พวกเราจำเป็นต้องมีชีวิตพร้อมๆ กับบรรดาไข้หวัดไปอีกนาน เฉกเช่นในอดีตที่มีการระบาดครั้งสำคัญ และได้เปลี่ยนบทบาทสาธารณสุขโลกมาครั้งแล้วครั้งเล่า การมาเยือนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘COVID-19’ ได้สร้างการตระหนักรู้ในการรับมือการระบาดระดับสากล ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้มนุษย์ก็ผ่านบทเรียนที่น่าจดจำมากมาย
หากมองย้อนไปอดีต เราก็เพิ่งครบรอบ 102 ปี ของการระบาดครั้งใหญ่ ‘ไข้หวัดสเปน’ (Spanish flu) จนประวัติศาสตร์โลกเรียกเหตุการณ์ระบาดครั้งใหญ่นั้นว่า ‘Great Influenza Pandemic’ เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1918 การมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยของไข้หวัดสเปนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 50 ล้านคน เป็นหวัดมหาภัยที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดตลอดกาล แต่หลังจากนั้น 1 ศตวรรษผ่านไป ความรู้ทางวิทยาการของมนุษย์สูงขึ้นจากไข้หวัดสเปนอย่างไร และทำไมเราถึงไม่สามารถจัดการไข้หวัดเหล่านี้ได้อย่างเฉียบขาดเสียที

ภาพ : telegraph
ต้นกำเนิดมหากาพย์แห่งโรคระบาดในปี ค.ศ.1918 ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีที่มาแน่นอน ด้วยข้อจำกัดทางการแพทย์สมัยนั้น คำว่า ‘influenza’ มาจากรากศัพท์ภาษาอิตาเลียนหมายถึง influence หรืออิทธิพลดวงดาวที่เกี่ยวกับมุมมองด้านโหราศาสตร์ (astrology) ซึ่งคนยุคนั้นคิดว่า โรคระบาดเกิดจากอิทธิพลของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์โคจรมาบรรจบกัน เกิดเภทภัยต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ส่วนทฤษฎีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคือ โรคระบาดมาจากซากเน่าของสัตว์ตายในที่โล่ง บ้างก็ว่าเกิดจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด จนนำความชั่วร้ายที่อยู่ใต้ผิวโลกปะทุขึ้นมา
ในช่วงปี ค.ศ.1890 นักจุลชีววิทยา 2 คนจากกรุงเบอร์ลิน ค้นพบแบคทีเรียชื่อ ‘Bacillus influenza’ และเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ภายหลังพบว่าเป็นข้อสันนิฐานที่คลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้ว แม้ Bacillus influenza จะพบได้ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคไข้หวัด เป็นเพียงผู้รุกรานเบอร์ 2 ที่ฉวยโอกาสเข้ามาในร่างกาย ขณะภูมิต้านทานอ่อนแอ ซึ่งตัวการแท้จริงแล้วคือ ‘ไวรัส’ ส่วนแบคทีเรียเป็นเพียงฝูงแร้งที่กินซากจากนักล่าอีกที
ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียมาก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง และไม่มีใครเคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน พวกมันเป็นนักล่า อันตราย และรุกฆาต จนกระทั่งปี ค.ศ.1939 แพทย์และนักนวัตกรรมได้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญในการส่องดูไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดอิเล็กตรอน (electron microscope) ทำให้เราได้เห็นภาพแรกของไวรัส ต่อมาทำให้เราสามารถ isolate ไวรัสหวัดออกมาได้สำเร็จ
ปัจจุบันเรารู้จักรหัสทางพันธุกรรมของไวรัสหวัดที่มีโครงสร้างคล้ายโปรตีน รู้ว่าพวกมันสามารถโจมตีเซลล์ปอดและแพร่พันธุ์ได้อย่างไร ดังนั้นหากเราไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของไวรัสก็ยากจะพัฒนาชุดตรวจและยารักษา
แต่ในช่วงปี ค.ศ.1919 เรายังไม่มีวิทยาการด้านพันธุศาสตร์ที่รุดหน้า ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ไฮเทค แพทย์ต้องหาทางรักษาให้จงได้แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ ในช่วงที่การระบาดอยู่ในจุดวิกฤต แพทย์นามว่า เอ็ดเวิร์ด คาร์ล โรเซโนว์ (Edward Carl Rosenow) จาก Mayo Clinic ศูนย์การศึกษาทางวิชาการองค์กรไม่หวังผลกำไรในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินเนโซตา ทดลองพัฒนาวัคซีนที่ใช้แบคทีเรีย 5 สายพันธุ์โดยนำมาจากปอดและเสมหะของผู้ป่วย ทดลองฉีดให้กับผู้ป่วยมากถึง 100,000 ราย ส่วนอีกด้านในวิทยาลัยการแพทย์ Tufts College Medical ในกรุงบอสตัน แพทย์อีกท่านชื่อ ทิโมธี แลร์รี่ (Timothy Leary) ได้พัฒนาสูตรวัคซีนที่ได้จากผู้ป่วยใน Fort Devens ที่อุดมไปด้วยทหารที่ป่วยไข้หวัด จากนั้นมีการฉีดให้กับผู้ป่วยมากถึง 18,000 ราย
