้นคนอื่นที่อยู่นอกกลุ่มไม่ให้ข้องแวะและไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรที่ล้ำค่านี้
อีกส่วนหนึ่งคือการ ‘สืบทอดสิทธิ’ ของการเป็นเจ้าของรังนกที่มาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการสืบทอดสิทธิแบบกฎหมายจารีตที่ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จากอำนาจของพ่อสู่อำนาจของลูก ดังนั้นภาพที่เห็นในสื่อต่างๆ คือความรุนแรงในการช่วงชิงพื้นที่ธุรกิจรังนกที่มักนองเลือดอยู่เสมอ
อาจารย์ เกษม จันทร์ดำ นักวิจัยด้านมานุษยวิทยา เจ้าของงานวิจัยกล่าวว่า
“ก่อนหน้านี้ที่รังนกมันบูมมาก ช่วงปี พ.ศ. 2524–2525 ตอนนั้นรังนกมันแพงมาก กิโลละ 1-2 แสนบาท มีการขโมยรังนกกัน มีการฆ่ากันตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่เรียกได้ว่า รังนกเป็นทรัพยากรแห่งความรุนแรง (violent resource) ภาพเหล่านั้นถูกเล่าต่อ ถูกกักขังเอาไว้เป็นอัตลักษณ์ ถ้าคิดถึงรังนก มันเป็นภาพที่เต็มไปด้วยเลือดและการฆ่า ซึ่งในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้วครับ”
การสัมปทานรังนกมักจะมีพื้นที่พิเศษ มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง นอกจากได้สิทธิในการสัมปทานในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรแล้ว มันยังเป็นการเก็บเกี่ยวอำนาจรัฐมาด้วย และสิ่งแฝงมาคือ คนที่เป็นเจ้าของสัมปทานจะมีฐานะอำนาจเทียบเท่ารัฐ ซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็น
5. การทำ ‘ตึกนก’ ธุรกิจที่คลี่คลายความตึงเครียด
ภาพลักษณ์ของธุรกิจรังนกนองเลือดค่อยๆ เปลี่ยนไปในลักษณะการอนุรักษ์บำรุงพันธุ์ในแหล่งตึกของเอกชน (รังนกตึก) จากนั้นก็เก็บรังนกที่ทำรังในตึก (ทั้งหมดเป็นรังที่นกไม่ได้ใช้แล้ว ไม่มีลูกนกอาศัย) มาทำการล้างทำความสะอาด และนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ
รังนกตึกเป็นการเพาะเลี้ยงนกนางแอ่นที่เป็นระบบ ใช้วิทยาการสมัยใหม่ ใช้ความรู้ด้านปักษีวิทยาในการทำความเข้าใจพฤติกรรมนก เพื่อให้ตึกเป็นที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมซึ่งต้องจัดการอย่างแม่นยำ โดยรวมมีการจัดการที่ดีกว่าในแหล่งธรรมชาติมาก สามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าแหล่งรัฐสัมปทานที่มักมีการเก็บรังนกเกินขนาดจนแหล่งธรรมชาติเสื่อมโทรม เร่งให้ปริมาณนกลดลงอย่างรุนแรง
ธุรกิจรังนกตึกนอกจากจะเก็บรังนกเพื่อการค้าแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการเพิ่มประชากรนกในธรรมชาติทางอ้อม เนื่องจากมีการบำรุงพันธุ์ของนกนางแอ่นอยู่เสมอ
6. ความเป็น ‘สีเทา’ ในธุรกิจรังนก
แม้ธุรกิจรังนกตึกจะทำรายได้ดี เพราะคนส่วนใหญ่หันมาบริโภครังนกตึกเนื่องจากมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับรังนกถ้ำ แต่ยังมีอุปสรรคของข้อกฎหมายไทยที่ยังไม่ครอบคลุมธุรกิจนี้ ธุรกิจรังนกจึงมีความเป็น ‘สีเทา’ อยู่ ซึ่งนับว่าเสียโอกาสที่ไม่สามารถครอบครองหรือจำหน่ายรังนกตึกอย่างเปิดเผยได้
ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย มองว่ารังนกเป็น ‘สินค้าทางการเกษตร’ แต่ในขณะที่ไทยยังมองเป็นสินค้าต้องห้าม ทั้งๆ ที่บริบททางสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว รังนกส่วนใหญ่ในท้องตลาดก็ล้วนเป็นรังนกจากการทำฟาร์มในตึกสมัยใหม่ทั้งหมด
“ผมเชื่อว่า รังนกยังผิดกฎหมาย และที่ถูกกฎหมายคือรังนกที่อยู่ในระบบสัมปทาน มันค่อนข้างจะผูกขาดด้วยบางคน
ติดข้อกฎหมายข้อเดียวคือ นกที่อยู่ในบ้านไม่สามารถเก็บและครอบครองได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดและไม่มีช่องอนุญาต เว้นไว้แต่จะแก้กฎหมายข้อนี้ ประเทศไทยเราเสียอย่างเรื่องนี้ เราพูดมา 6 ปีแล้ว จริงๆ แล้วนกเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ที่ถูกคุ้มครองเท่านั้นเอง” กมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นักวิจัยการบริโภครังนกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ กล่าว
7. ธุรกิจรังนกจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต
“ปัญหาที่เป็นตัวอุปสรรคของการเสริมศักยภาพรังนกของรัฐไทย ก็คือข้อกฎหมายของเรามีความไม่ทันสมัยต่อโลกสมัยใหม่ ที่การค้ามันมีการข้ามพรมแดน หรือเรียกว่าไร้พรมแดนมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐต้องมีการแก้กฎหมายอย่างเร่งด่วน ทำให้เราเสียโอกาสในการทำธุรกิจ ทั้งในเชิงตลาดและในเชิงการวิจัย”
ผลผลิตรังนกตึกยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายทำให้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจกับต่างชาติ นักวิจัยมีความพยายามจะให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้นกนางแอ่นเป็นสัตว์ที่ ‘เพาะเลี้ยง’ ได้
การทำธุรกิจตึกนกอาจตามมาด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาวะและภูมิทัศน์ชุมชน เพราะก็ต้องยอมรับว่า การที่ให้นกจำนวนมากอาศัยในตึกล้วนสร้างกลิ่นและมูลอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้หากเกิดกรณีโรคระบาดในสัตว์ปีก
แต่เมื่อทำให้ถูกกฎหมาย ก็จะมีมาตรการควบคุมด้านสาธารณสุขให้เป็นมาตรฐานระดับสากลที่นักธุรกิจส่วนใหญ่พร้อมจะน้อมรับ อย่างไรก็ตาม ชีวิตนกนางแอ่นและรังนกยังมีพื้นที่รอคอยการวิจัยอยู่มากที่จะสามารถปลดพันธนาการจากความเชื่อเดิมๆ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติควรดำเนินไปเช่นไรโดยที่เราและนกเข้าอกเข้าใจกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย : ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกนางแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนการวิจัยโดย สกว.
นักวิจัย : เกษม จันทร์ดำ และทีมวิจัย
ขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (The Thailand Research Fund)