‘วัคซีนเพื่อชาติ’ ‘วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มี’ และอีกหลายวาทกรรมจากภาครัฐที่ส่งสารเพื่อชวนให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน COVID-19 แต่คำถามสำคัญคือ มันช่วยทำให้คนอยากมารับวัคซีนได้จริงหรือเปล่า?
แม้ทุกคนรู้ว่าในวิกฤตโรคระบาด COVID-19 วัคซีนคือทางออกเดียวที่จะทำให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ แต่คำถามในใจ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อข้อมูลข่าวสารไหลบ่า และผู้มีไมค์อยู่ในมือพูดจาไม่ฉะฉาน ไม่ครบถ้วน และบางทีไปคนละทิศทาง
The MATTER ชวน ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิจัยสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ประจำมหาวิทยาลัย Warwick ของอังกฤษ มาพูดคุยถึงการตัดสินใจเข้ารับวัคซีน COVID-19 ของคนทั่วไป วิธีการเชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนในแง่เศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ รวมถึงชวนเขามองวิธีที่รัฐบาลไทยใช้ แล้วเทียบกับวิธีของอังกฤษและประเทศอื่นๆ
ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรม อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน COVID-19
การตัดสินใจจะฉีดหรือไม่ฉีดเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง การฉีดวัคซีนถือเป็นประโยชน์คือเพื่อป้องกันโรค แต่ในทางกลับกัน มันก็มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงถึงแม้จะเล็กน้อยเช่นกัน สมมติถ้าคุณเป็นคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด คุณจะต้องมาคิดถึงเรื่องประโยชน์และผลข้างเคียงแล้ว มันจึงเกิดทางเลือกว่างั้นถ้าเราไม่ฉีดเราก็จะไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียง แล้วปล่อยให้คนในสังคมไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Imunity) แทน แล้วเดี๋ยวตัวเราก็จะได้รับการป้องกันไปโดยปริยาย
มีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อ ‘Public Good game’ สมมุติว่าคุณอยู่ในหมู่บ้านหนึ่ง แล้วคนที่ดูแลหมู่บ้านบอกคุณว่าจะมีการเก็บเงินจากแต่ละบ้าน เพื่อไปนำไปสร้างสิ่งของที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่ต้องให้เงินก็ได้ เพราะเดี๋ยวคนอื่นก็เอามาให้จนพอเอง แล้วคุณจะได้ทั้งประโยชน์และไม่ต้องเสียเงินด้วย แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ สุดท้ายมันก็จะไม่มีเงินเข้าไป และสิ่งของสาธารณะอย่างที่ว่ามาก็จะไม่เกิด
การตัดสินใจรับวัคซีนจึงคล้ายกับเรื่องนี้ เมื่อเรามีอิสระในการเลือก ทำไมเราจะต้องไปเสี่ยงด้วย ซึ่งถ้าเราเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้ามาแก้ปัญหานี้ นักเศรษฐศาสตร์จะเข้ามาเทียบระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ และพบว่าความเสี่ยงในการรับวัคซีนมีน้อยมาก ยกตัวอย่าง AstraZeneca ถ้าอายุเกิน 40 ปี โอกาสที่จะมีเลือดแข็งตัวมันมีราว 4 ใน 1 ล้านคนเท่านั้น แต่ประโยชน์ของการรับวัคซีนคือทำให้เราออกไปไหนมาไหนได้สะดวกมากขึ้น หรือนัยหนึ่ง ประโยชน์มันคุ้มเสี่ยงมากกว่า
