อาหารมื้อใหญ่เปลี่ยนคุณให้เป็นเจ้าหญิงนิทรายามบ่าย เจ้านายสั่งงานอะไรมาให้ทำ แต่ขอโทษนะ หนังตาหนักอย่างกับทั่งเหล็ก แอบงีบกลางวันละกัน รู้ตัวอีกทีสิ้นเดือนตก KPI เลยจ้า จะโทษใครได้นี่?
อาการง่วงจัดหลังอาหารเช่นนี้ใครเป็นบ่อยๆ บ้าง ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Food Coma หรือ Carb Coma (Postprandial somnolence) อันมีสาเหตุจากการรับคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเป็นในมื้อกลางวัน แต่ไม่ต้องหวั่นวิตก อาการ Food Coma ไม่ใช่โรคร้ายแรง แค่เป็นภาวะทางสรีรวิทยาที่พบได้ในคนทั่วไปหลังจากทานอาหารอิ่มโดยเฉพาะประเภทคาร์โบไฮเดรต
แต่ในบางราย Food Coma อาจรุนแรง ทำให้รู้สึกไม่ productive ง่วงนอน อึดอัดแน่นท้อง ไม่มีสมาธิ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แถมดูไม่ค่อยดีในสายตาคนทำงาน และจะร้ายแรงขึ้นหากคุณต้องขับรถขับรา Food Coma อาจพาหลับในหักพวงมาลัยโค้งไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ได้ง่ายๆ
ร่างกายของคุณยามกินจุ
ข้าวพูนๆ 2 จาน เกาเหลา ขาหมู ปิดท้ายด้วยของหวานยามเที่ยง เป็นของชอบของคนที่เชื่อว่าพอทำงานหนักต้องได้รับพลังงานที่ดีตลอดวัน อย่างไรก็ตามปริมาณอาหารที่มากเกินไปจะเปลี่ยนเป็นภาระหนัก เพราะสมองมีกลไกที่สั่งให้ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยมากขึ้น และลดพลังงานในส่วนอื่นๆ ให้น้อยลง (นี่คือเหตุผลว่าทำให้คุณถึงรู้สึกหนาวๆ หลังกินข้าวเสร็จ)
หลังจากนั้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) เพื่อลดระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ แต่ขณะเดียวกันอินซูนลินก็มีอิทธิพลในการขับสารเซโรโทนิน (serotonin) และเมลาโทนิน (melatonin) ที่ทำให้คุณง่วงนอน คอพับคออ่อน
ผลคือ ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะพักผ่อน อวัยวะต่างๆ ทำงานช้าลง รู้สึกเหมือนหมดแรง หัวไม่แล่น เหนื่อยง่าย และรู้สึกว่าอุณหภูมิลดลงกว่าปกติ นี่จึงเป็นอาการ Food Coma ที่ค่อนข้างบั่นทอนชีวิตชาวออฟฟิศพอสมควร
Food Coma เลี่ยงได้ด้วย 4 วิธีนี้
Tip No.1
หลังกินอาหารเที่ยงเสร็จหมาดๆ หากิจกรรมอื่นๆ ทำก่อนไปลุยงานนั่งโต๊ะเอกสาร ทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าปกติ หรืองานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จะไปจับกลุ่มเมาท์ชาวบ้านหรือจิบกาแฟร้อนๆ สัก 10- 15 นาทีก็ได้ แล้วกลับมาทำงานใหม่ (แต่อย่าเพลินล่ะ)
Tip No.2
กินอาหารพอดีคำ เคี้ยวช้าๆ ลดความเร็วในการกินอาหาร เพื่อให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนัก นักวิจัยพบว่า อาหารที่อ่อนหรือมีลักษณะเป็นของเหลวจะช่วยลดอาการ Food Coma ได้ และดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อเป็นการบังคับให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้อยากเข้าห้องน้ำ จะได้ไม่นั่งแช่นานๆ
Tip No.3
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง แป้ง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มรสหวานจัด เปลี่ยนไปทานผลไม้ยามบ่ายที่มีรสเปรี้ยวแทน เพราะอาหารที่มีไขมันสูงมักจะทำให้คุณง่วงเร็ว ลองหาสมดุลคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่คุณต้องการในแต่ละวัน โดยให้อยู่ในระดับที่จะไม่ทำให้คุณหิวโหยมากนัก และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คุณรู้สึกง่วงหนักจนเกิน พยายามรักษาสัดส่วนของอาหารที่ทานในแต่ละมื้อไว้
Tip No.4
นอนให้เพียงพอในตอนกลางคืน และจะดีมากหากคุณพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มแล้วก่อนไปกินอาหาร มีงานวิจัยพบว่า ผู้ขับรถที่กินอาหารเที่ยงมากกว่าปกติมีแนวโน้ม ‘หลับใน’ สูงมากจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น การที่คุณนอนน้อยและกินเยอะก็มีโอกาสทำให้ Food Coma เป็นภัยที่อาจนำไปสู่ความตายได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
นพ.ปิยะพันธุ์ พฤกษพานิช ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / CU HEALTH
Meal composition and its effect on postprandial sleepiness. Physiol Behav. Oct;62(4):709-12.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9284488