“โควิดรอบนี้เราไม่รอดแหละ”
คำกล่าวที่เราได้ยินกันจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือคนที่อยู่ในโลกออนไลน์ บางคนไม่มีอาการอะไร แต่ไปตรวจแล้วพบเชื้อ บ้างก็แค่เจ็บคอ สุดท้ายก็พบว่าติดโควิด
สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในระลอกนี้ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างน่ากังวล ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าครั้งก่อนๆ ยอดผู้เสียชีวิตรายวันที่พุ่งขึ้นมาแตะเลขสองหลัก รวมถึง กลุ่มผู้ติดเชื้อที่เป็นคนหนุ่มสาวเสียส่วนใหญ่
แล้วทำไมการระบาดระลอกนี้ ถึงเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อย มากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา พื้นที่อื่นในโลกประสบปัญหาเดียวกันไหม? The MATTER ขอชวนทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบในประเด็นนี้กัน
คนอายุน้อยติดเชื้อเยอะขึ้นจริงไหม
เดิมทีบางคนอาจกังวลว่า ถ้าติดเชื้อขึ้นมาจะไปแพร่ให้ผู้สูงอายุในบ้าน มากกว่าจะกลัวว่า เราจะอาการทรุดหนักกัน เพราะข้อมูลในการระบาดระลอกก่อนๆ พบว่า ผู้ป่วยที่อาการหนัก ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนเยอะอยู่แล้วเสียมากกว่า
แต่ในการระบาดระลอกที่มาพร้อมกับวันหยุดสงกรานต์นี้ กลายเป็นว่า ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก คือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจากโรค COVID-19 ซ้ำยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงกันดีด้วย บางรายก็อาการหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตไป
นอกจากนี้ หากเทียบข้อมูลด้านอายุของกลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนเมษายนปี 2564 นี้ กับการระบาดเมื่อสองระลอกที่ผ่านมา จะพบว่า ค่ามัธยฐาน (ค่าข้อมูลที่อยู่ตำแหน่งตรงกลาง หลังจากการเรียงลำดับข้อมูลจากน้อยไปหามาก) ของอายุผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนนี้ มีอายุน้อยที่สุดด้วย แบ่งได้ดังนี้
- ระลอกเดือนมกราคม 2563 (12 มกราคม 2563-14 ธันวาคม 2563) อัตราการติด COVID-19 อายุมัธยฐาน 36 ปี (1 เดือน – 97 ปี)
- ระลอกเดือนธันวาคม 2563 (15 ธันวาคม 2563-31 มีนาคม 2564) อัตราการติด COVID-19 อายุมัธยฐาน 32 ปี (2 เดือน – 96 ปี)
- ระลอกเดือนเมษายน 2564 (1 เมษายน 2563-24 เมษายน 2564) อัตราการติด COVID-19 อายุมัธยฐาน 29 ปี (3 วัน – 96 ปี)
อันที่จริงแล้ว กลุ่มคนวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อสูงกว่าช่วงอายุอื่นมาในทุกรอบของการระบาด แต่สำหรับครั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 เมษายน ยังเปิดเผยให้เห็นว่า ช่วงอายุที่มีการติดเชื้อสูงสุดในระลอกนี้คือ ช่วงวัย 20-29 ปี ซึ่งมีมากถึง 40% เทียบกับการระบาดเมื่อ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 27.4% และ 29.9%
สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อจำนวนมากในระลอกนี้ อายุน้อยลงจริงๆ
นอกจากนี้ จากข้อมูลตามแถลงการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ในการระบาดระลอกใหม่นี้ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ช่วงอายุลดน้อยลงกว่าครั้งก่อนมาก โดยผู้เสียชีวิตบางคน มีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น และนับเป็นอายุที่น้อยที่สุดในบรรดาผู้เสียชีวิตจากการระบาดครั้งนี้
ทำไมผู้ติดเชื้อถึงอายุน้อยลงกว่าครั้งก่อน?
