ช่วงนี้อะไรๆ เกี่ยวกับลวกหรือไม่ลวกได้รับความสนใจยิ่งนัก ฉะนั้น ผมจึงควรจะเขียนประวัติศาสตร์ลวกๆ หรือไม่ลวกๆ เสียบ้าง
ครับ หมี่หยกจะลวกหรือไม่ลวก หาใช่ประเด็นที่ผมคลั่งไคล้หรอก (กล่าวกันตามตรง ที่ผมเคลือบแคลงคือ ทำไมเดี๋ยวนี้ พวกเขาพวกเธอไม่เต้นอย่างเคยนะ)
เพราะกลับไปลุ่มหลงหอยแครงลวกร้านเด็ดในอดีตช่วงก่อนพุทธศักราช 2500 มากกว่า
เอาเป็นว่า เฮียจั๊ว ขอหอยแครงลวกมาหนึ่งจาน!
ร้านเฮียจั๊วในตลาดบำเพ็ญบุณย์เป็นความอยากมาเยือนและใคร่ลิ้มรสชาติหอยแครงลวกสำหรับใครต่อใครมากมายแห่งยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะพวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และศิลปิน ถ้าเรามีโอกาสไปอ่านหนังสือบันทึกความทรงจำของคนกลุ่มนี้หลายต่อหลายเล่ม ย่อมมีโอกาสได้พบการเอ่ยอ้างถึงเฮียจั๊ว ฝีมือการลวกหอยแครง และรสชาติไม่รู้ลืมบ่อยๆ
’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนผู้ชอบเหลือเกินที่จะพาดพิงเฮียจั๊วและหอยแครงลวกเนืองๆ ดังเขาบันทึกไว้ในหนังสือ พูดกับบ้าน ว่า
“ผมชอบกินหอยแครงลวกร้าน เฮียจั๊ว ในตลาดบำเพ็ญบุณย์ บางคนเรียกแบบเอ็นจอยปากว่า – บราเธอร์จั๊ว บางคนเรียก – อังเคิ่ลจั๊ว แต่ไม่มีใครเรียก – ปาป้าจั๊ว หรือ ป๋าจั๊ว คนยุคนั้นหน้าบางและไม่ประจบสอพลอใครรุนแรงถึงขนาดยกย่องอย่างไม่มีเหตุผลให้เป็นพ่อ!”
ในความเป็นคอเหล้า ’รงค์ ค้นพบว่า “หอยแครงเป็นแกล้มถูกปาก…” และ “หอยแครงสวย… ผมมองมันด้วยสายตาอย่างนั้น!”
มากไปกว่าเหตุผลของความอร่อย ร้านเฮียจั๊วยังชวนประทับใจในแง่ของการเป็นพื้นที่ซึ่งหนุ่มผู้ใฝ่ฝันจะก้าวเข้าสู่โลกน้ำหมึกได้ค้นพบแรงบันดาลใจเปี่ยมล้นจากใครหลายคนที่เคยผ่านโลกน้ำหมึกมาก่อน และกำลังนั่งเผชิญหน้าอยู่กับจานหอยแครงลวก
“ในร้านจั๊วผมมีโอกาสได้พบนักเขียนและคนหนังสือพิมพ์หลายคน เปล่า! ผมไม่เคยได้รับการแนะนำและผมไม่เคยกรากเข้าทักทาย ผมเพียงแต่ลอบมองด้วยความชื่นชม ผมบอกตัวเองว่าผมจะต้องเป็นแบบเขา – ทำงานแบบเขา ผมบอกตัวเองว่าเขากับผมไม่ห่างไกลกันจากระยะแก้วถึงแก้ว จานหอยแครงถึงจานหอยแครง ความเมาของเขากับความเมาของผมคงเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกัน?”