น่าสนใจที่วัคซีนทั้งสองนั้น ล้มเหลวในการรักษาทุกประการ เพราะเราจัดการผู้ต้องสงสัยผิดตัว
ปัจจุบันเรามีวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่แล้ว แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ เพราะวัคซีนเองจะต้องอัพเดททุกๆ ปี จากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสหวัด ซึ่งหากปีไหนโชคดีหน่อย วัคซีนจะใช้รักษาโรคได้ผลเพียง 50% ก็ถือว่าเป็น good case scenario แล้ว และวัคซีนยังมีข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน วัคซีนจากเมื่อ 3 ปีก่อนอาจใช้ไม่ได้ผลหากนำมารักษาปีนี้ นี่จึงจำเป็นที่กลุ่มคนมีความเสี่ยงสูงอย่าง เด็กและผู้สูงอายุ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นภารกิจสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่ดีขึ้น แม่นยำขึ้น มีความครอบจักรวาลในการรักษาไวรัสหวัดหลายสายพันธุ์ จึงเสมือนภารกิจตามหา ‘จอกศักดิ์สิทธิ’ แห่งวงการแพทย์เลยทีเดียว เพราะสามารถลดต้นทุนมหาศาลที่เสียไปในการรับมือไข้หวัด และไม่ต้องไล่อัพเดทบ่อยๆ อย่างที่เป็นมา ค่ารักษาอาจถูกลงหลายเท่าตัว
ภารกิจตามหาจอกศักดิ์สิทธิ
นี่จึงเป็นความต้องการอย่างสูงของแพทย์ในการพัฒนา Universal flu vaccine ที่จะเป็นปราการสำคัญในการต่อต้านเชื้อไวรัสหวัดหลายสายพันธุ์ที่ในอนาคตน่าจะมีมากกว่านี้ จากปกติที่เรามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากเชื้อหวัด 650,000 รายต่อปี แต่ในช่วงวิกฤตอาจมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าเดิมถึง 10 เท่าเป็นอย่างน้อย วัคซีนที่เรามีสามารถรักษาเฉพาะสายพันธุ์เท่านั้น และต้องมีการเปลี่ยนทุกปีผ่านการคาดเดาเทรนด์ที่ไม่แน่นอน
วัคซีนปัจจุบันที่ใช้ มุ่งเน้นเป้าหมายไปยัง ‘ฮีแมกกลูตินิน’ (hemagglutinin) ซึ่งเป็นโปรตีนเกราะส่วนนอกของไวรัส โปรตีนนี้มีส่วนหัวและก้านลักษณะคล้ายเห็ด กลไกทำงานของวัคซีนจึงเน้นกระตุ้นให้ anitibodies ในร่างกายเรารู้จักกับฮีแมกกลูตินินของไวรัสเพื่อเข้าไปทำลายโปรตีนส่วนนอก แต่ปัญหาคือฮีแมกกลูตินินมีการกลายพันธุ์แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในแต่ละปี เมื่อถึงจุดหนึ่ง anitibodies จะไม่รู้จักฮีแมกกลูตินินของไวรัส ทำให้มันรอดพ้นจากการถูกทำลายและแพร่พันธุ์ในร่างกายได้ต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ ก้านของฮีแมกกลูตินินนั้นไม่ค่อยกลายพันธุ์บ่อยเท่าส่วนหัว ทำให้เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจเพื่อให้ antibodies จัดการกับไวรัสได้ ดังนั้น การเปลี่ยนจากเล็งที่หัว (head) มาสู่ก้าน (stem) ของฮีแมกกลูตินิน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาวัคซีนครอบจักรวาลในอนาคต มีความพยายามนำก้านฮีแมกกลูตินิน จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ หรือ H1N1 มาศึกษา และทำให้ antibodies โจมตีแค่ส่วนก้านของไวรัสเท่านั้น วัคซีนนี้มีการทดลองในสัตว์พบว่าสามารถรักษาโรคหวัดได้หลายสายพันธุ์ เพิ่งเริ่มเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ช่วงแรก
ศูนย์วิจัยวัคซีนของสถาบันแห่งชาติของโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ Vaccine Research Center (VRC) ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้าสู่ phase I จำเป็นต้องอาศัยเวลาอีกมากในการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในมนุษย์ เพราะเรายังไม่มีข้อมูลมากพอว่า หากวัคซีนนี้เหนี่ยวนำให้ antibodies ไปโจมตีก้านฮีแมกกลูตินินของไวรัสได้ตามทฤษฏี แต่ผลกระทบที่ตามมาระยะยาวในสุขภาพมนุษย์จะเป็นอย่างไร คาดว่าในอีก 5 ปี เราจะได้คำตอบของ ‘วัคซีนครอบจักรวาล’
แม้ผ่านไปหลายศตวรรษ ไข้หวัดยังคงทำให้พวกเราวิตกกังวลต่อเนื่องยาวนาน เรารู้วิธีการจัดการอย่างเป็นทฤษฏี แต่คำถามคือ เราจะทำได้จริงภายในเวลาจำกัดได้หรือไม่ ก่อนการระบาดครั้งต่อไปจะมาเยือน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Influenza: exposing the true killer
interim results of a randomized, placebo-controlled, phase 1 clinical trial