ช่วงอายุที่น้อยลงกว่าครั้งก่อนๆ นี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถึงอายุน้อยลงกันนะ
ประเด็นนี้ นพ.ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ในการระบาดระลอกนี้ กลุ่มผู้ติดเชื้อเป็นวัยทำงานช่วงอายุประมาณ 20-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเป็นประจำทุกวัน
“การระบาดครั้งนี้ เราสันนิษฐานว่า เป็นคลัสเตอร์ที่เกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งก็เป็นกิจกรรมของคนกลุ่มอายุประมาณนี้ พอมันเริ่มมาแบบนี้ ก็เลยแพร่เริ่มจากคนกลุ่มอายุเดียวกัน มีกิจกรรมใกล้เคียงกัน คือ ไปทำงาน แล้วก็ไปเที่ยว”
อีกปัจจัยสำคัญที่เราต้องพิจารณากันในการระบาดระลอกนี้ก็คือ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกที่อังกฤษ โดยเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 1.7 เท่า
ถึงจะแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ นพ.ไผท อธิบายว่า เชื้อไวรัสที่ระบาดในระลอกนี้ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนๆ ที่เราเคยเจอ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกสายพันธุ์มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเบาโดยเฉลี่ย 3 วัน ถ้าอาการหนักขึ้น จะเริ่มหนักขึ้นในวันที่ 4-7 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เราต้องเฝ้าระวังอาการที่จะรุนแรงมากขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่นเดียวกับไวรัสที่ระบาดในครั้งก่อนหน้า
“แต่ปัญหารอบนี้ คือมีเคสเยอะ เคสที่หนักก็เลยเยอะ เลยพบคนที่มีอาการเฉียบพลันเยอะตามไปด้วย”
นพ.ไผท ระบุว่า ด้วยความที่เป็นเชื้อที่ระบาดได้ง่าย มีความรุนแรงต่ำ ทำให้มีสัดส่วนของคนที่ไม่มีอาการเยอะ ประกอบกับความหละหลวมของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เมื่อเทียบกับปีก่อน ก็ยิ่งเป็นโอกาสให้เชื้อแพร่ระบาดในกลุ่มคนทำงานด้วยกันมากขึ้น
“นี่เป็นสาเหตุให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสัดส่วนที่แปรผันตามกัน คือ คนป่วยที่เราเจอในกลุ่มอายุนี้เยอะ เราก็จะเจอผู้เสียชีวิตในกลุ่มอายุเดียวกันเยอะตามไปด้วย เพราะว่า มันเป็นสัดส่วนที่แปรผันไปตามกันอยู่แล้ว”
นพ.ไผท สรุปสาเหตุที่ช่วงอายุผู้ป่วยลดลงว่า ปัจจัยที่หนึ่งคือ คลัสเตอร์เริ่มต้นการระบาดในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนวัยทำงาน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มคนทำงานก่อน อย่างที่สองคือ ตัวเชื้อที่ไม่ได้แสดงอาการรุนแรง ทำให้คนที่ติดแล้วไม่ได้มีอาการ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ เลยแพร่ต่อกันไปได้ง่ายขึ้น
แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดย นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความรุนแรงของอาการ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ ระยะเวลาการสัมผัสระหว่างผู้แพร่เชื้อกับผู้รับว่าจะนานเท่าไหร่ รวมถึง ยังเกี่ยวข้องกับว่าผู้ที่รับเชื้อแล้วติดเชื้อไป มีโรคประจำตัวหรือไม่
“ขณะเดียวกันคนอายุน้อยไม่มีโรคประจำตัวก็มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยข้างต้นและอาจเกี่ยวพันกับปฏิกิริยาของร่างกาย ต่อการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงเกินความจำเป็น และอาการหนัก ดังที่เห็นในบุคลากรทางสาธารณสุขไทยอายุน้อยที่ติด จากเจ้าหน้าที่ขายสินค้าคนไทย ซึ่งแข็งแรงดี แต่ใกล้ชิดกับผู้ซื้อลูกค้า ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ โดยที่ลูกค้าไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด”
คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อผู้ติดเชื้อมีอายุน้อยลง จะเกี่ยวข้องกับวงของการแพร่ระบาดไหม การแพร่ระบาดจะกว้างขึ้นหรือน้อยลงกันแน่?
