จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในเรือนจำยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม มีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 999 ราย จึงรวมแล้วมีผู้ต้องขังที่รักษาตัวอยู่ทั้งสิ้น 13,534 ราย
ถึงแม้ ทางกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมก็ออกมาแถลงความคืบหน้าอยู่เนืองๆ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันและเป็นกังวลคือ จำนวนนักโทษมากกว่าทรัพยากรที่อยู่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ภาวะนักโทษล้นเรือนจำ ที่อาจทำให้การควบคุมไวรัสเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
ถ้าลองซูมเอาท์ออกมามองในภาพใหญ่ พูดได้ว่าไม่ผิดนัก เพราะจากรายงานของกรมราชทัณฑ์วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 310,830 ราย ขณะที่ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 375,148 ราย ซึ่งก็นับว่าลดลงไปมากแล้วจากนโยบายต่างๆ ที่กระทรวงยุติธรรมออกมาในช่วงแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คัดแยก กักตัว และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในเรือนจำเป็นสิ่งที่ต้องทำแน่ แต่ในภาพใหญ่เรามองเห็นปัญหาอะไรบ้างในกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่ปัญหาคุกล้นเช่นปัจจุบัน และเราสามารถแก้ไขมันได้อย่างไรบ้าง
เรื่องเล่าจากปากอดีตผู้ต้องขัง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษการเมืองคดี 112 ย้อนเล่าถึงครั้งที่เขาอยู่ในเรือนจำครั้งแรกเมื่อปี 2554-2561 ว่าผู้ต้องขังสามารถพกน้ำได้เพียงหนึ่งขวดเล็ก สำหรับใช้ชีวิตเป็นเวลา 15 ชั่วโมง (ตั้งแต่ 15.00 น. – 6.00 น.) เรื่องอาหารการกินภายในเองก็แย่ๆ มาก ชนิดมีศัพท์เรียกกันภายในว่า “พะโล้ปลอม หรือแกงเขียวหวานซากสัตว์”
ส่วนภาพที่นักโทษนอนแออัดสลับฟันปลาอยู่ในเรือนจำเคยเกิดขึ้นจริง และตนผ่านมาแล้วเมื่อช่วงเข้าเรือนจำในปี 2554-2561
“มันมีการคำนวณออกมาแล้วว่าเรือนจำ 143 แห่งในไทย สามารถรับนักโทษได้เพียง 150,000 คน แต่ตอนนี้เรามีนักโทษถึง 310,000 คน ดังนั้น ภาพที่หลุดออกมาก็ถูกต้อง เป็นภาพเก่าในเรือนจำจังหวัดชุมพร ปัจจุบันไม่ขนาดนั้นแล้ว แต่ยังอยู่ในสภาพแบบนั้น”
สมยศประเมินคร่าวๆ ว่าภายในห้องขังห้องหนึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 40 ตร.ม. และมีผู้ต้องขังอาศัยอยู่ประมาณ 35 ราย ขณะที่พื้นที่ประมาณ 2-3 ตร.ม. ถูกกันไว้สำหรับเป็นห้องน้ำ อาบน้ำ ล้างจาน ซักผ้า และอีกหลายกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำ
“ความหนาแน่นทำให้การควบคุมเชื้อโรคเป็นไปได้ยากมาก โอกาสที่จะต้องสัมผัสและติดเชื้อต่อกันเป็นไปได้สูง แม้ว่าคุณระวังตัวแล้ว มันไม่สามารถรักษาระยะห่างได้เลย คุณต้องทำให้นักโทษหายไปอีกสักครึ่งหนึ่งถึงจะควบคุมได้ง่ายขึ้น”
เรื่องเล่าของสมยศตรงกับที่ พอร์ท-ไฟเย็น หรือปริญญา ชีวินกุลปฐม เล่ากับทาง The MATTER ว่าถึงแม้จะมีคำสั่งให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในกิจกรรมอื่นๆ ก็ยังต้องใช้ร่วมกันอยู่ดี ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากความแออัดและทรัพยากรที่ไม่สอดรับกับจำนวนผู้ต้องขังของเรือนจำไทย
“เวลาอาบน้ำยังคงอาบโดยตักน้ำจากบ่อเดียวกัน การเสิร์ฟอาหารในโรงเลี้ยงก็ยังคงมีการแชร์กันกินกับข้าวจากชามเดียวกัน คือ 1 ชามกินสองคน กว่าจะแยกเป็นชามใครชามมันก็ต้นเดือนพฤษภา ซึ่งก็หลังจากโควิดเริ่มระบาดในแดนมาสักพักแล้ว แม้จะมีการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงโดยวัดจากผู้ที่มีไข้ แล้วแยกผู้มีไข้รวมถึงผู้ที่นอนห้องเดียวกันไปกักตัวก่อน แต่นั่นแทบไม่ช่วยอะไร เพราะคนติดเชื้อหลายคนก็ไม่มีไข้ หรือไม่แสดงอาการ กว่าแดนผมจะได้ตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังยกแดนก็ล่อไปวันที่ 10 พฤษภา ผลออกวันที่ 11 ปรากฏว่าติดเชื้อเกินครึ่งมากๆ น่าจะราว 80% ของแดน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จำแนกผู้ติดเชื้อไปอยู่บนเรือนนอนชั้นบน ซึ่งมี 10 ห้อง ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อนอนชั้นล่าง มี 2 ห้อง”
