(1)
ต้นศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคิดว่าตนรู้จัก ‘โรคระบาด’ ทุกโรคที่เกิดขึ้นบนโลกแล้ว จากวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ก้าวหน้าขึ้นมากในศตวรรษก่อนหน้านั้น ทำให้สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บอย่าง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรคได้ แต่นั่นไม่ใช่ ‘ไข้หวัดสเปน’ ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1918
แม้จะยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดและไม่รู้แม้กระทั่งว่าเริ่มต้นที่ไหน แต่นักประวัติศาสตร์บันทึกตรงกันว่าโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาตินี้ เริ่มต้นขึ้นในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 จากข่าวที่ ‘รั่ว’ ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคลึกลับ ออกมาจากประเทศที่เป็นกลางในสงครามและปิดข่าวน้อยที่สุดในช่วงเวลานั้นอย่างสเปน ขณะเดียวกัน เมื่อมีข่าวลืออาการประชวรของกษัตริย์สเปน พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 (Alfonso XIII) ด้วยโรคคอพอกพอดี ว่าพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคลึกลับนี้ ก็ทำให้สเปนถูกหาว่าเป็นต้นกำเนิดของโรคนี้ทันที
ทั้งที่เวลานั้น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีผู้ป่วยซึ่งเป็นทหารในสงครามกันเต็มไปหมดแล้ว แต่ทุกประเทศสั่งปิดข่าว เพราะเกรงว่าจะทำให้ทหารเสียขวัญขวัญกำลังใจ รวมถึงอาจทำให้ศัตรู รู้จุดอ่อนของกองทัพ
แต่ข่าวทั้งหมดก็ปิดไม่มิด
การเดินทางกลับประเทศครั้งมโหฬารของทั้งฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายมหาอำนาจกลาง ล้วนพาโรคลึกลับไประบาดที่ประเทศของตัวเอง จาก 1 ไป 100 จาก 100 ไป 500 ในสหรัฐอเมริกา จากต้นกำเนิดของอเมริกาที่ฐานทัพเรือในบอสตัน ในปี ค.ศ.1919 อีกปีถัดมา สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 7.5 แสนคน ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนอเมริกัน ลดลงไปทันทีถึง 12 ปี
ส่วนทั่วทั้งโลกตายไป 50-100 ล้านคน ทุกทวีปตั้งแต่ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ที่หนักที่สุด หนีไม่พ้นประเทศอาณานิคมของอังกฤษอย่างอินเดีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 18 ล้านคน หลังจากเรือที่กลับจากสงครามโลก จอดเทียบท่าที่มุมไบ
ที่น่าสนใจก็คือ ‘ไข้หวัดสเปน’ นั้น ได้สอนให้โลกรู้ว่า ‘หวัด’ สามารถกลับมาได้เสมอ โดยคลื่นลูกแรก เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งไม่ได้แย่มากนัก ผู้ที่อายุน้อย และแข็งแรงสามารถกลับมาแข็งแรง หายดีได้รวดเร็ว แต่เมื่อคลื่นลูกที่ 2 เริ่มต้นในฝรั่งเศส เซียราลีโอน และในสหรัฐฯ อีกรอบ จากการ ‘กลายพันธุ์’ เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อึดกว่าและรุนแรงกว่า
ทั้งหมดนี้ เห็นจะมีจีนที่เดียว (บางทฤษฎีบอกว่า จีนเป็นต้นกำเนิดไวรัสชนิดนี้และส่งออกไปยังอเมริกา) ที่มีผู้เสียชีวิตน้อยมาก ท่ามกลางข่าวลือที่ว่า ‘สมุนไพรจีน’ สามารถช่วยบรรเทาไข้หวัดสเปนได้อยู่หมัด
(2)
ไข้หวัดสเปน ยังบอกอีกด้วยว่า
การประเมินศักยภาพของมันต่ำไป
จากการไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ
ได้นำพาหายนะมาได้เสมอ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เกิดขึ้นที่ฟิลาเดลเฟีย รัฐพิตส์เบิร์ก เมื่อ วิลเมอร์ ครูเซน (Wilmer Krusen) สูตินรีแพทย์ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบการจัดการโรคนี้ บอกว่าเป็นเพียงแค่ ‘ไข้หวัดธรรมดา’ และโรคนี้จะหายไปเองเมื่อระบาดไปสักระยะหนึ่ง และเมื่อเริ่มมีผู้เสียชีวิตให้เห็น เขาก็ปฏิเสธสาเหตุการตายว่ามาจากหวัดสเปน หากแต่เป็นเพียงหวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่เท่านั้น