นพ.ไผท กล่าวว่า ในประเด็นนี้มีสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยอยู่สองประการ นั่นคือ ลักษณะของเชื้อไวรัส B.1.1.7 ซึ่งมีความรุนแรงต่ำ และเป็นเชื้อที่แพร่ง่าย ทำให้วงมันกว้างโดยเชื้อด้วยอยู่แล้ว และอย่างที่สองคือ คนวัยทำงาน เป็นช่วงวัยที่ต้องเดินทางไปมา เลยยิ่งส่งผลให้การแพร่เชื้อเกิดขึ้นง่าย
หรือสรุปก็คือ การติดเชื้อมากในกลุ่มคนอายุ 20-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนนั้น ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้กว้างขึ้นด้วยนั่นเอง
การระบาดระลอกใหม่ในประเทศอื่นเป็นอย่างไร?
ท่ามกลางการระบาดที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ในบางพื้นที่เองก็พบว่า มีการแพร่ระบาดในกลุ่มคนอายุน้อยลงเช่นกัน อย่างกรณีการระบาดที่อินเดีย ที่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B.1.617 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีกลายพันธุ์ในตำแหน่งของรหัสพันธุกรรมที่ E484Q และ L425R และมีรายงานยืนยันว่า การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ทำให้ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการติดเชื้อได้มากขึ้น
การระบาดของอินเดียร้ายแรงขนาดไหน เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาแตะ 400,000 รายต่อวัน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันจะพุ่งสูงสุดไปเท่าไหร่กันแน่ และเทียบกับการระบาดระลอกก่อน ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประมาณ 97,000 ราย ในช่วงกันยายน ปี 2020 ก็นับว่า การระบาดของอินเดียอยู่ในจุดที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ผู้ติดเชื้อส่วนมากในอินเดีย มีกลุ่มอายุน้อยลงกว่าครั้งก่อน หลายคนถูกหามส่งเข้า ICU ทันที ทั้งยังมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กด้วย อย่างเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในเมืองบังคาลอร์ของอินเดีย พบเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มากถึง 472 รายที่ป่วยด้วยโรค COVID-19
ขณะเดียวกัน การระบาดในบราซิล ซึ่งพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ P.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบการกลายพันธุ์บนรหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y และ E484K ทำให้แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นถึง 2.5 เท่า และมีความต้านทานต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น
อายุของผู้ป่วย COVID-19 ระลอกใหม่ในบราซิลนั้น โดยมากอยู่ที่ 30-50 ปี ซึ่งถือเป็นจุดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากการระบาดในครั้งก่อน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเองก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในบราซิลเป็นกลุ่มอายุ 30-50 ปี มากถึง 27% เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนธันวาคมปีก่อน ขณะที่ การเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปในบราซิล ก็ลงลด 7% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยที่ระบุว่า การเสียชีวิตในกลุ่มคนอายุ 20-39 ปีนั้น สูงขึ้น 2.7 เท่าจากการระบาดระลอกแรก ขณะที่ ในประชากรทั่วไปมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเพียง 1.15 เท่า
อีกหนึ่งประเทศที่มีรายงานว่า พบการระบาดในกลุ่มคนอายุน้อยลงเพิ่มขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ ก็คือ แคนาดา ซึ่งเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ และมีรายงานว่า ผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมากที่ต้องเข้ารับการรักษาใน ICU อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี เป็นหลัก
“มันทำให้คนอายุน้อยติดเชื้อ มีอาการหนัก และแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เปลี่ยนทุกสิ่งไปอย่างสิ้นเชิง” คาซิฟ พีร์ซาดา (Kashif Pirzada) แพทย์ฉุกเฉินในกรุงโตรอนโต้กล่าว
เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ ซึ่งต้องรับผู้ป่วยในช่วงอายุ 30-40 ปีมาขึ้นเป็น 2 เท่าจากครั้งที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้ติดเชื้อในรัฐมิชิแกนนี้ มาพร้อมกับการที่ผู้สูงอายุจำนวนมากในรัฐมิชิแกน ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว
แต่ถึงผู้สูงอายุจำนวนมากจะได้รับวัคซีนครบแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็คาดการณ์ว่า สาเหตุหลักๆ ที่มีการระบาดในกลุ่มวัย 30-40ปีนั้น มาจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสแพร่ง่ายขึ้น
จากกรณีต่างๆ ในหลายประเทศนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการระบาดระลอกใหม่กับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ที่มาพร้อมคุณสมบัติ แพร่ง่าย แพร่เร็ว ทำให้กลุ่มคนวัยทำงานติดเชื้อกันมากขึ้นนั่นเอง
ควรทำอย่างไร ให้สถานการณ์คลี่คลายลง?
