พอกันทีกับการแบ่งแยกว่า การ์ตูน เกม หนังทั้งหลายมันเป็นแค่เรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องบันเทิง หรือเป็นของสำหรับเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรจะลงไปควบคุม เพราะพอเราเลิกมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็จะสามารถหาสาระ ความเข้าใจ และประโยชน์จาก ‘เรื่องไร้สาระ’ อย่างที่เราเคยเสนอเรื่อง ‘วิชาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มาจากหนัง เกม การ์ตูน’ กันไปแล้ว
ในวาระนี้ The MATTER ชวนไปดูงานวิจัยที่น่าสนใจ 7 เรื่องที่พาเราจากเรื่องที่เคยมองว่าไร้สาระ ไปสู่วิธีการศึกษาในระดับจริงจังเว่อร์ อย่างเกม Minecraft กับพัฒนาการเชิงสังคมของเด็กที่มีอาการออทิสติก อะไรคือบทบาทความพิการที่ปรากฏในเกม ออฟ โทรนส์ เวลาที่เด็กผู้ชายเล่นเกมยิงๆ อย่าง Call of Duty มีการแสดงออกถึงความเป็นชายอย่างไร ไปจนถึงมีอะไรแฝงอยู่ภายใต้เรื่องราวของพ่อมดน้อย แฮรี่ พอตเตอร์
Mining for Social Skills : Minecraft in Home and Therapy for Neurodiverse Youth
ไมน์คราฟต์ (Minecraft) เกมเหลี่ยมๆ ที่ให้เราสำรวจและสร้างข้าวของต่างๆ รวมถึงได้ผจญภัยเอาตัวรอด โดยคอนเซปต์เกมก็เปิดกว้างให้ผู้เล่นได้คิดและร่วมมือกับผู้เล่นอื่นๆ ดังนั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งวอร์ชิงตัน (University of Washington) เลยบอกว่า เฮ้ย ด้วยฟังก์ชันและความฮิตของเกมในหมู่เด็กๆ ขนาดนี้ ขอลงไปดูหน่อยว่าเกมไมน์คราฟต์มันมีผลกับเด็กๆ กลุ่มพิเศษเช่นกลุ่มที่มีอาการออทิสติก โดยเฉพาะในแง่ของการช่วยพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงสังคมที่เด็กกลุ่มที่มีอาการนี้มีปัญหาอยู่ จากการศึกษาและสำรวจกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เล่นไมน์คราฟ พบพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นของเด็กๆ จากการสร้างชุมชนออนไลน์ในการเล่นและทำกิจกรรมร่วมกันในเกม ซึ่งทางผู้ปกครอง แพทย์ นักออกแบบ และนักบำบัดจะได้พัฒนาเครื่องมือและช่องทางในการสร้างพื้นที่และกิจกรรมในการบำบัดต่อไป
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
https://www.academia.edu/30774444/Mining_for_Social_Skills_Minecraft_in_Home_and_Therapy_for_Neurodiverse_Youth
Cripples, Bastards and Broken Things : Disability in Game of Thrones
เกม ออฟ โทรนส์ นอกจากจะเด่นดังเรื่องการทำร้ายตัวละครที่เรารักแล้ว เรื่องราวแฟนตาซีที่ไม่ได้สดใส ไม่ได้เต็มไปด้วยเจ้าชายเจ้าหญิงที่สมบูรณ์แบบมาสู้กับเหล่าร้ายเหมือนเทพนิยายที่เราคุ้นๆ กัน งานศึกษานี้ออกมาทำความเข้าใจว่าพวกตัวละครเอกของเรื่องที่ประกอบด้วยคนแคระบ้าง ลูกนอกสมรสบ้าง ไปจนถึงตัวละครที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความไม่ปกติต่างๆ ทำให้การนำเสนอภาพของคนพิการและความพิการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร
อ่านบทความได้ที่
http://journal.media-culture.org.au/index.php/mcjournal/article/view/895
The Ideology of Torture : A Personal, Political, and Philosophical Study of Torture in the MGS series and the Real World
เล่นเกมแนวย่องเบาอย่างเมทัล เกียร์ โซลิต (Metal Gear Solid – MGS) มาก็หลายครั้ง ภาพของการทรมานต่างๆ ในเนื้อเรื่องแนวสายลับหรือเรื่องความมั่นคงทั้งหลายก็ผ่านตาอยู่หลายหน เราอาจไม่ทันคิดอะไรแต่นักวิจัยบอกว่า อุ้ย น่าสนใจว่าไอ้การ ‘ทรมาน’ (Torture) ที่ถูกใช้ทางการเมืองที่ปรากฏในเกมมันมีแนวคิดอะไรซ่อนอยู่นะ แล้วสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ยังไง แล้วการทรมานในเกมที่โยงกับภูมิหลังทางการเมืองเช่นความขัดแย้งสหรัฐ-โซเวียต ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ถูกนำเสนอออกมาอย่างไร ซึ่งมันก็เป็นประเด็นที่พอพูดขึ้นมาแล้วก็รู้สึกว่า เออ น่าสนใจดีเนอะ
อ่านบทความได้ที่
https://www.academia.edu/15309270/The_Ideology_of_Torture_A_Personal_Political_and_Philosophical_Study_of_Torture_in_the_MGS_series_and_the_Real_World
Proving Grounds : Performing Masculine Identities in Call of Duty : Black Ops
สิ่งที่เกมให้เราได้คือการเปิดโอกาสให้เราสวมบทบาทเป็นอย่างอื่นที่ในชีวิตจริงคงจะยากหน่อย พวกเกมแนวเดินๆ ยิงๆ เองก็ทำให้เราได้ลองสวมบทบาทเป็นหน่วยติดอาวุธลงสนามรบอย่างชายชาตรี ในเกมคอล ออฟ ดิวตี้ (Call of Duty) ดังนั้นงานวิจัยเลยศึกษาว่า เอ๊ะ ในมิติเชิงสังคม เวลาที่เด็กผู้ชายอยู่ในพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้สังหารฝ่ายตรงข้ามได้มีผลในการแสดงออกทาง ‘ความเป็นชาย’ หรือ Masculinity เช่น การคุยโวโอ้อวด การท้าทาย และการจัดการคนอื่นๆ ไปจนถึงการเหยียดทางเพศเช่นการเรียกคนอื่นว่าเกย์ อย่างไรบ้าง
อ่านบทความได้ที่
http://gamestudies.org/1602/articles/healey
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีมายาคติของโรลองด์ บาร์ตส์กับวรรณกรรมชุดแฮร์รี พอตเตอร์
เราได้ยินคำว่ามายาคติบ่อยๆ ในทางทฤษฎีมาจากแนวคิดของโรลองค์ บาร์ตส์ ที่บอกว่างานเขียนต่างๆ ต่างทำหน้าที่ในการส่งผ่านชุดความคิดบางอย่างอยู่ในนั้น งานวิจัยเรื่อง ‘การประยุกต์ใช้ทฤษฎีมายาคติของโรลองด์ บาร์ตส์กับวรรณกรรมชุดแฮร์รี พอตเตอร์’ เลือกพ่อมดน้อย ‘แฮรี่ พอตเตอร์’ มาศึกษาว่า ในวรรณกรรมสำหรับเยาวชนที่ดูใสซื่อจริงๆ แล้วกำลังส่งผ่านค่านิยม ความคิด และความเชื่อที่เฉพาะเจาะจงของชนชั้นกลางอะไรให้กับผู้อ่านอยู่บ้าง
อ่านบทคัดย่อได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/13476
นวลักษณ์ในการเล่าเรื่องและเอกลักษณ์ในภาพยนตร์แอนิเมชันของฮายาโอะ มิยาซากิ
ถ้าอยากทำงานให้ได้แบบสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จ การเริ่มต้นจากการลงมือศึกษาก็ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลว เรารู้จักสตูดิโอจิบลิในฐานะเจ้าของผลงานอนิเมชั่นจับใจมากมายที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับโลก วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงลงไปศึกษาอนิเมชั่นจำนวน 9 เรื่องอย่างละเอียดเพื่อค้นหาองค์ประกอบร่วมที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ
อ่านบทคัดย่อได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/8008
การวิเคราะห์ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์จากการ์ตูนโดราเอมอน
โดราเอมอนเป็นการ์ตูนคลาสสิกที่อยู่คู่กับเรามาอย่างเนิ่นนาน โดยตัวเรื่องเองก็มีความเกี่ยวข้องระหว่างโลกวิทยาศาสตร์และจินตนาการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้ใช้โดราเอมอนเป็นตัวบทในการศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่าโดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้วยังสอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนคติธรรมในการดำเนินชีวิตไว้ด้วย จึงเหมาะที่จะใช้ประกอบการเรียนรู้ต่อไปได้
อ่านบทความได้ที่
http://kukr.lib.ku.ac.th/proceedings/KUCON/search_detail/result/9958