แต่ในมุมของพฤติกรรมศาสตร์ ทำไมคนถึงยังไม่เลือกฉีดวัคซีนถึงแม้ว่าประโยชน์มันจะมากกว่าความเสี่ยง มันเป็นเพราะคนมองความเสี่ยงโดยไม่ใช้เหตุผลมอง มันมีเรื่องของ ‘Possibilty Effect’ หรือเมื่อไหร่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสูญเสียหรือได้รับ เช่น ถูกลอตเตอรี่หรือประสบอุบัติเหตุ เราจะให้น้ำหนักกับมันค่อนข้างเยอะ
ถึงแม้ความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมันมีน้อยมาก เมื่อเทียบกันกับการติด COVID-19 แต่การฉีดวัคซีนมันเป็นการเลือกอย่างหนึ่ง และถ้าเราเลือกแล้ว ผลออกมาคือป่วยหรือเสียชีวิต เราจะมีความรู้สึกแย่มากกว่าที่เราติดเชื้อ COVID-19 เหมือนกับว่าเราจะรู้สึกผิดมากกว่าถ้าเราเจ็บป่วยจากสิ่งที่เราเลือกด้วยตัวเอง
หมายถึงว่าถ้าเราฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงขึ้นมา เราจะเสียใจมากกว่าที่เราไปติด COVID-19
ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นมันต่ำมากๆ แต่ถ้าเราเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงและมันเกิดขึ้นจริง ตัวเราจะทั้งช้ำและซ้ำเติมตัวเอง ประมาณว่าขนาดโอกาสมันต่ำแล้ว ตัวเรายังได้รับผลข้างเคียงอีก นี่คือกระบวนความคิดของคนที่ไม่มั่นใจกับการเลือกของตัวเอง มันจึงเกิดความคิดว่าถ้าอย่างนั้น ให้คนอื่นไปเสี่ยงแทนเราดีกว่า แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้เหมือนกันหมดการเกิด Herd Immunity ก็จะเป็นไปได้ยากมาก ทั้งหมดเป็นคำตอบง่ายๆ ที่อธิบายว่าทำไมบางคนถึงไม่ฉีดวัคซีน
แปลว่าจริงๆ แล้ว มนุษย์เรานี้ไม่ได้ใช้เหตุผลในการเลือกเสียเท่าไร
พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ทุกคนมีเหตุผลของพวกเขาเอง เป็นเหตุผลในแบบ Bounded Rationality คือสิ่งที่คิดมันดูมีเหตุผลในกรอบที่เขาคิด ก็คือในกระบวนการที่มาถึงจุดที่เขาคิดแบบนั้น มันอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และในหัวของเขาก็คิดว่ามันคือการใช้เหตุผลอยู่
แล้วปัจจัยภายนอกอย่างเช่น รัฐ สามารถทำอะไรเพื่อชวนให้ผู้คนไปฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ได้ครับ เราสามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือบริบทในการดลใจให้ผู้คนเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเองได้ คล้ายกับตัวอย่างเรื่องคนสูบบุหรี่ มันมีการวิจัยที่พบว่าแทนที่คนสูบบุหรี่จะไม่พอใจกับนโยบายงดสูบบุหรี่ในที่ต่างๆ ที่รัฐออกมา พวกเขากลับมีความสุขมากขึ้นจากนโยบายบังคับของรัฐ เพราะมันทำให้พวกเขาสูบน้อยลง เพราะคนสูบบุหรี่รู้อยู่แล้วว่าบุหรี่มันไม่ดี แต่สูบแล้วมันติด มีความสุข แต่เมื่อสูบเสร็จก็อยากเลิก ดังนั้น พอมันมีแรงผลักดันจากภายนอก พวกเขาก็มีความสุขที่ได้สูบน้อยลง กรณีนี้ก็คล้ายๆ กัน เพราะบางครั้งคนที่เลือกไม่ฉีดวัคซีน มันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดต่อตัวเขาและคนรอบข้าง แต่มันอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขาเฉพาะในเวลานั้น แต่พอเขาติดไวรัสก็จะเปลี่ยนความคิดไปอีกแบบ ว่าทำไมไม่รับวัคซีน