จากทั้งสามระลอกของการระบาดในไทย หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การระบาดในระลอกที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ดูจะหนักหนาสาหัสสุด และควรเร่งหาทางลดความรุนแรงของการระบาดลงโดยเร็ว ซึ่ง นพ.ไผท มองว่า มีเรื่องที่น่าจะเป็นจุดเน้นสำหรับประเทศไทยอยู่ 3ประการ
“อย่างแรก เรื่องควบคุมสถานการณ์ก่อน ตอนนี้มาตรการป้องกันที่เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นตัวหนึ่งที่ค่อยๆ ช่วยชะลอการระบาดลง ในการควบคุมสถานการณ์”
“เรื่องต่อมา คือการจัดการผู้ป่วยที่พบรายวันให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งอาทิตย์ที่แล้วเราเห็นปัญหาเยอะ ออกข่าวทุกวัน อันนี้เป็นอันที่เราน่าจะต้องทบทวนเรื่องการจัดการหน่อย แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาที่เราพบส่วนใหญ่จะอยู่ใน กทม. หลายๆ หน่วยงานก็ต้องไปช่วยกันกับ กทม. สถานการณ์ที่ดูคลี่คลายขึ้นก็คือ คนที่มีอาการวันแรกๆ แล้วยังไม่หนักมา ถูกนำไปเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม เป็นเรื่องของการจัดการที่ดูดีขึ้น”
ถึงอย่างนั้น นพ.ไผทก็มองว่า สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือ การเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยหนัก เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสะสมรายวันจำนวนมาก ซึ่งตามธรรมชาติของโรค COVID-19 นั้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหนักขึ้นใน 4-7 วัน แปลว่า เมื่อผ่านมาถึงช่วงที่อาการจะหนักขึ้นแล้ว ก็มีความเสี่ยงว่า เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการหนักอาจมีไม่พอ
“ถ้าว่ากันตามตรง เตียง ICU ที่เราเตรียมรับไว้ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีเลย ตอนนี้ผมเห็นหลายโรงพยาบาลเริ่มทยอยเคลียร์ผู้ป่วยโรคอื่นด้วยความช่วยเหลือจากหลายส่วน ดังนั้น ต้องจัดการระบบรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้ดี จังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะเรียนรู้จากวิธีการของ กทม.ด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเราเตรียมการไม่ดี หรือประมาทกับสถานการณ์ พอมาถึงจุดที่มันวิกฤตจริงๆ ก็จะทำอะไรไม่ทัน”
แต่เราจะเห็นข่าวว่า ผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน ทำให้ผู้อาศัยร่วมบ้านซึ่งโดยมากเป็นผู้สูงอายุ ต้องติดเชื้อไปด้วย ซึ่ง นพ.ไผท กล่าวว่า โดยปกติ ประเทศไทยสำรองให้คนป่วย COVID-19 ไว้ในแต่ละโรงพยาบาลพอสมควรเลย และในช่วงระลอกก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้มีคนป่วยเยอะจนล้นเตียงที่สำรองไว้
นพ.ไผท เล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในการดูแลตั้งแต่แรกๆ เพราะในวันที่ 3-5 หลังจากติดเชื้อ อาการผู้ป่วยจะหนักขึ้น แล้วจะได้รับการดูแลจากแพทย์ได้ทันท่วงที
“ถ้าเราทำแบบนั้นได้ มันก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าจำนวนเตียงกับผู้ป่วยพอ แต่ว่าช่วงเมษายนที่ผ่านมา เราพบว่า มีผู้ป่วยมากขึ้น ล้นจากเตียงที่เราสำรองไว้ ดังนั้น เราเลยต้องปรับเทคนิค เอาคนที่อาการยังไม่หนัก ไปไว้ในจุดที่ให้แพทย์พยาบาลลงไปดูแล ก็เลยมีการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมา แต่โดยไอเดียก็คือเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ สธ. มีอะไรจะได้คุยกันได้ง่าย”
ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีแววว่าสถานการณ์จะแย่ลง เนื่องจากโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ นพ.ไผท ก็มองว่า นี่เป็นเหตุให้ต้องปรับวิธี ให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้านก่อน เช่นเดียวกับที่บางประเทศซึ่งไม่ได้เน้นการสร้างโรงพยาบาลสนาม เพราะมีช่องทางให้สามารถติดต่อดูแลกันได้อย่างสะดวก จึงให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านในช่วงแรก ถึงอย่างนั้น ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน และความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร เลยทำให้เกิดข่าวในไทยว่า เจ้าหน้าที่ไปรับผู้ป่วยไม่ทัน จนมีผู้เสียชีวิตคาบ้านพัก
“ส่วนนึงมันอาจจะมาจากการที่เราไม่ได้ทำการให้คำแนะนำที่เข้าใจง่ายไปถึงประชาชน ว่าเขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง แต่อีกมุมนึงมันก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันในประเทศไทยด้วยแหละว่ากิจกรรมมันค่อนข้างเสี่ยงกับการแพร่เชื้อในบ้าน ก็เลยมีสถานการณ์ปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่บอก”
ประเด็นสุดท้าย คือแนวทางการฉีดวัคซีน ซึ่ง นพ.ไผท คิดว่า การฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดอาจจะไม่มีผลระงับการระบาดโดยตรง เพราะไม่รู้ว่า ใครเป็นใครแล้ว ส่วนใหญ่ก็สัมผัสเชื้อกันไปเยอะแล้ว และการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมินั้น ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อรอให้ภูมิของร่างกายตอบสนอง เพราะฉะนั้น เมื่อวัคซีนไม่ใช่ยารักษา พอฉีดไป ก็ไม่ทำให้ COVID-19 หาย จึงไม่เกิดประโยชน์โดยตรงกับการระงับสถานการณ์ระบาด
เพราะฉะนั้น นพ.ไผท มองว่า ถ้าจะฉีดแบบให้ได้ประสิทธิภาพกับจำนวนที่มีจำกัด อาจจะต้องเริ่มระดมไปเร่งฉีดในกลุ่มเสี่ยงอาการหนัก ในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดไม่มากนัก เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีช่วงเวลาให้ภูมิเริ่มสร้างได้ทันด้วยเช่นกัน
แต่วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ ก็ใช่ว่าจะต้าน COVID-19 ได้ทุกสายพันธุ์ เราจึงถาม นพ.ไผท ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ซึ่งคุณหมอตอบกลับมาว่า เรื่องนี้อาจจะตอบยาก แต่โดยหลักทฤษฎีแล้วทุกอย่างเป็นไปได้ ด้วยหลักว่า ไวรัสเป็นสายโปรตีน เวลาที่ไวรัสแบ่งตัว แล้วเกิดแบ่งตัวเพี้ยนนิดนึง ก็จะเกิดสายพันธุ์ย่อยขึ้นมาได้ง่ายมาก เพราะ 1 โปรตีนของไวรัสจะมีค่าถึง 1% ของร่างกาย แตกต่างกับคนที่ 1 โปรตีนของคน มีค่าประมาณ 1 พันล้านในร่างกาย เพราะฉะนั้น พอโปรตีนของไวรัสเปลี่ยนนิดหน่อย ก็อาจจะเปลี่ยนสายพันธุ์แล้ว
“หลักการที่สองคือ มันมีการคัดสรรทางธรรมชาติ ตามกฎของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) สายพันธุ์ไหนที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นาน มันก็จะแพร่ต่อๆ ไปให้กับมนุษย์คนอื่นได้ง่ายขึ้น ทีนี้การที่ไวรัสอยู่ได้นาน เพราะว่าไม่ทำร้ายมนุษย์มาก ก็จะแพร่ต่อไปได้ คือถ้ามันรุนแรงมาก ทำให้คนตาย พอตายเสร็จก็เอาไปเผา ไวรัสก็จะไม่ติดคนอื่นต่อ แต่ถ้ามันไม่แรงมากเหมือน B.1.1.7 มันก็จะแพร่ไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ตาย”
ดังนั้น ด้วยการคัดสรรทางธรรมชาตินี้ พอไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆ ไปเรื่อยๆ ตัวไหนที่มันอยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์แล้วมันอยู่รอดเป็นลำดับต่อไป ก็จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่อยู่รอดครองพื้นที่ในสังคมต่อไป
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก