การแพทย์สมัยใหม่พัฒนาเสียจนเฉียดความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ คุณอาจจะเคยอ่านผ่านตาถึงการพยายามเปลี่ยนหัวคน ปลูกถ่ายอวัยวะในสัตว์ทดลองเพื่อนำมาใช้ในมนุษย์ หรือการพยายามแช่แข็งคนแล้วรอเวลาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง บางแนวคิดก็ยังอีกไกลกว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ไอเดียเหล่านี้กลับไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงวนเวียนในวงการแพทย์สมัยใหม่และถูกหยิบจับมาประยุกต์อย่างไม่เคยขาดแคลน อะไรที่เราเคยคิดว่าชาตินี้คงเห็นในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังได้
ครั้งนี้วิทยาการอาจได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นในการทำความเข้าใจกลไกร่างกายมนุษย์ ด้วยเทคนิคแบบใหม่ที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณเย็นลง จนมีสถานะ ‘กึ่งตาย’ (Quasi-death) เพื่อยืดเวลาการรักษาให้นานขึ้น เทคนิคนี้หากแฟนๆ นิยายวิทยาศาสตร์คงคุ้นๆ กับชื่อว่า “suspended animation” (การระงับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต) ซึ่งในทางการแพทย์ก็มีหลักการที่ใกล้เคียงกันในเชิงปฏิบัติ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในร่างกาย ทำให้ร่างกายอยู่ในสถาวะไม่ตอบสนองใดๆ เมื่อกลไกร่างกายต่างๆหยุดทำงานลง แพทย์จะมีเวลามากขึ้นในการรักษาผู้ป่วย นี่จึงเป็นการซื้อเวลาอันมหัศจรรย์จากมัจจุราชที่ในอดีตไม่เคยทำได้มาก่อน
ให้อุณหภูมิซื้อเวลา
ลองจินตนาการว่าคุณประสบอุบัติเหตุรุนแรงฉับพลัน ไม่ว่าจะไปประสานงากับรถพ่วง ถูกยิงด้วยอาวุธปืน หรือถูกแทงด้วยของมีคม ทุกวินาทีที่แพทย์กำลังทำการรักษามีค่ามหาศาล และเวลาที่มีอยู่นั้นก็ไม่เคยเพียงพอ ทำให้ความผิดพลาดหรือการชะงักงันเพียงชั่วครู่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ระหว่างความเป็นและความตายได้
ดังนั้นความพยายามที่ผ่านมาของแพทย์ จึงต้องหาวิธี ‘ซื้อเวลาเพิ่ม’ ในระหว่างช่วงผ่าตัดซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุด หนึ่งในเทคนิคนี้ที่เริ่มมีการใช้คือ เทคนิคที่เรียกว่า Emergency Preservation and Resuscitation (EPR) เป็นการเก็บรักษาร่างกายและช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน โดยมีหลักการคือลดอุณหภูมิร่างกายลงจนต่ำมากๆ เพื่อให้อวัยวะหยุดทำงาน แพทย์มีเวลาในการผ่าตัดมากขึ้น วิธีนี้จำเป็นต่อผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง (traumatic injuries) ซึ่งที่ผ่านมามีการทดลองหลายรายแล้ว (แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ใช้เทคนิคนี้กับใครแล้วบ้าง)
ทีมนักวิจัยนำโดย Samuel Tisherman จากมหาวิทยาลัย University of Maryland School of Medicine ได้นำร่องเทคนิคนี้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกยิงหรือถูกแทงเข้าจุดสำคัญของร่างกาย มีภาวะเสียเลือดมาก และมีโอกาสหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากญาติก่อนว่าจะเข้ารับการรักษาด้วยเทคนิคพิเศษนี้หรือไม่
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักแม้จะถึงมือแพทย์แล้ว นอนอยู่บนเตียงผ่าตัดก็แล้ว แต่มีโอกาสรอดชีวิตเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้นเทคนิคใหม่ EPR ที่เข้ามาทดแทนในอนาคต จะมีกระบวนการลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยลงให้เหลือเพียง 10-15 องศาเซลเซียส จากนั้นจะทดแทนของเหลวที่สูญเสียด้วยน้ำเกลือเย็นจัด จนสมองผู้ป่วยเกือบจะหยุดทำงาน ซึ่งนัยหนึ่งอาจถือได้ว่า ผู้ป่วยนั้นได้เสียชีวิตแล้ว เซลล์ในร่างกายจะหยุดกิจกรรมทางเคมีต่างๆ ทำให้การใช้ออกซิเจนน้อยลง หลังจากที่ร่างกายอยู่ในสภาพกึ่งตาย ทีมแพทย์จะย้ายผู้ป่วยไปห้องผ่าตัดทันที เทคนิคนี้จะช่วยยืดเวลาผ่าตัดให้กับทีมแพทย์ได้นานขึ้นสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
คำถามคือ ที่ผ่านมามีความพยายามลดอุณหภูมิร่างกายเพื่อยืดเวลาผ่าตัดหรือไม่? จริงๆ แล้วแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจก็ใช้เทคนิคนี้ในการลดอุณหภูมิของหัวใจในการผ่าตัดอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการลดอุณหภูมิที่ต่ำเสียจนเหลือเพียง 10 องศาเซลเซียสมาก่อน ซึ่งแทบจะหยุดระบบเมตาบอลึซึ่มของร่างกายไปโดยปริยาย หลังจากที่การผ่าตัดเสร็จสมบูรณ์และผู้ป่วยมีแนวโน้มรอดชีวิต แพทย์จะค่อยๆ ปรับอุณหภูมิร่างกายคืนสู่ระดับปกติที่ 37 องศาเซลเซียส เพื่อให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนกลับคืนมา และเข้าสู่กระบวนการพักฟื้นต่อไป
ทีมวิจัยวางแผนว่าเทคนิคใหม่นี้จะทดลองศึกษากับผู้ป่วย 10 รายเป็นอย่างน้อยเพื่อพิสูจน์ว่าการทำ EPR ได้ผลดีกว่าการรักษาแบบปกติในกรณีฉุกเฉิน ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติให้มีการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องทดลองกับผู้ป่วยฉุกเฉินที่บาดเจ็บร้ายแรงและไม่มีทางอื่นแล้วในการรักษาเท่านั้น ดังนั้นทีมวิจัยจึงพยายามประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของเทคนิคใหม่นี้ในสื่อหลายทางเพื่อให้ผู้ที่สนใจมีทางเลือกในการรักษาและเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย
เคสผู้ป่วยคนแรกๆ ที่ได้รับการทำ EPR สำเร็จเป็นเด็กหนุ่ม (ไม่เปิดเผยชื่อ) ถูกแทงด้วยมีด ได้รับบาดเจ็บสาหัสเพียงเพราะโจรข้างถนนอยากได้รองเท้าใหม่ที่เขาสวม บาดแผลฉกรรจ์ตัดเข้าหลอดเลือดแดงบริเวณโคนแขน ทำให้มีภาวะเสียเลือดมาก เมื่อทีมวิจัยของ Maryland School of Medicine อธิบายทางเลือกต่อผู้ปกครองในการลดอุณหภูมิเพื่อยื้อเวลาในการผ่าตัด ผู้ปกครองจึงตอบตกลงทันที ทำให้แพทย์มีเวลาสองชั่วโมงบนเตียงผ่าตัดที่สามารถเย็บเส้นเลือดจนผู้ป่วยวัยรุ่นพ้นขีดอันตรายได้สำเร็จ
เทคนิค EPR นำไปทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว โดยเฉพาะหมูที่บาดเจ็บสาหัส ทีมวิจัยสามารถลดอุณหภูมิหมูเพื่อยืดเวลาผ่าตัดได้นานขึ้นถึงสามชั่วโมง ซึ่งทีมวิจัยมั่นใจว่าเทคนิคนี้จะสามารถทำในผู้ป่วยมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย แต่ยังคงมีคำถามว่า หากเราจะทำให้มนุษย์อยู่ในภาวะ suspended animation ได้นานที่สุดแค่ไหน? สามารถนานได้กว่าสองชั่วโมงหรือไม่? เพราะเมื่อร่างกายถูกบังคับให้หยุดการทำงานเป็นเวลานานอาจทำให้เซลล์ได้รับความเสียหาย ทำให้จำเป็นต้องพัฒนายาสูตรพิเศษที่ต้องฉีดให้ผู้ป่วยหลังจากหยุดการเคลื่อนไหวไปนานด้วย คาดว่าภายในปี ค.ศ.2020 ทีมวิจัยจะมีความพร้อมในการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ FDA แถลงข่าวต่อสาธารณะ และจัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไป
มีการคาดการณ์ว่าเทคนิค EPR จะไม่ได้ใช้นวัตกรรมอะไรที่ซับซ้อนมีราคาสูงจนคนทั่วไปรักษาไม่ได้ เพียงแต่ต้องการทีมแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว มีความรู้ที่จะจัดการกับอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยที่ลดต่ำลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมหาศาล
นี่อาจจะเป็นก้าวแรกที่สามารถต่อยอดสู่แนวคิดในการรักษาร่างกายมนุษย์ให้อยู่ในสถานะ suspended animation นานขึ้นเป็นสัปดาห์หรืออาจเป็นปี เพื่อรอเวลารักษาที่เหมาะสม อาจจะเป็น game changer ของการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินครั้งสำคัญของโลก และอาจไม่ได้เป็นเรื่องเฟ้อฝันนัก เพราะครั้งหนึ่งก่อนที่เราจะมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (defibrillator) คนก็หัวใจวายตายกันเป็นว่าเล่น แต่ตอนนี้เครื่องกระตุกหัวใจแบบอัตโนมัติก็ยังอยู่ทั่วทุกที่ ทั้งที่สาธารณะ ฟิตเนส หรือในบ้านคุณเองก็อาจมี
ดังนั้นการรักษาร่างให้เย็นจัดเพื่อรอการรักษาก็สามารถทำได้ หากเราค้นพบกลไกปริศนาในร่างกายมนุษย์ชิ้นสำคัญที่ต้องอาศัยงานวิจัยและการหาคำตอบที่ไม่สิ้นสุด (ตราบที่มีเงินทุนวิจัยสนับสนุน)
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Development of the emergency preservation and resuscitation for cardiac arrest from trauma clinical trial.
- Body Cooling Study