จำพื้นลาวาร้อนระอุที่คุณเคยกระโดดข้ามท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ได้หรือเปล่า นินจาลมกรดที่เคยโดดข้ามเสาไฟฟ้าต้นแล้วต้นเล่าตอนนั่งรถพ่อไปต่างจังหวัด หรือความมหัศจรรย์ในการแปรขบวนมดเมื่อคุณพยายามเอาไม้เล็กๆ ไปขวางทางมัน ต้นไมยราบขี้อายที่ต้องขอลองแตะสักที
พวกเราล้วนเติบโตมาพร้อมกับจินตนาการยิ่งใหญ่ ฝันกลางวันทำให้เรามองไปบนท้องฟ้าอันไร้จุดบรรจบ มันประทับใจทุกครั้ง จนคุณต้องเอาสติ๊กเกอร์หมู่ดาวเรืองแสงนับร้อยมาติดเต็มฝาผนังห้อง สร้างจักรวาลส่วนตัว และผ้าห่มคือยานอวกาศชั้นดีที่ไม่มีวันหมดพลังงาน เพราะมันขับเคลื่อนด้วยจินตนาการล้วนๆ
แต่ทำไมตอนนี้ ความสร้างสรรค์ที่เคยเป็นเพื่อนสนิทกลับหายไปไหนเสีย? ทำไมเข็มนาฬิกาซึ่งไม่เคยรอคอยใครกลายเป็นผู้บงการชีวิต บวกกับปัญหาอีกร้อยแปด จึงไม่แปลกใจเลยที่ ความคิดสร้างสรรค์กำลังจะจางหายไป ซึ่งคุณเองก็รู้ตัวดีอยู่เต็มอก
ความสร้างสรรค์ (Creativity) ไม่ใช่ของขวัญที่อยู่กับใครนาน มันอันตรธานหายไปได้ถ้าไม่รักษาเลี้ยงดู การที่สมองเชื่อมโยงนิวรอนกันอย่างแน่นขนัด แต่เมื่อตกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ ทำอย่างไรจะเรียกมันคืนกลับมาในช่วงเวลาที่เราต้องการมันมากที่สุด
ตามหา little C
ความสร้างสรรค์เสมือนน้ำมันที่ไม่ต้องรอซากพืชซากสัตว์ทับถม แต่สภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันกลับไม่เอื้ออำนวยให้คุณใช้มันมากนัก โครงสร้างบริหารองค์กร Workflow ที่ล้วนถูกออกแบบมาแล้ว เพื่อให้คุณเดินตามเจตจำนงพันธกิจองค์กร
แต่จากปรากฏการณ์ที่ผ่านๆ มา พบว่า ผู้คนวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี เริ่มมีอาการ ‘น็อตหลุด’ ประสบปัญหาภาวะตีบตันในความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถกลั่นความสดใสออกมาได้เหมือนตอนสมัยรุ่นๆ แม้องค์กรจะพยายามเรียกร้องอย่างไรก็ตาม (แน่นอนคุณเริ่มตกประเมิน KPI มากกว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมสลับตำแหน่งอยู่เสมอ และบริษัทก็จ่ายค่าจ้างในราคาที่ ‘ถูกกว่า’)
Big C หรือ Big Creativity คือแนวคิดที่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์คนในสังคม หรือผลผลิตที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ หลายองค์กรพยายามคาดหวังให้คุณตกผลึกมันอย่างเร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่าการตามหา Big C ดูเหมือนไล่ตามอากาศธาตุ มันเป็น Goal ที่สูงก็จริง แต่คนทำงานกลับไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดนั้นอย่างไร
