วันเด็กแห่งชาติของทุกปีหวนกลับมาอีกครั้ง มักเป็นการบ้านของพ่อแม่ที่ต้องแงะบุตรหลานของท่านออกจากบ้านกันสักหน่อย แต่จะพาไปเดินห้างอย่างเดียวก็ดูไม่ครีเอทนัก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่อยากสนับสนุนให้ลูกๆ ตื่นเต้นไปกับความมหัศจรรย์ของชีวิต จะพาไปที่ไหนดีล่ะถึงจะไม่เสียชื่อพ่อแม่ยุคใหม่อย่างคุณ?
ทำไมไม่พาลูกๆ ไปสบตากับ ‘อสูรกาย’ ซะเลย? ดำดิ่งสู่ห้วงมหาสมุทร สำรวจเรื่องราวอันมหัศจรรย์ใต้ทะเลที่ซุกซ่อนเรื่องราวลี้ลับของวิวัฒนาการไว้อย่างแนบเนียน รอคอยการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าไปคลายปมปริศนา
คุณไม่ต้องไปไหนไกล เพียงแวะ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เท่านั้น ก็จะได้พบกับนิทรรศการชุด Monsters of the Sea ‘ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก’ จำลองสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลของอดีตกาล ด้วยเหล่าสรรพชีวิตมากมายขนาดตัวใกล้เคียงกับหลักฐานที่ปรากฏในฟอสซิล ใหญ่อลังการเกือบคับโรงเก็บเครื่องบิน ที่จะทำให้คุณอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมทะเลถึงอนุญาตให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีขนาดร่างกายใหญ่โต และวิวัฒนาการในอดีตสามารถกลับมาตอบคำถามของปัจจุบันได้อย่างไร
The MATTER พูดคุยกับ ‘พี่ปู’ ชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ นักธรรมชาติวิทยาดึกดำบรรพ์ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ผู้ดูแลข้อมูลของนิทรรศการ Monsters of the Sea ที่จัดขึ้นพร้อมต้อนรับทุกครอบครัวในช่วงวันเด็กที่กำลังจะถึงนี้ ว่ามีไฮไลท์อะไรน่าสนใจและไม่ควรพลาดบ้าง
“ถ้าพูดถึงสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันคือ วาฬสีน้ำเงิน (blue whale) ที่มีความยาวถึง 30 เมตร แต่สัตว์ขนาดใหญ่บนบกอย่างช้างแอฟริกา (African Elephant) กลับมีขนาดเล็กกว่าอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นในน้ำจะต้องมีอะไรดีสักอย่างที่ทำให้สัตว์มีขนาดใหญ่แบบวาฬสีน้ำเงินดำรงอยู่ได้” พี่ปู กล่าว
“ในมหาสมุทร น้ำจะทะลายขีดจำกัดทุกอย่างที่เคยมี”
ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเล
นิทรรศการ Monsters of the Sea เปิดประตูต้อนรับด้วยบรรยากาศเหมือนอยู่ใต้มหาสมุทร นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเมื่อราว 3,600 ล้านปีก่อน ทะเลยังเป็นถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ รวมถึงเป็นบ้านของสัตว์ที่มีลำตัวขนาดมหึมาซึ่งอาศัยอยู่ต่างยุคต่างสมัย ไม่ว่าจะเป็นหมึก ปลากระดูกแข็ง ปลากระดูกอ่อน สัตว์เลื้อยคลานในทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกเป็นจำนวนมาก
ประมาณกันว่าโลกมีสิ่งมีชีวิตราว 8.7 ล้านชนิด ในจำนวนนี้มีสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลถึง 2.2 ล้านชนิด ซึ่งเรารู้จักเพียง 1.2 ล้านชนิดเท่านั้น ยังมีสัตว์อีกมากที่รอการค้นพบ ทำให้ใต้มหาสมุทรมีสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ยังไม่รู้จักอีกถึง 90%
แต่ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลทุกชนิด ‘ไม่จัดว่าเป็นไดโนเสาร์’ อย่าเข้าใจผิด แม้บางสายพันธุ์จะมีลักษณะคล้ายมากเช่น ‘เพลซิโอซอรัส’ (Plesiosaurus) บางชนิดมีวิวัฒนาการและสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว บางชนิดอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันและสูญพันธุ์ในเวลาไล่เลี่ยกันกับไดโนเสาร์ หรือบางชนิดเพิ่งมีวิวัฒนาการหลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลานในทะเลแห่งมหายุคเมโสโซอิค (Mesozoic Era) ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับไดโนเสาร์ แต่มีวิวัฒนาการที่แยกสายชัดเจน จึงทำให้มีความแตกต่างพอสมควร
“สิ่งที่แยกสัตว์เลื้อยคลานในทะเลและไดโนเสาร์ออกจากกันคือ ช่องเปิดกะโหลก สัตว์เลื้อยคลานในทะเลจะมีช่องเปิดกะโหลกเพียง 1 ช่อง ไม่มีรูเปิดข้างตา และไม่มีรูเปิดที่ขากรรไกรล่าง ส่วนไดโนเสาร์จะมีช่องเปิดกะโหลก 2 ช่อง มีรูเปิดข้างตาและมีรูเปิดขากรรไกรล่าง” พี่ปูกล่าว
แม้ขนาดที่ใหญ่ยักษ์จะน่าเกรงขาม แต่พวกมันล้วนเผชิญข้อจำกัด สัตว์ที่มีร่างกายใหญ่มักอาศัยในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นและต้องการแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์สูง ร่างกายขนาดมหึมาจะช่วยในการล่าเหยื่อและป้องกันตัว ลดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย การเผาพลาญพลังงานต่ำทำให้พวกมันส่วนใหญ่มีช่วงชีวิตยืนยาวเพื่อสร้างโอกาสขยายพันธุ์ แต่ความใหญ่โตของพวกก็มีราคาค่างวดที่ตามมา พวกมันต้องการอาหารในปริมาณมาก สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ง่าย หากสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในนิทรรศการ Monsters of the Sea คุณจะพบพระเอกของแต่ละยุคเช่น ฉลามยักษ์เมกาโลดอน (Megalodon) ที่มีน้ำหนักตัวถึง 100,000 กิโลกรัม ซึ่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ พบว่า ฉลามเมกาโลดอนสามารถอาศัยในน้ำที่เย็นโดยไม่มีชั้นไขมัน (Blubber) เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแมวน้ำ แต่มันอาศัยกล้ามเนื้อชั้นนอกในการกักเก็บความร้อน และทำหน้าที่เสมือนฉนวนที่ปกป้องอวัยวะภายในจากความหนาวเย็น เพื่อให้อวัยวะภายในทำงานได้อย่างปกติ ในนิทรรศการยังมีการเปรียบเทียบขนาดของฟันฉลามเมกาโลดอนกับฟันฉลามปัจจุบันที่มีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง ทำให้เด็กๆ เข้าใจลักษณะทางกายภาพได้ง่ายขึ้น
หรือจะเป็น อีลาสโมซอรัส (Elasmosaurus) สัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่มีคอยาวอันโดดเด่นกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว ประกอบด้วยกระดูกคอมากถึง 72 ชิ้น คอที่ยาวช่วยในการบังคับทิศทางในการเคลื่อนไหวส่วนหัว มันล่าเหยื่อในเทคนิคซุ่มโจมตีฝูงปลาจากด้านล่าง ด้วยการอำพรางร่างอันมหึมาแล้วยื่นคอไปสอดแนมในฝูงปลา นักวิทยาศาสตร์ยังพบความมหัศจรรย์อีกว่า อีลาสโมซอรัสหรือสัตว์ในกลุ่มเพลซิออซอร์จะมีก้อนกรวดในกระเพาะอาหาร โดยพวกมันจะดำดิ่งสู่ก้นทะเล เพื่อกลืนก้อนกรวดลงสู่กระเพาะเพื่อช่วยในการย่อยอาหารให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
หรือเดินมาอีกมุมหนึ่งคุณจะพบกิ้งก่าแห่งแม่น้ำปูรุส ‘ปูรุสซอรัส’ (Purussaurus) ขนาดใหญ่และดูน่าเกรงขาม สามารถออกแรงกัดที่มีความหนักหน่วงถึง 7,000 กิโลกรัม ทุบสถิติบรรดาสัตว์สี่ขา (tetrapod) โดยสิ้นเชิง และเอาชนะแรงกัดของไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ไปแบบขาดลอย
นอกจากนั้นคุณยังมีโอกาสพบปลาหุ้มเกราะที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง ดังเคิลออสเดียส (Dunkleosteus) ไทโลซอรัส (Tylosaurus) ไพลโอซอรัส (Pliosaurus) แอมโมไนต์ยักษ์ (Giant Ammonite) และสัตว์ใต้ทะเลอีกมากมาย โดยนิทรรศการมีการเปรียบเทียบวิวัฒนาการของสัตว์ที่พบในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันได้อย่างเห็นภาพอย่างแจ่มแจ้งที่สุด
แต่คำถามคือ อะไรคืออสูรกายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดใต้ท้องทะเลล่ะ?
“คำถามนี้ผมจะถามทุกคนที่มาเหมือนกัน อสูรกายที่แท้จริงนั้นอยู่ในยุคปัจจุบันร่วมสมัยกับคุณ มันคือ ‘แพขยะ’ กลางมหาสมุทร แม้สัตว์เหล่านี้จะมีคมเขี้ยวหรือมีขนาดใหญ่โตก็ไม่สามารถต่อกรกับมันได้ เพราะความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ มนุษย์นั้นเองที่เกิดร่วมยุคและสร้างแพขยะปริมาณมหาศาลนี้ขึ้นมา”
พลาสติกในท้องทะเลแม้ย่อยสลายจะเปลี่ยนโครงสร้างเป็น ไมโครบีดส์ (Microbeads)ขนาดเล็กๆ แต่เมื่อไหร่ที่มันเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์จำต้องบริโภคอาหารจากทะเลอยู่ดี สารพิษเหล่านี้จะตกค้าง ทั้งจากความทั้งใจและไม่ตั้งใจ
“แม้เราจะรู้ว่าแพขยะอยู่จุดไหนของโลก แต่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำการกำจัดให้หมดไป เพราะต้องอาศัยงบประมาณมหาศาล แต่เราแก้ปัญหาที่ต้นตอโดยการลดการใช้พลาสติก ลดขนาดพวกมันลง ไม่ให้ใหญ่ไปกว่านี้ สิ่งนี้เองที่เราถือว่าเป็นหัวใจของงาน” พี่ปูกล่าวพร้อมนำเราไปยังอสูรกายขยะที่อยู่ในส่วนจัดแสดงท้ายสุด ณ ทางออกของนิทรรศการ
โดยรวมแล้วนิทรรศการ Monsters of the Sea ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีรูปแบบนำเสนอน่าสนใจผ่านแสงสีเสียง และหุ่นจำลองที่เคลื่อนไหวได้น่าดึงดูด โดยค่อยๆ เรียบเรียงข้อมูลให้ผู้ชมซึมซับทีละนิด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และไม่ยากเกินไปในการทำความเข้าใจ แม้เด็กเล็กๆ ก็สามารถถูกดึงดูดด้วยกิจกรรมมากมายที่สามารถมีส่วนร่วม ทั้งการวาดภาพสัตว์ใต้ทะเลในจินตนาการ เพื่อดูพวกมันแหวกว่ายบนจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ร่วมกันกับสัตว์ผลงานสร้างของคนอื่นๆ ซึ่งคุณอาจใช้เวลาสัก 1 ชั่วโมงถึงจะชมนิทรรศการครบ แต่อย่าลืมว่า Monsters of the Sea เป็นเพียงหนึ่งในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเท่านั้น
หากคุณจะเดินชมส่วนจัดแสดงทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติให้ครบทั้งตึก อาจจะต้องใช้เวลาทั้งวัน เช้าจรดเย็น ต้องเตรียมตัวกันดีๆ โดยเฉพาะในช่วงวันเด็กที่จะเต็มไปด้วยครอบครัวทุกสารทิศที่ต่างสนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้และเป็นกันเอง
อย่างน้อยในฐานะพ่อแม่ การพาเด็กๆ มาสัมผัสประสบการณ์วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องราวแวดวงบรรพชีวินก็อาจกระตุ้นดวงไฟในใจให้เด็กหลงใหลในโลกแห่งอดีตกาลได้โดยไม่เบื่อ
“แวดวงบรรพชีวินบ้านเรายังต้องการคนเข้ามาศึกษาอีกจำนวนมากครับ จริงอยู่แม้จะมีข่าวการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยบ่อยๆ แต่กลุ่มวิชาการเหล่านี้ยังรอคอยพลังใหม่ๆ เข้าไปเติมอยู่เสมอ เด็กยุคใหม่มีความสนใจและจดจำชื่อไดโนเสาร์เป็นอย่างดี แม่นยำยิ่งกว่านักบรรพชีวินตัวจริงเสียอีก แต่เราก็ไม่มีทางรู้อีกว่าเมื่อพวกเขาเติบโตจะมีอาชีพอะไร แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สำคัญเท่าการสร้างพื้นฐานความเข้าใจของพวกเขาให้เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติที่พวกเขาอาศัยอยู่” พี่ปูน นักธรรมชาติวิทยาดึกดำบรรพ์ กล่าวทิ้งทาย ขณะมองดูเด็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังตื่นเต้นกับเจ้าฉลามยักษ์เมกาโลดอน
หากวันเด็กยังไม่มีแผนอะไรพิเศษ เชิญแวะพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไปสำรวจชีวิตในท้องทะเลกับนิทรรศการ Monsters of the Sea เพื่อหาว่าอสูรกายยักษ์ชนิดไหนถูกใจคุณที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
- เปิดให้บริการวันอังคาร – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.00 น.
- วันเสาร์ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 17.00 น. (หยุดวันจันทร์)
- ติดต่อ 02-577-9999
ขอขอบคุณ
ชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ
วชิรพันธ์ เจริญเวช
แก้วขวัญ เรืองเดชา
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
Photo by Asadawut Boonlitsak