เปิดเรซูเม่น้องจบใหม่ขึ้นมา แล้วก็เผลอร้องหาาาาา ในใจ ทักษะเฉพาะทางเป็นเลิศ ทักษะดำรงชีวิตสุดยอด เกาะเทรนด์ใหม่โลกใบนี้แบบไม่กลัวตกขบวน จนเผลอนึกย้อนกลับไปถึงเราเองในตอนจบใหม่ ความสามารถแทบจะไม่ถึงครึ่งของน้องๆ เลยด้วยซ้ำ หรือแม้จะวัดกันหมัดต่อหมัดในตอนนี้ ก็มีร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน แล้วเมื่อน้องก้าวตามเรามาทัน เราจะโดนแซงในเร็ววันนี้เลยหรือเปล่า แล้วจะปรับตัวกับเรื่องนี้ยังไงดีนะ?
หลายคนอาจคิดว่า แต่สิ่งที่น้องไม่มีคือประสบการณ์ไงล่ะ โอเค สิ่งนี้ถูกต้อง แต่ถ้าถอดช่องประสบการณ์ออกไป เอาเด็กจบใหม่มายืนเทียบกับเหล่าคุณน้าในที่ทำงาน เราเองก็ไม่แน่ใจว่าคุณน้าจะสามารถแซงหน้าเด็กจบใหม่ได้ทุกทักษะจริงไหม เพราะหลายคนอาจรู้สึกเหมือนกัน ว่าเด็กจบใหม่สมัยนี้นั้นความสามารถจัดเต็มกว่าที่เราคิดไว้เหลือเกิน นั่นเพราะเหล่าคุณน้าต่างอิ่มตัวกับการทำงาน จนกลายเป็นกระต่ายแสนประสาท ที่รู้ตัวอีกทีน้องเต่าจบใหม่กำลังจะแซงหน้าแบบนั้นหรือเปล่า หรือเพราะน้องเต่าจบใหม่ยุคนี้เจ๋งจริงยิ่งกว่าที่คิด
เด็กรุ่นใหม่ โตมากับโลกยุคใหม่
หากลองดูอายุของเด็กจบใหม่ แบบที่จบปุ๊บทำงานปั๊บ ก็อยู่ราวๆ 22-23 ปี ทีนี้ลองมองย้อนกลับไปอีกถึงปีเกิดน้องๆ อาจทำเหล่าคุณน้าหลายคนช็อก เพราะเด็กจบใหม่ตอนนี้เกิดหลังปี 2000 กันหมดแล้ว นั่นหมายความว่า ไม่มีปีเกิด 90 ปลายๆ ให้พออุ่นใจว่าเป็นยุคเดียวกันได้แล้ว
ปีเกิดของน้องบอกอะไร? อย่างที่เราทราบกันดีว่า อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี เฟื่องฟูมากในช่วงปี 2000 แหล่งความรู้รอบตัวที่เคยจำกัดอยู่แค่โลกออฟไลน์ อย่างหนังสือ สารานุกรม ห้องสมุด ถูกย้ายไปยังโลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทั่วทุกมุมโลก (ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต) การเข้าถึงความรู้ที่ง่ายมากขึ้นจะขาดเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือเข้าถึงคลังความรู้เหล่านั้นไปไม่ได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง ไม่ได้มอบแค่ความบันเทิงบนปลายนิ้ว แต่ยังช่วยให้ช่วงวัยเก็บเกี่ยวความรู้ของเหล่าเด็กรุ่นใหม่ง่ายยิ่งขึ้น อยากรู้อะไร สงสัยเรื่องไหน หรือแค่เถียงกับเพื่อนบนโต๊ะกินข้าวว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน (คำถามแก่มาก) ก็สามารถยุติข้อสงสัยด้วยคลังความรู้บนโลกออนไลน์ได้เลย
อีกสิ่งที่สำคัญและเหล่าคุณน้าหลายคนมักมองข้ามไป ชุดความรู้ของเด็กจบใหม่ทันโลกใบนี้อยู่เสมอ แต่ชุดความรู้เดิมที่เรามี เป็นชุดความรู้เก่าที่ยังไม่อัปเดต เราอาจจำชุดความรู้เดิมซ้ำๆ อยู่แบบนั้นมาเกินอายุงาน บางอย่างอาจถูกพิสูจน์หรือล้มล้างไปด้วยทฤษฎีอื่นไปแล้วก็ได้ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากเรายังยึดติดอยู่กับความรู้เดิมที่มี จนไม่ยอมปรับตัวไปตามโลกใหม่ เราอาจกลายเป็นคนที่ตกขบวนสำหรับอนาคตนี้ก็ได้ เมื่อเด็กจบใหม่เก่งขึ้นทุกวัน โลกใบนี้ก็หมุนไปข้างหน้าจนแทบตามไม่ทัน เหล่าคุณน้าจะปรับตัวกับเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง?
