อาการปอดอักเสบปริศนาในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 จากที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจธรรมดาๆ บัดนี้กลายเป็นวิกฤตใหม่ระดับโลกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน COVID-19 มันเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของพวกเราให้ตระหนักถึงความเสี่ยงเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และสภาพแวดล้อม จนอาจเป็นวาระสำคัญให้เราฝังใจ (และอาจจะฝังปอด) ไปอีกนาน
ในช่วงแรกอาการป่วยดูมีสัญญาณเพียงแค่โรคปอดอักเสบที่พบได้ทั่วไปจากแบคทีเรีย และบางคนแทบไม่แสดงอาการใดๆ หรือกล่าวได้ว่ามีลักษณะไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไปทำให้การคัดกรองเบื้องต้นตกสำรวจ แพทย์พบว่าโรคปริศนานี้มีต้นเหตุมาจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีข้อมูลน้อยมาก มีความสามารถในการระบาดเป็นวงกว้างโดยไม่เลือกเศรษฐานะใดๆ ของผู้คนในสังคม
องค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ราว 80% นั้นสามารถหายได้เมื่อรับการรักษาตามอาการ ส่วนอีก 20% หรือ 1 ใน 6 คน อาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ
ทำไม COVID-19 ถึงร้ายกาจต่อปอดของมนุษย์นัก ไวรัสทำลายระบบหายใจอันสำคัญของเราอย่างไร และอาการปอดอักเสบอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคนที่มีปอดไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในยุคที่คนเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับปอดจากมลภาวะและสารเคมีสะสมจากการขยายตัวของเมือง
COVID-19 จึงเป็นเหตุผีซ้ำด้ำพลอยพอดิบพอดี
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แบ่งลักษณะอาการได้คร่าวๆ 4 กลุ่ม คือกลุ่มแรก ‘ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ’ (sub-clinical) เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ หากพวกเขามีเชื้อจะไม่แสดงอาการออกมา กลุ่มที่สอง คือผู้ที่เริ่มติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อเข้าระยะนี้ผู้ป่วยจะไอ ปวดหัว เปลือกตาอักเสบ และมีไข้เล็กน้อย กลุ่มที่สาม คือผู้ที่ตรวจพบ positive ติดเชื้อ COVID-19 มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จำเป็นต้องหยุดงาน และต้องเข้าแอดมิดที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุดมีสัดส่วนราว 6% (จากสถิติในอู่ฮั่น) มีไข้สูง จำเป็นต้องเข้าห้องฉุกเฉิน เนื่องจากมีอาการปอดอักเสบ (pneumonia) ร่วมด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง มีโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อ COVID-19 เข้าไปในร่างกายจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีอัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูงหากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์
เป้าหมายของ Covid-19 คือ ปอด
เมื่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อเริ่มมีอาการไอและไข้สูง แสดงว่าเชื้อ COVID-19 ได้เข้าสู่ระบบ ‘เรสปิเรทอรี ทรี’ (respiratory tree) ซึ่งเป็นช่องทางผ่านของอากาศภายนอกเพื่อเข้าสู่ปอด ส่วนนี้ไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบระคายเคือง ร่างกายจะมีกลไกเพื่อขับเชื้อออกผ่านการไอและเสมหะ หากกรณี worst case ไวรัสจะเข้าไปในส่วนที่ลึกเรื่อยๆจนถึงถุงลม (alveoli) เป็นถุงอากาศขนาดเล็กๆ อยู่ต่อกับหลอดลมฝอยแขนงต่างๆ นับจำนวนได้เป็นล้านๆ ถุง
หากมีการติดเชื้อส่วนนี้จะทำให้มีอาการปอดอักเสบ จากการที่มีของเหลวปริมาณมากและเซลล์ตายแล้วอุดตันจนไม่สามารถขับออก ปิดกั้นการทำงานของถุงลม ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงทีเดียว เพราะปอดจะไม่สามารถทำงานเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เอง เมื่อเลือดไม่มีออกซิเจน ร่างกายก็จะไม่สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินด้วยเครื่องช่วยหายใจ อยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวค่อนข้างสูง
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่ได้รับการรับรองว่าสามารถหยุดยั้ง COVID-19 เพื่อไม่ให้เข้าไปยังปอดได้
