“ความฝันสูงสุดของเราคือ ทะเลจรต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีขยะมาเป็นวัตถุดิบอีกแล้ว”
อาจฟังดูเหลือเชื่อ ผู้พูดเองก็พูดกลั้วหัวเราะ แต่ประโยคนี้ทำให้เราเห็นถึงแนวคิดหลักของแบรนด์รองเท้าที่มีวัตถุดิบจากขยะรีไซเคิลในท้องทะเลอย่าง ทะเลจร ได้เป็นอย่างดี
หัวเรี่ยวหัวแรงอย่าง ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย หรือที่ใครหลายคนเรียกเขาง่ายๆ ว่าอาจารย์อาร์ม ผู้สอนอยู่ในภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าว่าทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากการพยายามหาทางออกให้กับปัญหาขยะในทะเล
“เราทำงานรีไซเคิลขยะทะเลอยู่แล้ว โดยใช้โพลิเมอร์เป็นหลัก และก็ได้กลุ่ม Trash Hero ที่เป็นกลุ่มอาสาเก็บขยะริมทะเลมาช่วย แค่ล็อตแรกก็ได้มา 100,000 ข้าง หนัก 8 ตัน ซึ่งมันเยอะมาก จากที่เราเคยทำเป็นแผ่นปูพื้นให้สนามเด็กเล่น มันไม่พอแล้ว เราเลยต้องหาโมเดลอื่นมาจัดการกับขยะที่มีมากขนาดนี้”
ระหว่างนั้นพอดีกับที่มีการแข่งขัน One Young World ดร.ณัฐพงศ์ จึงจัดทีมร่วมแข่งขันไอเดียธุรกิจเพื่อสังคม โดยนำขยะมาทำเป็นร้องเท้าในชื่อ ทะเลจร ซึ่งเป็นที่สนใจจนสยามเซ็นเตอร์ติดต่อให้ไปวางขาย และทำให้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก พวกเขาจึงต้องหาวิธีผลิตรองเท้าให้ทันความต้องการของตลาด พร้อมกับโจทย์ที่ตั้งไว้ท้าทายตัวเองว่าจะเป็น zero-profit คือผู้ก่อตั้งจะไม่เอาผลกำไร แต่เงินที่ได้จะแจกจ่ายไปยังทุกคนในกระบวนการผลิตแทน
ทะเลจรจึงมีผู้ผลิต 3 กลุ่ม ที่ผลิตรองเท้า 3 รูปแบบแตกต่างกัน ได้แก่ โรงเรียนสอนทำรองเท้ากับบุคลากรที่ถูกรีไทร์ และแบรนด์รองเท้าที่เอาวัตถุดิบนี้ไปต่อยอด ส่วนที่น่าสนใจที่สุด คือกลุ่มผลิตที่อยู่ในชายแดนภาคใต้
“สำหรับโมเดลนี้ผมอยากให้แรงงานเป็นชาวบ้านที่ต้องอยู่กับความรุนแรงในชายแดนใต้ เพราะผมเองเป็นคนปัตตานี และเห็นผลกระทบเหล่านั้นอยู่เสมอ ผมขายในราคา 300 บาท 100 บาทแรกเป็นค่าแรงให้ชาวบ้าน ส่วน 100 บาทที่สองเป็นของกระบวนการรีไซเคิลพื้นรองเท้า และอีก 100 บาทให้กับคนที่ขายของให้เราอีกทีหนึ่ง สุดท้ายแล้วธุรกิจนี้เลยไม่มีผลกำไร”
แม้จะฟังดูแปลกๆ สำหรับการทำธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เงินกลับมา แต่ ดร.ณัฐพงศ์ บอกว่าแรงผลักดันของเขาคือความสนุกที่จะได้แก้โจทย์ที่ตั้งเอาไว้ และทะเลจรก็ยังมีอยู่เพื่อรีไซเคิลขยะในทะเลเป็นหลัก ซึ่งประโยชน์รายทางที่เกิดกับคนอื่นๆ ในกระบวนการผลิตนั่นแหละคือกำไรงามๆ สำหรับตัวเขาเอง ดังนั้นการออกเดินของเขาจึงไม่เคยสูญเปล่า
จากคอลัมน์ Start Up — giraffe magazine issue 45 Better World