ไม่ว่าวัยไหนก็ต้องวิ่งไล่ให้ทันโลก
ฉันต้องกลายเป็นคนโปรดักทีฟสุดใจ! ลุกไปหาคอร์สเรียนออนไลน์เพิ่มทุกครั้งที่ว่าง หรือต้องสละวันหยุดไปล่าปริญญาเพิ่มอีกสักใบ แบบนั้นหรือเปล่าที่จะทำให้เรายังคงเป็นคุณน้าในที่ทำงานที่พรั่งพร้อมไปด้วยประสบการณ์และความรู้ที่อัปเดตอยู่เสมอ เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนอย่างหลายคนคิด
แม้จะเห็นตรงหน้าแล้วว่าเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง อาจมีความรู้ที่มากกว่าเราในตอนนี้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องไปพูดถึงตอนยังเป็นเด็กจบใหม่เหมือนกัน แต่คุณน้าหลายคนติดหล่มอาบน้ำร้อนมาก่อน “ฉันทำงานนานกว่าชีวิตมหาลัยของเธอเสียอีก จะมารู้ดีมากกว่าได้ยังไง” พาลให้รู้สึกไม่อยากยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งเท่าเรา โดยที่ยังไม่ลงมือทำงาน จนรู้สึกว่าประสบการณ์ ความทุ่มเทที่ผ่านมาของเรา ไม่ได้ทำให้เรากับเด็กจบใหม่ห่างกันเท่าไหร่เลย
สิ่งนี้สามารถรู้สึกได้ เป็นเรื่องธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากมองดีๆ สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากเรื่องนี้คืออีโก้ หากเราวางมันลงได้ ยอมรับว่าโลกใบนี้มีคนเก่งกว่าเราอยู่จริงๆ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทางออกของเรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นอวดอ้างบ่อน้ำร้อนหรือกองไฟยาวแปดเมตรที่เคยย่ำเดิมมาก่อน แต่เปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ใหม่ไปด้วยกันอาจช่วยให้เราตามโลกใบนี้ทันได้มากขึ้น
แม้ชุดความรู้ที่เรามีอาจจะเก่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้ใหม่ไม่ได้ ‘Lifelong Learning’ เป็นวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเหมือนกับชื่อของมัน นั่นหมายความว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตของเราจริงๆ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ อยู่ในวัยไหนของชีวิต เราก็สามารถรับเอาความรู้ใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้ในห้องเรียนเท่านั้น อาจเป็นทักษะการใช้ชีวิต การเอาตัวรอด ความรู้รอบตัว แบบนั้นก็ได้เหมือนกัน
จริงๆ สิ่งนี้ไม่ได้มีคู่มือตายตัวว่าจะต้องทำตามขั้นตอนนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ และไม่ต้องถึงกับลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองเป็นชาวโปรดักทีฟในข้ามคืน แค่เริ่มต้นจากความต้องการอยากจะเรียนรู้ มองหาสิ่งที่เราสนใจ และเลือกวิธีเรียนรู้ในแบบของตัวเองเท่านั้นก็พอ
ว่ากันง่ายๆ เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เราต้องยอมรับว่าโลกใบนี้ ไม่ใช่โลกที่เราเก่งกาจไปทุกอย่างอีกต่อไปแล้ว มีเรื่องใหม่ๆ ผุดบนโลกนี้ไม่เว้นวัน อาจต้องวางอีโก้ตัวเองลง ไม่ยึดติดกับประสบการณ์นานนม แล้วส่วนที่ต่อไป การปรับตัวตามโลกนี้ให้ทัน ด้วย Lifelong Learning ไม่คิดว่าการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แม้แต่ในเรื่องงานของเราเอง เป็นแค่เรื่องของเด็กจบใหม่เท่านั้น รุ่นเก๋าเขาไม่ทำกัน เปิดโอกาสให้ตัวเองได้อัปเดตความรู้ให้มีพร้อมเท่าประสบการณ์ที่นั่งบนเก้าอี้ตัวนี้
หากทำได้เราอาจกลายเป็นคนที่อยู่ในสนามการทำงานนี้ได้ ไม่ว่าเด็กจบใหม่จะเข้ามาอีกกี่รุ่นก็ตาม
อ้างอิงจาก