แม้ในบอสตัน 500 กิโลเมตรทางเหนือ จะมีการระบาดไปล่วงหน้าแล้ว แต่วิลเมอร์ก็ยังรู้สึกว่าโรคนี้ จะไม่ระบาดที่ฟิลาเดลเฟีย วิลเมอร์ปฏิเสธที่จะระดมแพทย์ พยาบาล เตียงโรงพยาบาล เพื่อรองรับหากเกิดการระบาด ซ้ำยังเสนอต่อรัฐบาลท้องถิ่นไปว่า ‘ปลอดภัย’ ที่จะจัดการเดินพาเหรดครั้งใหญ่ ในการออกพันธบัตร Fourth Liberty ซึ่งออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อระดมทุนในการช่วยประเทศ หลังต้องใช้เงินมากมายไปกับการทำสงคราม
พาเหรดในฟิลาเดลเฟีย กลายเป็นหายนะ 1 หมื่นคน บนท้องถนนในวันเดินพาเหรด พาคนติดไวรัส กว่า 2 แสนคนในฟิลาเดลเฟียในอีก 10 วันต่อมา และแม้จะปิดเมือง ปิดสถานที่สาธารณะ ก็สายเกินไป ถึงเดือนมีนาคมปีถัดมา คนฟิลาเดลเฟีย ก็เสียชีวิตไปกว่า 1.5 หมื่นคน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สอนให้รู้จักการบังคับกักกันโรค ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มทั้งโดยรัฐและโดยชุมชน สอนให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า Social Distancing เพื่อขัดขวางการติดต่อของโรค เรียนรู้มาตรการสำคัญอย่าง “ล้างมือบ่อยๆ” หรือการที่สหรัฐอเมริกาสร้างระบบ ‘สาธารณสุข’ ครั้งใหญ่ตามมา เช่นเดียวกับประเทศยุโรปอื่นๆ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน
(3)
แต่สิ่งที่เหมือนจะเรียนรู้ แต่ไม่ได้เรียนรู้ก็มีอีกมาก… 102 ปีถัดมา ไข้หวัดลึกลับครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นจากการปิดข่าว โรคมรณะนี้มีจุดกำเนิดจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นสั่งสอบสวน นายแพทย์หลี่เหวินเหลียง (Li Wenliang) แพทย์หนุ่มในอู่ฮั่น ผู้พยายามจะบอกกับชาวโลกว่ามีโรคระบาดนี้เกิดขึ้น ถูกดำเนินคดีและเสียชีวิตด้วยโรคนี้ในเวลาต่อมา
ไม่เพียงเท่านั้น กว่าจีนจะประกาศว่าโรคนี้สามารถติดต่อ ‘คนสู่คน’ ได้ ก็ล่วงเข้าไปถึงกลางเดือนมกราคม เวลาเดียวกับที่มีชาวอู่ฮั่นเดินทางออกไปทั่วโลกแล้ว รวมถึงอิตาลีซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ และกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าจีน
การปิดข่าวไม่ได้หายไปไหน
แม้โลกนี้จะเหลือเรื่องที่ปิดให้มิดชิดได้น้อยมากก็ตาม…
ส่วนข่าวปลอมก็ยังเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ
แม้เทคโนโลยีจะไปไกลกว่าทศวรรษที่แล้วมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ไม่น่าให้อภัยก็คือการ ‘ประเมินต่ำ’ ยังเกิดขึ้นกับ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบ ‘ป้องกันโรคติดต่อ’ ที่ดีที่สุดในโลก และผู้ที่ควรจะมีบทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ในฟิลาเดลเฟีย ก็เกิดขึ้นเช่นกัน
ปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งมีคำสั่ง ‘ชัตดาวน์’ หน่วยงานด้านความมั่นคงด้านระบบสาธารณสุข และปรับลดตำแหน่งซึ่งดูแลด้านโรคระบาด ภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ตั้งใครแทน เพราะไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว
1 เดือนก่อนหน้าที่ COVID–19 จะลามไปทั่ว 50 มลรัฐของอเมริกา ทรัมป์ ผู้ซึ่งปู่ของเขาเสียชีวิตด้วย Spanish Flu พูดเหมือนกับแพทย์ในฟิลาเดลเฟียเมื่อศตวรรษที่แล้วว่า โรคนี้ ไม่ได้น่ากลัว เท่ากับที่พรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างเดโมแครต พยายามวาดให้น่ากลัว เพื่อจะได้โจมตีการทำงานของเขา ขณะเดียวกัน ก็จะหายไปเองเมื่ออากาศอุ่นขึ้นในเดือนเมษายน และมาตรการของสหรัฐฯ ที่เริ่มตั้งแต่การแบน ไม่ให้ผู้ที่เดินทางจากจีนเข้าประเทศ ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังจีนปิดอู่ฮั่นนั้นเพียงพอ
ผลก็คือ กลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID–19 มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา และกลายเป็นประเทศที่ผิดพลาดกับการรับมือโรคนี้มากที่สุด ทั้งที่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้านานนับเดือน ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่รัฐมนตรีสาธารณสุข บอกว่าเป็น ‘ไข้หวัดธรรมดา’ และอยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้