ปัญหาหนึ่งที่สมยศประสบในการเข้าเรือนจำภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คือ ราชทัณฑ์ไม่มีการให้ข้อมูลของไวรัสแก่ผู้ต้องขังเลย ไม่ว่าในเรื่องสภาพการแพร่ระบาดภายนอก สายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มแพร่กระจาย หรืออาการของโรค
“ผมยืนยันได้ว่าราชทัณฑ์ไม่เคยให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเรื่อง COVID-19 เลย และผมมองว่ามันเป็นปัญหาหลักอย่างหนี่งที่ทำให้นักโทษไม่ตระหนักและตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องของไวรัส”
สมยศยกกรณีของ จัสติน – ชูเกียรติ แสงวงศ์ ซึ่งติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขึ้นมาว่า ก่อนที่จัสตินจะมีไข้ 38 องศา จัสตินเคยพูดว่าตนไม่รับรู้กลิ่นแล้ว แต่ตอนนั้นคนภายในไม่รู้ว่านี่คืออาการระยะแรกของ COVID-19 จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่นอนอยู่ข้างจัสตินติดเชื้อและเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในขณะนี้
ทางพอร์ทก็เล่าถึงการดูแลผู้ป่วยที่มีไข้ของทางราชทัณฑ์ไว้ว่า “เจ้าหน้าที่จะให้ยาพาราฯ เฉพาะผู้มีไข้เท่านั้น ใครไม่มีไข้ เขาถือว่ายังไม่ติดเชื้อไว้ก่อน จนกระทั่งได้รับการตรวจหาเชื้อยกแดน จึงพบว่าติดเชื้อกันเกือบทั้งแดน
ก่อนที่ในบทสัมภาษณ์ของ The MATTER พอร์ทจะตั้งคำถามต่อมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์ เพราะการดูแลผู้ป่วยด้วยยาพาราเซตามอล แทนที่จะพาไปโรงพยาบาลทำให้อาการป่วยจากไวรัส COVID-19 ของซ้ง-ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี ลุกลามรุนแรง จนขณะนี้ก็ยังนอนป่วยอยู่ในห้อง ICU
“พี่ซ้งกินอะไรแทบไม่ได้ กินแล้วอ้วก ถ่ายเหลว พอผลตรวจออกว่าติด COVID-19 หลังย้ายไปทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ผมและเพื่อนๆ ในห้องได้แจ้งหมอแล้วว่าแกอาการไม่ดี หมอก็บอกไม่เป็นไร ไม่ยอมรีบย้ายไปรักษาแบบพิเศษตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งอาการหนักมากแล้วถึงค่อยให้เข้า ICU ซึ่งตรงส่วนนี้คือหลังจากผมได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจึงทราบทีหลัง การรักษาของทางราชทัณฑ์มักต้องรอให้ผู้ต้องขังอาการหนักมากๆ แล้วเท่านั้น จึงค่อยเร่งรักษาแบบพิเศษขึ้น ถ้ายังไม่หนักสุดๆ เขามักจะถือว่ายังไม่เป็นไร ค่อยๆ รักษาได้”
อีกประเด็นที่สมยศตั้งคำถามต่อกรมราชทัณฑ์คือ เหตุใดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยมีการแถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายนว่ามีเพียง 10 ราย ถึงกระโดดมาเป็นหลักพันรายเช่นทุกวันนี้ได้ เช่นนั้น กรมราชทัณฑ์มีการปกปิดข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อหรือเปล่า
และคำถามสุดท้ายที่สมยศฝากถึงกรมราชทัณฑ์คือ เหตุใดถึงจัดให้มีการตรวจ COVID-19 ในยามวิกาล ซึ่งสมยศมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์อธิบายในเรื่องนี้
มาตรการของกรมราชทัณฑ์
The MATTER พยายามติดต่อหาอธิบดีและรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้น ทางเราจึงไม่สามารถไขข้อสงสัยในประเด็นการตรวจ COVID-19 ยามวิกาล, การปกปิดข้อมูลการระบาด รวมถึงประเด็นอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้ได้มีการดำเนินนโยบาย 10 ประการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ในเรือนจำแล้ว ได้แก่
- แถลงจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการตรวจเชิงรุกให้สาธาณะชนทราบทั้งหมด
- แจ้งให้ทราบว่าจะตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์
- ต้องไม่ปิดบังผลการสืบข้อเท็จจริงหรือการสืบสวนโรค รวมถึงสาเหตุที่ติดเชื้อ
- รักษาและเฝ้าดูแลคนไข้ ซึ่งทำอยู่แล้ว ต้องทำต่อไป
- ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อต้องหาวิธีการรักษาและได้ผลดีที่สุดทั้ง ยาฟาวิพิราเวียร์ และการใช้สมุนไพร
- สภาพในเรือนจำแออัด ยากต่อการคุมโรคจึงต้องให้นักโทษและผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อทุกเรือนฉีดวัคซีนโดยด่วน
- ติดประกาศหน้าเรือนจำทุกแห่ง ว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกี่คน ไม่ติดเชื้อกี่คน หายแล้วกี่คน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือทุกวัน
- ผู้บัญชาการเรือนจำทำรายชื่อผู้ติดเชื้อและปรับปรุงเป็นรายวัน เพื่อให้ญาติตรวจสอบได้ทุกวัน
- วางแผนเตรียมรับมือการระบาดครั้งนี้และการระบาดในอนาคต
“มีบางคนที่ไม่สมควรอยู่ในเรือนจำ” – ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าวิธีการจะแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสในเรือนจำขณะนี้ ต้องเริ่มจากการตรวจเชื้อให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซนต์ก่อน ดังนั้น คำถามแรกคือ กรมราชทัณฑ์ตรวจหาเชื้อไวรัสจากผู้ต้องขังครบทั้งหมดหรือยัง?
ต่อมาจึงวิเคราะห์ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนักโทษล้นเรือนจำ ซี่งปริญญาตอบว่าเป็นเพราะ “มีบางคนที่ไม่สมควรอยู่ในเรือนจำ”
ปริญญายกข้อเสนอทั้งหมด 9 ประการ ซึ่งเป็นทั้งทางแก้ไขระยะสั้น-กลาง-ยาว และบางประการทางกรมราชทัณฑ์ก็เริ่มทยอยดำเนินการบ้างแล้ว ดังนี้
แนวทางที่หนึ่งคือ ต้องไม่เพิ่มจำนวนผู้ที่จะเข้าไปในเรือนจำ โดยให้ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีการตัดสินถึงที่สุด คู่ไปกับการยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 3 ที่ระบุว่าการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการหลบหนีเท่านั้น
และมาตรา 108 วรรค 3 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัว รวมถึงอนุญาตให้สวมกำไล EM ในการติดตามผู้ต้องหาที่ถูกประกันตัวได้
- ให้ศาลชะลอหรือเลื่อนการพิจารณาบางคดีออกไปก่อน เพื่อไม่ให้มีการเพิ่มผู้ต้องขังใหม่ในเรือนจำ
- ถ้าในกรณีใดที่ชะลอไม่ได้ ให้แยกขังระหว่างผู้ต้องหาที่คดีความยังไม่ถึงที่สุดกับนักโทษเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากนอกสู่ใน และในสู่นอกเรือนจำ
- อนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังตัดสินไม่ถึงที่สุด ได้รับการประกันตัว
แนวทางที่คือสองคือ พักโทษ โดยตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 วางหลักไว้ว่า สามารถอนุญาตให้พักโทษได้ หากนักโทษเด็ดขาดรับโทษมาแล้วมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป หรือ 1 ใน 3 ของโทษที่ถูกพิพากษา
- พักโทษสำหรับนักโทษชั้นดี หรือนักโทษที่รับโทษมาแล้วมากกว่า 1 ใน 3
- พักโทษสำหรับนักโทษที่ป่วย, สูงวัย หรือกำลังตั้งครรภ์
- พักโทษสำหรับคดียาเสพติด ในฐานะผู้เสพ
แนวทางที่สามคือ ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำเพราะโทษปรับ ทำงานบริการสังคมแทน โดยตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ระบุว่าถ้าผู้ต้องโทษค่าปรับไม่มีเงินหรือทรัพย์สินมาจ่ายค่าปรับ ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันเทียบการถูกคุมขังวันนึงเท่ากับค่าปรับ 500 บาท