ไม่เพียงนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์เลื่องชื่อประจำยุค ที่ร้านเฮียจั๊วอ้าแขนต้อนรับ กระทั่งอดีตสมาชิกแวดวงสิ่งพิมพ์ที่เหมือนจะถูกลืมเลือนไปแล้ว ก็สามารถมาพรั่งพรูเรื่องราวแห่งวันวานให้คนหนุ่มๆ ฟังได้
’รงค์พบเจออยู่คนหนึ่งพร้อมถ่ายทอดสิ่งที่เขาเรียนรู้ผ่านปากคำสมาชิกเก่าๆ
“บางคนผู้ไม่มีปากกาและไม่มีหน้ากระดาษแล้วเท่านั้น และเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เขาเดินซวนเซมาทักทายกับผมด้วยความยินดีเหมือนลุงพบหลานกำพร้าที่พลัดพรากจากกัน การเดินแบบนั้นสำนวนยุคนั้นว่า: ไขว้ขาเป็นเลขแปด! ผมรู้ว่าเขาอายุ 50 แต่โดนเหล้าเผาใบหน้าแก่เหมือน 70 คงไม่ต้องการอะไรจากผมมากกว่าเหล้าแก้วต่อมาโดยไม่ต้องชำระเงิน ผมไม่รังเกียจ ผมชอบฟังเขาพูดและผมซักถามเขาถึงงานหนังสือพิมพ์ในเวลาที่ผ่านมาของเขา ในบรรยากาศที่หมายถึงกลิ่นหมึกและเสรีภาพ ผมได้รับคำตอบน่าครุ่นคิด ผมเรียนรู้ในขณะเดียวกันจากความสันทัดจัดเจนที่เปียกชุ่มแอลกอฮอล์นั้น ผมเชื่อว่าเขาพูดจริงในจำนวนพร่ำเพ้อหลายร้อยหลายพันประโยค เขาอยากตอบคำถามที่คนรุ่นเดียวกันกับเขาไม่เคยถามและคนรุ่นต่อมาไม่เคยถาม? เขาได้รับการเหยียดหยามดูหมิ่น เขาถูกประณามว่าเป็นไอ้ขี้เหล้าเท่านั้น แต่ผมไม่คิดเหมือนคนอื่น ผมคิดว่าในความเมาเหล้าคนพูดความจริงกันมากกว่าในความเมายศ- เมาอำนาจ!
ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยว่าเขาเป็นใคร?”
คลับคล้ายคลับคลาว่า ’รงค์ ยังได้เปิดเผยกรรมวิธีการลวกหอยแครงให้อร่อยตามแบบเฮียจั๊วไว้ในหนังสืออีกหลายเล่มทีเดียว นอกจากนั้น ผมเองเคยอ่านที่ครูแจ๋ว วรจักร หรือสง่า อารัมภีรเขียนถึงเฮียจั๊วและหอยแครงลวกแห่งตลาดบำเพ็ญบุณย์ไว้ในหนังสือ ความเอย ความหลัง ด้วย
อ้อ! ตลาดบำเพ็ญบุณย์ในช่วงทศวรรษ 2490 ถือเป็นตลาดแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยของกินอร่อยๆหลากหลาย ตั้งอยู่บริเวณไม่ไกลจากถนนเจริญกรุง ไม่ไกลจากศาลาเฉลิมกรุง มิหนำซ้ำ ยังอยู่ใกล้กับซ่องสะพานถ่าน แหล่งโสเภณีชื่อดัง เรียกว่าแวะไปตลาดนี้ทีไรมิแคล้วอิ่มหนำ ตลาดบำเพ็ญบุณย์มีสองชั้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนุ่มๆ สมัยนั้นระลึกถึงตลาด น่าจะเป็นคณะระบำจ้ำบ๊ะของตาหรั่ง เรืองนาม ซึ่งเดิมทีจัดแสดงที่อื่นๆ แล้วพอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ย้ายมาเปิดวิกที่ตลาดบำเพ็ญบุณย์ โดยตาหรั่งจะทำการแสดงบริเวณชั้นลอยตรงกลางตลาด และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น ‘คณะละคอนสารพัดศิลป’
ไปคุยเสียเพลินเรื่องหอยแครงลวก ไหนๆ สาธยายว่าด้วยอาหารลวกๆ แล้ว ถ้าไม่โม้เรื่อง ‘บะหมี่’ คงถือว่าผิด แบบถ้อยคำที่รายการครัวคุณต๋อยใช้เสมอๆ
เท่าที่เคยศึกษาค้นคว้า การประกอบอาหารด้วยเส้นหมี่เริ่มมาจากชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เป็นไปได้ว่า ชาวสยามคงทำความรู้จักเส้นหมี่มานานแล้วแน่ๆ เพราะขนาดในบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เรื่อง อิเหนา ตอนอิเหนาแต่งงานกับบุษบา ก็มีการกล่าวถึง ‘โรงหมี่’ ซึ่งพวกขี้เมาทั้งหลายบุกเข้าไปวุ่นวาย ดังปรากฏเป็นคำกลอนว่า “พวกโหยกเหยกกินเหล้าเมาหรา เดินพูดจาอึงอื้อถือไม้สั้น เข้าโรงหมี่ตีเจ๊กพัลวัน นครบาลมาทันจับตัวไป ฯ”
อันที่จริง บทละครเรื่องอิเหนา น่าสนใจมากครับ แม้ตามท้องเรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นชาวชวา แต่ฉากต่างๆ สะท้อนภาพกรุงเทพมหานครยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ เช่นผมเคยอ่านพบฉากคลองหลอด ในเรื่องนี้
วกมายังเรื่อง ‘หมี่’ กันต่อ ผมตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 อาหารที่ใช้เส้นหมี่ มักเป็นอาหารประเภท ‘ผัดหมี่’ เสียมากกว่า ‘บะหมี่’ หนังสือพิมพ์หลายฉบับช่วงต้นทศวรรษ 2450 ลงข่าว ‘ผัดหมี่’ ที่มีชื่อเสียงมากมาย บางเจ้าขายราคาแพงแต่ก็ยังมีลูกค้าติดตามอุดหนุน จวบจนช่วงทศวรรษ 2460 สมัยปลายรัชกาลที่ 6 จึงปรากฏว่าได้มีการขายบะหมี่เกี๊ยวทั่วๆ ไปในราคาชามละ 2 สตางค์ ส่วนบะหมี่ระดับภัตตาคารราคาแพงๆ ถ้าใครปรารถนาชิมต้องเดินทางไปที่ย่านราชวงศ์ ซึ่งเรียกขานกันติดปาก ‘บะหมี่ราชวงศ์’ เตรียมเงินไปจ่ายเลยครับ ชามละ 5 สตางค์ นับแต่นั้นเรื่อยมา ชาวไทยเราก็คงคุ้นเคยดีกับบะหมี่ตราบปัจจุบันนี้
ก็อย่างที่ว่าไปแล้วตอนต้นแหละครับ ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดเดี๋ยวนี้พอไปรับประทานสุกี้ร้านชื่อดังในห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งเป็นกระแสลวกหรือไม่ลวก ‘บะหมี่หยก’ จึงไม่ได้เห็นการ ‘คืนความสุข’ สุดแสนประทับใจที่พนักงานมาเต้นเพลง “สุขอยู่ที่ใด สุขอยู่ที่ใด สุกี้ สุกี้…” ตามเคยเฉกเช่นวันวาน
ลองสอบถามดู พวกเขาพวกเธอก็ได้แต่ยิ้มและหัวเราะเท่านั้น ไม่ยักกะเต้นให้รับชมแฮะ
เฮ้อ!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2545
- กาญจนาคพันธุ์. เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2540
- ทัศนา ทัศนมิตร, เกร็ดบางกอก. กรุงทพฯ: แสงดาว, 2554
- เทพชู ทับทอง. เล่าเรื่องไทยๆ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สองเรา, 2535
- พระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จ. บทละครเรื่องอิเหนา. สมุทรสงคราม : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2558
- ’รงค์ วงษ์สวรรค์. พูดกับบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2553
- สง่า อารัมภีร. ความเอย ความหลัง. กรุงเทพฯ : พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2531
- อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายหรั่ง (บุญศรี) สอนชุ่มเสียง (นายหรั่ง เรืองนาม) ณ เมรุวัดพระพิเรนทร์ วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2512.
- กมลทิพย์ จ่างกมล. อาหาร : การสร้างมาตรฐานในการกินกับอัตลักษณ์ทางชนชั้น. ววิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545