และถ้าถามว่ารัฐหรือสื่อมวลชนสามารถทำอะไรได้บ้าง พวกเขาสามารถเปลี่ยนบริบทแวดล้อมเพื่อจูงใจหรือลดแรงจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีนได้ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะดีขึ้นอย่างเดียว ทำแล้วแย่ลงก็อาจเกิดขึ้นได้
สมมุติถ้าเราอยากจะให้คนทำอะไรสักอย่าง เราควรจะทำให้เข้าถึงง่ายที่สุด ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษที่ประสบความสำเร็จจากการนำหลักพฤติกรรมศาสตร์มาใช้ในการเปลี่ยนบริบทและแรงจูงใจของคน อย่างตอนที่ผมได้รับวัคซีน (อาจารย์ได้รับ AstraZeneca – ผู้เขียน) โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียนอะไร ผมก็ได้รับข้อความจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ว่าถึงคิวฉีดวัคซีนแล้ว แจ้งสถานที่ฉีดที่ใกล้สุด ผมก็ไปตามเวลานัดหมาย ลงชื่อ ยื่นบัตร ฉีดวัคซีน และทุกอย่างก็เสร็จภายใน 10 นาที เป็นขั้นตอนเหมือนสายพานซูชิ
แล้วถามว่าจากที่คุณไม่มั่นใจว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด เมื่อกระบวนการมันง่ายขึ้น มีการให้ข้อมูลอย่างเหมาะสม อาจมีพูดถึงผลข้างเคียงบ้าง แต่ทุกอย่างได้รับการจัดการอย่างโปร่งใส คุณจะตัดสินใจอย่างไร
แล้วทางรัฐบาลที่นั่น ยังมีวิธีอื่นควบคู่ไปด้วยหรือเปล่า
การทำให้คนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายก็เป็นวิธีหนึ่งของรัฐที่อังกฤษ แต่มันก็ไม่ได้ผลร้อยเปอเซ็นต์ เพราะยังมีคนที่ไม่ต้องการฉีด โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ทางรัฐบาลอังกฤษก็เลยทำ Public Health Message ออกมาเป็นภาษาของชนกลุมน้อย และให้คนที่หน้าตาเหมือนพวกเขาออกมาพูด เช่น อินเดีย, ปากีสถาน, คนผิวสี ออกมาพูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงผู้คนเหล่านั้น เพื่อลดความไม่เชื่อมั่นในวัคซีน ซึ่งมีผลพอสมควร
โดยสิ่งที่เรารู้จากพฤติกรรมศาสตร์คือ ข้อมูลนั้นสำคัญ แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าใครเป็นคนพูด สิ่งที่อังกฤษทำคือเลือกคนระบุตัวตนได้ เชื่อใจได้ มีความรู้ ทำให้การรับวัคซีนที่ประเทศอังกฤษถือว่าสูงมาก ฉีดไปแล้วกว่า 38 ล้านคน
ทางสหรัฐอเมริกาเองก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คล้ายกับอังกฤษตรงที่ทำให้กระบวนการเข้าถึงวัคซีนทั้งง่ายและสะดวก และยังมีโครงการ CSR ของภาคเอกชนร่วมด้วย เช่น Krispy Kreme ถ้าใครมีหลักฐานฉีดวัคซีนจะได้โดนัทฟรีวันละหนึ่งชิ้นตลอดทั้งปี หรืออย่างในนิวยอร์ค ถ้าคุณฉีดวัคซีนจะมีสิทธิ์ลุ้นลอตเตอรี่ในทุกๆ เดือน นี่คือการใช้พฤติกรรมศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแรงจูงใจของคนทั้งนั้น
ทางด้านไทย เรามีคำว่า ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ มองว่ามันมีปัญหาหรือมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
จริงๆ ถ้าตัดเรื่องการเมืองออกไป คำว่า ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ มันไม่มีปัญหา แต่มันไม่มีประสิทธิภาพ ยกเว้นว่าคุณมาจากประเทศที่มีประชากร 5 ล้านคน แต่ประเทศไทยเรามีประชากร 66 ล้านคน เราเป็นแค่หนึ่งในจักรวาล ดังนั้น เราอาจรู้สึกว่าเราคนเดียวไม่ไปฉีดวัคซีนก็ได้ ให้คนอีก 64.9999 ล้านคนไปฉีดแทน
แต่ถ้าเปลี่ยนคำว่า ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ เป็น ‘ฉีดวัคซีนเพื่อตัวคุณเอง และคนที่คุณรัก’ แล้วมีการส่งข้อความไปหาคนๆ นั้นว่าวัคซีนของมาถึงแล้ว รอคุณอยูที่นี่แล้วนะ มันจะผลักดันตัวคุณให้อยากไปมากขึ้น ไม่ปล่อยให้วัคซีนสูญเปล่า
ย้อนกลับไปวาทกรรมข้างต้น มันจะมีปัญหาทันทีถ้าคนนำไปมันไปผูกกับพรรคการเมือง หรืออัตลักษณ์ทางการเมือง (Political Identity) ของตัวเอง ผมเพิ่งทำวิจัยเกี่ยวกับการใส่แมสก์ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนนั้นมันมีช่วงหนึ่งที่เกิดการแบ่งแยกทางการเมือง ถ้าคุณเชียร์เดโมแครตคุณจะใส่หน้ากาก แต่ถ้าคุณเป็นรีพับลิกันคุณจะไม่ใส่ และพอมันเกิดการใช้อัตลักษณ์ทางการเมืองแบบนั้น มันทำให้เกิดการแบ่งข้างและทำให้คนสองกลุ่มไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และทำให้คนแต่ละกลุ่มไม่อยากทำพฤติกรรมที่อีกกลุ่มหนึ่งทำ
เพราะฉะนั้น ลองคิดว่าถ้ากลุ่มที่เชียร์รัฐบาลบอกว่าควรที่จะไปฉีดวัคซีน แต่กลุ่มคนที่ไม่เชื่อใจรัฐบาลบอกว่าไม่ควรไป ควรรอให้รอรัฐบาลไปเอาวัคซีนชนิดอื่นมาให้ได้ก่อน ประชาชนเขาก็จะฟังกลุ่มที่เขาเชียร์ เพราะถ้ามีข้อความมาบอกว่าให้ไปฉีดวัคซีน เช่น Sinovac นะ และถ้าเราไปฉีด มันจะเหมือนไปหักหลังกลุ่มที่เราเชียร์อยู่ ซึ่งเราก็จะไม่ทำ
มันเป็นคำอธิบายเดียวกันว่า ทำไมคนที่เชียร์ให้เกิดการรัฐประหารปี 2557 แม้สุดท้ายเหมือนเขายอมรับว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ผิด แต่เขาไม่ออกมายอมรับว่ามันผิด เพราะถ้ายอมรับเท่ากับมันเป็นการหักหลังคนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกับเขา
ทีนี้มันเป็นปัญหาของเมืองไทย วัคซีนมันไม่ทำให้คนอยากจะร่วมมือกัน ทั้งที่ COVID-19 มันไม่แคร์ว่าคุณจะเชียร์ฝั่งไหนทางการเมือง แต่ไอเดียมันคือถ้าคุณไม่ฉีดวัคซีน ไวรัสก็ยังระบาดอยู่ และเชื้อก็มีโอกาสกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
มองจากมุมคนอยู่ไกล เมืองไทยตอนนี้คล้ายๆ กับสหรัฐฯ ช่วงทรัมป์ดำรงตำแหน่งหรือเปล่า
คล้ายๆ กันตรงที่ว่าประชาชนสองกลุ่มมีความแตกแยกทางการเมือง และมันทำให้เกิดการแบ่งแยกในเรื่องการแพทย์และวัคซีน ซึ่งมันไม่ควรที่จะเกี่ยวข้องกับเลย ถ้าถามว่ารัฐบาลอังกฤษรับมืออย่างไรกับ COVID-19 ต้องพูดตรงๆ ว่า บอริส จอห์นสัน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษ – ผู้เขียน) ทำงานไม่ได้เรื่อง
แต่พอมีวัคซีนออกมา เกือบทุกคนร่วมมือกันทันที เพราะก่อนหน้านี้เราทุกคนผ่านจุดที่แย่มากๆ ร่วมกันมา เช่นเดียวกับสหรัฐฯ พอ โจ ไบเดน ขึ้นมา ทุกคนเห็นตรงกันว่าถึงเวลาต้องร่วมมือกันเพื่อผ่านจุดที่เลวร้ายไปให้ได้แล้ว
แต่เมืองไทยไม่เคยผ่านจุดที่เลวร้ายเช่นเดียวกับอังกฤษหรือสหรัฐฯ คล้ายกับออสเตรเลียที่ไม่เคยประสบปัญหาการระบาดหนักๆ ทำให้พอทำแบบสอบถามว่าชาวออสเตรเลียอยากจะฉีดวัคซีนไหม ปรากฎว่าร้อยละ 30 ไม่อยากรับวัคซีน มันคล้ายๆ กัน ถ้าเราไม่อยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด เราจะไม่รู้เลยว่ามันย่ำแย่แค่ไหน
อย่างนั้นแล้ว มันจะมีทางไหนไหมที่เราจะจับมือร่วมกันฝ่าวิกฤต นอกจากต้องเคยเผชิญภาวะวิกฤตเหมือนในสหรัฐฯ หรืออังกฤษ