โดยปริญญาแสดงความเห็นว่ากฎหมายมาตรานี้ไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดภาวะ “ติดคุกเพราะจนโดยแท้” และเขาชี้ต่อว่าควรหาทางออก ด้วยการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30/1 ซึ่งระบุว่าผู้มีไม่เงินจ่ายค่าปรับสามารถขอทำงานบริการสังคมแทนได้ หรือศาลจะสั่งก็ได้หากผู้นั้นเต็มใจ
- ผู้ที่ต้องจำคุกหรือกำลังถูกจำคุกในอนาคตเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ให้ศาลมาคำสั่งให้เปลี่ยนมาทำงานบริการสังคมแทน
แนวทางที่สี่ สำหรับแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้
- ใช้อำนาจตามกฎกระทรวง ซึ่งระบุให้รัฐมนตรีสามารถกำหนดให้สถานที่อื่นเป็นเรือนจำได้ เพื่อคลายความหนาแน่นของเรือนจำ
- เร่งกระจายวัคซีนให้แก่ผู้ต้องขัง
แก้ปัญหายาเสพติดที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ
ปริญญาเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาหนึ่งที่ไทยต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกคือ การแก้ไขมาตรการและกฎหมายยาเสพติดของไทย เพราะผู้ต้องขัง (รวมทั้งนักโทษ, ผู้ต้องหาและจำเลย) ในเรือนจำกว่าร้อยละ 80 มาจากคดียาเสพติด (ข้อมูล 2 พฤษภาคม 2564: ไทยมีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 252,749 ราย ขณะที่ผู้ต้องขังทั้งหมดมี 310,830 ราย)
โดยปริญญาเล่าย้อนกลับไปว่า ภายหลังที่ไทยมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดและขึ้นทะเบียนให้ยาแอมเฟตามีน หรือยาบ้าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ก็ทำให้นักโทษในเรือนจำเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
“ผมว่าเราต้องมาคิดกันใหม่แล้วว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติด 20 กว่าปีนี้ เรามาถูกทางหรือเปล่า การกวาดล้างยาเสพติดเหมือนที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่ายิ่งเป็นการทำให้ราคาของยาเสพติดมีมูลค่าสูงขึ้น และยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้จำหน่ายและผลิต”
“พอคนอยากยาไม่มีเงินก็ต้องก่ออาชญากรรม หรืออีกทางหนึ่งคือจำหน่าย เพราะพอเป็นผู้จำหน่ายมันก็ได้ซื้อยาในราคาต้นทุน และจำหน่ายไปก็ได้เงินมาเสพยาอีก แล้วถามว่าขายใครล่ะ ก็ต้องเริ่มจากคนในชุมชนก่อน”
ปริญญากล่าวต่อว่า โมเดลการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบประเทศโปรตุเกส อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ไทยควรนำมาพิจารณา โดยทางโปรตุเกสจะไม่มองว่าผู้เสพเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดและมีสิทธิในการเบิกยาในราคาถูก ซึ่งผู้ที่จะมารับผิดชอบในการกระจายยาอาจเป็นภาครัฐหรือโรงพยาบาลก็ได้ เพียงแต่อยากให้มองตามหลักการแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Motivation) สมมุติถ้าให้รัฐหรือโรงพยาบาลเป็นผู้จำหน่ายยาแอมเฟตามีน จนสามารถกดราคาให้เหลือเม็ดละ 1-2 บาท จะไม่มีพ่อค้ายาเสพติดคนใดอยากมาแข่งด้วย เพราะไม่คุ้มลงทุน
เขากล่าวต่อว่าที่ผ่านมา กระบวนการแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำไทยมัวแต่ไปแก้ที่ผลลัพธ์ ไม่ยอมแก้ที่ต้นเหตุโดยเฉพาะในคดียาเสพติด “มาตรการลงโทษผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยเป็นมาตรการที่ผิดและไม่ช่วยแก้ปัญหา”
“วิธีการปราบปราม ยิ่งทำให้คุกยิ่งล้น อาชญกรรมสูง เพราะกำไรจากการค้ายาเสพติดมันจูงใจมาก นำไปสู่การติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซื้ออาวุธสงคราม เกิดเป็นกระบวนการกว้างใหญ่”
“ที่ผมพยายามอธิบายคือ ปัญหาสิทธิผู้ต้องขัง ชีวิตความเป็นอยู่ หรืออะไรก็ตาม ต้องเริ่มด้วยการทำให้คุกว่าง และทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายตามมาได้เอง” เขากล่าวทิ้งท้ายก่อนวางสายจากกัน
อ้างอิง: