พอป่วยเป็นโรค COVID-19 แล้ว หลังรักษาหายแล้ว มีโอกาสป่วยได้อีกไหม?
วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จะสำเร็จเมื่อไหร่?
ช่วงแรกที่ COVID-19 เริ่มระบาด ความรู้เกี่ยวกับมันมีน้อยมาก เพราะยังเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักเมื่อปลายปีก่อน
แต่หลังจากที่เราต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 มานาน 3 เดือน (นับตั้งแต่มีการพบผู้ป่วยเคสแรกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.62) เราก็เริ่มเข้าใจมันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีการที่มันแพร่ระบาด หรือ อายุไขของมันเวลาอาศัยอยู่นอกร่างกายเรา
The MATTER อยากชวนทุกคนมาอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 หลังจากที่มันได้ระบาดมานานกว่า 3 เดือนแล้ว
1.ที่มาของโรค
ไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่ระบาดในหมู่สัตว์ แต่ก็มีบางสายพันธุ์ที่แพร่สู่คนได้ COVID-19 เป็นหนึ่งในนั้น และนับเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ 7 ที่พบว่าระบาดในมนุษย์
ช่วงกลางปี พ.ศ.2503 เป็นเวลาที่มีการค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดมนุษย์ครั้งแรก มาจนถึงตอนนี้โคโรนาที่ระบาดในมนุษย์มีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไป แต่มีอยู่ 3 ชนิดที่ ทำให้เกิดโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) และโรค COVID-19 (SARS-CoV-2)
COVID-19 เป็นโรคที่เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเป็น คาดว่ามีจุดเริ่มต้นจากตลาดอาหารทะเลที่อยู่ในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการค้าขายสัตว์ป่าหลากชนิด
โดยก่อนหน้านี้มีการคาดเดาว่าไวรัสอาจมีที่มาจากค้างคาวผลไม้ แต่เมื่อเริ่มมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า มันอาจมีที่มาจากงู
อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจีน ที่ทำการทดสอบตัวอย่างจากสัตว์ป่าจำนวน 1,000 ชิ้น พบว่า รหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบในตัวนิ่ม กับรหัสพันธุกรรมของ COVID-19 ที่พบในผู้ป่วยมนุษย์ มีความเข้ากันถึง 99%
ตัวนิ่มจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายใหม่
แต่อย่างไรก็ตามก็มีคนแย้งว่า ความคล้ายคลึงของรหัสพันธุกรรมอาจจะยังไม่เพียงพอ ในการชี้ว่าตัวนิ่มเป็นต้นตอของโรค COVID-19 เพราะมันอาจถูกปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงได้เช่นกัน
ตอนนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเชื้อที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 ที่จริงแล้ว มาจากสัตว์ตัวไหนกันแน่
2.อาการป่วย
COVID-19 เป็นโรคที่โจมตี ‘ปอด’ ของเรา เมื่อมันเข้าสู่ร่างกาย มันจะเข้าไปในช่องที่นำอากาศเข้าสู่ปอด (respiratory tree) ทำให้บริเวณนั้นมีการอักเสบระคายเคือง และร่างกายจะสั่งให้เราไอ เพื่อขับเชื้อโรคออกมา
กรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ COVID-19 สามารถเข้าไปลึกถึงถุงลมปอด (alveoli) เมื่อบริเวณนั้นติดเชื้อ จะทำให้เรามีอาการปอดอักเสบ และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
ผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 อาจแสดงอาการภายใน 2 – 14 วัน และมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ บางคนติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการไอ ปวดหัว เปลือกตาอักเสบ และไข้เล็กน้อย บางคนติดเชื้อและมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และบางคนติดเชื้อแล้วมีไข้สูง มีอาการปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
3.วิธีการแพร่กระจายของเชื้อโรค
องค์กรต่างๆ เช่น องค์การอนามัย (WHO) หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (CDC) ได้ออกมายืนยันว่าไวรัสที่เป็นต้นกำเนิดของโรค COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (Droplets) ที่มาจากการไอหรือจาม และแพร่จากคนสู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกันในระยะประมาณ 1 – 2 เมตรได้
แต่เรื่องที่ว่าไวรัสดังกล่าวสามารถแพร่กระจายผ่านอากาศได้หรือไม่? ยังคงไม่ได้ข้อสรุป เพราะหลังจากที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเผยว่า COVID-19 ดูจะไม่มีความสามารถในการแพร่ผ่านกระจายผ่านทางอากาศ (Airborne) ในระยะ 1 – 2 เมตร ได้ ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนอย่าง โดนัลด์ มิลตัน (Donald Milton) จาก University of Maryland School of Medicine ที่ออกมาแย้งว่ายังเร็วไปที่จะสรุปเช่นนั้น โดยเผยว่า WHO ขาดความรับผิดชอบที่ให้ข้อมูลแบบนี้ และการให้ข้อมูลผิดๆ เป็นเรื่องอันตราย
4.กลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรค
คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรค COVID-19 มักจะมีอาการไม่รุนแรง หรือ มีอาการรุนแรงปานกลาง โดยข้อมูลจาก WHO เผยว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อราว 56,000 คน มี 80% ที่มีอาการไม่รุนแรง มี 14% ที่มีอาการรุนแรง และมี 6% ที่มีอาการอยู่ในขั้นวิกฤต
แต่ถ้าถามว่าคนกลุ่มไหนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากที่สุด?
ข้อมูลจาก WHO ที่ทำการสำรวจผู้ป่วย 55,924 ราย และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีน (CDDC) ที่ทำการสำรวจผู้ป่วยยืนยัน ต้องสงสัย และมีเชื้อแต่ไม่มีอาการ รวมกัน 72,314 ราย เผยว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มักเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพขั้นรุนแรง เช่น มีอาการหัวใจล้มเหลว เป็นเบาหวาน เป็นต้น
5.วิธีป้องกันการติดเชื้อ
มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันโรค COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของเอทานอลแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% หรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่, อยู่ห่างผู้ที่มีอาการไอหรือจามเป็นระยะ 1 เมตร หรือ ที่เรียกว่าการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Social distancing หรือ Physical distancing) รวมไปถึงการสวมหน้ากากอนามัยเวลาไปเจอกับคนหมู่มาก – ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าคนที่แข็งแรงจะต้องใส่หน้ากากอนามัยไหม แม้ CDC และ WHO จะแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเวลาป่วย หรือ ต้องดูแลผู้ป่วย แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางประเทศที่แนะนำให้ใส่หน้ากากเวลาไปเจอคนหมู่มาก เพราะผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ เป็นการป้องกันไว้ก่อน
6.โอกาสเป็นซ้ำ หลังจากหายป่วย
นักวิจัยหลายคนให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันโรคในระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าภูมิต้านทานเชื้อไวรัสจะอยู่นานแค่ไหน ต้องมีการวิจัยเพื่อศึกษาเรื่องนี้ต่อไป
แต่ก็ยืนยันว่า ถ้า COVID-19 เหมือนกับไวรัสทั่วไป เมื่อเกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก
มีการรายงานว่าพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าหายแล้วกลับมาติดเชื้ออีกครั้งในบางประเทศ
อย่างเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์มีการรายงานจากมณฑลกวางตุ้งว่า 14% ของผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 ทั้งหมด มีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวกอีกครั้ง เมื่อมีการตรวจสอบพวกเขาในภายหลัง
หากมาลองมาดูที่แนวทางการรักษา COVID-19 ของ กระทรวงสาธารณสุขจีน ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 จะได้รับการยืนยันว่าหายจากโรค และได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อ มีผลการทดสอบกรดนิวคลีอิก เป็นลบติดกัน 2 ครั้ง รวมไปถึงมีอาการดีขึ้น เช่น มีไข้ หรือ ไอ น้อยลง
แต่หลายปัจจัยก็ส่งผลกระทบต่อความแม่นย่ำของการทดสอบได้เช่นกัน อย่างตัวทดสอบกรดนิวคลีอิก (RT-PCR test) เอง ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็บอกว่า มันไม่ใช่การทดสอบว่ารักษาหายแล้วหรือยัง แต่มันสามารถตรวจจับเศษซากของสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส (RNA) ที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่ได้ทั้งหมด แม้สารนั้นจะตายไปแล้วก็ตาม
นอกจากที่จีนแล้วก็ยังมีการรายงานว่าพบเคสเหล่านี้ในฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ด้วย
ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หลายคนก็บอกว่าอาจเกิดจากการปล่อยผู้ป่วยกลับบ้านก่อนที่พวกเขาจะหายดี
7.วัคซีนและยารักษาโรค
ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค COVID-19 แต่ทั่วโลกก็กำลังวิจัยกันอยู่ การวิจัยได้มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากเมื่อเดือนมกราคม นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิด COVID-19 สำเร็จ และได้เผยแพร่ข้อมูลนี้ไปทั่วโลก ทำให้นักวิจัยคนอื่นสามารถศึกษาการเติบโตของเชื้อไวรัสและพฤติกรรมของมันที่ทำให้คนป่วย เพื่อหาวัคซีนต่อได้
คาดว่ากระบวนการผลิตวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 – 2 ปี ถึงจะนำมาใช้งานได้ เพราะต้องมีการศึกษาข้อมูล ใช้แรงของคนกว่า 1,000 คน รวมไปถึงมีหลายขั้นตอนกว่าวัคซีนจะผลิตออกมาได้ เริ่มตั้งแต่
- การออกแบบวัคซีน (Vaccine design) – นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาเชื้อโรค และประเมินว่าจะทำอย่างให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้จักเจ้าเชื้อโรคตัวนี้
- การศึกษาสัตว์ (Animal studies) – วัคซีนตัวใหม่จะถูกทดสอบในสัตว์ทดลอง เพื่อประเมินว่ามันใช้ได้หรือไม่ ไปจนถึง มีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือไม่
- การทดสอบทางคลินิก (เฟส 1) – การทดลองใช้วัคซีนกับมนุษย์ครั้งแรก และทดสอบความปลอดภัย ปริมาณ และผลข้างเคียงของวัคซีน การทดสอบในขั้นนี้จะทำกับผู้ป่วยกลุ่มเล็ก
- การทดสอบทางคลินิก (เฟส 2) – เป็นการวิเคราะห์ในเรื่องวิธีการทำงานของวัคซีนในเชิงลึกมากขึ้น โดยนำมาทดสอบกับผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ และประเมินปฏิกริยาของผู้ป่วยที่มีต่อการรักษา
- การทดสอบทางคลินิก (เฟส 3) – การทดลองใช้วัคซีนครั้งสุดท้ายกับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และใช้เวลาในการทดสอบยาวนานขึ้น
- ได้รับการรับรองตามกฎหมาย (Regulatory approval) – องค์กรต่างๆ เช่น องค์การอาหารและยา (FDA) องค์การยาสหภาพยุโรป (EMA) จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาจากการทดลองวัคซีน และสรุปว่าวัคซีนสามารถนำมาเป็นใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคได้หรือไม่
ส่วนเรื่องยารักษาตอนนี้ก็ยังไม่มีเช่นกัน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองใช้ยาบางประเภทที่มีคุณสมบัติในการต้านไวรัสกับผู้ป่วย COVID-19 เช่น กลุ่มยาต้านไวรัส HIV, Remdesivir (ยาต้านไวรัสอีโบลา), Favipiravir (ยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่) และเมื่อไม่นานมานี้ได้เริ่มมีการทดลองใช้ Chloroquine และ Hydroxychloroquine (กลุ่มยาต้านโรคมาลาเรีย) ด้วย
แม้จะมีเคสที่รายงานว่าอาการดีขึ้นหลังได้รับยาเหล่านี้ แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าพวกมันมีประสิทธิภาพในการรักษาจริง เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยาแล้วจะมีอาการดีขึ้นหมด มีเพียงบางเคสเท่านั้นที่รายงานว่ามีอาการดีขึ้น
8.อายุของเชื้อไวรัสนอกร่างกาย