(4)
สเปน ต้นกำเนิดของชื่อไข้หวัดเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ยังคงจัดพาเหรดวัน ‘สตรีสากล’ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ผลของการเดินพาเหรด กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากการเดินพาเหรดในฟิลาเดลเฟีย แม้แต่ เบโกนา โกเมซ (Begona Gomez) ภรรยานายกรัฐมนตรี ก็ติดเชื้อ COVID–19 พร้อมกับนักการเมืองอีก 2 คน ซึ่งไปงานพาเหรดนี้เช่นเดียวกัน ก็ติดเชื้อด้วย
การประเมินต่ำ ยังส่งผลให้ประเทศในยุโรป ที่ได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่องว่าเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีลำดับต้นๆ ของโรค ‘พังครืน’ จากการที่มีผู้ป่วยมากกว่าระบบจะรองรับ ภาพของโรงพยาบาลสนามที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ เกิดขึ้นทั่วทั้งทวีป แม้แต่ประเทศที่ตั้งขององค์การอนามัยโลกอย่างสวิสเซอร์แลนด์ ก็ออกมายอมรับว่าด้วยอัตราผู้ป่วยระดับ 988 คน ต่อ 1 ล้านคน ในขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ระบบสุขภาพ จะล่มสลายในไม่ช้า
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมการที่รัฐ ยอมให้จัดพิธีทางศาสนาที่โบสถ์ลัทธิชินชอนจิในเกาหลี พิธีทางศาสนาในมัสยิดที่มาเลเซีย การแข่งขันมวยนัดพิเศษที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งกลายเป็นแหล่งสำคัญ ซึ่งทำให้ทั้ง 3 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนชัดว่า เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ได้น้อยเกินไป และประเมินมันต่ำไปมาก
บทเรียนครั้งสำคัญของรอบนี้
ล้วนเป็นเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว
อย่างน่าประหลาด..
(5)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดหลายเรื่อง เกิดจากความมั่นใจมากเกินไปว่าแต่ละประเทศเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน โรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีที่แล้ว สร้างระบบคัดกรองให้หลายประเทศ โดยใช้การ ‘วัดไข้’ เป็นเกณฑ์ ซึ่งสร้างบทเรียนสำคัญ เพราะผู้ป่วย เมื่อมีไข้จะสามารถแยกออกมาอย่างเห็นได้ชัด โรคเมอร์ส อีกสิบกว่าปีถัดมา ก็สามารถป้องกันได้แบบเดียวกัน
แต่ COVID–19 เป็นศัตรูที่มองไม่เห็น ที่ทดสอบระบบจัดการโรคติดต่อทั่วโลกอย่างแท้จริง ไม่มีระบบไหนที่สามารถแยกผู้ป่วยโรคนี้ออกมาได้เลย ซ้ำด้วยระยะฟักตัวที่นานถึง 14 วัน ยังทำให้การ ‘กักตัวเอง’ เป็นไปอย่างยากลำบาก
มิหนำซ้ำ การติดต่อ การแพร่เชื้อ ยังดูง่ายกว่าทั้งซาร์ส ทั้งเมอร์สมาก รูปแบบการเพิ่มจำนวน จึงหักปากกาทั้งผู้นำประเทศ ทั้งผู้เชี่ยวชาญก่อนหน้านี้ ซึ่งเชื่อว่าโรคนี้จะจบไวไปอย่างสิ้นเชิง วิธีการจัดการสุดท้ายเหลือทางเดียวนั่นคือแยก ‘คน’ ออกจากกันให้มากที่สุด ลดการติดต่อกัน ลดการเดินทางให้เท่ากับศูนย์ ซึ่งจะทำลายสิ่งสำคัญที่มนุษยชาติสร้างมาอย่าง ‘ระบบเศรษฐกิจ’ ลงไปอย่างราบคาบ
นั่นทำให้เห็นว่า ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมเสมอสำหรับโรคระบาด ครั้งนี้ COVID–19 ได้ทำให้ความเชื่อของทุกประเทศที่คิดว่าตัวเองพร้อมที่สุด มีระบบที่ดีที่สุดพังลงในระยะเวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์ จากจำนวนผู้ป่วย ที่ไม่มีใครรับไหว
ไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่สถานการณ์โลกหลังจากนี้ จะไม่เหลือใครที่ไว้ใจระบบของตัวเอง และไม่น่าจะมีใครที่ประเมินโรคระบาด ว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ที่ต่ำกว่าสงคราม และต่ำกว่าเศรษฐกิจ ได้อีกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก