เมื่อพื้นที่เดิมที่คุ้นเคยหายไป พอก้าวเข้าไปที่พื้นใหม่ ที่เราเองก็เป็นคนใหม่ของพื้นที่ และพื้นที่ก็ใหม่สำหรับเรา วงสังคม การทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ที่เราอาจจะจับต้นชนปลายจากประสบการณ์ของเราได้บ้าง แต่การปรับตัวในที่ทำงานใหม่ ก็ยังต้องเริ่มขึ้นเสมอไม่ว่าเราจะก้าวไปตอนที่เราตำแหน่งสูงขึ้น ตอนที่เราเป็นซีเนียร์ หรือแม้แต่ตอนเป็นจูเนียร์ก็ตาม แต่การปรับตัวนั้น ไม่อาจทำได้สมบูรณ์แบบในชั่วข้ามคืน เรายังคงต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อยๆ มาลองแนวคิด ‘microsteps’ ที่จะช่วยให้เราค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ ปรับตัวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการได้ แบบไม่ต้องเสี่ยงล้มลงกลางทาง
การปรับตัวขนานใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนที่เราต้องย้ายที่ทำงานมาไว้ที่เดียวกับพื้นที่ส่วนตัวอย่างที่พักอาศัย เราต้องปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ๆ จนถึงช่วงที่หลายคนได้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง หลังจากได้นั่งทำงานที่บ้านกันมาสักพัก ก็ต้องปรับตัวไม่แพ้ตอนย้ายงานไปไว้ที่บ้านเช่นกัน ยังไม่นับรวมคนที่ต้องขยับย้าย เปลี่ยนงาน ไปสู่ออฟฟิศใหม่ สังคมใหม่ๆ หรือแม้แต่การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องอาศัยการปรับตัวเป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น
แต่ว่าส่วนใหญ่มักจะพลาดกับเรื่องการปรับตัวอยู่อย่างนึง คือ เรามักจะปรับตัวแบบทันทีทันควัน คิดว่าเราสามารถสวมวิญญาณคนใหม่ได้ในข้ามคืน อย่างรู้ว่าต้องไปอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรที่ชื่นชอบให้พนักงานแสดงออกถึงความโปรดักทีฟทุกลมหายใจ เราก็ก้าวเข้าไปด้วยไฟแรงกล้า โชว์ความโปรดักทีฟตั้งแต่สแกนนิ้วเข้างาน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนโปรดักทีฟขนาดนั้น เรื่องราวทำนองนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ กับการคาดหวังว่าเราจะเข้ากับที่ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี หากเราเป็นคนประเภทเดียวกับเขา กลมกลืนกับพื้นที่ตั้งแต่ก้าวแรกๆ
การบังคับให้ตัวเองปรับตัวเป็นคนใหม่หมดจรดได้ในข้ามคืน จึงเป็นข้อผิดพลาดครั้งใหญ่ที่อาจยิ่งทำให้เรารู้สึกไม่เป็นตัวเอง จนกลายเป็นความล้มเหลวในการปรับตัวไปในที่สุด พอเรารู้สึกล้มเหลว ผิดพลาด หรือไม่เหมาะกับพื้นที่ใหม่ตรงนั้น มันจะยิ่งทวีคูณความเหงาในใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในพื้นที่ที่มีเพียงเราคนเดียว ไม่ได้มีใครมามีประสบการณ์ร่วมกันจนแชร์กันได้ เราเลยก็อยากแนะนำวิธีที่ถนอมสุขภาพใจของเรา ไม่ให้ต้องพบเจอกับความผิดหวังมากเกินไปอย่าง ‘microsteps’ วิธีที่จะช่วยให้เราได้ค่อยๆ ก้าวไปในการปรับตัวอย่างช้าๆ เป็นก้าวธรรมดาๆ ที่จะพาเราไปสู่จุดหมายอย่างมั่นคง
‘microsteps’ เป็นวิธีการก้าวไปสู่เป้าหมายของเราไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ ด้วยก้าวเล็กๆ ที่เรามั่นใจว่า เราจะไม่ผิดพลาด ไม่ล้มลงเพราะก้าวนั้น โดยเป้าหมายที่ว่านั้น ไม่ได้ถึงกับเป็น Life Goals หรือ Career Paths แต่เป็นการก้าวไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราที่ดีขึ้น อย่างการปรับเปลี่ยนนิสัยบางอย่าง ปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ให้มันดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรามากขึ้น แล้วทำไมเราต้องก้าวทีละขั้นเล็กๆ แบบนี้น่ะหรอ? มาดูนี่กัน ผลการสำรวจจาก University of Scranton บอกว่า ผู้คนกว่า 92% นั้นไม่สามารถบรรลุปณิธานปีใหม่ (New Year’s resolutions) ได้ อย่างที่เรารู้กันดีกว่า ปณิธานนี้มักจะเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ความตั้งใจที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า New Year, New You นั่นแหละ แต่ทว่าคนส่วนใหญ่ กลับไม่ประสบความสำเร็จกับปณิธานที่ตั้งไว้ ทั้งที่เป็นคนตั้งเองกับมือ น่าจะเหมากับตัวเองมากที่สุด ทำไมมันกลับล้มไม่เป็นท่าได้นะ?