ผมคิดว่าถ้าเมืองไทยทำเทสต์ให้มากเท่าที่อังกฤษทำ อาจจะได้เห็นตัวเลขที่มากชนิดไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้ อย่างที่อังกฤษ ช่วงหนึ่งเขาทำเทสต์วันละล้านกว่าคน แต่ตอนนี้เมืองไทยประมาณ 60,000 กว่าคน ลองทำเทสต์วันละหนึ่งล้านคนดูสิ เราจะรู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว
แต่มีคนเคยถามผมเหมือนกันในช่วงเสื้อแดง-เสื้อเหลือง (วิกฤตการเมืองไทย 2548-2553) ว่าทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มนี้หันมาร่วมมือกัน ตอนนั้นผมก็บอกว่าต้องมีเอเลี่ยนมาบุกโลก ซึ่งจริงๆ COVID-19 มันก็ไม่ต่างจากเอเลี่ยน แต่เรากลับยังมองว่าเชื้อโรคเป็นประเด็นการเมืองอยู่ เหมือนกับว่ายังไม่เห็นว่าศัตรูร่วมกันคืออะไร และต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญปัญหานี้ร่วมกัน
นอกจากในภาพใหญ่ สมมุติว่าถ้าในบ้านผมมีพี่ชายคนหนึ่งที่ไม่อยากไปฉีดวัคซีน เรามีวิธีการไหนบ้างที่จะเปลี่ยนใจเขา
มันมีอยู่ 2 วิธี คนเราจะมีอดคติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Illusion of Expernatory Depth คือ คนเรามักจะคิดว่าเราเข้าใจกลไกการทำงานของบางสิ่งมากกว่าที่เราเข้าใจจริงๆ เช่น มีคนมาถามเราว่ากลไกการทำงานของชักโครกเป็นอย่างไร เรามักจะบอกว่าเข้าใจ แต่ถ้าเขาต่อว่าช่วยอธิบายอย่างละเอียดได้ไหม ซึ่งพอเราต้องอธิบายเราจะเอ๊ะแล้วว่ามันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า และถ้าถูกถามอีกครั้ง เราอาจจะเปลี่ยนคำตอบไปเลยก็ได้
ดังนั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนใจใครสักคน สมมุตินะครับแค่สมมุติ เรามีพี่ชายที่เชื่อว่า Sinovac ดีกว่า Pfizer ให้เราลองทำกระบวนการนี้สัก 5 ขั้นตอน
- ลองถามเขาก่อนว่าอยากฉีด Sinovac มากกว่า Pfizer หรือเปล่า
- ลองถามว่าเขาเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของ Sinovac มากขนาดไหน ให้คะแนนเท่าไรระหว่าง 1-10
- ลองอธิบายหน่อยได้ไหมว่าวัคซีน Sinovac มีกลไกทำงานอย่างไร มันทำงานอย่างไร
- ถามอีกครั้งว่าเชื่อมั่นในคำอธิบายตัวเองมากน้อยขนาดไหน
- นำวิดีโอที่อธิบายว่า Sinovac ทำงานอย่างไร เปิดให้เขาดู
- ลองถามเขาอีกครั้งว่าอยากฉีดวัคซีนชนิดนี้ไหม
ผมเชื่อว่าถ้าเริ่มจากกระบวนการทั้งหมดนี้ จากคนที่ไม่อยากฉีดวัคซีนเลย เขาอาจจะเริ่มสงสัยในความเข้าใจของตัวเอง และโอกาสที่เขาจะเปลี่ยนใจจะเพิ่มมากขึ้น นี่คือการสร้างกระบวนการ Rethinking
อีกวิธีหนึ่งคือ ถ้าเราไปบอกเขาว่าต้องฉีดตัวนี้ เพราะมันมีข้อดีแบบนี้ เขาจะเกิดการต่อต้านทันที แต่ถ้าเราบอกว่าถึงแม้วัคซีนตัวนี้จะยังไม่มีผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มากพอ แต่มันก็มีข้อดีแบบนี้ๆ นะ และ COVID-19 ถ้าติดมันมีข้อเสียแบบนี้ๆ นะ และลองให้เขาเทียบกันดูเอง
พูดง่ายคือ แทนที่จะคัดค้านความคิดเห็นของเขาในทันที เราต้องยอมรับความรู้สึกกลัวของเขาก่อน ไม่ปฏิเสธเขาว่ามันไม่มีความเสี่ยง แต่ให้ลองเอาข้อมูลสองชุดมาเทียบกันให้เขาดู และเขาจะเปลี่นใจหรือไม่ก็เรื่องของเขาแล้ว เราต้องเอาข้อมูลมาพูดกัน แต่เราต้องยอมรับด้วยว่าเขาก็มีความกลัวของเขา ไม่ใช่ปฏิเสธเขาเสียหมด