หลายคนจะข้ามช็อตไปยังจุด Big C โดยทันที แต่ลืมลงทุนให้กับ ‘little C’ หรือความคิดสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่เปรียบเสมือนกล่องทางความคิดเล็กๆ ที่ค่อยๆ ซ้อนทับกันจนกลายเป็นชิ้นใหญ่ นักจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่ากระบวนการสร้างความสร้างสรรค์นั้นมันสอนได้ (Teachable) และตามรอยได้ (Traceable)
ทุกคนนิยมฟังเรื่องราวนักคิดหรืออัจฉริยะค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือ จังหวะ ‘ยูเรก้า’ แต่ต่อให้ผลแอปเปิ้ลหล่นใส่ ‘เซอร์ ไอแซค นิวตัน’ หมดทั้งสวน เขาก็จะคิดไอเดียอะไรไม่ได้เลย หากในแต่ละวันไม่สร้าง little C ไว้อย่างสม่ำเสมอ
ระบบการศึกษาที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ ดูดกลืนความสร้างสรรค์
ช่วงวัยก่อนเรียนรู้เป็นภาวะที่เด็กๆ สามารถพัฒนาศักยภาพทางความคิดได้ซับซ้อนที่สุด โดยปราศจากตรรกะที่มาตีกรอบ แต่เมื่อพวกเขาต้องเข้าร่วมสังคมโดยเฉพาะโรงเรียน การศึกษาไทยมักตีกรอบด้วยโอวาทและระเบียบบังคับ กำหนดแต่ละวันตายตัวว่าพวกเขาต้องทำอะไรและอย่างไร ความฝันกลางวันและการตั้งคำถามโง่ๆ เป็นเรื่องผิด ความซุกซนเป็นปัญหา ผลที่ตามมาคือ ความคิดนอกกรอบ ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมก่อกวน (Misfit) เมื่อพวกเขาวาดในกระดาษไม่ได้ พวกเขาจะวาดมันบนกำแพง เด็กๆ ต้องการช่องทางในการปลดปล่อยความสร้างสรรค์ แต่การถูกตั้งแง่แต่ต้นๆ ทำให้พวกเรามีจุดเริ่มต้นที่เป๋ไปเสียหน่อย
หากถามคนทั่วไปว่า อะไรคืออุปลักษณะของศิลปิน 10 ข้อ คุณต้องไม่แปลกใจเลยที่คำตอบมักติดโผคือ
‘เพี้ยน’ ‘ไส้แห้ง’ ‘ติดยาหรือติดเหล้า’ ‘ซับซ้อน’ หรือ ‘ไม่มั่นคงทางอารมณ์’ มันจึงหลีกเลี่ยงยากที่คนในสังคมจะมีทัศนคติเชิงลบต่ออาชีพนักสร้างสรรค์ หรือการเดินตามความฝันอย่างศิลปินจริงๆ และเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้ ไม่มีความมั่นคงทั้งทางภาวะอารมณ์และสถานะทางการเงิน แม้คุณจะมีจิตวิญญาณของศิลปินก็ไม่กล้าออกตัวแรงนัก เพราะท้ายสุดต้องมาคอยตอบคำถาม 108 ที่ไม่ได้พาไปไหน
ก็เราอยู่ในสังคม ที่ ‘พลาดไม่ได้’
ธรรมชาติของความสร้างสรรค์อยู่บนรากฐานแห่งความล้มเหลว มันเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คุณได้สำรวจ ยิ่งในบรรยากาศห้องทดลอง ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ หรือที่เรียกว่า Resurgence ที่เชื่อมโยงระหว่างกระบวนทัศน์ใหม่กับปัจจัยที่อะไรทำให้มัน Work และ ไม่ Work ในเวลาเดียวกัน
แต่สภาพแวดล้อมการทำงานจริงกลับไม่มีพื้นที่ให้คุณพลาดมากนัก ความผิดพลาด (Failure) คือการเสียประโยชน์ของเวลาและทรัพยากรที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ปลื้มมากนัก เพื่อเลี่ยงความเจ็บปวด ทุกคนจะพยายาม Play safe กับการทำงานตัวเอง เพราะไม่อยากเพิ่มความเสี่ยง
ชุบชีวิตความสร้างสรรค์ได้ไหม?
จริงๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ ใช้ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่างหาก
Robert Epstein นักวิจัยด้านจิตวิทยาของสถาบัน American Institute for Behavioral Research ศึกษากลไกการทำงานของความคิดสร้างสรรค์หลายชุดวิจัย มันมีหลักการที่เริ่มทำได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพียงเล็กน้อย ไม่ฝืน และเป็นธรรมชาติมากที่สุด
Capturing
คนทั่วไปมักคิดว่า พวกเขาไม่มีเวลามานั่งฝันหวานหรอก แต่คิดผิดถนัด เพราะการจุดประกายทางความคิดไม่เคยมีการบอกเวลาล่วงหน้า มันเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของชีวิต การเก็บบันทึกช่วงเวลาต่างๆ โดยปราศจากการตัดสินว่ามันถูกหรือผิดก็ช่วยได้
Otto Loewi นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาความรู้เรื่องชีววิทยาของเซลล์ (Cell biology) ก็ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จนักในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่เขาเป็นนักบันทึกโมเมนต์ตัวเองที่หาตัวจับยาก ในช่วงที่กำลังนอนหลับ หากอะไรแว่บเข้ามาในความคิด เขาจะกระวีกระวาดลุกขึ้นมาขีดๆ เขียนๆ ทิ้งไว้ข้างเตียง แต่เมื่อรุ่งเช้ามาเยือน เขากลับอ่านไม่รู้เรื่องเลยสักนิดว่าเขียนอะไรลงไปบ้าง มันคงอยู่ในความทรงจำเขาสักระยะ ก่อนที่ช่วงบ่ายๆ ความเชื่อมโยงทั้งหมดก็พุ่งพรวดแบบรวบยวด
Surrounding
ความคิดสร้างสรรค์ติดต่อกันได้อย่างโรคระบาด (Contagious) แต่ในนัยยะที่ดี การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ทำให้คุณรับไอเดียใหม่ๆ จากคนอื่นๆ สิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง หรือแม้กระทั่งธรรมชาติ ออกไปพบปะกับผู้คนใหม่ๆ ที่มีความสนใจใกล้เคียงกับคุณ หรือไม่ก็ต่างจากคุณสิ้นเชิงไปเลย
บริษัทเครื่องดื่มโคคา-โคล่า เคยจำลองสถานการณ์ให้พนักงานแบ่งกลุ่มกัน โดยมีภารกิจให้คิดชื่อใหม่ๆให้กับเครื่องดื่ม
กลุ่ม 1 มีจำนวนสมาชิกแน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ กลุ่ม 2 มีการสลับสับเปลี่ยนสมาชิก (Orientation) ตลอดกิจกรรม 6 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ 2 คิดชื่อเจ๋งๆ ได้มากกว่าถึง 2 เท่า เพราะไม่มีใครพยายามมีอิทธิพลเหนือกว่า Dominant (อาจมีแต่ช่วงเวลามันสั้นไป) การพบกับคนใหม่ๆ ตลอดเวลาทำให้คุณตื่นตัวเสมอ
Challenging
งานยากสร้างความต่างได้มากกว่า และการรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งที่คุณจะเจอความท้าทาย แต่อย่าทำให้มันกัดกร่อนความตั้งใจเดิมของคุณ ลองออกจากพื้นที่เดิมๆ ที่คุ้นเคย ไปเที่ยวในที่ที่คุณอยากลองมาเต็มแก่แต่ยังไม่กล้าเสียที หรือหากคุณเป็นคนเก็บตัว บรรยากาศที่เงียบสงบก็เป็นช่วงเวลาบ่มเพาะความคิด (Incubation time) ที่ดีเหมือนกัน
Take breaks
ซัลวาดอร์ ดาลี หาเวลานอนงีบทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เขาเหนือชั้นไปกว่าคนทั่วไปหน่อย ศิลปินเอกเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์มักมาพร้อมกับสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ขณะที่กำลังจะงีบ เขาจะถือช้อนไว้ในมือ ซึ่งมีจานสังกะสีวางอยู่บนพื้น เมื่อช้อนตกกระทบจานเมื่อไหร่ เขาจะตื่นขึ้นมาบันทึกความรู้สึกนั้น เพราะจริงๆ แล้วแม้ตอนคุณนอนหลับสมองก็ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา
ฝันกลางวันที่ใครๆ เคยหัวเราะเยาะ เป็นตัวยืนยันว่าความเป็นเด็กยังแอบแฝงในตัวคุณอยู่
มันจึงเป็นเรื่องท้าทายที่คุณจะเลี้ยงพลังเหล่านี้ไว้ตลอด แม้แต่ในวัยทำงานอันหัวหมุนก็ตาม