ปลายปีแล้ว เจ้านายจะประเมินว่าเราทำงานโอเคไหม? เงินที่เก็บไว้จะพอจ่ายบิลนู่นนี่นั่นหรือเปล่า? ไหนจะปัญหาเรื่องเพื่อน เรื่องแฟน เรื่องครอบครัว วันๆ นึง คนเรามีสารพัดสารพันเรื่องให้กังวลใจ
ชีวิตที่ไร้กังวลก็คงดี แต่นักจิตวิทยาก็บอกว่าความกังวลที่เราหนีไม่พ้นก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน ถ้าเราอยู่กับมันให้ถูกวิธี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Social & Personal Psychological Compass บอกว่า ความกังวลเป็นเกราะป้องกันทางอารมณ์ที่ดี เพราะความกังวลทำให้เราคิดถึงสิ่งร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้น แล้วถ้ามันเกิดขึ้นจริง เราก็รู้สึกเหมือนว่ามันไม่แย่มากนัก ความกังวลทำให้คนลดความคาดหวังลง (ซึ่งอาจจะไม่ได้ดีกับทุกเรื่องไหมนะ?) ซึ่งผลที่นักจิตวิทยาทำการศึกษามาคือทำให้คน “รู้สึกแย่น้อยลงเมื่อเจอเรื่องผิดหวัง และรู้สึกดีมากขึ้นเมื่อสมหวัง” ในขณะเดียวกัน ความกังวลก็เป็นแรงจูงใจให้คนลุกขึ้นไปทำอะไรดีๆ ได้ เพราะไม่อยากเจอกับสิ่งร้ายๆ ที่คิดว่าจะเกิด (เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนคนกลัวรถชน ก็จะคาดเซฟตี้เบลท์)
แต่ถึงอย่างนั้น ความกังวลก็ยังเป็นอารมณ์ด้านลบที่เราต้องจัดการกับมัน นักจิตวิทยาก็เลยแนะนำ 4 วิธี กังวลใจให้ได้ดี ตามนี้
1) จัดตารางกังวล ให้เป็น ‘Worry Time’ ของตัวเอง : นักจิตวิทยาเปรียบความวิตกกังวลเหมือนของเหลว ที่ควรจะปล่อยให้ไหลอยู่เฉพาะในกรอบที่เรากำหนดเท่านั้น โดยแนะนำให้เราตั้ง Worry Time เอาไว้ เป็นสถานที่และเวลาเดิมของทุกวัน แล้วใช้เวลานั้นคิดแต่เรื่องที่เครียดๆ ไปเลย แล้วก็หาทางจัดการกับมันเฉพาะในเวลานั้น (เช่นทำ to-do-list หรือลิสต์ทางแก้ปัญหา) วิธีนี้เป็นการฝึกควบคุมปัจจัยกระตุ้น (Stimulus control Training) ที่ใช้บำบัดโรคนอนไม่หลับได้ด้วย
2) ทำเช็คลิสต์ : เริ่มจากลิสต์ความกังวลทั้งหมดมา ดูว่าสิ่งที่เรากังวลนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือเป็นสิ่งที่เราคิดไปเองว่าจะเกิด แล้วตัดอย่างหลังออก จากนั้นดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจริงนั้น เรากังวลแล้วมันแก้ได้หรือเปล่า หรือนำไปสู่การพัฒนาอะไรหรือเปล่า แบบนี้จะทำให้เราแยกความคิดที่เป็นประโยชน์ออกจากความกังวลที่ไร้ประโยชน์ได้
3) เวลากังวลอะไร ให้พยายามหาข้อสรุปที่น่าพอใจให้ได้ : มีงานวิจัยบอกว่าบอกว่า ความกังวลเกิดจากการพยายามหาทางแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหานั้นยังไม่นำไปสู่ความพอใจเสียที นักจิตวิทยาเลยแนะนำว่า ลองเปิดสมุด ลิสต์ความกังวลไว้หน้าซ้าย ลิสต์ทางออกหรือสิ่งที่ทำแล้วจะรู้สึกแฮปปี้ไว้หน้าฝั่งตรงข้าม อย่างน้อยถ้ายังแก้ปัญหาตรงๆ ไม่ได้ ก็มีข้อสรุปชั่วคราวว่าจะจัดการมันยังไงที่เรารู้สึกพอใจกับมัน
4) ให้เวลากับตัวเอง : บางทีเราลองทำมา 3 ข้อแล้ว แต่ก็ยังจัดการกับความกังวลในใจไม่ได้ อ้ะ อย่าเพิ่งฝืนตัวเองไป ลองหาอะไรอย่างอื่นทำสนุกๆ หรือไปนั่งสมาธิในที่สงบๆ ให้ลืมเรื่องที่กังวลไปชั่วคราว ทิ้งระยะห่างจากปัญหาและความกังวล อาจจะทำให้เรามองเห็นทางแก้ได้
นี่เป็นแค่วิธีเบื้องต้นที่นักจิตวิทยาแนะนำเผื่อเราจะเอาไปใช้จัดการกับความนอยด์ที่เราเจอกันประจำวัน แต่ถ้าความกังวลหนักหนาถึงขั้นทำร้ายสุขภาพกายและใจแล้วล่ะก็ ลองไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า
ที่มา : https://www.thecut.com/2017/11/how-to-be-better-at-worrying.html