เชื้อที่เป็นต้นกำเนิดของ COVID-19 อาจอยู่นอกร่างกายของเราได้นานหลายชั่วโมง หรืออาจอยู่ได้นานเป็นวัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มันอาศัยอยู่
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการชื่อ The New England Journal of Medicine เผยว่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่ในละอองขนาดเล็กที่แพร่ทางอากาศ (airborne droplet) ได้นาน 3 ชั่วโมง และ สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวที่แข็งและมันวาว เช่น กระจกหรือพลาสติก ได้สูงสุด 72 ชั่วโมง ส่วนบนพื้นผิวที่มีรูพรุน เช่น กระดาษแข็ง หรือ ผ้า มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้สูงสุด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้อุณหภูมิอาจส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ของเชื้อไวรัสด้วย
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า อุณหภูมิและความชื้นสูงสัมพันธ์กับการแพร่ของเชื้อไวรัสที่ลดลง โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูล ทีมวิจัยเผยว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และความชื้นเพิ่มขึ้น 1% ก็สามารถทำการส่งต่อเชื้อไวรัสลดลงได้
ดังนั้นที่อยู่อาศัย รวมถึงอุณหภูมิ จึงอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ของเชื้อไวรัส นอกร่างกายเรา
ส่วนไวรัสจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายของเราได้นานเท่าไรนั้น มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเผยว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 สามารถเก็บเชื้อโรคไว้ที่ทางเดินหายใจได้นานถึง 37 วัน
แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่พอติดเชื้อแล้วสามารถหายได้เอง
9.สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก
หลังจากที่ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นที่แรก จนถึงตอนนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) แล้ว ซึ่งหมายความว่า ไวรัสชนิดนี้ได้ลุกลามหนักและแพร่กระจายไปยังทุกทวีปทั่วโลก
ตอนนี้มียอดผู้ติดโรค COVID-19 ทั่วโลกกว่า 937,130 รายแล้ว และผู้เสียชีวิตก็ทะลุ 47,267 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 เม.ย.62 เวลา 14.45 น.) โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้มากที่สุด คือ ประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะ สหรัฐฯ อีตาลี สเปน และฝรั่งเศส ที่มียอดผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิต สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จากวิกฤต COVID-19 หลายประเทศในทวีปยุโรปได้ออกมาตรการรับมือต่างๆ มีการสั่งปิดโรงเรียน รวมไปถึงการสั่งปิดเมือง
ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียก็มีการระบาดอยู่ แต่จีนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด ดูเหมือนจะผ่านจุดพีคของการระบาดไปแล้ว หลังทางการจีนรายงานว่า ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ (local tranmission) เป็นเวลาหลายวันติดกัน
สำหรับประเทศไทยตอนนี้กำลังเจอศึกหนัก โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,875 ราย และยอดเสียชีวิตรวม 15 ราย รักษาหายแล้วรวม 505 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.63) และในช่วงที่หลายวันที่ผ่านมา (22 มี.ค. – 2 เม.ย.) ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่มขึ้่นตกวันละ 100 กว่าคน
ตอนนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับการระบาด โดยมีทั้งการสั่งปิดสถานที่รวมคนหมู่มาก เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย การห้ามส่งออกสินค้าที่มีความต้องการสูง เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ไข่ไก่ รวมไปถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้
Illustration by Waragon Keeranan