ย้อนกลับไปข้างต้น ที่เราบอกไว้ว่า ความผิดพลาดของการปรับตัว คือ การพยายามปรับในชั่วข้ามคืน จากวันสิ้นไปไปจนวันปีใหม่ จริงๆ แล้วมันก็จะเป็นหนึ่งคืนที่เราข้ามมันมาสู่อีกศักราช แต่เรากลับหวังให้เราเองต้องกลายเป็นคนใหม่ ออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารที่มีประโยชน์ อัพสกิลใหม่ๆ ให้ตัวเองเสมอ ทั้งที่เราคนเก่าก็อยู่ห่างกับเราคนใหม่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น การเปลี่ยนเป็นคนใหม่ในชั่วข้ามคืนจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าการบรรลุปณิธานเสียอีก
เราเลยอยากแนะนำสำหรับใครที่กำลังต้องปรับตัวเข้ากับสังคมทำงานใหม่ๆ ออฟฟิศใหม่ หรือกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศอีกครั้งในช่วงนี้ มาดูกันว่าเราจะก้าวแบบ microsteps อย่างไร ให้เราสามารถค่อยๆ ปรับตัวได้และไม่ล้มเหลวชั่วข้ามคืนเหมือน New Year’s resolutions
ตื่นเช้าขึ้นอีกนิด
หากต้องไปปรับตัวเข้ากับงานใหม่ นั่นหมายถึงออฟฟิศใหม่ และเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ เริ่มจากการตื่นเช้าขึ้นมากกว่าเดิมอีกสักหน่อย ลองเผื่อเวลาให้เราได้เดินทางไปออฟฟิศใหม่ ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย แม้อาจจะอยู่ในละแวกที่เราเคยไปมาแล้วบ้าง อยู่ในเส้นรถไฟฟ้าที่เดินทางสะดวก แต่หากเราตื่นเช้ามากขึ้น เราจะมีเวลาสังเกตรายละเอียดระหว่างเส้นทาง ว่าเราสามารถเดินทางได้ทางไหนบ้าง มีรถผ่านกี่สาย เมื่อเข้าออฟฟิศไปแล้ว ต้องขึ้นไปที่ชั้นไหน โต๊ะไหน แผนกไหน ให้เราได้สำรวจเส้นทางและออฟฟิศใหม่กันก่อนจะเริ่มงาน และต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้ไปอีกนาน
Small Talk ไม่ต้องทางการ
หากอยากสานสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยเรื่องงานเสมอไป หลายคนมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ที่ต้องดูเป็นมืออาชีพ ดูเป็นคนขยันในออฟฟิศใหม่ แต่จริงๆ แล้ว การสานสัมพันธ์ที่ดี ควรเริ่มจากการพูดคุยเล่น แบบไม่เป็นทางการ ไม่ใช่เรื่องจริงจังจะดีกว่า เพราะนั่นเราไม่จำเป็นต้องมีทัศนคติ แบบแผนการทำงานแบบเดียวกัน เราสามารถยกเรื่องดินฟ้าอากาศ กาแฟร้านใกล้ๆ หรือแม้แต่สภาพการจราจร มาเริ่มต้นบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องต่อบทสนทนาให้ยาวไปมากกว่านี้ หรือไม่จำเป็นต้องหาเรื่องคุยทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสนใจเรื่องอะไร
Small Talk จึงเป็นคำตอบของคนที่คุยไม่เก่ง แต่ไม่อยากให้ตัวเองดูเหินห่างกับผู้อื่นมากเกินไป โดยเฉพาะในตอนที่เราเข้ามาเป็นคนใหม่ในที่ตรงนี้
ไปลองให้รู้สักครั้ง
หากได้รับคำชวนไปกินข้าวตอนเที่ยงหรือหลังเลิกงานกับเพื่อนที่ทำงานใหม่ เราสามารถเลือกปฏิเสธได้หากเราไม่อยากไป เพราะทุกคนสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ ตราบใดที่เราเพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่สนิทกับใคร ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะยังกินข้าวคนเดียว หรือยังไม่มีเพื่อนเป็นกลุ่มจริงๆ แต่ถ้าหากเราอยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ ลองใช้โอกาสนี้เข้าไปทำความรู้จักพวกเขาผ่านช่วงเวลา casual แบบนี้
เราสามารถทำความรู้จักพวกเขาผ่านการจับกลุ่มพูดคุยกัน ในช่วงเวลาพักหรือหลังเลิกงานได้ อาจเป็นเรื่องงานที่เหนื่อยล้ามาทั้งวัน เรื่องหนังที่จะเข้าใหม่ หรือเรื่องไหนก็ตาม เราสามารถนั่งเงียบๆ ออกความเห็นตามน้ำไปบ้างตามประสา แน่นอนว่ายังไม่มีใครอยากบังคับให้เด็กใหม่ต้องเล่าอะไรที่เป็น deep conversation ให้อึดอัดใจหรอก อย่างมากก็แค่การทำความรู้จักเราอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ลองดูว่าไปด้วยกันในครั้งนี้แล้ว หากวันอื่นต้องไปด้วยกันอีก เราจะโอเคไหม เราชอบลักษณะนิสัย ความเข้ากันทางสังคมของเรา ไปกันได้กับกลุ่มนี้เปล่า
เพราะการปรับตัวที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการอ่านคอนเทนต์นี้เพียงอย่างเดียว เราอาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างในบางข้อ เราอาจจะยังไม่ได้มีเพื่อนใหม่ในครั้งแรกที่ไปถึง หรือแม้แต่ในสัปดาห์แรก การปรับตัวจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเราเองก่อน ก้าวไปเล็กๆ แบบ microsteps ไม่จำเป็นต้องวาดหวังว่าเราจะกลายเป็นที่รักของทุกคนในที่ทำงานใหม่ เข้ากับทุกคนได้ในทุกวงสนทนา ค่อยๆ ปรับในสิ่งเล็กๆ ให้เราเข้ากับที่ใหม่ได้ไปทีละอย่าง แบบที่เราจะไม่ล้มลงกับการปรับตัวครั้งนี้เสียเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก