แผ่นดินจีนมีขนาดมโหฬารเป็นสวรรค์ของนักล่าฟอสซิล จนทำให้ทุกวันนี้ จีนอยู่ในช่วง ‘ยุคตื่นฟอสซิล’ มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ๆ ในช่วง 10 ปีให้หลังอย่างคึกคัก จนรัฐเห็นช่องทางกอบโกยเม็ดเงินมหาศาลผ่านองค์ความรู้ ‘โลกล้านปี’ แต่อะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อพิสูจน์ว่า จีนจะเป็น Hotspot ของฟอสซิลที่น่าจับตามากที่สุดในโลก
เปลี่ยนที่รกร้างให้เป็น Hub ของฟอสซิล
ยังไม่มีใครนึกภาพออก หาก ‘เหลียวหนิง’ (辽宁省) มณฑลของจีนอันติดกับประเทศเกาหลีเหนือที่แสนรกร้าง และไม่เคยอยู่ในสายตาของนักท่องเที่ยวมาก่อน จะเป็นสถานที่เหมาะสมในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ทางบรรพชีวินที่จีนลงทุนเม็ดเงินมหาศาล (อาจจะมากที่สุดโครงการหนึ่ง)
แม้ตอนนี้ทุกอย่างจะอยู่ในพิมพ์เขียว มีขึ้นโครงสร้างเสาเหล็กแบ่งเป็นอาคารปีกซ้ายและปีกขวา เชื่อมต่อกับอาคารหลักที่เสมือนกับนกโบราณกำลังโผบินไปยังท้องฟ้า ซึ่งพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของจีนที่มีต่อโลกล้านปี มีชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลโบราณเหลียวหนิง’ (Liaoning Ancient Fossil Museum) โดยสนนราคาการก่อสร้างสูงถึง 28 ล้านเหรียญสหรัฐ (นี่เพียงสำหรับค่าก่อสร้างอาคารเท่านั้น ไม่รวมฟอสซิลหายากประเมินค่าไม่ได้ที่จะนำมาจัดแสดง ไหนจะตัวนิทรรศการเองอีก) นี่จึงเป็นโครงการพิพิธภัณฑ์ที่มีราคาสูงมากจนน่าตกใจที่จีนกล้าลงทุนไปกับเรื่องราวในอดีต ซึ่งในปี 2019 พิพิธภัณฑ์นี้น่าจะพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มีหัวใจรักไดโนเสาร์จำนวนมาก เป็นการเปลี่ยนพื้นที่อันรกร้างให้เป็นจุดกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และปลุกกระแสคลั่งโลกล้านปีให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
แต่ดูจากพื้นที่อันห่างไกลแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินทางไปยังมณฑลเหลียวหนิง แต่ทางรัฐบาลจีนมีแผนใหญ่โตอีกโครงการมารองรับ คือนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ด้วยรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 400 กิโลเมตรจากเมืองปักกิ่งตรงสู่เหลียวหนิง โดยใช้เวลาเดินทางไม่ถึงชั่วโมง นับเป็นความกล้าบ้าบิ่นของรัฐบาลจีนที่ลงทุนเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านผู้นำฟอสซิลโลก (แต่ปัจจุบันโครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยังไม่เริ่ม)
ในรอบ 10 ปีให้หลัง ข่าวการขุดค้นพบฟอสซิลในจีนสร้างชื่อให้กับประเทศจีนเป็นอย่างมาก สามารถดึงความสนใจประชาคมโลกมาได้อย่างล้นหลาม เบียดแชมป์เก่าอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทางฝั่งตะวันตกเคยมีการค้นพบไดโนเสาร์อย่างคึกคักราวตื่นทองตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แต่ได้ลดลงในช่วงหลังสวนทางกับจีนที่มีรายนามไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ และถูกรักษาไว้ในสภาพดีกว่าแย่งพื้นที่สื่อและวารสารวิจัยบรรพชีวินได้เรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 20
หากจะพาคุณสำรวจมณฑลเหลียวหนิงเสียหน่อย ก็หาใช่พื้นที่ว่างเปล่าที่ปราศจากความสลักสำคัญทางประวัติศาสตร์ ย้อนไปในช่วงปี 1990 โน้น ชาวนาในท้องที่ค้นพบไดโนเสาร์โดยบังเอิญ เป็นสายพันธุ์ที่มีขนเหมือนนกเป็นชนิดแรกๆ ‘ซิโนซอรอปเทอริกซ์’ (Sinosauropteryx) ที่ทำให้เราเห็นภาพวิวัฒนาการชัดขึ้น ไดโนเสาร์ค่อยๆ มีจุดร่วมกับนกปัจจุบัน ฟอสซิลมีสภาพดีมาก หลังจากนั้นก็มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราว 40 สายพันธุ์ ทำให้มณฑลเหลียวหนิง กลายเป็นจุดนัดพบ HotSpot การซื้อขายฟอสซิลโบราณที่คึกคักมากที่สุดของประเทศจีน
เมื่อมีเงินก็มีโอกาส ชาวนาและเกษตรกรในท้องที่หลายคนก็ผันตัวมาเป็นนักล่าฟอสซิลกันบ้าง หวังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าปลูกข้าว แต่การค้นหาสัตว์โบราณก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสายตาที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนมาก่อน ตลาดฟอสซิลในจีนจึงดำเนินไปอย่าง ‘ตาดีได้ ตาร้ายเสีย’ มีของปลอมปะปนกับของดี ขึ้นอยู่กับใครตาถึงและมีความรู้มากกว่ากัน
ในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดก่อสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ เพียงไม่กี่ก้าวเป็นก็จุดค้นพบไดโนเสาร์ยูไทรันนัส (Yutyrannus) ที่น้ำหนักตัวถึง 1,400 กิโลกรัม มีลักษณะคล้าย T-rex ขนาดย่อมๆ แต่มีขนปกคลุมปุกปุย หรือการค้นพบ แอนคิออร์นิส (Anchiornis) ไดโนเสาร์ขนาดเท่าไก่บ้าน ฟอสซิลอยู่ในสภาพดีมากจนรักษาลักษณะขนและสีได้อย่างสมบูรณ์ จนนักบรรพชีวินเรียกว่า ‘ไดโนเสาร์ทีวีจอสี’ ทำให้พวกเรารับรู้ว่าแท้จริงแล้ว โลกล้านปีเต็มไปด้วยไดโนเสาร์ที่มีสีสันสวยงามมากมาย ไม่ใช่ไดโนเสาร์สีทึมหรือผิวเกลี้ยงอย่างที่เข้าใจกันมานาน
ดังนั้นการเลือกพื้นที่ของรัฐบาลที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จึงอิงกับการค้นพบทางบรรพชีวินเป็นหลัก เพราะจากสถิติ มณฑลเหลียวหนิงนั้นมีการค้นพบสัตว์อื่นๆ นอกเหนือจากไดโนเสาร์มากเสียด้วย มีทั้งนกโบราณ 53 ชนิด ปลา 15 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคครีเทเชียส 17 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมีปีกกลุ่มเทอร์โรซอร์ (Pterosaurs) อีก 24 ชนิด ยังไม่นับรวมพืชโบราณอีกหลายร้อยชนิดที่ขุดค้นพบในที่เดียวกัน ทำให้มณฑลเหลียวหนิงเป็นขุมทรัพย์ทางธรณีวิทยาและบรรพชีวินที่น่าภาคภูมิใจของจีน หากพิพิธภัณฑ์ที่ดีสุดที่สุดจะอยู่ที่นี้ด้วย ก็น่าจะเสริมภาพลักษณ์ให้โดดเด่นขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้ในมณฑลเหลียวหนิงมณฑลเดียวก็มีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กและกลางมากถึง 10 แห่งอยู่แล้ว แต่การสร้างพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง จะทำให้เหลียวหนิงเป็นจุดหมายที่คนรักไดโนเสาร์ทั่วโลกพลาดไม่ได้
สำหรับนักบรรพชีวินแล้ว ฟอสซิลที่ถูกค้นพบในมณฑลเหลียวหนิง ไม่ได้มีรายละเอียดครบสมบูรณ์อย่างเดียว แต่ยังเปิดประตูบานใหม่ๆ ให้พวกเขาทำความเข้าใจวิวัฒนาการที่เชื่อมระหว่างนกและไดโนเสาร์ได้แจ่มแจ้ง ถึงช่วงระยะเวลาที่ไดโนเสาร์มีวิวัฒนาการทักษะการบินในการล่าเหยื่อ รวมไปถึงรายละเอียดของระบบย่อยอาหาร โครงสร้างกระดูก ระบบทางเดินหายใจ ลักษณะขน ขนาดลำตัวที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากยักษ์ใหญ่กินเนื้อจนกลายมาเป็นนกกระจอกบ้านในท้ายที่สุด
หากวิวัฒนาการจะคล้ายกับหนังสือเล่มโตๆ ในอดีตหนังสือเล่มนี้ก็ขาดบทสำคัญที่ทำให้อ่านแล้วกระโดดไปมา จากบทที่ 1 ไปบทที่ 5 แล้วไปจบบทที่ 10 แต่การค้นพบฟอสซิลในมณฑลนี้เป็นการค่อยๆ เติมเต็มบทที่ขาดหายไปในหนังสือวิวัฒนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระแสแห่ขุดฟอสซิล (Fossil Boom) ในจีนได้สร้างปัญหาให้กับนักวิจัยเช่นกัน เนื่องจากเหล่านักล่าไดโนเสาร์จำนวนหนึ่งเป็นเพียงมือสมัครเล่น เคยเป็นชาวนาหรือเกษตรกรมาก่อน การค้นพบฟอสซิลหากพบชิ้นสมบูรณ์จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังขาดองค์ความรู้สมัยใหม่ในการขุด ขาดทักษะเก็บรักษาฟอสซิล พวกเขายังไปพังทลายแหล่งขุดต่างๆ ของนักวิจัยจนเป็นเรื่องเป็นราว หรือวางอำนาจกีดกันนักวิทยาศาสตร์ที่ขอไปสำรวจในพื้นที่ จนหลายครั้งนักวิจัยต้องแอบแฝงตัว อ้างว่าเป็นมือสมัครเล่นด้วยกันเพื่อขอสำรวจพื้นที่
หากบอกว่าเป็นนักวิจัยก็มีแต่จะถูกไล่ตะเพิดเอาเท่านั้น คนเหล่านี้ไม่มีการจดบันทึกเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่รู้ลำดับความสำคัญของชั้นดิน ทำให้ฟอสซิลมีแนวโน้มเสียหายจำนวนมาก บวกกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการมีเอี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนเสียเอง โลกฟอสซิลในจีนเลยยังมีความืดหม่นอยู่หลายมิติ
คนในที่อยู่ในธุรกิจซื้อขายฟอสซิลส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนที่มีความรู้ด้านบรรพชีวิน ทำให้มีข้อมูลสูญหายไปเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงฟอสซิลเก๊ ของปลอม ทำเลียนแบบ จนมีการประเมินว่า ฟอสซิลที่ถูกจัดแสดงทั่วไปในจีนที่ว่าของจริง 80% ล้วนเป็นของปลอม
ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ฟอสซิลโบราณเหลียวหนิงจะเป็นพิพิธภัณฑ์ดีที่สุดในโลกอย่างที่จีนหวังไว้ได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและผู้คนที่อาศัยด้วย ฟอสซิลจะถูกตักตวงผลประโยชน์อย่างหน้ามืดตามัว หรือจะสำแดงคุณค่าต่อการศึกษาชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์นั้นโลภมากโลภน้อยแค่ไหนด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Age of the Chinasaurs
www.straitstimes.com
- Chinese scientists hopeful giant ‘fossil wall’ can shed new light on dinosaurs
www.scmp.com