ถ้าหุ่นยนต์มีความใกล้เคียงมนุษย์ สนทนาโต้ตอบ และรับรู้ความรู้สึกของคุณในระดับที่ละเอียดอ่อน อาจถึงขั้นรู้อกรู้ใจดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง การมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์จะถือว่าเป็นพฤติกรรม ‘นอกใจ’หรือไม่
คนโสดก็คงไม่เท่าไหร่ แต่หากคุณมีคู่อยู่แล้ว อยากจะหาประสบการณ์ใช้บริการ ‘ซ่องหุ่นยนต์’ เราควรมองด้วยสายตาที่ว่า sexbot ก็ไม่ต่างจาก sextoy หรือมองหุ่นยนต์ด้วยสายตาอิจฉาริษยาที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเรา
ในซีรีส์ Westworld โลกสามารถพัฒนาหุ่นยนต์จนออกแบบมาเหมือนมนุษย์แทบทุกกระเบียดนิ้ว เราใช้พวกมันเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงเริงใจแล้วแต่ใครจะปรารถนา บางคนอยากลองสังหารหมู่โดยไม่ต้องสนกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม บางคนใช้มันปรนเปรอด้วยเซ็กซ์ที่ถึงอกถึงใจ หรือบางคนก็ตกหลุมรักหุ่นยนต์ในความไร้เดียงสาที่หลงลืมความเป็นจักรกล
แม้ในปัจจุบันข้อจำกัดของเทคโนโลยีจะไม่ถึงกับออกแบบหุ่นยนต์ที่สมจริงซับซ้อนได้ขนาดซีรีส์ยอดนิยม แต่บริษัท Realbotix และ RealDoll ก็มุ่งมั่นจะพัฒนาหุ่นยนต์ในชื่อ ‘Sexbot’ ที่ตอบโจทย์กิจกรรมทางเพศของมนุษย์โดยเฉพาะ พัฒนาวัสดุและกลไกที่สร้างความเหมือนจริงที่สุด ในอีกไม่นานเทคโนโลยี sexbot จะสามารถตอบโต้กับมนุษย์ด้วยพฤติกรรมที่หลากหลาย ดูเป็นธรรมชาติ และอาจทำหน้าที่กิจกรรมทางเพศได้ดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง จนอาจกล่าวได้ว่า sexbot อาจท้าทายจริยธรรมมนุษย์ราวเปิดกล่องแพนโดร่าทางศีลธรรมที่ถกเถียงไม่รู้จบ
AI ที่ซับซ้อนขึ้นใน sexbot
แนวโน้มในการพัฒนา AI ที่สามารถเรียนรู้พื้นฐานทางสังคมของมนุษย์โดยการสอนเพื่อทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับเครื่องจักรได้เนียนสนิทขึ้น เป็นโจทย์ที่นักนวัตกรรมต่างๆ พยายามใส่ไว้ในรถยนต์ไร้คนขับ ระบบการวางผังเมือง หุ่นยนต์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ รวมไปถึง sexbot ที่ต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์ให้พวกมันสามารถตอบโต้กับมนุษย์เพื่อสร้างความสบายอกสบายใจ ตอบสนองต่ออารมณ์ รู้จักที่จะพูดเพื่อเอาอกเอาใจ ให้รู้สึกว่าคุณเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเมื่อต้องใกล้ชิดกับหุ่นยนต์
แต่ sexbot ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับมนุษย์ทุกคน มันไม่ควรถูกออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์ทุกคนชอบ แต่ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึก ‘เข้ากันได้เป็นอย่างดี’ หรือรู้สึก ‘ให้การตอบสนองดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง’ มองว่าหุ่นยนต์เป็นการเติมเต็มความปรารถนาที่ขาดหาย
sexbot อาจไม่ได้ตั้งคำถามด้านจริยธรรมโดยตรงต่อสังคมแต่อาจเป็นรูปแบบทางอ้อม เช่น การใช้บริการ sexbot จะถือว่าเป็นการช่วยตัวเองสำเร็จความใคร่ (masturbation) อย่างสมัครใจหรือไม่ เมื่อในระดับที่การปฏิสัมพันธ์ทางร่างกายและรูปลักษณ์มีการซ้อนทับกันจนเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้น หรือจะมองว่าเป็น sextoy ที่ราคาแพง hi-end ได้หรือเปล่า
ส่วนในเชิงกฎหมายแล้ว เหมาะสมหรือไม่ที่จะเรียก sexbot ว่า ‘คู่ครอง’ หรือจะทำยังไงหากมีการฟ้องหย่าเกิดขึ้นเมื่อมีการนอกใจมนุษย์ไปหาหุ่นยนต์
คำถามยังมีอีกมาก ทั้งว่า sexbot ที่ออกแบบมาเป็นเด็กเพื่อกลุ่มคนที่มีรสนิยมรักเด็ก (pedophiles) นั้น ทางการเพทย์จะเอาไปใช้ในการบำบัดกลุ่มคนเหล่านี้อย่างถูกต้องได้หรือไม่ ถ้ามีการทำร้ายหุ่นยนต์ ทุบตี สนองความรุนแรง คนในสังคมจะอนุญาตให้มีการข่มขืนและฆ่าหุ่นยนต์หรือไม่? ไปจนถึง sexbot ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไรบ้าง
