เป็นอีกหนึ่งความหวังในการหยุดไวรัส COVID-19 หลังทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตรียมรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนใบยาในคน โดยวางแผนจะเริ่มทดสอบตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ และคาดว่าจะเริ่มใช้ในประเทศไทยในกลางปี 2565.
ชื่อของวัคซีนใบยา มาจากการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลียดั้งเดิมมาผลิตวัคซีน COVID-19 ผ่านวิธี Protein Based ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการผลิตวัคซีนไวรับตับอักเสบบี, ไข้หวัดใหญ่, อีโบลา รวมถึงวัคซีน Novavax ที่บุคลการทางการแพทย์และประชากรทั่วโลกกำลังตั้งตาคอยอยู่ขณะนี้ (เพราะเป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของโครงการ COVAX)
โดยทีมผลิตคือ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด นำโดยสองนักวิจัย ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้อธิบายว่า
“วัคซีนใบยาใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลียทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัสซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย วัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้”
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทีมนักวิจัยได้ทดลองฉีดวัคซีนใบยาให้แก่สัตว์ทดลอง (หนูขาวและลิง) พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น่าพอใจ และลิงหนึ่งในสัตว์ทดลองไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ
ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาลจุฬาฯ บอกว่า “ผลเลือดในลิงที่ใช้ทดลองมีค่าเอนไซม์ตับปกติ อีกทั้งจำนวนเม็ดเดือดแดงและเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้เมื่อนำเปปไทด์ไปกระตุ้นเซลล์ของลิงพบว่า มีการกระตุ้น T Cell ได้ดี ซึ่งนับว่าการทดลองดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ”
ในขั้นต่อไป ทางทีมวิจัยวางแผนที่จะทดลองในคน โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มเปิดรับอาสาสมัครกลุ่มแรกจำนวน 50 คน มีเกณฑ์ไว้ว่า
- ต้องเป็นผู้มีอายุ 18 – 60 ปี
- มีสุขภาพแข็งแรง
- ไม่เคยได้รับวัคซีน COVID-19 มาก่อน
และการทดสอบวัคซีนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป อาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดสองเข็ม เว้นระยะเวลาห่าง 3 สัปดาห์ และเมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จ ทางผู้วิจัยวางแผนจะจะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปีต่อไป
ทีมวิจัยคาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300 – 500 บาท
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนา ‘วัคซีนใบยารุ่น 2’ สำหรับรับมือกับไวรัส COVID-19 ที่กลายพันธุ์ โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบกับอาสาสมัครปลายปี 2564
ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้อธิบายข้อดีอีกประการของวัคซีนตัวนี้กับสำนักข่าวไทยรัฐว่าคือ ความยืดหยุ่นในการปรับปรุงวัคซีนเพื่อสู้กับไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มกลายพันธุ์อยู่ตลอด
โดยหมออธิบายถึงการผลิตวัคซีนเชิงเทคนิคว่า เมื่อทีมผู้ผลิตเลือกรหัสพันธุกรรมได้แล้ว สามารถฉีดเข้าไปเซลล์พืชได้เลย หลังจากนั้นพืชจะผลิตโปรตีนตามที่เราต้องการ
“เสร็จเรียบร้อยแล้วพืชก็จะผลิตโปรตีนมาตามที่เราสั่ง ก็สามารถที่จะทำเป็นวัคซีนเจเนอเรชันหรือรุ่นที่ 1, 2, 3, 4, 5 ได้หมดเลย แล้วต้นใบยาก็สามารถที่จะผลิตโปรตีนได้ในเก้าวัน” หมอเสริมต่อข้อดีอีกประการคือ การใช้พืชผลิตวัคซีนทำให้ลดต้นทุนไปได้มากด้วย
ผู้สนใจบริจาคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนใบยา ติดตามรายละเอียดได้ที่:
https://www.cuenterprise.co.th/
หรือเพจเฟซบุ๊ก:
https://www.facebook.com/BaiyaPhytopharm/
https://www.facebook.com/CUEnterpriseOfficial
อ้างอิง:
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ยาและวัคซีนจากใบยาสูบ-ก/
https://www.thairath.co.th/news/local/2088321