อย่างไรก็ตาม COVID-19 ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบแตกต่างจากโรคปอดอักเสบทั่วไปที่โดยส่วนใหญ่สาเหตุจะเกิดจาก ‘แบคทีเรีย’ ที่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ในเมื่อเรายังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับ COVID-19 ทำให้การหยุดยั้งเชื้อยากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่มักป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเป็นทุนเดิม หรือคนที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคมะเร็ง โรคที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ นักสูบที่เป็นถุงลมโป่งพอง และเด็กทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือนที่เซลล์ปอดยังเติบโตไม่เต็มที่ คนเหล่านี้เสี่ยงเป็นปอดอักเสบจาก COVID-19 มากกว่าคนสุขภาพดี แต่ยังไม่มีเครื่องมือรับประกันใดๆ ว่า คนที่ดูแลสุขภาพตลอดจะรอดพ้นภาวะปอดอักเสบนี้ได้ เพราะยังมีกรณีนักวิ่งมาราธอนในเมืองอู่ฮันระดับ Ultramarathon มีปอดแข็งแรงจนสามารถวิ่ง 42 กิโลเมตรจบ ก็ยังติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ปอดอักเสบมาแล้วหลายราย
แพทย์จากเครือข่ายโรงพยาบาล Mount Sinai Health System ในนิวยอร์ก ได้ศึกษาภาพ CT scan จากผู้ป่วย COVID-19 ในระยะที่มีอาการปอดอักเสบ 121 ภาพ พบว่า COVID-19 จะทำให้เกิดอาการอักเสบแบบ cluster ของปอด 2 ด้าน ทำให้ท่อถุงลมต่างๆ อุดตัน หายใจลำบาก
การรักษาต่างๆ ที่ทดลองในช่วงนี้คือการนำยาที่เคยรักษาโรคมาลาเรียและยาที่เคยใช้รักษา Ebola มาปรับใช้ควบคู่กับการประคับประคองรักษาตามอาการ หากมีแนวโน้มว่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง อาจใช้มีอุปกรณ์ช่วยหายใจ ด้วยหน้ากาก หรือท่อก็อาจเพียงพอ แต่กรณีที่มีอาการหนักอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย โดยภารกิจสำคัญในการรักษาชีวิตคือ ทำให้ผู้ป่วยยังคงหายใจอยู่ ร่างกายยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้จนกระทั่งไวรัสอ่อนแรงไปเองในที่สุด ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากมีเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยจำนวนมากๆ เครื่องช่วยหายใจล้วนมีราคาสูงมาก โรงพยาบาลท้องถิ่นอาจมีไว้ช่วยเหลือผู้ป่วยไม่เพียงพอ หากการติดเชื้อระบาดไปสู่ภูมิภาค
นี่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยเกิดการอักเสบบริเวณปอดอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Acute Respiratory Distress Syndrome (ARDS) เมื่อปอดเต็มไปด้วยของเหลวอุดตัน และระบบภูมิคุ้มกันพยายามต่อสู้กับไวรัส ที่เปรียบเสมือน ‘สมรภูมิในที่แคบ’ เพราะปอดจะหดตัวแคบลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถหายใจได้เอง ร่างกายเผชิญภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (hypoxemia) ทำให้เซลล์ในร่างกายตาย โดยเฉพาะเซลล์สมองและเซลล์ที่บอบบางอื่นๆ กลุ่มคนที่เสี่ยงจึงหนีไม่พ้นผู้สูงอายุที่มีประวัติโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน คนที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด คนที่เคยผ่านการผ่าตัดหัวใจและปอดมาแล้ว ซึ่งเมื่อเกิดภาวะ ARDS นั้นจะรักษายาก เพราะเป็นภาวะเฉียบพลัน ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า COVID-19 จะสร้างความเสียหายต่อปอดอย่างถาวรหรือไม่ ซึ่งในกรณี COVID-19 นั้น WHO ระบุว่าใช้เวลาในช่วง recover ประมาณ 3-6 สัปดาห์สำหรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายรุนแรง และอาจเพิ่มอีก 2 เดือนในกรณีที่ปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งแพทย์ต้องดูประวัติผู้ป่วยว่าเคยมีอาการเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจในอดีตร่วมด้วยไหม รวมถึงขึ้นอยู่กับช่วงที่ใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยว่านานเท่าไหร่ จำเป็นต้องให้ปอดพักฟื้นนานกว่าเดิม
ความวิตกกังวลของแพทย์จึงเน้นไปที่ประเด็นหากการระบาดเลยเถิดไปสู่ภูมิภาค อาจทำให้บุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยปริมาณมากที่เข้ารักษาได้พร้อมๆ กัน หลายโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลมีเครื่องช่วยหายใจเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น หรืออาจไม่มีเลย ดังนั้นหาก Covid-19 ทำให้ปอดทำงานล้มเหลว จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
COVID-19 lung patterns show few clues for treating pneumonia