หลายคำถามที่ซับซ้อนเหล่านี้อาจไม่ถูกตอบอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ ต้องรอให้สังคมได้ทำความเข้าใจและเติบโตไปพร้อมๆ กับนวัตกรรม แต่อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่พยายามศึกษาจริยธรรมในหุ่นยนต์เพื่อกิจกรรมทางเพศพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ ‘ยอมรับได้’ หากคนโสดจะใช้บริการ sexbot …แต่เมื่อถามว่า คนมีคู่อยู่แล้วสามารถใช้บริการ sexbot ได้ด้วยไหม ความยอมรับได้กลับลดลงมาอย่างมีนัย
นักวิจัย Mika Koverola จากมหาวิทยาลัย University of Helsinki ในประเทศฟินแลนด์ ออกแบบสอบถามผู้คนราว 300 คน โดยมีสถานการณ์จำลองย่อยๆ ให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปหากโลกเข้าสู่ปี 2035 ไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชายหรือเพศใดๆ ก็ตาม เข้าไปใช้บริการ sexbot โดยที่สถานบริการนั้นโฆษณาอย่างสวยหรูว่า
“คุณไม่มีทางแยกออก ระหว่างหุ่นยนต์ที่เราให้บริการกับมนุษย์” หรือสถานบริการ sexbot อาจถึงขั้นใช้คำโฆษณาใหญ่โตว่า “เราบริการด้วยมนุษย์”
จากนั้นอาสาสมัครจะให้คะแนนระหว่าง 1-7 ต่อความเหมาะสมเพื่อใช้บริการ พวกเขาต่างประณาม ‘คนมีคู่’ ที่เข้าใช้บริการมากกว่าคนโสด นักวิจัยยังได้ข้อมูลว่า ผู้หญิงจะประณามการกระทำนี้มากกว่าผู้ชาย และรูปแบบของความสัมพันธ์ที่มีอยู่ของแต่ละคู่จะยิ่งแสดงออกถึงการนอกใจในลักษณะที่แตกต่างกัน
งานวิจัยมีข้อนำเสนอที่น่าสนใจกว่า คือหากคู่ครองมองว่า sexbot จะมาแข่งขันหรือสั่นคลอนความสัมพันธ์มากเท่าไหร่ ก็จะรู้สึกว่ารับไม่ได้หากมีการนอกใจไปหา sexbot มากเท่านั้น ทำให้เห็นได้ว่าทัศนคติที่คนมีต่อหุ่นยนต์ก็ยังอาศัยรากฐานที่เรามีทัศนคติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันอยู่ดี
ถ้าในคู่ครองที่เชื่อใจกันก็จะมอง sexbot ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ต่างจากการใช้อุปกรณ์ แต่หากมีความเปราะบางในเรื่องความสัมพันธ์ก็รู้สึกถึงภาวะแข่งขันและหวาดกลัวความพ่ายแพ้ต่อเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม sexbot ที่มอบประสบการณ์ทางเพศที่ใกล้เคียงมนุษย์จะยังไม่ออกมาให้บริการในเร็วๆ นี้ แต่ ‘ซ่องหุ่นยนต์’ ถูกออกแบบเพื่อเตรียมให้บริการบ้างแล้ว เสียงตอบรับก็ถือว่าหลากหลาย โดยในรัฐเท็กซัสยังไม่อนุญาตให้เปิดทำการโดยคำสั่งคณะกรรมการชุมชน แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนียกลับสามารถขออนุญาตเปิดได้ ซึ่งต่อไปการโต้เถียงนี้น่าจะสนใจขึ้นมากหากงานวิจัยก้าวไปยังความต่างทางวัฒนธรรมของผู้คน
สำหรับคุณเอง—หากคู่หูจักรกลสามารถเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปของชีวิตรัก ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะสั่นคลอนหรือไม่ เพราะถึงแม้มนุษย์อาจอยู่ร่วมกันด้วยคำโกหกหลอกลวง แต่หุ่นยนต์ไม่สามารถโกหกได้ เพราะมันถูกโปรแกรมมา แม้มันจะถูกโปรแกรมให้รักคุณ มันก็จะรักคุณตามเป้าหมายที่วางไว้
“ถึงฉันรักคุณอย่างแท้จริงไม่ได้ แต่ฉันก็โกหกคุณไม่ได้เช่นกัน”
การมาเยือนของ sexbot อาจเป็นการย้ำเตือนครั้งสำคัญว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ช่างเปราะบางและห่างไกลคำว่าสมบูรณ์แบบ เรายิ่งเรียนรู้ว่าชีวิตรักเองก็ไม่ได้มั่นคงเหมือนเสาศิลา แถมกำลังถูกสายน้ำแห่งนวัตกรรมเข้าสาดกระเซ็นหนักขึ้นเรื่อยๆ และ sexbot คือหนึ่งในความก้าวหน้าที่ห้ามไม่ได้
สิ่งที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นอุดมการณ์อันย้อนแย้งของมนุษย์เสียเองที่พยายามต้องการให้คนอื่นมองไปในทิศทางเดียวกันกับตนเอง และยัดเยียดกรอบทางศีลธรรมให้กับทุกคนราวเสื้อโหลที่ไม่พอดิบพอดีตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Moral Psychology of Sex Robots: an experimental study– How Pathogen Disgust is associated with interhuman sex but not interandroid sex
- Robot Sex: Ethics and Morality